ความสัมพันธ์เอเชีย-แอฟริกา ทบทวนเพื่อมองไปข้างหน้า

ความสัมพันธ์เอเชีย-แอฟริกา ทบทวนเพื่อมองไปข้างหน้า

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 Apr 2021

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 20,377 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 2/2564 | เมษายน 2564

ความสัมพันธ์เอเชีย-แอฟริกา: ทบทวนเพื่อมองไปข้างหน้า
ลลิตา หาญวงษ์* และไพลิน กิตติเสรีชัย**

(Download .pdf below)

 

        ในทางจิตวิทยาสังคม การมองแบบ ‘เหมารวม’ หรือ stereotype นั้นหมายถึง การมองคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่ามีลักษณะแบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว โดยไม่ตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายที่คนในกลุ่มนั้น ๆ มี ซึ่งแน่นอนว่าการมองแบบเหมารวมนี้มักจะใช้มองกลุ่มคนที่เราไม่รู้จักและไม่คุ้นแคย ทวีปแอฟริกา และคนแอฟริกัน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของการมองแบบเหมารวมในหลาย ๆ สังคม รวมถึงสังคมไทย และในภูมิภาคเอเชียด้วย สำหรับคนจำนวนไม่น้อยหากพูดถึงแอฟริกา ก็มักจะนึกถึงกลุ่มคนผิวดำที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ประเทศที่ยากจนแร้นแค้น ประเทศที่เป็นแหล่งรวมของผู้ก่อการร้าย ประเทศที่พื้นที่ส่วนมาก เป็นทะเลทราย ตลอดจนอากาศที่ร้อนระอุ แต่ในความเป็นจริงแล้วในทวีปแอฟริกามีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 17 ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดของโลก[1] และจากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ใน ค.ศ.2020 นั้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก[2]

          ทางด้านของสัดส่วนประชากร ในทวีปแอฟริกานั้นมีเชื้อชาติ (ethnicity) กว่า 3,000 เชื้อชาติ[3] และมีการประเมินจำนวนภาษาที่ใช้แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 1,500[4] จนถึง 3,000 ภาษา[5] และในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) แนวโน้มของทวีปแอฟริกากลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ดังที่ธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้ว่า ใน ค.ศ. 2050 นั้น ภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa)[6] จะมีประชากรกว่า 1 พันล้านคน และในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งจะเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี สัดส่วนประชากรดังกล่าวชี้ให้เห็นว่านอกจากทวีปแอฟริกาจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังมีทรัพยากรมนุษย์อันจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ภูมิภาคนี้ยังประกอบไปด้วยประเทศทั้งที่มีระดับรายได้ต่ำ (low income) ระดับรายได้ปานกลางค่อนไปต่ำ (lower-middle income) ระดับรายได้ปานกลางค่อนไปสูง (upper-middle income) และประเทศที่มีรายได้สูง (high income)[7] ดังนั้นแล้ว การที่ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา มีความแตกต่างหลากหลาย มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ทำให้แอฟริกา เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจและควรได้รับการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบ อันจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองของผู้คนทั่วไปต่อแอฟริกาจากการมองแบบเหมารวมอันล้วนแล้วแต่สร้างมายาคติที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

          จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ประกอบกับความเป็นจริงที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคแอฟริกากับเอเชียนั้นมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่งานวิจัย ตำรา และงานวิชาการที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ยังคงเน้นหนักไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับภูมิภาคแอฟริกา บทความชิ้นนี้จึงมีจุดประสงค์ 2 ประการ ประการแรกคือเพื่อตอบคำถามที่ว่าทำไมเราจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแอฟริกาและความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาให้ครอบคลุม และเป็นระบบมากขึ้น และจากความสำคัญตรงนี้จึงนำไปสู่จุดประสงค์ข้อที่สอง ก็คือการกล่าวถึงหลักการ เหตุผล และความเป็นมาในการจัดตั้ง โครงการแอฟริกา-เอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ KU-AAP (Kasetsart University Asia-Africa Programme) ที่ต้องการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคแอฟริกากับเอเชีย  ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1992 โดยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโจฮันเนสเบอร์ก (Johannesburg) และในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 ก็ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสถานเอกอัครราชทูตและย้ายไปอยู่ที่กรุงพริทอเรีย (Pretoria)[8]

          ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่โดดเด่นประการหนึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิคด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยด้านการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตรกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา โดยได้รับการสนับสนุนด้านการทูตและการประสานงานจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในนาม TICA (Thailand International Cooperation Agency) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนในวงกว้าง และตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา และความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกากับเอเชียในปัจจุบันก็ให้น้ำหนักไปยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแถบแอฟริกากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศจีน KU-AAP จึงเป็นความพยายามที่ต้องการทำให้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกากับเอเชีย มีความรอบด้าน และมีมิติใหม่ ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาวงการวิชาการ และเพื่อให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความสัมพันธ์ของทั้งสองภูมิภาคต่อไป

          บทความชิ้นนี้จะประกอบไปด้วยเนื้อหา 2 ส่วน โดยส่วนแรก จะเป็นการอธิบายถึงความจำเป็นและความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกา และความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกากับเอเชีย โดยจะแบ่งการอธิบายออกเป็นสองระดับ ได้แก่ ระดับระบบ อันจะมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ของสองภูมิภาคนี้ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation: SSC) และระดับภูมิภาค ซึ่งจะพิจารณาลักษณะเฉพาะที่คล้ายคลึงกันของภูมิภาคแอฟริกา (โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ของประสบการณ์ทางการเมืองที่ต้องรับมือกับประเทศมหาอำนาจตั้งแต่ในรูปแบบอาณานิคมจนมาถึงการหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบ ‘ตลาดเสรี’ ในปัจจุบัน เศรษฐกิจที่เน้นเกษตรกรรม ความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมและภาษา อันจะนำไปสู่โอกาสในการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและยั่งยืนของทั้งสองภูมิภาค เนื้อหาในส่วนที่สองจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับโครงการ KU-AAP โดยเนื้อหาในส่วนนี้จะเป็นการอธิบายความเป็นมา ตลอดจนหลักการและเหตุผลของการจัดตั้ง KU-AAP ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงแผนการดำเนินงานของโครงการว่าจะประกอบไปด้วยกิจกรรมประเภทใดบ้าง รวมทั้งประโยชน์ที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากโครงการนี้

 

ความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แอฟริกา-เอเชีย

         ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในภาพรวมระดับโลก หรือศึกษาในระดับภูมิภาค มหาอำนาจ ณ เวลานั้น ๆ คือตัวแสดงที่สำคัญที่ผู้ศึกษาไม่สามารถละเลยที่จะต้องศึกษาถึงบทบาท และนัยที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย   นทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทบาทของมหาอำนาจมีตั้งแต่เป็นผู้รักษาระเบียบโลก เป็นเสาหลักให้แก่สถาบันระหว่างประเทศ วางกฎเกณฑ์กติกาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในแต่ละยุคสมัย ไปจนถึงเป็นผู้สร้างชุดคุณค่าบางอย่างขึ้นมาครอบงำ สร้างความหมายว่าอะไรคือคุณค่าที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ ตลอดจนสร้างภาวะพึ่งพา (dependency) ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือ ‘ประเทศโลกที่สาม’ ตามการจัดกลุ่มประเทศอันเป็นผลพวงมาจากสงครามเย็น 

         อย่างไรก็ตาม ความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ต้องการก้าวขึ้นมามีบทบาทด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอยู่ในกรอบการกำกับของประเทศมหาอำนาจ ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อประมาณ 65 ปีที่แล้ว ในการประชุมที่บันดุง (Bandung Conference) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘การประชุมเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Conference) ในเดือน เมษายน ค.ศ. 1955 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนจาก 29 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา[9] หรือประเทศโลกที่สาม ที่ต่างเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฐานะอาณานิคมของประเทศโลกตะวันตก การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบทสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเป็นฉากหลัง และบางประเทศยังคงต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม   ำให้การประชุมดังกล่าวได้ผลสรุปออกมาเป็นแถลงการณ์ที่ทุกประเทศลงนามร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างกัน การปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) การเรียกร้องให้ยุติการแบ่งแยกทางสีผิวที่ไม่เป็นธรรมในทุก ๆ ที่ การย้ำถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และผู้นำทุกคน ในการประชุมต่างคาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในหมู่ประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเพื่อลดระดับการพึ่งพาประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก[10]

