คาซัคสถานกับสถานะ Middle Power: กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย | อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน

คาซัคสถานกับสถานะ Middle Power: กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย | อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 Nov 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 Nov 2024

| 214 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 9/2567 | พฤศจิกายน 2567

คาซัคสถานกับสถานะ Middle Power: กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย
อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน*

(Download .pdf below)

 

          โลกในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญสถานการณ์ความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความท้าทายในรูปแบบเดิม (traditional challenges) อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นปัญหาด้านเขตแดน และสงครามการใช้อาวุธประหัตประหาร และที่เป็นภัยคุกคามและความท้าทายในรูปแบบใหม่ (non-traditional threats and challenges) อาทิ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การหยุดชะงักของเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ อาชญกรรมทางไซเบอร์ การค้ามนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความท้าทายเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดจาก “โลกสองขั้ว” ไปสู่ “โลกหลายขั้ว” เนื่องจากหลายประเทศต่างตระหนักว่า ประเทศมหาอำนาจ (Great or Major Powers) ต่างมุ่งแข่งขันระหว่างกันและไม่สามารถหาทางออกอย่างฉันทมติร่วมกันต่อประเด็นสำคัญระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ การที่ประเทศมหาอำนาจดำเนินนโยบายที่สะท้อนถึงการไม่เคารพต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศและเป็นการดำเนินการตามอำเภอใจเพื่อแข่งขัน ช่วงชิงอำนาจ และรักษาผลประโยชน์ของตน โดยที่ไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ จึงเกิดความพยายามของบางประเทศที่ประสงค์ผลักดันให้เกิดสถาปัตยกรรมความมั่นคงระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่แทนแบบเดิมที่มองว่าล้าสมัยเนื่องจากมีขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบันท่ามกลางภัยคุกคามและความท้าทายในรูปแบบใหม่ ปัจจัยนี้จึงนำไปสู่การที่ประเทศที่มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้เล่นระหว่างประเทศเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและช่วยหาทางออกต่อภัยคุกคามและความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงการส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ระหว่างกันด้วยการทูตแบบเฉพาะเรื่องที่เชี่ยวชาญ โดยเรียกประเทศเหล่านี้ว่า Middle Powers หรือประเทศขนาดกลาง

 

แนวคิดเกี่ยวกับ Middle Powers

          ในมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากกล่าวถึงประเทศมหาอำนาจ มักนำไปเชื่อมโยงกับประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถผลักดันอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของประเทศตนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศขนาดกลางหรือ Middle Powers นั้น มีสถานะเป็นรองประเทศมหาอำนาจแต่ยังคงสามารถผลักดันอิทธิพลของประเทศตนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การทูต เศรษฐกิจ พหุภาคีนิยม และแม้กระทั่งด้านการทหาร โดยในเอกสาร “White Paper” ซึ่งเผยแพร่ใน World Economic Forum ค.ศ. 2024 ระบุตัวอย่างของประเทศที่มีสถานะเป็น Middle Powers อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย

          อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับช่วงเวลากำเนิดและคำนิยามเกี่ยวกับ Middle Powers ซึ่งสามารถย้อนหลังไปถึงในช่วงศตวรรษที่ 16 ในงานเขียนของ Giovanni Botero นักปรัชญาชาวอิตาลี แต่ช่วงเวลาที่แนวคิดเกี่ยวกับ Power Middles ขยายวงกว้างและเป็นรูปธรรมนั้น คาดว่าเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับการถือกำเนิดขององค์การสหประชาชาติที่มีประเทศขนาดกลางเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อผลักดันอิทธิพลของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศโดยที่ไม่ต้องแสดงบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างเสนอคำนิยามสำหรับ Middle Powers ในรูปแบบต่าง ๆ โดยหากพิจารณาจากทฤษฎีสัจนิยม (Realism) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะพิจารณา Middle Powers จากขนาดของประชากรประเทศ การใช้จ่ายด้านการทหารที่มาพร้อมกับแสนยานุภาพด้านการทหาร รูปแบบเศรษฐกิจ และการมีตัวชี้วัดที่ดีด้านการพัฒนาประเทศ อาทิ ดัชนีอายุขัยของประชาชนในประเทศ ในขณะที่หากพิจารณาจากทฤษฎีพหุนิยม (Pluralism) นั้น สามารถกำหนดคุณสมบัติของ Middle Powers ได้ 5 ประการ ได้แก่ การเป็นผู้นำภูมิภาคหรืออนุภูมิภาค การมีบทบาทนำในประเด็นที่ประเทศขนาดกลางนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญ (หรือกล่าวนัยหนึ่งว่า มี niche diplomacy และสามารถใช้การทูตลักษณะนี้เพื่อขยายอิทธิพลของประเทศตนในเวทีโลกได้) ความสามารถในการไกล่เกลี่ยประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ การมีสถานะเป็นพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจโลก และการเป็นพลเมืองที่ดีที่ส่งเสริมพหุภาคีนิยม

