การหลอกลวงออนไลน์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข | พิทยา สุวคันธ์

การหลอกลวงออนไลน์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข | พิทยา สุวคันธ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 Jan 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 Sep 2024

| 3,537 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 3/2567 | มกราคม 2567

การหลอกลวงออนไลน์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข*
พิทยา สุวคันธ์**

(Download .pdf below)

 

          ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มต้นขึ้นจากกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า Greater Mekong Sub-region (GMS) ที่มีไทย เมียนมา สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน และมณฑลกวางสี) เมื่อ ค.ศ. 1992 ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษของความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้มีการยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ (การค้าและการลงทุน) สังคมและวัฒนธรรม การมีข้อตกลงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันจีนดำเนินนโยบายการก้าวออกไปสู่ต่างประเทศ (Going Out Policy) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เกิดกระแสการลงทุนจากจีนมากขึ้นในประเทศของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความคึกคักทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

          จีนเริ่มขยายบทบาทและมีอิทธิพลมากขึ้นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อม ๆ กับไทยได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลาว เมียนมา กัมพูชาและเวียดนาม เมื่อเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ ค.ศ. 2019 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มหยุดชะงัก เมื่อหลายประเทศดำเนินนโยบายปิดประเทศ กิจกรรมทางการค้าและการลงทุนเริ่มหยุดชะงักและชะลอไป จากปัญหาดังกล่าวกลับมีปรากฏการณ์ใหม่ที่ขยายตัวมากขึ้น เช่น ปัญหาการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Online Scam)/โทรศัพท์/สื่อออนไลน์ ซึ่งต้นทางของสถานที่ตั้งก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ (fraud factories) อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งลงทุน และเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และบริเวณรอบ ๆ ชายแดนของประเทศไทย เช่น สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) ชเว ก๊กโก่ในเมียวดี (เมียนมา) บ่อแก้ว (สปป. ลาว) เป็นต้น และมีประชาชนหลายประเทศ/ดินแดนตกเป็นเหยื่อ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และประเทศอื่น ๆ ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ประชาชนกับประชาชน และทำให้ประชาชนในแต่ละประเทศสูญเสียทรัพย์สินอย่างมากมายมหาศาล

          บทความวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางการร่วมมือระหว่างไทยกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีลำดับเนื้อหาดังนี้ (1) สาเหตุและจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของอาชญากรรมออนไลน์ (2) ศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ (Scam Centre/Fraud Factories) (3) รูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ และกระบวนการหลอกลวงเหยื่อเข้าสู่วงจรอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ และ (4) แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นแนวทางการรว่มมือระหว่างไทยกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

 

          1) สาเหตุและจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของอาชญากรรมออนไลน์ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

          ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า อัตราการก่ออาชญากรรมออนไลน์มีอยู่ทุกพื้นที่ในโลกและในอาเซียน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 กลับพบว่าอัตราการก่ออาชญากรรมออนไลน์พุ่งสูงขึ้นมากซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การหลอกลวงที่แพร่ระบาดหลังเกิดโรคอุบัติใหม่ (Scamdemic)” โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวแพร่ระบาดอย่างมากในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีสาเหตุหลายประการดังนี้

          ประการแรก ภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเงินเป็นการทำงานที่บ้านโดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย และหลายธุรกิจมีความจำเป็นต้องปิดและปลดพนักงานจำนวนมาก สถานการณ์ดังกล่าวบีบบังคับและเอื้อให้คนจำนวนหนึ่งเข้าสู่กิจกรรมออนไลน์มากขึ้น การลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน การทำงานที่บ้านต่างเอื้อให้มนุษย์มีเวลาว่างมากขึ้น จึงหันใช้เวลาว่างกับสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะเดียวกันภาวะการว่างงานจากโควิด-19 และความพยายามที่จะหางานใหม่ทั้งการทำงานในประเทศและการทำงานในต่างประเทศประกอบกับอาชญากรออนไลน์โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook โดยเหยื่อคาดหวังว่าจะได้ทำงานเพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว ผนวกกับการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางหลังโควิด-19 และการดำเนินการเปิดประเทศอีกครั้ง จึงทำให้กระบวนการค้ามนุษย์มองเห็นช่องทางการหลอกหลวงให้เหยื่อเดินทางเข้ามาทำงานยังประเทศปลายทางที่มีช่องว่างทางกฎหมายในการลงโทษคนกระทำความผิด หรือพื้นที่ที่รัฐไม่มีความสามารถในการจัดการไขหรือเข้าถึงปัญหาดังกล่าวได้

          ตัวอย่างเช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา พบว่า กระบวนการค้ามนุษย์ออนไลน์ใช้วิธีรับสมัครงานตำแหน่ง “ผู้ขายสินค้าออนไลน์” โดยระบุค่าจ้างในการทำงานสูงมากพร้อมทั้งสวัสดิการที่อยู่อาศัยเป็นอพาร์ตเมนต์ที่หรูหรา[1] จึงทำให้เหยื่อชาวไต้หวันหลงเชื่อและเดินทางมาทำงานยังกัมพูชา ท้ายที่สุดจึงตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ออนไลน์  นอกจากนี้ยังพบว่ามีเหยื่อเป็นเด็กผู้หญิงชาวไทยอายุ 18 ปี อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานในบ่อนกาสิโนที่ปอยเปต กัมพูชา ท้ายที่สุดเมื่อเหยื่อรู้ว่าถูกหลอกลวงให้เข้าสู่กระบวนการเป็นอาชญากรออนไลน์ โดยหลอกลวงคนอื่นให้มา “ลงทุนออนไลน์” และเมื่อเหยื่อปฏิเสธการทำงานเหยื่อจะถูกจับขังและทรมานให้อดอาหารและน้ำดื่ม และเมื่อเหยื่อต้องการจะยุติการทำงานดังกล่าว เหยื่อจะต้องจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นค่าไถ่ตัวให้แก่กลุ่มอาชญากรชาวจีน เพื่อแลกกับอิสรภาพ แต่ถ้าเหยื่อหรือครอบครัวเหยื่อไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาไถ่ตัว พร้อมทั้งเหยื่อยังปฏิเสธการทำงาน เหยื่อดังกล่าวจะถูกขายทอดตลาดไปยังสถานที่หรือศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์อื่นทันที[2]