         ‘จิตวิญญาณบันดุง’ (spirit of Bandung) ได้วางรากฐานทำให้เกิด ‘ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (non-aligned movement: NAM) ซึ่งเป็นขบวนการของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มารวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกบังคับให้เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามเย็น โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการรักษาสันติภาพของโลก ถึงแม้ว่าจิตวิญญาณบันดุงจะเริ่มเสื่อมคลายลงในช่วงปลายทศวรรษในปลายทศวรรษ 1960 เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้นำในหลายประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม[11] แต่มรดกที่สำคัญของการประชุมบันดุงที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันก็คือ การแสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘ความร่วมมือใต้-ใต้’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถส่งผลที่เป็นรูปธรรมได้

         ความพยายามของประเทศโลกใต้ (global south)[12] ที่จะเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูประเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ในกระบวนการโลกาภิบาล เห็นได้ชัดเจนในข้อเสนอที่เรียกว่า ‘ระเบียบใหม่ของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ’ หรือ NIEO (The New International Economic Order) ที่มีการร่างและนำเสนอในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาในช่วงทศวรรษ 1970 โดยมีจุดประสงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศ ‘โลกเหนือ’ (global north) โดยเฉพาะมหาอำนาจที่เป็นผู้วางกฎ กติกา อย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่า NIEO จะได้รับความสนใจและเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้างในเวทีระหว่างประเทศ ณ เวลานั้น แต่การที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้สินในช่วงทศวรรษ 1980 และต้องเข้าสู่กระบวนการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันเป็นเงื่อนไขของเงินกู้ของสถาบันการเงินอย่างธนาคารโลก ทำให้ NIEO ไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังและสุดท้ายก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด[13]

         อย่างไรก็ตาม จากการประชุมบันดุงจนถึง NIEO ได้แสดงให้เห็นถึงพลวัตของความสัมพันธ์ใต้-ใต้ กลุ่มประเทศโลกใต้ได้ริเริ่มและดำเนินการ ถึงแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ในสถาบันระหว่างประเทศได้ แต่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศโลกใต้หลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ตลอดจนการเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS อันประกอบไปด้วยบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และ แอฟริกาใต้ (South Africa)[14] ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่โดดเด่น และทั้งห้าประเทศสามารถมารวมกลุ่มกันและจัดการประชุมอย่างต่อเนื่องโดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้ประเด็นเรื่องความร่วมมือใต้-ใต้ มีความสำคัญขึ้นมาอีกครั้งทั้งในทางปฏิบัติและทางวิชาการ และมีการถกเถียงกันอย่างหลากหลายถึงความสามารถ และความเป็นไปได้ของความร่วมมือดังกล่าวที่จะปฏิรูประเบียบโลก และสถาบันระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน[15]

         การถกเถียงกันในปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า ‘the decline of the West and the rise of the rest’ ซึ่งก็คือการที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเดิมอยู่ในภาวะที่เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เริ่มแสดงศักยภาพว่าจะขึ้นมาเทียบเคียงได้นั้น ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ที่ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ยังมีการถกเถียงกันต่อไปว่าแล้วจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด ความท้าทายต่อมหาอำนาจตะวันตกจะเป็นไปในทิศทางของ NIEO คือปฏิรูประเบียบ และสถาบันระหว่างประเทศ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้ประเทศโลกใต้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น หรือจะเป็นแค่การเพิ่มจำนวนผู้เล่นใหม่   งค์กรใหม่ ที่ยังดำเนินไปในระเบียบแบบแผนแบบเดิม และสิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้น คืออาจจะเป็นการเพิ่มรูปแบบการขูดรีดใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศโลกใต้ที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า ในรูปแบบที่เรียกว่า “Southern neo-colonialism” หรือ “sub-imperialism” โดยประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพและอำนาจต่อรองมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อันเป็นฉากทัศน์ที่ขัดกับจิตวิญญาณบันดุงที่เป็นการริเริ่มความสัมพันธ์ใต้-ใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเองในหมู่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาอย่างสิ้นเชิง[16]  

         บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาว่าสุดท้ายแล้ว ประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อความเป็นธรรมอย่างแท้จริง หรือสิ่งที่ทำไปก็เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนโดยเข้าไปเป็นตัวแสดงหลักในโครงสร้างที่มหาอำนาจโลกเหนือได้สร้างไว้   ต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ ในการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใต้-ใต้นั้น สปอตไลท์ได้ฉายไปอยู่ที่ประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม BRICS แต่ละเลยมิติของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องการพื้นที่ทางวิชาการที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใต้-ใต้ ในมิติที่กว้างขึ้น และในบริบทของการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เอเชีย-แอฟริกา นอกจากที่เราต้องการหาองค์ความรู้ทางเลือกที่ออกจากความเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสองภูมิภาคในสายตาของมหาอำนาจตะวันตกแล้ว   รายังจำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาด้วย[17]

         นอกจากความสำคัญในฐานะการพัฒนาองค์ความรู้ในการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใต้-ใต้แล้ว การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคแอฟริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ที่สนใจแนวทาง ‘อาณาบริเวณศึกษาเปรียบเทียบ’ (comparative area studies: CAS) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เริ่มก่อตัวอย่างเป็นทางการในทศวรรษ 1990 ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Duke University ได้เปิด CAS เป็นสาขาวิชาหนึ่งในหลักสูตร[18] และอาณาบริเวณศึกษาเปรียบเทียบได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในยุโรป The German Institute of Global and Area Studies (GIGA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีได้ส่งเสริม CAS อย่างต่อเนื่องผ่านการจัดกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ เช่น การบรรยาย การประชุมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยและนักวิชาการที่สนใจศึกษาในด้านนี้[19]   ดย CAS คือการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับบริบทของแต่ละพื้นที แต่ละภูมิภาค แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้การเปรียบเทียบ เป็นระเบียบวิธีวิจัยที่จะที่สร้างกรอบแนวคิดทฤษฎีเพื่ออธิบายว่าปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะภูมิภาคนั้นเท่านั้น[20]

         ฉะนั้นแล้ว ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเหมาะสมอย่างยิ่งในการศึกษาตามแนวทาง CAS เนื่องจากหากมองอย่างผิวเผิน ทั้งสองภูมิภาคมีความแตกต่างอย่างมาก ทั้งในด้านของเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรม แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ของทั้งสองภูมิภาคมีประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่คล้ายกันในด้านต่าง ๆ ทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ในทั้งสองภูมิภาคเคยอยู่ในฐานะประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม ผ่านการเรียกร้องเอกราช ตลอดจนต้องประสบกับโอกาสและความท้าทายในหลังยุคอาณานิคม มีประสบการณ์ร่วมในฐานะของการเป็นประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่ท่ามกลางเกมทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ตลอดจนมหาอำนาจในภูมิภาค เช่นกรณีของสิงคโปร์ที่ถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศแอฟริกาใต้ที่เป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคแอฟริกา ทางด้านการเมืองภายใน ทั้งสองภูมิภาคยังคงมีปัญหาด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ยังมีปัญหาร่วมกันในการพัฒนาประชาธิปไตย ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง (corruption) การปกครองด้วยระบอบเผด็จการ และ ‘ทุนผูกขาด’ อันสร้างปัญหาที่ตามมาในทางเศรษฐกิจสังคมในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเขตเมืองกับชนบท อันส่งผลต่อปัญหาความแออัดในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความมั่นคงมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน   ัญหาเรื้อรังเหล่านี้นำมาสู่การเรียกร้องของกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นตัวแสดงทางการเมืองใหม่ในทั้งสองภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ

         เนื้อหาทั้งหมดในส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาความสัมพันธ์แอฟริกา-เอเชียในกรอบความสัมพันธ์ใต้-ใต้ที่ต้องขยายให้กว้างขึ้น โดยไม่จำกัดแต่เฉพาะบทบาทของประเทศโลกใต้ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เท่านั้น และยังได้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ร่วมที่ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกัน อันทำให้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งในแนวทางอาณาบริเวณศึกษาเปรียบเทียบ จากความสำคัญดังกล่าว ในส่วนต่อไปจะอธิบายถึงความพยายามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะยกระดับการศึกษาภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย ให้ครอบคลุมและเป็นระบบมากขึ้นโดยผ่านโครงการแอฟริกา-เอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ KU-AAP 

 

โครงการแอฟริกา-เอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-AAP): การยกระดับการศึกษาแอฟริกา-เอเชียในประเทศไทย

           เนื้อหาในส่วนที่สองนี้จะเป็นการอธิบายถึงความเป็นมาของการจัดตั้งโครงการแอฟริกา-เอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-AAP) หลักการและเหตุผลของการจัดตั้งโครงการ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงแผนการดำเนินงานของโครงการว่าจะประกอบไปด้วยกิจกรรมประเภทใดบ้าง ตลอดจนประโยชน์ที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากโครงการนี้

           ความริเริ่มในการจัดตั้ง KU-AAP นั้น เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2018 ในการประชุมวิชาการแอฟริกา-เอเชีย ณ กรุงดาร์-เอส-ซาลาม สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ซึ่งได้มีการจัดวงอภิปรายทางวิชาการ (panel discussion) ในหัวข้อ ‘Three Decades of Thai-African Relations through Agricultural Exchange Programme: Towards Sustainable Development’ หรือ ‘สามทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกาผ่านโปรแกรมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยผู้ที่เข้าร่วมการอภิปรายทั้ง 4 คนซึ่งมาจากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ คณะประมง และคณะสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงประสบการณ์ตรงในการทำงานในโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนกับตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ จากภูมิภาคแอฟริกา โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการพัฒนาหลายต่อหลายโครงการกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา โดยหน่วยงานผู้ให้ทุนหลักก็คือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากโครงการหนึ่งได้รับการนำเสนอโดย ดร. สุชาติ อิงธรรมจิตร์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ซึ่งได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศโมซัมบิกและประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา อันเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาทางการเกษตรหลาย ๆ โครงการที่ประเทศไทยได้ร่วมดำเนินการกับประเทศในแอฟริกา โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านเทคนิคการปลูกข้าว และการจัดการระบบการทำประมงขนาดย่อม

          นอกจากวงอภิปรายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกาแล้ว ในการประชุมดังกล่าวยังมีการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ ‘Africa-Southeast Asia: Relations, Connections, and Comparisons’ หรือ “แอฟริกา-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความสัมพันธ์, การเชื่อมต่อ และการเปรียบเทียบ” ซึ่งมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเกี่ยวกับทั้งสองภูมิภาคเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ซึ่งในตอนท้ายของทั้งวงอภิปรายที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการเจรจาโต๊ะกลมนี้ ก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายกันว่า การศึกษาความสัมพันธ์และการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับแอฟริกานั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรมีบทบาทหลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในแอฟริกาและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และควรทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแอฟริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดกับความร่วมมือที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน 

            จากการประชุมที่ดาร์-เอส-ซาลาม ทำให้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ University of Zambia และ International Institute for Asian Studies (IIAS) แห่ง Leiden University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันจัดวงอภิปรายในหัวข้อ ‘Southeast Asian-African Connections and Parallels: An Alternative Platform of Knowledge Sharing’ ในการประชุมนานาชาตินักวิชาการเอเชีบ ครั้งที่ 11 หรือ ICAS-11 (International Convention of Asia Scholars 11) ที่เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์    ยเนื้อหาในการอภิปรายได้ให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์ของทั้งสองภูมิภาค ความเชื่อมต่อ ความเหมือน ความแตกต่าง และการสร้างเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดช่องว่างระหว่างแอฟริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเสวนาโต๊ะกลมที่กรุงดาร์-เอส-ซาลาม

           จากข้อสรุปที่ได้ในการประชุมทั้งสองครั้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เริ่มดำเนินการสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของสองภูมิภาคดังกล่าวในนาม KU-AAP เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยเพื่อสนับสนุนนักวิจัยและนักวิชาการที่สนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงหรือการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคแอฟริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ KU-AAP ยังต้องการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างสองภูมิภาคทั้งในแง่ของการเรียนการสอน เนื้อหารายวิชา และการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแอฟริกากับเอเชีย ที่เปิดสอนให้แก่นิสิตนักศึกษาในอนาคต

           หลังจากที่กำหนดพันธกิจในภาพรวมของโครงการฯ แล้ว ทางคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมย่อยเพื่อระดมสมอง ที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ระหว่างตัวแทนจากองค์กรพันธมิตรของ KU-AAP อันได้แก่ International Institute for Asian Studies (IIAS), University of Ghana, University of Zambia, Université Gaston Berger ประเทศเซเนกัล, University of Dar es Salaam ประเทศแทนซาเนีย และ Singapore University of Social Sciences ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าว คือการเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายที่จะทำให้ KU-AAP เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นการศึกษาในเชิงสหสาขาวิชา การวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดย KU-AAP คือโครงการแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการนำเสนอมุมมองใหม่ในความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศโลกใต้    ะเป็นเวทีไม่จำกัดเฉพาะการผลิตองค์ความรู้ และการวิเคราะห์ ถกเถียงในประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในสองภูมิภาคเท่านั้น แต่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชีย ที่ทันสมัยเพื่อให้บริการแก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ KU-AAP ยังเป็นพื้นที่ที่ประสานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการพัฒนาด้านการเกษตรที่ทางมหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมมือกับทางภาครัฐมายาวนาน ให้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ครบถ้วนทั้งเชิงเทคนิค และเชิงสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

           คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือผู้รับผิดชอบหลักของ KU-AAP และในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการดังกล่าว การดำเนินงานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอันประกอบไปด้วย คณบดีคณะสังคมศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ตลอดจนบุคลากรของคณะสังคมศาสตร์อื่น ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้ง นอกจากนี้ KU-AAP ยังมีคณะที่ปรึกษาจากภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกามาอย่างยาวนาน อันได้แก่ ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ IIAS และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (IDE-JETRO) โครงการที่ริเริ่มขึ้นมานี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และพยายามดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชียให้แก่สาธารณชน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมบางอย่างจำเป็นต้องเลื่อนออกไป สำหรับแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีแรกนี้ ทาง KU-AAP จะเริ่มดำเนินการลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MoU (Memorandum of Understanding) กับองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะได้เริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแอฟริกา ควบคู่ไปกับการก่อสร้างพื้นที่ทางกายภาพ การจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการ ตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการในอนาคตต่อไป

กิจกรรมและโปรแกรมของ KU-AAP ที่มีการวางแผนและเตรียมการไปแล้วในเบื้องต้น ประกอบไปด้วย

  • การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุม หรืองานวิชาการในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอฟริกา-เอเชีย
  • การเป็นเจ้าภาพจัดงานในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา-เอเชีย
  • การจัดกิจกรรมด้านการศึกษา โดยอาจจะเริ่มจากเป็นโปรแกรมฤดูร้อน แล้วเชิญวิทยากร จากทั้งในประเทศ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มาให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
  • พัฒนาหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เช่น BA in Southeast Asia and the World และ MA in Africa/Asia for Sustainable Development เป็นต้น
  • จัดกิจกรรมฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อย่าง TICA และ IDE-JETRO ให้แก่เจ้าหน้าที่ จากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา หรือความสัมพันธ์แอฟริกา-เอเชีย เพื่อนำไปปฏิบัติงานจริง

           จากที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้แก่การศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกา-เอเชีย ที่กว้างขึ้นจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกับความเป็นจริง ถูกต้อง และครอบคลุม ซึ่งความเข้าใจกันที่มากขึ้นนี้จะช่วยลบมายาคติที่มาจากการมองภาพแบบเหมารวมได้ ตลอดจนความเข้าใจและข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้มีความยั่งยืน โดยทาง KU-AAP มีความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มแข็งต่อไป

 

-----

[1] FAO Secretariat, “African forest resources and their development,” accessed December 27, 2020, http://www.fao.org/3/a3200e/a3200e03.htm.

[2] The State of the World's Forests: 2020,” Food and Agriculture Organization of the United Nations, accessed December 27, 2020, http://www.fao.org/state-of-forests/en/.

[3] Sunday Moulton, “Ethnic Groups in Africa,” accessed December 13, 2020, https://study.com/academy/lesson/ethnic-groups-in-africa.html.

[4] Africa: Cultural Patterns,” Britannica, accessed December 13, 2020, https://www.britannica.com/place/Africa/Cultural-patterns.

[5] Edmund L. Epstein, “Introduction,” in The Language of African Literature, eds. Edmund L. Epstein and Robert Kole, (Asmara: Africa World Press, 1998), VIII.

[6] ทวีปแอฟริกาเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่การแบ่งชื่อเรียกในเชิงภูมิศาสตร์นั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะเมื่อแบ่งตามเขต เช่น แอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก แอฟริกากลาง และแอฟริกาใต้ ปัญหาที่ก่อให้เกิดความสับสนก็คือในทวีปแอฟริกามีประเทศที่เรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic) ส่วน South Africa หรือ แอฟริกาใต้ ก็เป็นชื่อประเทศเช่นเดียวกัน ในบางกรณีจึงมีการเลี่ยงเรียกตอนใต้ของทวีปว่า Southern Africa เป็นต้น นอกจากนี้หลายประเทศก็ยากที่จะชี้ชัดในเชิงภูมิศาสตร์เพราะมีความก้ำกึ่ง เช่น จะถือว่าโมซัมบิกอยู่แอฟริกาตะวันออกหรือแอฟริกาตอนใต้ หรือ มอริเตเนียจะถือว่าเป็นแอฟริกาเหนือหรือแอฟริกาตะวันตก เป็นต้น การจัดแบ่งกลุ่มดินแดนอีกประเภทหนึ่งคือใช้ทะเลทรายซาฮาราเป็นเกณฑ์ และสามารถแบ่งแอฟริกาออกเป็น แอฟริกาเหนือและแอฟริกาใต้ซาฮารา หรือว่า Sub-Saharan Africa ส่วนประเทศไหนถือว่าเป็นประเทศในกลุ่มแอฟริกาใต้ซาฮารานั้น คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็คือ ทุกประเทศในทวีปแอฟริกายกเว้น แอลจีเรีย อียิปต์ โมร็อกโก ลิเบีย และตูนิเซีย แต่การนิยามแบบนี้ก็เกิดข้อโต้แย้งว่าประเทศอย่าง มอริเตเนีย มาลี ไนเจอร์ ชาด และซูดานนั้น อยู่ในบริเวณทะเลทรายซาฮารา ไม่ได้อยู่ใต้ซาฮารา คำอธิบายของการระบุว่าประเทศเหล่านั้นถือว่าอยู่ใน Sub-Sahara ก็คือ ประเทศเหล่านี้อยู่ต่ำกว่าใจกลางของทะเลทรายซาฮารา และยังมีดินแดนบางส่วนที่อยู่นอกทะเลทรายดังกล่าว อย่างไรก็ตามที่กล่าวไปคือเกณฑ์การแบ่งตามภูมิศาสตร์ แต่เกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดอาจจะแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างประเด็นด้านศาสนาและวัฒนธรรม เช่น ในกรณีของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP นั้นนอกจาก 5 ประเทศแอฟริกาเหนือที่กล่าวไปแล้วยังไม่ได้รวมจิบูตี โซมาเลีย และซูดานเข้าไปในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา เป็นต้น ดูรายชื่อประเทศ Sub-Saharan Africa ของ UNDP ได้ที่ https://www.africa.undp.org/content/rba/en/home/ regioninfo.html

[7] The World Bank, “The World Bank in Africa: Overview,” updated October 22, 2020, https://www.worldbank.org/en/region/afr/overview.

[8] ความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกาใต้,” สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563, https://pretoria.thaiembassy.org/th/page/29602-ความสัมพันธ์ทางการทหาร-ไทย-แอฟริกาใต้้?menu=5d66366f15e39c2ad0003a95.

[9] การประชุมบันดุงเกิดขึ้นที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมบันดุงมาจากเอเชีย 23 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน พม่า กัมพูชา ศรีลังกา จีน ไซปรัส อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น จอร์แดน สปป. ลาว เลบานอน ปากีสถาน เนปาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย ไทย ซีเรีย ตุรกี เวียดนาม (ในเวลาดังกล่าวแบ่งเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ซึ่งได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมทั้งคู่) และเยเมน จากแอฟริกา 6 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย โกลด์โคสต์ (ณ ขณะนั้น โกลด์โคสต์อยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ หลังจากได้รับเอกราชแล้วได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกานา บริเวณแอฟริกาตะวันตก) ไลบีเรีย ลิเบีย และ ซูดาน

[10] Bandung Conference (Asian-African Conference), 1955,” Office of the Historian, Department of State, accessed December 28, 2020, https://history.state.gov/milestones/1953-1960/bandung-conf.

[11] Ibid.

[12] คำว่า ‘โลกใต้’ หรือ ‘global south’ หมายรวมถึงภูมิภาคลาตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย เป็นคำอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศ ‘โลกที่สาม’ ที่ส่วนมากอยู่นอกทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ การใช้คำว่า ‘global south’ แทนคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แสดงให้เห็นการเปลี่ยนจุดเน้นจากความแตกต่างทางด้านระดับการพัฒนาและวัฒนธรรมไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ดู Nour Dados and Raewyn Connell, “The global south,” Contexts 11, no. 1 (2012): 12-13, https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/1536504212436479.

[13] Nils Gilman, “The New International Economic Order: A Reintroduction,” Humanity Spring, (2015). http://humanityjournal.org/wp-content/uploads/2015/03/HUM-6.1-final-text-GILMAN.pdf.

[14] คำว่า BRICs ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ในรายงานการวิจัยของ Goldman Sachs วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา โดยแรกเริ่ม BRICs คือการจัดกลุ่มประเทศ 4 ประเทศได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (แอฟริกาใต้เข้ามาเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่ม BRICS ใน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)) ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีศักยภาพที่เศรษฐกิจจะเติบโตแซงหน้าประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจในขณะนั้นได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Leslie Elliott Armijo, “The BRICs Countries (Brazil, Russia, India, and China) as Analytical Category: Mirage or Insight?,” Asian Perspective 31, no. 4 (2007): 7-42. 

[15] Kevin Gray and Barry K. Gills, “South–South Cooperation and the Rise of the Global South,” Third World Quarterly 37, no. 4 (2016), 558, https://dx.doi.org/10.1080/01436597.2015.1128817.

[16] Ibid., 559-563. 

[17] สำหรับภาพรวมงานวิจัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา ดู Abdoulkadre Ado and Zhan Su, “China in Africa: A Critical Literature Review,” Critical Perspectives on International Business 12, no. 1 (2016), https://doi.org/10.1108/cpoib-05-2013-0014.

[18] ในปัจจุบัน Duke University ไม่ได้มีสาขา Comparative Area Studies แล้วแต่มีหลักสูตรในสาขา International Comparative Studies ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://internationalcomparative.duke.edu/.

[19] Patrick Köllner, Ariel Ahram and Rudra Sil, “Comparative Area Studies: What It Is, What It Can Do,” in Comparative Area Studies: Methodological Rationales and Cross-Regional Applications, edited by Ariel Ahram, Patrick Köllner and Rudra Sil (New York: Oxford University Press, 2018), 13.

[20] Ibid, 5.

 

[*] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอนุกรรมการโครงการ Africa Asia Programme, Kasetsart University (KU-AAP)

[**] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอนุกรรมการโครงการ Africa Asia Programme, Kasetsart University (KU-AAP)

Documents

2-2564_Apr2021_ความสัมพันธ์เอเชีย-แอฟริกา_ลลิตา_หาญวงษ์_และไพลิน_กิตติเสรีชัย.pdf