YALPI บทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเครือข่ายเยาวชนในด้านการต่างประเทศ | ภาวัช อครเปรมากูน

YALPI บทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเครือข่ายเยาวชนในด้านการต่างประเทศ | ภาวัช อครเปรมากูน

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 Mar 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 8,961 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 2/2565 | มีนาคม 2565

YALPI บทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเครือข่ายเยาวชนในด้านการต่างประเทศ
ภาวัช อครเปรมากูน* 

(Download .pdf below)

 

          ในทศวรรษ 2020 การทูตสาธารณะ (public diplomacy) ที่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอื่น ๆ จะมีบทบาทมากขึ้น และดำเนินควบคู่ไปกับการทูตตามขนบดั้งเดิมที่เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ โครงการ Young ASEAN Leaders Policy Initiative หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “YALPI” ได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 ผลิตผู้นำเยาวชน สร้างเครือข่าย ทั้งภายในประเทศ ภายในภูมิภาค และนอกภูมิภาคอาเซียน รวมแล้วกว่า 1,000 คน การส่งเสริมบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเครือข่ายเยาวชนจะช่วยขับเคลื่อนการต่างประเทศของไทยให้ “มีพลัง (Synergy)” ในการสื่อสารขับเคลื่อนวาระเชิงนโยบายและการสร้างความเข้าใจที่ดีจะเป็นพื้นฐานต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต

 

การสร้างเครือข่ายเยาวชน YALPI จากมุมมองการทูตภาคประชาชน

          เมื่อกล่าวถึงคำว่า “การทูต” ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาเสมอ มักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ (state-to-state) ผ่านตัวแสดงคือนักการทูตเป็นหลัก โดยมีนโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์กับรัฐต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผ่านโทรทัศน์แบบเดิมหรือสื่อออนไลน์ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นได้เปิดพื้นที่ปริมณฑลใหม่ ๆ ของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตในมิติที่กว้างขึ้น กล่าวคือ แนวโน้มการใช้การทูตเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต อาจไม่ใช่การทูตที่เป็นการสื่อสารระหว่างรัฐกับรัฐเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะผสานแนวทางการทูตที่เป็นการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนภายในประเทศหรือต่างประเทศโดยตรงเข้าไปด้วย เพื่อให้เป้าหมายของนโยบายการต่างประเทศมีโอกาสบรรลุผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น แนวทางเหล่านี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทูตภาคประชาชน โดยผู้เขียนจะนำกรอบการมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่การทูตภาคประชาชนมาอธิบายเครือข่ายเยาวชน YALPI ว่าทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องและส่งเสริมกันอย่างไร

          โครงการ YALPI จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน ค.ศ. 2016 เพื่อต้องการเป็นเวทีสำหรับเยาวชนอาเซียนในสาขาวิชารัฐศาสตร์ โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ได้มาร่วมพูดคุยถึงประเด็น ปัญหา และความท้าทายของภูมิภาคร่วมกัน พร้อมทั้งเสนอทางออกผ่านข้อเสนอแนะทางนโยบายจากมุมมองของเยาวชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดประสงค์แรกเริ่มจะมุ่งเน้นที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตให้กว้างมากขึ้น เพราะคณะผู้จัดมองว่า การจะร่วมกันหาทางออกของภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องเปิดรับฟัง สะท้อนความคิดเห็นจากผู้นำเยาวชนหลากหลายสาขาวิชา ผู้นำเยาวชนที่คัดเลือกเข้ามาจึงเริ่มค่อย ๆ มีความหลากหลายสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ฯลฯ

          โครงการเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงได้เริ่มขยายเครือข่ายในปีต่อ ๆ มา โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เช่น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre: SAC) เป็นต้น จุดประสงค์ของโครงการคือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับเยาวชนผ่านการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อเป็นรากฐานของประชาคมอาเซียนในระยะยาว โดยให้เยาวชนอาเซียนเป็นแกนกลางในการสะท้อนมุมมองเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)

          แนวทางการทูตภาคประชาชนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์แห่งชาติสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐโดยตรง เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด "การทูตช่องทางที่สอง (track II diplomacy)” ที่นิยามโดย Joseph Montville ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 การทูตในทศวรรษหน้าจะเป็นการทูตที่เส้นแบ่งระหว่างการทูตแบบทางการ (traditional diplomacy) ที่ผ่านตัวแสดงของรัฐ กับการทูตภาคประชาชนที่ผ่านตัวแสดงไม่ใช่รัฐหรือไม่ผ่านรัฐโดยตรง จะจางลงแต่ไม่เลือนหาย กลายเป็นการทูตสองแนวทางประสานกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการต่างประเทศของรัฐนั้น ๆ มากขึ้น

 

บทบาทของเครือข่ายเยาวชน YALPI ในการสร้าง soft power ของไทย

          แนวคิด soft power นำเสนอครั้งแรกโดย Joseph S. Nye ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 หมายถึง อำนาจที่ดลจิตใจให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่เราต้องการโดยการใช้วัฒนธรรม ค่านิยม หรือนโยบายต่างประเทศที่มีศีลธรรมเป็นที่ยอมรับ แนวคิดนี้มีลักษณะตรงข้ามกับ hard power ที่หมายถึงการใช้กำลังทหารหรือเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อบีบบังคับอีกฝ่ายให้ทำตามที่ต้องการ YALPI ในฐานะการทูตภาคประชาชนจึงมีส่วนสำคัญในการใช้วัฒนธรรม ค่านิยม หรือนโยบายต่างประเทศในรูปแบบดังกล่าวมาสร้าง “อำนาจที่ดลจิตใจ” ให้ผู้เข้าร่วมจากรัฐอื่น ๆ เกิดความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกที่ดี และความเชื่อมั่นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและวาระด้านการต่างประเทศอื่น ๆ ของไทยต่อไป ด้วยการเลือกสถานที่จัดงาน อาหาร การแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งล้วนสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ที่ประกอบด้วยการประชุมสัมมนา (Meetings) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลขององค์กร (Incentives) การประชุมขนาดใหญ่ (Conventions) และการจัดแสดงสินค้า (Exhibitions) ได้เป็นอย่างดี

          เครือข่าย YALPI ยังมีบทบาทในการเป็นพื้นที่สื่อสารวาระของไทยไปยังเครือข่ายผู้นำเยาวชนทั้งที่มาจากชาติสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียน เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฯลฯ ว่าไทยเชื่อมั่นระบบพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์และมีบทบาทในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเวทีเหล่านี้เสมอมา กิจกรรมหรือการบรรยายในเวที YALPI เน้นนำเสนอนัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

          ประการที่หนึ่ง ไทยเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมของภูมิภาค (regional bridge) ที่มีประวัติศาสตร์ทางการทูตที่เป็นมิตรและเข้ากันได้กับทุกฝ่าย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นมิตรและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

          ประการที่สอง ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนใน ค.ศ. 1967 ภายใต้การนำของท่านถนัด คอมันตร์ หรือการเป็นคนกลางและมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ในสมัยวิกฤตการณ์กัมพูชา-เวียดนาม สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อน DNA ของการต่างประเทศไทยที่ให้ความสำคัญแก่อาเซียนได้เป็นอย่างดี และปฏิเสธไม่ได้ว่า DNA ของอาเซียนก็มีความคิดของไทยอยู่ด้วยเช่นกัน สังเกตได้จากการมีบทบาทริเริ่มหรือผลักดันการกำหนดสถาปัตยกรรมเชิงโครงสร้างของภูมิภาคหลายประการ เช่น ASEAN Troika หรือกลุ่มผู้ประสานงานของอาเซียน ที่เป็นข้อเสนอของไทยใน ค.ศ. 1999 หรือการเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ให้สำเร็จในขณะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ใน ค.ศ. 2019 

 

เครือข่ายเยาวชนกับโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

          สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับการสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชน คือ การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดและวัฒนธรรม เข้าใจบริบทภายในประเทศเพื่อนบ้านและบริบทร่วมกันของภูมิภาค รวมไปถึงเข้าใจโอกาส ความท้าทาย และขีดข้อจำกัดร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างกันในระดับประชาชนเพื่อหวังว่า เมื่อขยายเครือข่ายไปได้มากพอ เครือข่ายเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานต่อยอดเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติต่าง ๆ ในอนาคต

          ในช่วงเริ่มแรก เครือข่ายเยาวชน YALPI มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเอง แต่เพื่อให้สะท้อนภูมิทัศน์การเมืองโลก ณ ปัจจุบัน จึงเปิดรับเยาวชนจากหลากหลายกรอบความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นกรอบอาเซียน + 3 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้) หรือกรอบอาเซียน + 6 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, อินเดีย) และคู่เจรจาในรูปแบบอื่น ๆ ของอาเซียน แต่ใจความสำคัญยังคงไว้ซึ่งหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน เครือข่าย YALPI คือ ฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่พยายามจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการทูตภาคประชาชนของไทย และการสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนและนอกอาเซียน

          แนวทางการสร้างเครือข่ายเยาวชนผ่านการทูตภาคประชาชนเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จากการสำรวจภูมิทัศน์ของเครือข่ายเยาวชนอาเซียน ยังมีโครงการเครือข่ายที่น่าสนใจอีกหลายโครงการ ทั้งที่เกิดจากการผลักดันของรัฐโดยตรงและองค์การระหว่างประเทศ ในที่นี้จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ 2 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative หรือ YSEALI เป็นโครงการที่ริเริ่มและสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตามยุทธศาสตร์ Pivot to Asia ผู้เขียนมองว่า YSEALI เป็นหนึ่งในเครือข่ายเยาวชนและนโยบายทางการทูตภาคประชาชนที่ประสบความสำเร็จที่สุด ใน ค.ศ. 2020 YSEALI มีจำนวนสมาชิกเครือข่ายรวมกว่า 150,000 คน และศิษย์เก่ารวมกว่า 5,000 คน[1] โดย YSEALI มีความหลากหลายในรูปแบบโครงการ เช่น โครงการ Academic Fellows Program สำหรับเยาวชนอาเซียนที่มีอายุ 18-25 ปี โครงการ Professional Fellows Program สำหรับบุคคลที่มีอายุ 25-35 ปี โดยทั้งสองโครงการนี้จะคัดเลือกตัวแทนจากชาติสมาชิกในอาเซียนรวมกันประมาณ 20 คน ไปศึกษาและร่วมทำกิจกรรมตามหัวข้อที่ได้เลือกไว้ เช่น การมีส่วนร่วมภาคประชาชน (civic engagement) การประกอบการเพื่อสังคม (economic empowerment and social entrepreneurship) การศึกษา (education) และประเด็นสิ่งแวดล้อม (environmental issues) ที่มหาวิทยาลัยภาคีสมาชิก ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง นอกจากนี้ YSEALI ยังมีโครงการระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นเสริมทักษะเฉพาะด้านซึ่งจะจัดหมุนเวียนในประเทศสมาชิกอาเซียน จากประสบการณ์ผู้เขียนที่เคยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Academic Fellows Program ภายใต้หัวข้อการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ที่ University of Nebraska Omaha ใน ค.ศ. 2020 วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ ผลักดันให้ตัวแทนผู้นำเยาวชนในอาเซียนสร้างเครือข่ายกับสหรัฐและชาติสมาชิกอาเซียนผ่านการริเริ่มโครงการในประเด็น/สาขาที่ตนเองสนใจ เพื่อนำโครงการเหล่านั้นไปพัฒนาต่อในประเทศหรือภูมิภาคของตน
  2. โครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting หรือ AFMAM จัดโดยมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมความรู้สึกร่วมกันในหมู่ประชาชนอาเซียนผ่านการสนับสนุนด้านการศึกษา การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ฯลฯ โครงการ AFMAM นี้มีจุดประสงค์ให้เยาวชนผู้เข้าร่วมเข้าใจกลไกการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคของอาเซียนผ่านกระบวนการสร้าง ฉันทมติ (consensus) กล่าวคือ โครงการจะคัดเลือกทีมตัวแทน 1 ทีม จากแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วให้โจทย์เป็นสถานการณ์ปัญหาระดับภูมิภาคขึ้นมาแล้วให้แต่ละทีมเล่นบทบาทสมมติเป็นประเทศสมาชิกอื่นเพื่อแสดงท่าที มุมมองการแก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจ สังคม ข้อจำกัด ของประเทศนั้น ๆ เพื่อสร้างฉันทมติอาเซียนผ่านกลไกการเจรจา 3 ระดับ ของอาเซียนได้แก่ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมสุดยอดผู้นำ

          ตัวอย่างทั้งสองสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเครือข่ายเยาวชนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีพลังในการขับเคลื่อนวาระการทูตผ่านบทบาทของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนในรัฐอื่น ๆ เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และแนวคิดของรัฐนั้น ๆ เพื่อสนับสนุนวาระหรือนโยบายต่างประเทศ ในกรณีของ YSEALI จะเห็นว่า ผู้ริเริ่มผลักดันเกิดจากการตัวแทนที่เป็นทางการหรือรัฐนั้นเอง ขณะที่ AFMAM เกิดจากกลไกขององค์การระหว่างประเทศอย่างอาเซียนผ่านมูลนิธิ

 

ความท้าทายใหม่ของเครือข่ายเยาวชนในยุคหลังโควิด-19

          โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้น โดยถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างแท้จริงที่มีประเด็นหลักอยู่ที่การเชื่อมต่อกับเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things และการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้งานสำเร็จได้รวดเร็ว

          การปรับตัวเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ โลกเสมือนและ Metaverse คือ ทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งหน้าไป ไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การประชุมออนไลน์ การค้าขายออนไลน์ (e-commerce) หรือแม้กระทั่งในวงการทูตก็ต้องปรับตัวจนเกิดคำว่า “Zoomplomacy” ซึ่งหมายถึง การปรับภูมิทัศน์พื้นที่การเจรจาทางการทูตจากการพบปะกันจริง ๆ มาเป็นการพบปะผ่านโปรแกรมซูม เช่น การจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บรูไนเป็นประธาน หรือการเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ของนิวซีแลนด์ในปีที่แล้ว ก็ล้วนดำเนินการผ่านการประชุมทางไกล

          ในมิติการสร้างเครือข่ายเยาวชนระหว่างประเทศก็มีการปรับตัวเช่นกัน จากเมื่อก่อนกิจกรรมทั้งหมดได้พบปะ ร่วมทำกิจกรรม ไปมาหาสู่กันบนพื้นที่จริง ๆ แต่วันนี้เนื่องจากโควิด-19 การสร้างเครือข่ายเยาวชนจึงได้ปรับตัวเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ว่า บนพื้นที่ออนไลน์นั้น โครงการเครือข่ายเยาวชนต่าง ๆ จะสามารถสร้างรูปแบบกิจกรรมได้น่าสนใจและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมให้แน่นแฟ้นได้เท่ากับการเจอกันบนพื้นที่จริง ๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในแง่บวกในเชิงการจัดการ ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน การสร้างเครือข่ายที่อยู่บนพื้นที่จริง งบประมาณส่วนใหญ่จะจัดสรรไปเป็นค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ จึงรับผู้เข้าร่วมได้อย่างจำกัด ขณะที่การสร้างเครือข่ายบนพื้นที่ออนไลน์ อาจรับจำนวนผู้เข้าร่วมได้มากขึ้น เพราะงบประมาณส่วนค่าสถานที่ ค่าอาหาร ฯลฯ ลดลง แต่โจทย์สำคัญจะย้ายไปอยู่ที่จะสร้างรูปแบบโครงการอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้มากพอจนเกิดเป็นเครือข่ายได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงประเด็นจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ในการสร้างความสนใจให้โครงการ

          ขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อย ๆ คลี่คลายเป็นลำดับ รูปแบบของการสร้างเครือข่ายเยาวชนต่อไปจะมีลักษณะเป็นการผสมผสานทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน กล่าวคือ อาจพบกันก่อนในรูปแบบออนไลน์ จากนั้นจึงค่อยไปเจอกันบนพื้นที่จริง ๆ ซึ่งหลายโครงการได้เริ่มนำวิธีการผสมผสานแบบนี้ไปใช้แล้ว

          สุดท้ายนี้ แม้ว่าโควิด-19 จะเกิดขึ้นครั้งแรกท่ามกลางบรรยากาศการเมืองโลกที่อบอวลไปด้วยกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และแนวคิดชาตินิยมที่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงทำให้ในช่วงต้นของการระบาด ความร่วมมือระหว่างประเทศยังคงถูกผลักออก เพราะแต่ละรัฐต่างสนใจแต่รัฐของตน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายประเทศเริ่มตระหนักว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะโรคระบาดเป็นปัญหาข้ามพรมแดนจะแก้ไขเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือแบบพหุภาคีเป็นหลัก

          ไทยควรใช้ประโยชน์จากการมีภาพลักษณ์เป็นประเทศที่เปิดรับความหลากหลาย มีประชาชนที่มีน้ำใจไมตรีในการมีบทบาทนำด้วยการสร้างเครือข่ายเยาวชนระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่าง ๆ แนวทางแรก ดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายเยาวชนในรูปแบบการทูตสาธารณะ นำเสนอภาพลักษณ์โครงการที่ทันสมัย ดึงดูด กำหนดจุดประสงค์โครงการ เป้าหมาย และผลลัพธ์โครงการที่ต้องการได้รับให้ชัดเจน เช่น โครงการ YALPI ในช่วง 3 ปีแรก ต้องการข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นมุมมองจากเยาวชนบนฐานแนวคิดว่า เยาวชนเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ของปัญหาในภูมิภาคเช่นกัน โครงการ YSEALI มักต้องการแผนงานดำเนินโครงการที่เยาวชนสามารถนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้กับชุมชนตนเองได้ แนวทางที่สอง สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนภายใต้กรอบความร่วมมือที่อยู่แล้ว เช่น APEC กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น ซึ่งไทยกำลังมีบทบาทสำคัญ โดยไทยอาจเป็นผู้ริเริ่มแล้วหลังจากนั้นปล่อยให้หมุนเวียนตามประเทศเจ้าภาพงาน

          จากประสบการณ์ของผู้เขียน ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายมีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 

  1. มีความสม่ำเสมอ ทั้งในแง่การจัดที่ต่อเนื่องและสร้างกิจกรรมที่มุ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่เสมอ อาจเล็ก แต่เน้นบ่อยครั้ง
  2. ให้โอกาสผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์จริงในสารัตถะของโครงการ โดยควรออกแบบกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้ไปเห็น สัมผัส ในสภาพปัญหาหรือบรรยากาศเหล่านั้นจริง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่ผู้เข้าร่วมหาไม่ได้ ถ้าหากไม่ได้มีโครงการเป็นตัวเชื่อม
  3. สร้างการจุดประกายให้ผู้เข้าร่วมกล้าคิด กล้าทำ กล้าต่อยอด นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเชื่อมโยงกับบริบทในชุมชนของตนแล้วพัฒนาต่อ
  4. มีระบบสนับสนุนเครือข่ายทั้งในแง่ความรู้ เครือข่ายบุคคล หรืออาจให้แข่งขันเพื่อรับเงินทุนก้อนเล็ก ๆ (seeding grant) ไปต่อยอดโครงการของตน แนวทางนี้ยิ่งตอกย้ำมิติการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

          ดังนั้น โควิด-19 จึงเปรียบเสมือนเครื่องพิสูจน์ว่าความร่วมมือระหว่างประเทศมีความสำคัญ โดยเฉพาะการรับมือปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เป็นปัญหาข้ามชาติข้ามพรมแดน ที่รัฐเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งอาจกระทำผ่านการทูตในระดับรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับประชาชนอย่างที่กล่าวไป โดยความร่วมมือระหว่างประเทศเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมต้องอาศัยรากฐานของเครือข่ายที่ค่อย ๆ บ่มเพาะผ่านกาลเวลามาตั้งแต่ระดับเยาวชน การเรียนรู้และการสร้างความเข้าใจระหว่างกันผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการต่างประเทศของไทยในทศวรรษ 2020 สำหรับผู้เขียนแล้ว คำขวัญอาเซียนที่กล่าวไว้ว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)” แท้จริงแล้วความหมายอาจไม่ได้หมายถึง 10 ชาติ อาเซียนที่มีส่วนประกอบทั้งสามที่เหมือนกัน ไร้ซึ่งความแตกต่าง แต่หมายถึง วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ ประชาคม ที่ตั้งอยู่บนความหลากหลาย แต่อยู่กันได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว

 

[1] U.S. Mission to ASEAN, “[FACT SHEET] Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI),” September 9, 2020, https://asean.usmission.gov/fact-sheet-young-southeast-asian-leaders-initiative-yseali/

 

[*] อดีตประธานโครงการ Young ASEAN Leaders Policy Initiatives (YALPI) และตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

Documents

2-2565_Mar2022_YALPI_บทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเครือข่ายเยาวชน_ภาวัช_อครเปรมากูน.pdf