          ในขณะที่มีอีกแนวคิดเกี่ยวกับ Middle Powers ที่แยกระหว่าง Middle Powers แบบดั้งเดิม (Status-Quo Middle Powers) กับ Middle Powers แบบลัทธิแก้ (Revisionist Middle Powers) โดยแบบแรกเป็นกลุ่มประเทศที่พึงพอใจกับระเบียบโลกและการถ่วงดุลอำนาจที่มีการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อรักษาระเบียบโลกดังกล่าวไว้ ในขณะที่แบบหลังไม่พึงพอใจต่อดุลอำนาจระหว่างประเทศและพร้อมจะดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจไปในทางที่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับ Middle Powers ที่แบ่งเป็น Middle Powers เชิงบรรทัดฐาน (Normative Middle Powers) และ Middle Powers ที่เกิดใหม่ (Emerging Middle Powers) โดยพิจารณาจากพันธกรณีของประเทศนั้น ๆ ต่อการพัฒนาระหว่างประเทศและระดับการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยมีนักวิชาการบางหลายให้ความเห็นว่าประเทศที่สนับสนุนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ที่น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของการสนับสนุนทั้งหมดที่มีต่อโครงการฯ ถือว่าเป็นกลุ่ม Emerging Middle Powers

 

ความสำคัญของคาซัคสถานและภูมิภาคเอเชียกลาง

          สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 ก่อให้เกิดประเทศเอกราชใหม่ถึง 15 ประเทศ ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ทุกประเทศ “5 สถาน” นี้ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางที่ไม่มีทางออกติดกับทะเลเปิด และมีดิแดนที่ติดกับประเทศมหาอำนาจได้แก่รัสเซียทางด้านทิศเหนือและจีนทางด้านทิศตะวันออก ส่วนทางทิศใต้ติดกับประเทศและภูมิภาคที่มีความร้อนระอุในด้านสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงระดับโลกเช่น อิหร่าน อัฟกานิสถาน และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยคาซัคสถานมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลางและใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก ลักษณะภูมิประเทศของภูมิภาคเอเชียกลางเป็นลักษณะทุ่งหญ้าสเตปป์และทะเลทรายในเขตพื้นที่คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ในขณะที่คีร์กีซสถานและทาจิกิสถานมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาจึงส่งผลให้ทั้งสองประเทศเป็นประเทศต้นน้ำ เนื่องจากมีเทือกเขาปกคลุมด้วยหิมะ (glacier) ตลอดทั้งปี และอีก 3 ประเทศเป็นประเทศปลายน้ำ ซึ่งประเด็นเรื่องน้ำเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของแต่ละประเทศเอเชียกลางและภาพรวมของภูมิภาคเอเชียกลางด้วย

 

ภาพที่ 1   แผนที่ภูมิภาคเอเชียกลาง

คาซัคสถาน1

ที่มา: Qadir, Manzoor et al., 2009. DOI: 10.1111/j.1477-8947.2009.01217.x

 

          ประเทศเอเชียกลางทั้ง 5 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณกว่า 72 ล้านคน ใน ค.ศ. 2023 ภูมิภาคเอเชียกลางมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.5 ซึ่งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจภาพรวมของภูมิภาคเอเชียกลางเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของคาซัคสถานที่ร้อยละ 6 จากการส่งออกภาคพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียกลางมีความอุดมสมบูรณ์ด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติมาก โดยเฉพาะมีน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินสำรองมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก ซึ่งมีอยู่ในคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถานเป็นหลัก โดยคาซัคสถานเพียงประเทศเดียวครอบครองประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณสำรองน้ำมันดิบของโลกถึง 3 หมื่นล้านบาร์เรล และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีน้ำมันสำรองเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคยูเรเซีย (รองจากรัสเซีย) และอันดับที่ 12 ของโลก ในขณะที่เติร์กเมนิสถานถือครองปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก ทำให้เติร์กเมนิสถานเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดพลังงานโลก เนื่องจากมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองถึงประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณสำรองทั้งหมดของโลกคิดเป็นประมาณ 50 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีน้ำมันสำรองกว่ามากกว่า 2 หมื่นล้านตัน ด้านอุซเบกิสถานเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเช่นเดียวกัน โดยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

          อีกประเด็นที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียกลางกลายเป็นจุดสนใจระหว่างประเทศก็คือเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากประเภทต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมอนาคตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาสัดส่วนระดับโลก ภูมิเอเชียกลางมีปริมาณสำรองแมงกานีสร้อยละ 38.6 โครเมียมที่ร้อยละ 30.07 ตะกั่วที่ร้อยละ 20 สังกะสีที่ร้อยละ 12.6 ไททาเนียมที่ร้อยละ 8.7 อลูมิเนียมที่ร้อยละ 5.8 ทองแดงที่ร้อยละ 5.3 โคบอลต์ที่ร้อยละ 5.3 และโมลิบดีนัมที่ร้อยละ 5.2 โดยประเทศเอเชียกลางยังติดอันดับ 20 ประเทศแรกของโลกที่ผลิตแร่ธาตุหายากเหล่านี้สำหรับใช้ในเทคโนโลยีผลิตพลังงานสะอาด ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม รถไฟฟ้า และแบตเตอร์รี่กริด โดยเฉพาะในคาซัคสถานนั้น มีปริมาณสำรองโครเมียนมากที่สุดถึงจำนวน 230 ล้านเมตริกตัน (ในขณะที่ทั่วโลกมีจำนวน 570 ล้านเมตริกตัน) และเป็นผู้ผลิตโครเมียมรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเพื่อใช้ในกังหันลม และมีปริมาณสำรองสังกะสีที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ปริมาณสำรองสินแร่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และเป็นประเทศที่ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ร้อยละ 43 นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสูงที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียกลางทั้ง 5 ประเทศ รวมถึงมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียกลาง โดยใน ค.ศ. 2023 เศรษฐกิจของคาซัคสถานเติบโต (GDP) ร้อยละ 5.1 ที่ 264 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดติด 50 อันดับต้นของโลก โดยมีแรงหนุนจากภาคการส่งออกพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่มีการหลั่งไหลของมูลค่าการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามามากที่สุด โดยประเทศที่มี FDI ในคาซัคสถานสูงสุดใน ค.ศ. 2023 จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ เบลเยียม ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลักเซมเบิร์ก โดยภาคขุดเจาะเหมืองแร่สามารถดึงดูดสัดส่วนของ FDI ได้สูงสุด   

          เมื่อพิจารณาถึงที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางยูเรเชียระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป และความอุดมสมบูรณ์ด้านพลังงานและแร่ธาตุหายากของภูมิภาคเอเชียกลาง จึงไม่น่าแปลกใจที่ภูมิภาคเอเชียกลางกลายเป็นภูมิภาคที่เนื้อหอมและจุดสนใจจากประเทศมหาอำนาจและประเทศขนาดกลางและเล็กที่ต้องการร่วมมือกับประเทศเอเชียกลางโดยเฉพาะในสาขาพลังงาน นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายโดยเร็ว ทำให้ทั้งประเทศต่าง ๆ พากันแสวงหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับยุโรป นอกเหนือจากเส้นทาง Northern Corridor ซึ่งใช้ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียของรัสเซียเป็นหลักในการขนส่งจากจีนผ่านมองโกเลียและเข้าสู่รัสเซียเพื่อต่อไปยังยุโรป ที่ปัจจุบันใช้งานได้น้อยลงเนื่องจากเกิด disruption จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งนี้ ด้วยการมีดินแดนติดกับจีน จึงทำให้ประเทศเอเชียกลางเป็นผู้เล่นที่สำคัญใน Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และสนับสนุนให้ภูมิภาคเอเชียกลางทวีบทบาทการเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับทวีปยุโรปมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ ภูมิภาคเอเชียกลางโดยเฉพาะคาซัคสถานจึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของเส้นทางขนส่งจากจีนไปยุโรปผ่านเส้นทาง Trans-Caspian International Trade Route (TITR) หรือ Middle Corridor ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับยุโรปที่สั้นกว่าเส้นทาง Northern Corridor โดยเส้นทาง Middle Corridor เป็นการผสมผสานระหว่างเส้นทางบก ทางเรือ และทางรถไฟ โดยผ่านประเทศเอเชียกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะผ่านดินแดนของคาซัคสถานทั้งทางบกและทางเรือที่ใช้ท่าเรือ Aktau และท่าเรือ Kuryk ติดทะเลแคสเปียนเพื่อส่งต่อไปยังอาเซอร์ไบจานและจอร์เจีย และส่งต่อไปยังตุรกีและยุโรป ในช่วงต้น ค.ศ. 2024 การขนส่งผ่านเส้นทาง Middle Corridor มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ ค.ศ. 2022 อีกทั้งคาซัคสถานยังเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญของยุทธศาสตร์ Global Gateway ของสหภาพยุโรปซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในภาคดิจิทัล พลังงาน และการขนส่ง และเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพ การศึกษา และการวิจัยทั่วโลกด้วย

 

ภาพที่ 2   เส้นทาง Middle Corridor

คาซัคสถาน2

ที่มา: https://eurasianet.org/how-the-middle-corridor-is-shaping-georgias-relations-

with-the-west

 

คาซัคสถานกับสถานะ Middle Power 

          คาซัคสถานเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตแรกในภูมิภาคเอชียกลางที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต และถือกำเนิดเป็นประเทศเอกราชในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1991 มีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐประธานาธิบดี จวบจนปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปีของการเป็นประเทศเกิดใหม่ คาซัคสถานมีประธานาธิบดีแล้ว 2 คน คือนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ และคนปัจจุบัน นายคาซิม-โจมาร์ท โตคาเยฟ คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกติดทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชายแดนทางบกติดกับรัสเซียถึง 7,644 กิโลเมตร จึงเป็นชายแดนระหว่างประเทศที่ยาวที่สุดในโลก ประชากรของคาซัคสถานมีประมาณ 20 ล้านคน ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ได้แก่ คาซัคร้อยละ 71 รัสเซียนร้อยละ 14.9 อุซเบกร้อยละ 3.3 ยูเครนเนียนร้อยละ 1.9 อุยกูร์ร้อยละ 1.5 เยอรมันร้อยละ 1.1 ตาตาร์ร้อยละ Tatar 1.1 และอื่น ๆ ร้อยละ 5.2 จากปัจจัยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเรื่องการมีที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางยูเรเชียและการมีความพร้อมด้านเศรษฐกิจที่มีเหนือทั้ง 4 ประเทศเอเชียกลาง และการดำเนินนโยบายต่างประเทศ multivector & balance จึงสนับสนุนให้คาซัคสถานสามารถทะยานสู่สถานะ Middle Power เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียกลาง ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศ multivector & balance นำเสนอโดยประธานาธิบดีโตคาเยฟในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคาซัคสถานใน ค.ศ. 1997 ซึ่งคาซัคสถานตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีหลายขั้ว พร้อมกับภัยคุกคามและความท้าทายในรูปแบบใหม่ที่มีอยู่ตลอด จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทุกประเทศแบบรักษาดุลอำนาจ โดยเฉพาะกับรัสเซียและจีนในลักษณะที่ “ไม่เว้นระยะห่างกับรัสเซีย”แต่ “ส่งเสริมความใกล้ชิดกับจีน” เนื่องจากทั้งสองประเทศมหาอำนาจเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนติดกับคาซัคสถาน ซึ่งสามารถส่งผลต่อความอยู่รอดของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน คาซัคสถานก็ใช้รูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ดังกล่าวกับประเทศมหาอำนาจและประเทศขนาดกลางในยุโรปและเอเชีย อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และการเข้าเป็นสมาชิกและมีบทบาทที่แข็งขันในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ หากวิเคราะห์จากทฤษฎีพหุนิยม (Pluralism) เห็นได้ว่าคาซัคสถานมีคุณสมบัติของการเป็น Middle Power อย่างชัดเจน กล่าวคือ

          การเป็นผู้นำภูมิภาคเอเชียกลาง

          เป็นที่ประจักษ์ว่าคาซัคสถานมีสถานะเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียกลางในหลากหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจที่คาซัคสถานมีระดับเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด มีทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุหายากที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมอนาคตที่หลากหลายและสามารถดึงดูดประเทศมหาอำนาจและประเทศขนาดกลางทั่วโลกให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกับคาซัคสถานได้ การมีบทบาทสำคัญในเส้นทาง Middle Corridor ที่เชื่อมจีนกับทวีปยุโรป ยิ่งทำให้คาซัคสถานทวีบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียกลาง คาซัคสถานได้ก้าวสู่สถานะของ “ผู้ให้” ผ่านหน่วยงาน KazAID (คล้ายกับ TICA ของไทย และ JICA ของญี่ปุ่น) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่าง ๆ ให้แก่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียกลางและอัฟกานิสถาน คาซัคสถานยังเป็นผู้นำด้านดิจิทัล โดยในปี 2567 คาซัคสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 24 สำหรับดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกตามการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ นอกจากนี้ คาซัคสถานเป็นประเทศเอเชียกลางประเทศเดียวและรวมถึงในภูมิภาคคอเคซัสที่มี Astana International Financial Center ตั้งอยู่ที่กรุงอัสตานา

          ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น นอกจากที่คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถานเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization: CSTO) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของรัสเซียแล้ว ภูมิภาคเอเชียกลางไม่มีกรอบความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี คาซัคสถานเป็นผู้ริเริ่มกรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia: CICA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟแห่งคาซัคสถานที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 47 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค..ศ. 1992 เพื่อให้ CICA เป็นกลไลส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบันเป็นกรอบความร่วมมือที่มีคีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบิกิสถาน ร่วมเป็นสมาชิกด้วย และปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นผู้ผลักดันในเกิดการหารือในรูปแบบ Central Asia countries + (C5+) กับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป รัสเซีย จีน เยอรมนี นอกจากนี้ ในปี 2567 คาซัคสถานเป็นประธานกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศพร้อมกันถึง 6 กรอบ ได้แก่ กรอบ CICA องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization - SCO)  องค์การรัฐเตอร์กิก (Organization of Turkic States: OTS) องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization: CSTO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อฟื้นฟูทะเลอารัล (International Fund for the Aral Sea) และองค์การอิสลามเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (Islamic Organization for Food Security: IOFS) นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติถึง 24 หน่วยงาน ทั้งหมดนี้สะท้อนการทูตแบบเชิงรุกของคาซัคสถานที่เล่นบทผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชียกลางได้อย่างชัดเจน

          การมีบทบาทนำในประเด็นที่มีความเชี่ยวชาญ

          ในกรอบสหประชาชาติ ประเด็นเรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เป็นประเด็นสำคัญที่คาซัคสถานมีบทบาทโดดเด่นและสามารถทำให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงบทบาทดังกล่าวได้อย่างไม่มีข้อกังขา สาเหตุสำคัญจากการผลักดันเรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์มาจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งขอสหภาพโซเวียตที่พื้นที่ของคาซัคสถานถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่ Semipalatinsk Test Site หรือที่รู้จักในนาม Polygon ถึง 456 ครั้งในช่วง ค.ศ. 1949-1989 และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของชาวคาซัคสถานอย่างมหาศาลกว่าหลายล้านคน นำไปสู่ความทรงจำที่เลวร้ายต่อเรื่องดังกล่าว และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและคาซัคสถานเป็นประเทศเอกราชใน ค.ศ. 1991 การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ในคาซัคสถานจึงเป็นวาระสำคัญอันดับต้นของประเทศ และคาซัคสถานยังสามารถใช้ประเด็นเรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เพื่อหาเสียงชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก วาระ ค.ศ. 2018-2019 และสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นประเทศไทยได้ด้วยคะแนนสนับสนุน 138 เสียง จากเสียงสนับสนุน 193 ประเทศสมาชิก (ในขณะที่ประเทศไทยได้คะแนน 55 เสียง) ส่งผลให้คาซัคสถานเป็นประเทศแรกจากภูมิภาคเอเชียกลางที่สามารถนั่งใน UNSC ได้ และสะท้อนความสำเร็จของ niche diplomacy ของคาซัคสถานต่อประเด็นการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ที่คาซัคสถานหยิบยกมาเล่นในเวทีระดับโลกและทำให้สามารถผลักดันผลประโยชน์ของชาติได้ นอกจากนี้ คาซัคสถานยังเป็นประเทศแรกในเครือรัฐเอกราชที่สามารถเล่นบทบาทที่สร้างสรรค์และแข็งขันในองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe: OSCE) ด้วยการทำหน้าที่ประธานใน ค.ศ. 2010

 

ภาพที่ 3   ภาพถ่ายการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ Semipalatinsk Test Site

คาซัคสถาน3

ที่มา: gov.kz

 

          ในกรอบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คาซัคสถานสามารถผลักดันประเด็นเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างมีรูปธรรม โดยล่าสุด ในวันที่ 3-5 ตุลาคม ค.ศ. 2024 รัฐบาลคาซัคสถานได้ร่วมกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific: ESCAP) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่กรุงอัสตานา และคาซัคสถานได้ย้ำในที่ประชุมดังกล่าวเรื่องแผนการของคาซัคสถานในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายใน ค.ศ. 2029 ซึ่งจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการที่คาซัคสถานเสนอต่อประเทศสมาชิก UNESCAP เรื่องการเปิดศูนย์โซลูชันดิจิทัลของสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในคาซัคสถานด้วย ซึ่งนับเป็น niche diplomacy ที่โดดเด่นอีกอันหนึ่งที่คาซัคสถานดำเนินการเชิงรุกและประสงค์จะผลักดันให้เป็นจริง ซึ่งคาซัคสถานยึดโยงกับความสามารถของประเทศในด้านดิจิทัลที่มีอยู่จริงและได้รับการยอมรับในเวทีสากล เห็นได้การจัดคาซัคสถานไว้ที่อันดับที่ 24 ของดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกตามการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติใน ค.ศ. 2024

          ความสามารถในบทบาทไกล่เกลี่ยประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

          ความสามารถในการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือการเสนอตัวและได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของ Middle Power ซึ่งในหลากหลายโอกาส คาซัคสถานสามารถทำหน้าดังกล่าวได้อย่างดียิ่ง และส่งผลให้คาซัคสถานกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในโลกของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยข้อริเริ่มครั้งแรกของคาซัคสถานในการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศเกิดขึ้นในปลาย ค.ศ. 1991 เมื่อประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟร่วมมือกับประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ของรัสเซีย เพื่อหาทางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานกรณีพื้นที่นากอร์นา-คาราบัค ในระหว่างที่คาซัคสถานดำรงตำแหน่งประธาน OSCE ได้ช่วยบรรเทาวิกฤติในประเทศเพื่อนบ้านอย่างคีร์กีซสถานด้วยการให้ความช่วยเหลือในการถอดถอนประธานาธิบดีคูร์มานเบค บากิเยฟที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศ นอกจากนี้ คาซัคสถานยังใช้ niche diplomacy ในประเด็นด้านการต่อต้านนิวเคลียร์ในการลงนามร่วมกับทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ในสัญญาก่อตั้งธนาคารยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำ (low-enriched uranium) แห่งแรกของโลกเมื่อ ค.ศ. 2015 เพื่อสะสมปริมาณเชื้อเพลิงยูเรเนียมให้มีมากพอป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระดับสากล รวมทั้งยังเป็นกลไกในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ได้อีกด้วย อีกทั้งคาซัคสถานประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสองครั้งติดต่อกันเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่เมืองอัลมาตีเมื่อ ค.ศ. 2013 และแม้ว่าการเจรจารอบอัลมาตีไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ปูทางโดยตรงไปสู่การเจรจารอบเจนีวา

          ต่อกรณีการบรรเทาความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจขนาดต่าง ๆ และเป็นประเทศที่คาซัคสถานมีความใกล้ชิด ได้แก่ รัสเซีย ตุรกี และประเทศตะวันตก ใน ค.ศ. 2014 ประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟพยายามประสานรอยร้าวระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตกที่มีต่อประเด็นยูเครนด้วยการอำนวยความสะดวกการเจรจาระหว่างรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปแบบ Normandy Format และใน ค.ศ. 2016 คาซัคสถานเป็นผู้ช่วยแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับตุรกีที่เป็นผลจากการที่ตุรกียิงเครื่องบินเจ็ทรัสเซียตกเหนือชายแดนตุรกี-ซีเรียเมื่อ ค.ศ. 2015 ซึ่งทั้งตุรกีและรัสเซียเห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟที่จะเป็นเจ้าภาพการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในซีเรีย และเกิดเป็น “การเจรจาอัสตานา” หลายรอบ ทั้งนี้ ความสามารถในบทบาทไกล่เกลี่ยประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศนับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของโยบายต่างประเทศ multivector & balance ของคาซัคสถาน ช่วยยกระดับบทบาทให้คาซัคสถานในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การไกล่เกลี่ยของคาซัคสถานมุ่งเน้นไปที่พื้นที่และภูมิภาคที่อยู่ใกล้คาซัคสถานที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคยูเรเชียโดยรวมได้หากไม่ได้รับการแก้ไข และท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของคาซัคสถาน

          การมีสถานะเป็นพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจโลกและการส่งเสริมพหุภาคีนิยม

          การดำเนินความสัมพันธ์แบบรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจแบบ “ไม่เว้นระยะห่าง” และ “รักษาความใกล้ชิด” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่คาซัคสถานใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ multivector & balance ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เรื่อยมา โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างคาซัคสถานกับรัสเซียและจีนที่มีชายแดนติดกับคาซัคสถาน ในขณะเดียวกันก็ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและประเทศขนาดกลางอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ ประเทศสหภาพยุโรป ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย นอกเหนือจากการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรกับทุกประเทศแล้ว นโยบายต่างประเทศ multivector & balance ยังย้ำการสนับสนุนพหุภาคีนิยมและการมีส่วนร่วมของคาซัคสถานในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์การประท้วงในคาซัคสถานในช่วงต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของคาซัคสถานที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นกับรัสเซีย และคาซัคสถานได้ดำเนินการเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการใช้ “ตัวแปรอื่น” ที่จะมีอิทธิพลมาถ่วงดุลความสัมพันธ์กับรัสเซียในคาซัคสถาน ตัวอย่างของการใช้ “ตัวแปรอื่น” นี้ คือการเน้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับจีน การพบหารือในระดับสูงกับสหรัฐฯ การขยายการค้าและการเชื่อมโยงกับยุโรป การส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่าง ๆ กับตุรกี การบูรณาการในระดับภูมิภาคเอเชียกลางและยูเรเชีย การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการสันติภาพต่าง ๆ การมีบทบาทเชิงรุกในองค์กรระหว่างประเทศ การกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียและอิหร่าน และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศขนาดกลางอื่น ๆ อาทิ สิงคโปร์ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศ multivector & balance ของคาซัคสถานในช่วงปัจจุบัน และช่วยสนับสนุนการมีสถานะ Middle Power ของคาซัคสถานได้อย่างดียิ่ง

          เสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ

          นอกเหนือจากการมีคุณสมบัติทั้ง 5 ประการข้างต้นที่เข้าข่ายการมีสถานะ Middle Power ของคาซัคสถานแล้ว ผู้เขียนมองว่าความเป็นประชาธิปไตยและการมีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกหนึ่งประการในการสนับสนุนให้ประเทศหนึ่งประเทศใดได้รับการยอมรับในฐานะเป็น Middle Power ด้วย โดยหากพิจารณาจากเอกสาร “White Paper” เผยแพร่ใน World Economic Forum ค.ศ. 2024 ที่ได้ระบุตัวอย่างของประเทศที่มีสถานะเป็น Middle Power อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย เห็นได้ว่า ประเทศเหล่านี้มีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ดังนั้น หากมองย้อนกลับมาที่คาซัคสถานที่มีความมุ่งมั่นในการไปสู่สถานะ Middle Power เหมือนประเทศเหล่านี้ คาซัคสถานจึงต้องแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยและการเมืองภายในประเทศที่มีเสถียรภาพในระดับสูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์การประท้วงในคาซัคสถานในช่วงต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สั่นคลอนอำนาจประธานาธิบดีโตคาเยฟและเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่คาซัคสถานเป็นประเทศเอกราช และกลายเป็นจุดเปลี่ยนด้านการเมืองภายในคาซัคสถานอย่างมีนัยสำคัญนั้น ประธานาธิบดีโตคาเยฟได้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองภายในประเทศไปพร้อม ๆ กับการกำจัดขั้วอำนาจเก่าที่เป็นเครือข่ายบุคคลใกล้ชิดของอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ โดยประธานาธิบดีโตคาเยฟได้เพิ่มระดับการปฏิรูปการเมืองในประเทศให้เป็น “New Kazakhstan” ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคาซัคสถานให้เป็นแค่ 7 ปี ได้เพียง 1 วาระเท่านั้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจของรัฐสภา นอกจากนี้ ยังผลักดันวาระแห่งชาติเรื่องการเป็น “Listening State” ที่รับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มีการปฏิรูปการได้มาซึ่งผู้นำท้องถิ่นจากเดิมที่เป็นระบบแต่งตั้งเป็นการได้มาด้วยการเลือกตั้ง รวมทั้งการปฏิรูประบบตุลาการ และที่สำคัญที่สุดคือการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในคาซัคสถานที่ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้โดยตรง การปฏิรูปทั้งหมดนี้ได้รับการรับรองโดยประชาชนผ่านการทำประชามติ ส่งผลให้คาซัคสถานเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียกลางที่ประธานาธิบดีของประเทศสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 1 วาระเท่านั้น และส่งผลต่อมุมมองของนานาประเทศต่อคาซัคสถานในเรื่องระดับความเป็นประชาธิปไตยซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางที่ถูกมองว่ามีการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น

 

บทสรุปและนัยต่อประเทศไทย

          เพียงแค่ 33 ปีที่คาซัคสถานถือกำเนิดเป็นประเทศเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เห็นได้ว่า คาซัคสถานมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น Middle Power อย่างแท้จริง สะท้อนจากตัวชี้วัดที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายต่างประเทศ multivector & balance โดยเฉพาะกับประเทศมหาอำนาจที่มีพื้นที่ติดกับคาซัคสถาน ซึ่งหากวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ multivector & balance ของคาซัคสถานนี้ ก็น่าจะคล้ายกับนโยบายทางการทูตแบบ “bamboo diplomacy” ของไทย ที่ดำเนินการทางการทูตให้สอดคล้องกับประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น เพื่อความอยู่รอดของประเทศและการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งทั้งไทยและคาซัคสถานดำเนินการถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบไม่มีการเลือกข้าง โดยในส่วนของไทยคือสหรัฐฯ กับจีน ในส่วนของคาซัคสถานคือการนำปัจจัยจีนเข้ามาคานรัสเซีย อย่างไรก็ดี ในมุมมองผู้เขียนนั้น เห็นว่ามีความต่างระหว่างนโยบายต่างประเทศ multivector & balance ของคาซัคสถาน กับการทูตแบบ “bamboo diplomacy” ของไทย ซึ่งสะท้อนระดับ “ความกล้า” ในด้านการต่างประเทศของทั้งสองประเทศด้วย โดยคาซัคสถานดำเนินการทูตแบบเชิงรุกเพื่อเพิ่มทั้ง quality and quantity โดยมุ่งเพิ่มจำนวนพันธมิตรให้คาซัคสถาน ทั้งในรูปแบบทวิภาคีผ่านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ เพื่อให้รัฐเหล่านี้ที่มีผลประโยชน์กับคาซัคสถานจะสามารถปกป้องคาซัคสถานได้ในกรณีที่อาจถูกรุกราน (สะท้อนจากการนำปัจจัยจีนเข้ามาคานรัสเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีชายแดนติดกับคาซัคสถานและทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์มหาศาลในคาซัคสถาน) และในขณะเดียวกันคาซัคสถานก็ดำเนินการเชิงรุกแบบมีคุณภาพในเรื่องใช้ปัจจัยพหุภาคีนิยมมาดันสถานะของประเทศในเวทีระหว่างประเทศให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นเกราะในการป้องกันคาซัคสถานจากภัยคุกคามความมั่นคงของชาติได้อีกทางหนึ่งด้วยผ่านการใช้ niche diplomacy ในขณะที่ “bamboo diplomacy” อาจเป็นเพียงวิธีการ “รับมือ” กับมหาอำนาจมากกว่า โดยอาจไม่มีการดำเนินการผลักดันผลประโยชน์แบบ “เชิงรุก” ไปพร้อม ๆ กัน

          ในส่วนของการมีสถานะเป็น Middle Power ของไทยนั้น ผู้เขียนมองว่า ไทยอาจศึกษากรณีที่คาซัคสถานสามารถระบุ niche diplomacy ของประเทศ (เช่นประเด็นเรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น) และเน้นประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศไปพร้อม ๆ กับการได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในเรื่องนั้นๆ ดังนั้น ไทยอาจไม่จำเป็นต้องเล่นทุกเรื่อง แต่ต้องเล่นบางเรื่อง “ให้เป็น-ให้เก่ง-ให้เด่น” กว่าทุกประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และบางเรื่องที่เล่นนี้ ต้องเป็น niche diplomacy จริง ๆ ซึ่งผู้เขียนมองว่า niche diplomacy ของประเทศไทย อาจเป็นเรื่อง “การแพทย์และสาธารณสุข” ตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ การมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมโยงกับที่