การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย | ธันยพร กริชติทายาวุธ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย | ธันยพร กริชติทายาวุธ

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 Nov 2021

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 Nov 2022

| 14,115 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 10/2564 | พฤศจิกายน 2564

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย
ธันยพร กริชติทายาวุธ* 

(Download .pdf below)

 

          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นวาระระดับโลกที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการปรับตัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมและทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่ง World Economic Forum จัดให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงในลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการและกลไกเพื่อบรรเทาผลกระทบ (mitigation) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัว (adaptation) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้แท้จริงและยั่งยืน

 

Climate change ปัญหาสำคัญเร่งด่วนของโลกและไทย

          รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Inter-Governmental Panel on Climate Change: IPCC) ระบุว่า หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำท่วมมากขึ้นอีกร้อยละ 170 และประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูง เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลก 1.1 เมตร ใน ค.ศ. 2100 ซึ่งเราจะเห็นว่าภัยธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ประเทศไทยเองก็ประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ขณะนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Central จัดให้กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากน้ำท่วมพื้นที่ตามแนวชายฝั่งและการทรุดตัวของดิน และเมื่อ ค.ศ. 2020 Global Climate Risk จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยตั้งแต่ ค.ศ. 2000 จนถึง 2019 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติถึง 146 ครั้ง เกิดความสูญเสียต่อหน่วย GDP ถึงร้อยละ 0.82 โดยเฉพาะมหาอุทกภัยใน ค.ศ. 2010 ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

          ในอนาคต ประเทศไทยอาจยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัย ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐซึ่งอาจมีต้นทุนในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เป็นระบบ และมีความยั่งยืน

 

บทบาทของภาคธุรกิจไทย

          ผู้ประกอบการธุรกิจในภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการขับเคลื่อนร่วมกับนโยบายของไทยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศการบรรลุความมุ่งมั่นตามข้อตกลงปารีส โดยได้ชี้ว่า การที่จะบรรลุเป้าหมาย “Net-Zero Thailand” นั้น ประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการปล่อยกับการดูดกลับรวมถึงกักเก็บคาร์บอน  ขณะนี้ ภาครัฐเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้ภาคธุรกิจของไทยโดยเฉพาะ SMEs ในการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ การจัดการน้ำเสีย/ขยะ การลดก๊าซมีเทนในภาคการเกษตร ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green หรือ BCG Economy) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกป่า

          มาตรการเหล่านี้เป็นโอกาสของประเทศไทยในการมุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนและตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน โดยประเทศไทยมีความเข้มแข็งในหลายด้าน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งควรนำมาขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด สร้างการกระจายรายได้สู่สังคม และรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน นอกจากนี้ ประชาชนที่ทำงานกับองค์กรธุรกิจเองก็เผชิญความท้าทายจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ หากปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับมามีบทบาทนำในการแก้ปัญหาได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

 

  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจอาหารและการเกษตรต้องลดการปล่อยและเพิ่มการดูดซับคู่กัน โดยต้องเริ่มจากการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต เน้นที่การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย และการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Cell และพลังงานชีวมวล (Bio Mass) ให้มากขึ้น และทำงานครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และสุดท้าย คือ การปลูกป่าเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • การพัฒนาด้านพลังงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากการลงทุนในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิต และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของภาคเอกชน ยังต้องสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมให้ผลิตพลังงานได้เอง มีส่วนร่วมและสร้างความเป็นเจ้าของ (ownership) เปลี่ยนจากผู้ใช้พลังงานเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ (prosumer) สร้างเครือข่ายและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด มีระบบกำกับติดตาม การให้ความรู้ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ (Monitoring & Education & Engagement) เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับสาธารณชนควบคู่กันไป

 

          สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network of Thailand: GCNT) ในฐานะเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจที่มุ่งขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับองค์การสหประชาชาติจัดงาน “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions” โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ด้วยเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070  นับเป็นการรวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ทุกธุรกิจ ทุกขนาด สู่เป้าหมายเดียวกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อรับมือกับประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญและเร่งด่วนระดับโลกอย่างวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ นับเป็นการแสดงพลังของสมาชิก GCNT ซึ่งเป็นภาคเอกชนชั้นนำของไทยในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและระดับโลก

 

แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย

          การบรรเทาผลกระทบ (mitigation) และการปรับตัว (adaptation) เพื่อตอบสนองสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในส่วนของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการมองประเด็นเหล่านี้เป็นต้นทุนให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่แสดงศักยภาพขององค์กรในการแก้ปัญหาควบคู่ไปกับการขยายตลาดทางธุรกิจที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลไกทางธุรกิจทั้งหมดจากธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมมาสู่การเป็นธุรกิจเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (regeneration) เพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว องค์กรธุรกิจต้องพัฒนาศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมทั้งการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม มีกลไกทางการเงิน (financial mechanism) และกลไกการวัดและประเมินผลกระทบ (assessment & review) ทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้และมีต้นทุนไม่สูงเกินไป มีเงื่อนไข กฎกติกา และการสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนกลไกการสร้างความรู้ความเข้าใจ (knowledge) ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้แก่บุคลากรในองค์กรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นปัจจัย“เร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้แท้จริงและยั่งยืน

 

[*] ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) อีเมล์ [email protected]

Documents

10-2564_Nov2021_การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบทบาทภาคธุรกิจ_ธันยพร_กริชติทายาวุธ.pdf