          ประการที่สอง นโยบายการจำกัดพื้นที่ การเว้นระยะห่าง และการงดพบปะผู้คน ส่งให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดสภาวะการโดดเดี่ยวและว้าเหว่ จึงหันไปพึ่งพิงโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายจึงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์โดยไม่เจตนา ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่แล้วเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุ” ทั้งสิ้น

          ประการที่สาม มาตรการการห้ามการเดินทางออกนอกประเทศของจีน ส่งผลให้นักพนันชาวจีนที่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อเล่นพนันในพื้นที่สีหนุวิลล์ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศไปเล่นการพนันได้ ทำให้ธุรกิจกาสิโนซึ่งเป็นของนักลงทุนชาวจีนที่เป็นกลุ่มมาเฟียที่ล้วนแต่ตั้งอยู่ในสีหนุวิลล์ต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก กิจการกาสิโนจึงปรับตัวเข้าสู่รูปแบบ “การพนันออนไลน์” และก้าวกระโดดไปจนถึง “การหลอกลวงออนไลน์” ในรูปแบบอื่น ๆ แต่ยังคงตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตาม/และบริเวณชายแดน โดยตั้งอยู่ที่เมืองสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) เมืองชเว ก๊กโก่ รัฐเมียวดี ประเทศเมียนมา และบ่อแก้ว สปป. ลาว จนกระทั่งพัฒนาเป็น ศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ในปัจจุบัน[3]

          จากข้อมูลข้างต้นพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศใช้เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงมาตรการที่ประเทศจีนบังคับคนจีนห้ามเดินทางออกนอกประเทศกลับกลายเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของอาชญากรรมออนไลน์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีกลุ่มทุนมาเฟียชาวจีนอยู่เบื้องหลังอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

          2) ศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

          ความพยายามของไทย จีน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค และความพยายามรุกคืบด้านการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนสีเทา[4] ทำให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) และตามรอยต่อชายแดนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตกเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดตั้งบ่อนกาสิโนจากกลุ่มทุนมาเฟียชาวจีนในประเทศกัมพูชา เมียนมา และ สปป. ลาว โดยหวังว่ากลุ่มทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจผ่านบ่อนกาสิโน แต่ปัจจุบันพบว่ามี 3 พื้นที่สำคัญข้างต้นไม่เพียงแต่ใช้เป็นบ่อนกาสิโนเท่านั้น แต่ยังจัดตั้งเป็นศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติด้วย ได้แก่ เมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา เมืองชเว ก๊กโก่ รัฐเมียวดี ประเทศเมียนมา และบ่อแก้ว สปป. ลาว

 

          2.1 สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) ต้นแบบของการพัฒนาเป็นศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์ในลุ่มแม่น้ำโขง

          สีหนุวิลล์ เป็นพื้นที่ที่มีกาสิโนมากกว่า 100 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับนักพนันต่างชาติและนักพนันออนไลน์เท่านั้น เนื่องจากการเล่นการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมายสำหรับชาวกัมพูชา จากข้อมูลพบว่ากว่า 10 ปีแล้วที่กลุ่มอาชญากรชาวจีนได้ใช้พื้นที่สีหนุวิลล์เป็นสถานที่ก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายเป็นเหยื่อชาวจีนด้วยกันเอง คิดเป็นความเสียหายกว่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มอาชญากรกำหนดเป้าหมายในการหลอกลวงใหม่ คือชาวต่างชาติที่ตกค้างอยู่ในกัมพูชา  เนื่องจากในเดือนมีนาคม 2020 เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด กัมพูชาประกาศปิดพรมแดน ห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดและปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติจำนวนมากตกงานและไม่สามารถกลับบ้านได้ ข้อมูลของ Thomson Reuters Foundation พบว่า เหยื่อมีอาชีพเป็นครูชาวฟิลิปปินส์ที่ตกงานจากโควิด-19 คนงานก่อสร้างจากบังกลาเทศ นักท่องเที่ยว และนักออกแบบกราฟิกชาวแทนซาเนีย โดยสามคนมาจากเอเชีย และหนึ่งคนมาจากยูกันดา ตั้งแต่ใน ค.ศ. 2018 หยุน หมิน (Yun Min) ผู้ว่าการมณฑลในขณะนั้นได้เตือนว่า การหลั่งไหลของการลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้นำไปสู่การก่ออาชญากรรม รวมถึงการลักพาตัวโดยกลุ่มมาเฟียชาวจีน อย่างไรก็ตาม สถานทูตจีนในกรุงพนมเปญปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่เรียกร้องให้กัมพูชาบังคับใช้กฎหมายการห้ามการพนันออนไลน์ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 2019 อย่างจริงจัง โดยระบุว่าการพนันออนไลน์ก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องการลักพาตัวและการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผลจากการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

          สีหนุวิลล์เป็นสวรรค์และที่หลบภัยของกลุ่มมาเฟียชาวจีนโดยอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านโครงข่ายพื้นฐานการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่รวดเร็วของกัมพูชาประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านวีซ่า จึงทำให้สีหนุวิลล์เป็นแหล่งที่อยู่ของอาชญากรที่ก่อตัวขึ้นจากการรวมตัวของทุนสีเทา กลุ่มอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมในจีน และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดในกัมพูชาส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การเป็นศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ในลุ่มแม่น้ำโขง โดยอาชญากรจีนเหล่านี้ได้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเดิมคือชาวจีนด้วยกันเป็นเป้าหมายอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้ามนุษย์ที่พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาจีนเริ่มมีมากขึ้น อีกทั้งอาชญากรยังสามารถกำหนดเป้าหมายที่เป็นคนสัญชาติต่าง ๆ ได้มากขึ้น[5]

 

          2.2 เมืองชเว ก๊กโก่ (รัฐเมียวดี เมียนมา) จากเมืองใหม่สู่เมืองศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์ (Scam City)

เมืองชเว ก๊กโก่ตั้งอยู่บนโค้งของแม่น้ำเมยที่แบ่งประเทศเมียนมาออกจากประเทศไทย อยู่ห่างจากศูนย์กลางการค้าเมียวดีไปทางเหนือ 16 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอดของไทย เมืองนี้อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (Karen Border Guard Force: BGF) ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า เมื่อ ค.ศ. 2017 กลุ่ม BGF ได้ตกลงร่วมทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงชื่อ Yatai International บริษัทนี้ดำเนินการโดยนักธุรกิจเชื้อสายจีนชื่อ ฉี จื้อเจียง (She Zhijiang) เป็นประธาน ได้ลงทุนในโครงการเมืองใหม่บนชายฝั่งกัมพูชาที่เรียกว่า Long Bay และบริษัทนี้ยังสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ชเว ก๊กโก่เช่นกัน “เมืองใหม่” มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนพื้นที่กว่า 73,000 เฮกตาร์ โดยมีสนามบิน โรงแรม 1,200 ห้อง กาสิโน และเขตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่นี้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นใน ค.ศ. 2020 เดือนมิถุนายน รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ได้มีการสอบสวนและบังคับให้ยุติการดำเนินการ แต่การเจรจาขอเปิดดำเนินการกาสิโนในพื้นที่เมืองใหม่ชเว ก๊กโก่ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้รัฐบาล NLD แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เกิดรัฐประหารโดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลพลเรือน เมื่อเมียนมาปกครองโดยรัฐบาลทหารส่งผลให้กาสิโนในเมืองใหม่ชเว ก๊กโก่ได้เปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดไปสองปีเนื่องจากโควิด-19 การเปิดพื้นที่เมืองใหม่ชเว ก๊กโก่หลังโควิด-19 ในฐานะเมืองศูนย์กลางการก่ออาชญากรรมออนไลน์เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ทั้งผู้นำกลุ่ม BGF และนักลงทุนต่างชาติชาวจีน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองใหม่ชเว ก๊กโก่เป็นพื้นที่ที่ต่อรองกันทางด้านผลประโยชน์อย่างลงตัวระหว่างกลุ่มกะเหรี่ยง BGF ซึ่งควบคุมพื้นที่และกองกำลังทหารเมียนมาผู้ปกครองประเทศ[6]

          เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเมืองสีหนุวิลล์ กลุ่มมาเฟียชาวจีนเป็นกลุ่มทุนหลักที่เข้ามาดำเนินการกาสิโนในเมืองใหม่ชเว ก๊กโก่ พบว่า ริมฝั่งแม่น้ำเมยมีจำนวนกาสิโนมากถึง 17 แห่ง จนได้รับฉายาว่า “สีหนุวิลล์ใหม่”[7] จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่กรมตรวจคนเข้าเมืองเมียวดี พบว่า มีชาวจีน 1,225 คนอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายที่ชเว ก๊กโก่ และยังมีชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งที่ทำงานและอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในชเว ก๊กโก่เช่นกัน นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการสนับสนุนสันติภาพ (Karen Peace Support Network) ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมประมาณว่ามีแรงงานชาวจีนที่ผิดกฎหมายในชเว ก๊กโก่มากถึง 10,000 คน แม้ว่ายังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19[8] อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นการส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน แต่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาได้กล่าวปฏิเสธพร้อมทั้งกล่าวว่า ไม่มีการอนุมัติให้สร้างสนามบิน เนื่องจากใกล้สนามบินแม่สอดของไทยมากเกินไป[9] ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ บทบาทของ “เงินหยวน” ที่นำมาใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าจ้างแรงงาน เช่นตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างสูงถึง 2,900 หยวน (802,000 จ๊าด หรือ 433 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งเดียวกันในเมืองย่างกุ้ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินท้องถิ่นโดยพฤตินัย ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในพื้นที่พรมแดนที่ไม่มีชายแดนติดกับประเทศจีน[10]

          การเข้ามาของกลุ่มมาเฟียชาวจีนปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ จากข้อมูลพบว่า บริษัทที่เปิดดำเนินการในชเว ก๊กโก่จ้างคนทำงานให้มาเป็นสแกมเมอร์ออนไลน์ โดยเหยื่อที่ได้รับคัดเลือกทางออนไลน์ได้รับแจ้งว่าพวกเขาจะได้รับเงินเดือนที่ดีเมื่อมาทำงานที่กาสิโน แต่เมื่อมาถึงกลับได้รับคำสั่งให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์หรืออาชญากรออนไลน์ และเมื่อเหยื่อปฏิเสธการทำงานดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับอิสรภาพ แต่เมื่อเหยื่อไม่สามารถชำระค่าชดเชยและยังคงปฏิเสธการทำงาน เหยื่อจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาการค้าประเวณี เป็นต้น[11]

 

          2.3 บ่อแก้ว พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่าง สปป. ลาว กับจีน

          แขวงบ่อแก้วตั้งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการระหว่างสปป.ลาวและจีน พื้นที่บ่อแก้วมีลักษณะไม่แตกต่างจากสีหนุวิลล์ และชเว ก๊กโก่ เนื่องจากพื้นที่นี้ใช้เป็นสถานที่ก่อตั้งศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์เช่นเดียวกัน จากข้อมูลพบว่า มีบริษัทจ้างงานปลอมในลาวได้หลอกลวงชาวปากีสถานให้ออกไปหางานนอกประเทศในฐานะล่ามภาษาจีนโดยเสนอค่าจ้างตามสัญญา แต่เมื่อเหยื่อไปถึงประเทศลาว กลับถูกขังและถูกบังคับให้ทำงานผิดกฎหมายโดยสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อผู้หญิงอื่นต่อไป ซึ่งเข้าข่าย “พิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam)” และเมื่อเหยื่อไม่สามารถหลอกลวงเหยื่ออื่น ๆ ต่อได้ เหยื่อจะถูกทรมาน ส่วนค่าจ้างที่ได้ก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนชั่วโมงที่เหยื่อทำงานทุกวัน และเมื่อเหยื่อร้องขอกลับบ้าน เหยื่อจะถูกบังคับจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกกับอิสรภาพ[12]

          จากข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับแหล่งที่ตั้งหรือศูนย์อาชญากรรมออนไลน์ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พบว่ามีลักษณะสำคัญร่วมกัน 3 ประการคือ (1) ทุกพื้นที่จะตั้งอยู่ในเขตตะเข็บชายแดน หรือ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกฎหมายปกติทั่วไปของประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถใช้บังคับได้ (2) ทุกพื้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มมาเฟียชาวจีนซึ่งลงทุนผ่านกิจการกาสิโนก่อนปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ศูนย์อาชญากรรมออนไลน์หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (3) การพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศและการเติบโตของนวัตกรรมส่งผลให้อาชญากรรมออนไลน์มีลักษณะที่ไร้ตัวตน (invisible) ไร้พรมแดน (borderless) และนิรนาม (anonymous) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

 

ภาพที่ 1   พื้นที่สีหนุวิลล์และชเว ก๊กโก่

พิทยา1

ที่มา: BBC News[13]

 

          3) รูปแบบการกระทำความผิดกระบวนการหลอกลวงเหยื่อเข้าสู่วงจรการก่ออาชญากรรมออนไลน์และความเสียหายที่เกิดขึ้น

          การหลอกลวงออนไลน์เป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ในรูปแบบหนึ่ง[14] โดยผู้เป็นมิจฉาชีพจะปลอมแปลงตัวตนเป็นผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน การธนาคาร จะมีการส่งอีเมล์ปลอมเพื่อหลอกให้มีการเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีหรือการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีการชำระเงินโดยใช้บัตรเครดิต ซึ่งจะขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลบัตร โดยอาจมีแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูลสำคัญของบัตรนั้น ๆ หรือแม้แต่การสร้างเว็บไซต์ปลอม เมื่อผู้ใช้ไม่ได้สังเกตให้ละเอียดจะส่งผลให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลจนทำให้ผู้ใช้บริการถูกหลอกลวงได้[15] องค์ประกอบของการหลอกลวงออนไลน์ประกอบด้วยหลักการ PPIT ได้แก่ กลุ่มคน (People) กระบวนการ (Process) และ นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and Technology)

          กลุ่มคน (People)  คือ บุคคลที่พูดคุยติดต่อกันผ่านเครื่องมือสื่อสารผ่านแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริง กลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกว่า “สแกมเมอร์ (Scammer)”

          กระบวนการ (Process) การหลอกให้ผู้คนเข้าสู่วงจรก่ออาชญากรรมออนไลน์โดยเริ่มต้นจากการตกเหยื่อ ต่อมาจึงพัฒนาสู่การเป็นผู้ล่า และสุดท้ายจากผู้ล่าอาจกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์

          นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and Technology)  สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน ทำให้รูปแบบการสื่อสารหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและสร้างความบันเทิงในชีวิต เช่น การทำธุรกรรมธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์ระกอบกับนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดแพรับ Youtube, Facebook, Whatsapp, และ Tinder เป็นต้น

 

          3.1 รูปแบบการกระทำความผิด

          การก่ออาชญากรรมออนไลน์/การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตมีด้วยการหลายรูปแบบ เช่น

  1. Scam บัตรเครดิต เป็นลักษณะการหลอกลวงไม่ว่าจะส่งผ่านทางอีเมล์เพื่อให้ยืนยันข้อมูลบัตรเครดิตจากธนาคารหรือเพื่อมิให้ยกเลิกบัตร หรืออาจใช้การโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นผู้ให้บริการเครดิตบูโรเพื่อให้ยืนยันบัตรและข้อมูลบนบัตร ซึ่งการหลอกลวงรูปแบบนี้จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้ข้อมูลหมายเลขบัตร ชื่อ และรวมถึงข้อมูลเลขหลังบัตร และจะสามารถนำไปใช้ในการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้
  2. Scam ถูกรางวัล (Lottery Scam) เป็นลักษณะการส่งอีเมลมายังผู้รับโดยมีเนื้อความเกี่ยวกับการที่ผู้รับอีเมลนั้นได้รับการจับฉลากและถูกรางวัลโดยมีจำนวนเงินมหาศาล แต่จะต้องมีการจัดส่งข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หน้าหนังสือเดินทางหรือหน้าบัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวบุคคล หรือแม้แต่การโอนค่าธรรมเนียมในการรับรางวัลดังกล่าว
  3. Scam ค่าธรรมเนียมศุลกากร เป็นลักษณะการติดต่อสื่อสารหลายช่องทางกับเหยื่อ เช่น การติดต่อทาง Facebook หรือสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น ๆ หรือแม้แต่การติดต่อกันผ่านอีเมล์ โดยเมื่อผู้ไม่หวังดีทำความคุ้นเคยกับเหยื่อได้แล้ว ก็จะมีการเสนอว่าจะส่งของมาให้เช่น เงิน หรือของมีค่า แต่พัสดุติดกระบวนการทางศุลกากร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับต่าง ๆ โดยการโอนเงินอาจกระทำโดยโอนไปยังบัญชีธนาคารของคนไทย หรือการโอนเงินผ่านระบบการเงินรูปแบบอื่น เช่น Western Union
  4. Romance Scam หรือพิศวาสอาชญากรรม มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Scam ค่าธรรมเนียมศุลกากร ซึ่งจะมีผู้ที่เข้ามาติดต่อทำความรู้จักกันไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์หาคู่ ซึ่งการหลอกลวงนั้นจะใช้ความเชื่อใจระหว่างชายหญิง โดยจะมีการสัญญาว่าจะส่งเงิน หรือสิ่งของมาให้ แต่ติดปัญหาเรื่องศุลกากร ซึ่งจะให้เหยื่อโอนเงินให้เป็นค่าธรรมเนียม หรืออาจเป็นกรณีที่มีการถ่ายคลิปวิดีโอไม่ว่าจะตั้งใจหรือถูกแอบถ่าย โดยฝ่ายผู้กระทำความผิดข่มขู่ผู้เสียหายให้โอนเงิน มิเช่นนั้นจะเผยแพร่คลิปวิดีโอสู่สาธารณะ[16]
  5. Pig Butchering Scam หรือเกมเชือดหมู ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มีรากฐานมาจากภาษาจีน เป็นลักษณะของการล่อล่วงที่ผสมผสานระหว่างการใช้ความรู้สึกกับการล่อลวงให้ลงทุน วิธีการคือ สแกมเมอร์จะทักหาเหยื่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Whatsapp, Tinder และอื่น ๆ โดยสแกมเมอร์จะใช้รูปโพรไฟล์ปลอมเป็นรูปบุคคลที่หน้าตาดี หน้าที่การงานดีมีความน่าเชื่อถือ หรือมีฐานะที่ร่ำรวยทักหาเหยื่อ เมื่อเหยื่อเริ่มไว้วางใจจึงชักชวนให้เหยื่อลงทุนต่าง ๆ เช่น การลงทุนในคริปโตหรือ stable coins ในช่วงแรกของการลงทุน สแกมเมอร์ก็จะสร้างกำไรให้เหยื่อจนกระทั่งเหยื่อหลงเชื่อผนวกกับความโลภ เหยื่อจะเริ่มโอนเงินให้สแกมเมอร์เพื่อใช้ในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหวังผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เหยื่อจะถูกหลอกให้ลงทุนจนกระทั่งหมดตัว เมื่อถึงเวลานั้นเหยื่อจะร้องขอถอนทุนทั้งหมดคืน สุดท้ายสแกมเมอร์จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินอีกก้อนโดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษี หรือ ค่ายืนยันตัวตน การเชือดหมูจึงจบเกมส์พร้อมกับสแกมเมอร์ที่ลอยนวลและเหยื่อผู้สูญเสียเงินจำนวนมหาศาล[17] และบางครั้งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายเมื่อเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดในชีวิตตามด้วยหนี้สินจำนวนมหาศาลที่ไม่สามารถชำระได้

          รูปแบบของการกระทำความผิดหรือก่ออาชญากรรมออนไลน์ในปัจจุบันส่วนมากเป็นแบบ Pig Butchering เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการกระทำความผิดที่ซับซ้อนที่สุด อาศัยสแกมเมอร์ที่มีลักษณะไร้ตัวตน และนิรนาม จากการที่ศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์ตั้งอยู่ตามรอยตะเข็บของประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มาเฟียชาวจีนลงทุนมากที่สุดและเป็นพื้นที่ที่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนเงินมหาศาลที่สแกมเมอร์หลอกลวงได้จากเหยื่อสุดท้ายกลับมาสร้างความมั่งคั่งให้กลับคืนสู่มาเฟียชาวจีนเหล่านั้นด้วย แม้ศูนย์ก่ออาชญากรรมออนไลน์จะตั้งอยู่ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแต่ลักษณะของการก่ออาชญากรรมมีลักษณะเป็นภาวะไร้พรมแดน หมายความว่า เหยื่อสามารถถูกหลอกลวงได้ไม่ว่าเหยื่อจะอยู่ประเทศใดในโลกก็ตาม จากข้อมูลพบว่ามีเหยื่อจำนวนมากมายที่เป็นชาวไทย ชาวอังกฤษ และชาวออสเตรเลีย

 

          3.2 กระบวนการหลอกลวงเหยื่อเข้าสู่วงจรการก่ออาชญากรรมออนไลน์และความเสียหายที่เกิดขึ้น

          จากการศึกษาพบว่า มีลักษณะของกระบวนการหลอกลวงเหยื่อให้เข้าสู่วงจรการก่ออาชญากรรมออนไลน์ และเหยื่อที่ถูกหลอกจะทำตัวเองเป็นผู้ล่า แต่สุดท้ายเมื่อผู้ล่าต้องการจบหรือออกจากกระบวนการหลอกลวง ผู้ล่าก็จะกลับกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ทันที อธิบายได้ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 บริษัทมาเฟียจีนดำเนินการหลอกลวงเหยื่อ บริษัทดังกล่าวจะประกาศรับสมัครหาคนทำงาน โดยการรับสมัครส่วนใหญ่จะเป็นการประกาศหางานผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเหยื่อจะเป็นบุคคลที่มีลักษณะดังนี้ (1) เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว (2) เป็นผู้มีการศึกษาสูง (3) มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และมีศักยภาพในการสื่อสารผ่านสารสนเทศโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และ (4) มีความสามารถในการใช้ภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นในภูมิภาคของเหยื่อ[18] ซึ่งบริษัทมาเฟียจีนเหล่านั้นจะหลอกเหยื่อโดยระบุว่าจะจ่ายค่าแรงที่สูงมากกว่าระดับปกติ และการทำงานดังกล่าวมีลักษณะของการทำงานที่ต้องไปทำงานยังต่างประเทศ จึงมีการเสนอที่พักอาศัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เหยื่อหลายรายเมื่อตกลงรับงานส่วนใหญ่เข้าใจว่าคือการ “ขายของออนไลน์” หรือ “การตลาดออนไลน์ในรูปแบบปกติ” และเมื่อหลอกเหยื่อสำเร็จ เหยื่อจะต้องเดินทางมายังประเทศกัมพูชาโดยอ้างถึงว่าต้องเข้าอบรมก่อนเริ่มงาน และเมื่อถึงประเทศกัมพูชาจะมีรถยนต์มารับที่สนามบินโดยพาเหยื่อไปยังพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบ่อนกาสิโนในเมืองสีหนุวิลล์ จากนั้นมาเฟียชาวจีนจะยึดหนังสือเดินทางของเหยื่อไว้และบังคับให้เหยื่อสแกมบุคคลอื่น ๆ ต่อไปในรูปของการพนันออนไลน์ การลงทุนในคริปโต หรือการฟอกเงินในรูปแบบอื่น ๆ

          อีกกรณีพบว่า มีการหลอกเหยื่อโดยระบุว่าให้ได้ทำงานที่กาสิโนในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเหยื่อเข้าใจว่าคือการทำงานในกาสิโนจริง และเหยื่อจำต้องเสียค่าดำเนินการเพื่อมาทำงานที่กาสิโนจำนวน 44,500 บาท เพื่อแลกกับความช่วยเหลือในการข้ามพรมแดน และมีการกำหนดว่าให้เหยื่อทำหน้าที่ดูแลเวปไซด์กาสิโนออนไลน์โดยกำหนดจ่ายค่าจ้าง 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้ว สปป. ลาว เช่นเดียวกันเมื่อมาถึงเหยื่อจะถูกบังคับให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์โดยการหลอกลวงเหยื่อรายอื่น ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป และ เหยื่อเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานทุกวัน วันละ 15 ชั่วโมง[19]

          ขั้นตอนที่ 2 จาก “เหยื่อ” กลายเป็น “ผู้ล่า” โดยหลอกลวงเหยื่อรายอื่นต่อไป จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย Global Anti-Scam Organization (GASO) ระบุว่า ศูนย์หลอกลวงก่ออาชญากรรมออนไลน์มีหลายแผนกค่อนข้างซับซ้อนและมีการแบ่งงานกันทำ เช่น แผนกไอที การเงิน การฟอกเงิน เป็นต้น และมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการหลอกลวง มีการรายงานความคืบหน้า โควตา และเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน[20] ดังนั้น จะมีการกำหนดเป้าหมายแต่ละวันว่าจะต้องทำเงินให้ได้จำนวนเท่าใด และหลอกลวงคนอื่นให้มาลงทุนอีกจำนวนกี่คน จากการให้สัมภาษณ์ของเหยื่อชาวเวียดนามที่ถูกหลอกลวงให้เข้าสู่การเป็นสแกมเมอร์ กล่าวว่า “เขาถูกบังคับให้หาเพื่อนเข้าสู่เยการพนันออนไลน์และล๊อตเตอร์รี่ออนไลน์ โดยกำหนดให้หาผู้เข้าร่วมเว็บไซต์เหล่านั้นขั้นต่ำคือ 15 คนต่อวัน และจะต้องชักขวนให้ 5 คนลงทุนในเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว”[21]

          วิธีการที่ผู้ล่าลงมือล่าเหยื่อมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนโพรไฟล์ของตนเองเพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการตกเป็นเหยื่อ ตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดเป้าหมายหรือเหยื่อให้เป็นผู้หญิงที่มีเงินและสูงวัย บ่อยครั้งผู้ล่าจะเปลี่ยนโพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี ท่าทางสง่า ฐานะดี ความรู้สูง และมีหน้าที่การงานดีเพื่อทำหลอกลวงเหยื่อโดยการสร้างความไว้วางใจผ่านการพูดคุยออนไลน์ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ “เกมเชือดหมู” ทั้งลักษณะของการล่อลวงด้วยความรู้สึกและการล่อลวงให้ลงทุน และจบเกมที่เหยื่อสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล จากข้อมูลของ GASO ระบุว่ามีผู้เสียหายเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน แอฟริกา และอินเดีย รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[22]

          ขั้นตอนที่ 3 จาก “ผู้ล่า” กลายเป็น “เหยื่อ” อีกครั้งและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ผู้ล่าจะต้องหลอกลวงเหยื่ออื่นให้เสียทรัพย์ให้มากที่สุดตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน และถ้าผู้ล่าเหล่านั้นไม่สามารถทำงาน หรือทำยอดเงินไม่ได้ตามเป้าก็จะถูกมาเฟียชาวจีนทรมานด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า บางรายถูกขังให้อดอาหารและน้ำดื่ม และเมื่อต้องการออกจากงาน ผู้ล่าหลายรายจะต้องชำระ “เงินค่าไถ่” ตัวเพื่อแลกับอิสรภาพ เมื่อคนเหล่านี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้อีกทั้งยังปฏิเสธการทำงานเหยื่อเหล่านี้จะขายทอดไปยังศูนย์หลอกลวงอาชญากรรมออนไลน์ที่อื่นทันที และบางครั้งถ้าเหยื่อเป็นผู้หญิงมักส่งไปขายยังสถานค้าบริการทางเพศ บางครั้งพบว่าเหยื่อไม่มีเงินค่าไถ่ และไม่ประสงค์จะอยู่ต่อเนื่องจากทนรับสภาพที่เป็นอยู่ไม่ไหว เหยื่อหลายคนจึงพยายามหลบหนีและนำมาซึ่งการเสียชีวิตในท้ายที่สุด ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลของ BBC กล่าวว่า “ชาวเวียดนามมากกว่า 40 คนที่ถูกคุมขังในกาสิโนในประเทศกัมพูชาได้บุกออกจากที่พักและกระโดดลงไปในแม่น้ำเพื่อพยายามว่ายน้ำข้ามพรมแดน จนเป็นเหตุให้เหยื่อวัย 16 ปี จมกระแสน้ำเสียชีวิต”[23]

          กล่าวได้ว่า สาเหตุและจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของอาชญากรรมออนไลน์ ศูนย์ก่ออาชญากรรมหลอกลวงออนไลน์ (Scam Centre/ Fraud Factories) รูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ และกระบวนการหลอกลวงเหยื่อเข้าสู่วงจรอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติได้ทำให้ประเด็นนี้ขยายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกหลายพื้นที่กระจายไปแบบไร้พรมแดนที่ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งกลไกทางอำนาจและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้ง่ายนัก จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีเป็นแนวทางลดและขจัดปัญหาดังกล่าว

 

ภาพที่ 2   แผนผังกระบวนการเข้าสู่การค้ามนุษย์ผ่านการก่ออาชญากรรมออนไลน์

พิทยา2

ที่มา: ผู้เขียน

 

          4) แนวทางแก้ไขปัญหา

          แนวทางการแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับประเทศ กับระดับระหว่างประเทศ

          ระดับบุคคล

          (1) การให้ความรู้แก่ประชาชนต่อการก่ออาชญากรรมออนไลน์เพื่อให้สงสัยและพึงระวังเพื่อนออนไลน์และบุคคลที่สร้างขึ้นมาว่ามีประวัติสวยงาม หน้าตาดี การศึกษาดี ทุกอย่างดูดีเกินความเป็นจริง

          (2) เมื่อเจอเพจออนไลน์ต้องสงสัยให้รายงานต่อผู้ดูแลแพลตฟอร์มว่าเป็นสแกมที่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สิน

          ระดับประเทศ

          (1) รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงออกมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยของอาชญากรรมออนไลน์

          (2) รัฐบาลแต่ละประเทศควรจัดสรรเจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบความมั่นคงและการเคลื่อนย้ายแรงงานประจำจุดต่าง ๆ ในท่าอากาศยานและบริเวณชายแดน เพื่อตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มงวดเมื่อมีคนในประเทศต้องการออกเดินทางไปทำงานยังประเทศกัมพูชา สปป. ลาว และ เมียนมา

          (3) รัฐบาลของแต่ละประเทศควรตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐรับสินบนและสมรู้ร่วมคิดกับทุนข้ามชาติของมาเฟียชาวจีน

          ระดับระหว่างประเทศ

          (1) ออกกฎหมายและบังคับใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำนาจของกฎหมายของประเทศ (ท้องถิ่น) ที่ไม่สามารถมีอำนาจเข้าไปจัดการกับบุคคลในพื้นที่ได้

          (2) เจรจาระดับพหุภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง เช่น จีนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งต้นทางและปลายทางของปัญหา

          (3) สร้างเครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชนที่เคยตกเป็นเหยื่อจากการก่ออาชญากรรมออนไลน์

 

[1] Tessa Wong, Bui Thu and Lok Lee, “Cambodia scams: Lured and trapped into slavery in South East Asia,” BBC News, September 21, 2022, https://www.bbc.com/news/world-asia-62792875.

[2] Lindsey Kennedy and Nathan Paul Southern, “Inside Southeast Asia’s Casino Scam Archipelago,” The Diplomat, August 2, 2022, https://thediplomat.com/2022/08/inside-southeast-asias-casino-scam-archipelago/.

[3] Dominic Faulder, “Asia’s scamdemic: How COVID-19 supercharged online crime Internet predators are often the prey in Thailand’s lawless border zones,” Nikkei Asia, November16, 2022, https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Asia-s-scamdemic-How-COVID-19-supercharged-online-crime.

[4] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, “ทุนจีนสีเทาเมื่อรัฐกลับกลายเป็นนายหน้า และพ่อค้าเป็นอาชญากรข้ามชาติ,” Way Magazine, 28 กุมภาพันธ์ 2566, https://waymagazine.org/interview-pinkaew-laungaramsri-chinese-shady-businesses/ “ทุนสีเทา” หมายถึง เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือค้าสัตว์ป่า ซึ่งมักจะใช้ธุรกิจประเภทอื่นบังหน้าและฟอกเงิน เช่น กาสิโนและธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลของประเทศในอนุภูมิภาคและรัฐบาลจีนต่างพยายามกดดัน จนต้องย้ายออกไปแถบชายแดนเพื่อให้พ้นเงื้อมมือของรัฐ เมื่อจีนสนับสนุนให้กลุ่มทุนต่าง ๆ ออกไปลงทุนผ่านนโยบาย Going Out Policy และยุทธศาสตร์ One Belt One Road ทุนเหล่านี้จึงขยายตัวและเกาะเกี่ยวไปกับกลุ่มทุนสีขาวอื่น ๆ และฉวยโอกาสจากนโยบายดังกล่าวในการขยายธุรกิจโดยอ้างว่าทำตามนโยบายรัฐ ทั้งที่จริงเป็นเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ

[5] Matt Blomberg, “FEATURE-Chinese scammers enslave jobless teachers and tourists in Cambodia,” Reuters, September 16, 2021, https://www.reuters.com/article/cambodia-trafficking-unemployed-idUSL8N2PP21I.

[6] Frontier Myanmar, “Myanmar: How Shwe Kokko becomes a hub for online scams and human trafficking as Chinese money funds 'new city' project,” Business & Human Rights Resource Centre, June 23, 2022, https://www.business-humanrights.org/en/latest-news/myanmar-how-shwe-kokko-becomes-a-hub-for-online-scams-and-human-trafficking-as-chinese-money-funds-new-city-project/.

[7] James Clark, “Shwe Kokko New City – A casino city in Myanmar on the Thailand border,” Future Southeast Asia, March 9, 2023, https://futuresoutheastasia.com/shwe-kokko-new-city/.

[8] Frontier Myanmar, “Myanmar: How Shwe Kokko.”

[9] Clark, “Shwe Kokko New City.”

[10] Frontier Myanmar, “Myanmar: How Shwe Kokko.”

[11] Ibid.

[12] Phontham Visapra, “44 Pakistanis Rescued from Job Scams in Laos,” The Laotian Times, October 21, 2022, https://laotiantimes.com/2022/10/21/44-pakistanis-rescued-from-job-scams-in-laos/.

[13] Wong, Thu and Lee, “Cambodia scams.”

[14] Cyber Crime (อาชญากรรมทางไซเบอร์) คือการทุจริตหลอกลวงที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ทุกประเภท ทั้งเว็บไซต์ แพลตฟอร์มสื่อสังคม แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ มี 5 กลุ่มหลักภัยคุกคามใหม่ (1) อาชญากรรมบนไซเบอร์ตามสั่ง (Cybercrime-as-a-Service: CaaS) (2) บริการสอดแนมตามสั่ง (Reconnaissance-as-a-Service: Raas) ซึ่งจะทำให้การโจมตีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (3) กระบวนการฟอกเงิน (Money Laundering-as-a-Service: LaaS) โดยการอาศัยพลังของแมชชีนเลิร์นนิง (4) โลกเสมือนจริงที่ผสานเทคโนโลยีการสร้างภาพและประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Metaverse) และโลกออนไลน์คือพื้นที่ใหม่เหมาะก่อเหตุอาชญากรรมทางไซเบอร์ (5) มัลแวร์ไวเปอร์ (Wiper Malware) ทำลายล้างข้อมูล โดยเป็นการโจมตีแบบทำลายล้างมากกว่าที่เคยมี ดูเพิ่มเติมใน จิราภพ ทวีสูงส่ง, “เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด! “อาชญากรรมทางไซเบอร์” รู้จักไว้..ป้องกันภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ,” Thai PBS, 23 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.thaipbs.or.th/now/content/68?fbclid=IwAR3zbWknWKUn2Xdh7z9PRLrtFkvZ925JSaQH15mWN7lt6A
v52oTX6xZ-4w
.

[15] ปริญญา หอมเอนก, ““กลลวงยุคไซเบอร์” ที่เราควรรู้ทันทุกขณะ,” กรุงเทพธุรกิจ, 22 พฤษภาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/
columnist/1005710
.

[16] “การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Scam),” สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, 12 มิถุนายน 2561, https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/knowledge-sharing/articles/ความมนคงปลอดภย/การหลอกลวงทางอนเทอรเนต-(Scam).aspx.

[17] “Pig Butchering' Scams: What They Are and How to Avoid Them,” FINRA, December 13, 2022, https://www.finra.org/investors/
insights/pig-butchering-scams
.

[18] Wong, Thu and Lee, “Cambodia scams.” 

[19] “Police-to-look-into-job-scam-in-Laos,” Bangkok Post, March 15, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/
2279135/police-to-look-into-job-scam-in-laos
.

[20] Wong, Thu and Lee, “Cambodia scams.”

[21] Ibid.

[22] ป. ฐากูร, “แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน: มิจฉาชีพในคราบนักลงทุน เขตเศรษฐกิจสีเทาสยายปีกสู่อาเซียน,” Way Magazine, 24 ตุลาคม 2565, https://waymagazine.org/chinese-call-center-scammer/.

[23] Wong, Thu and Lee, “Cambodia scams.”

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชิ้นนี้ จัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก

[**] รองศาสตราจารย์ ดร. ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Documents

3-2567_Jan2024_หลอกลวงออนไลน์_พิทยา.pdf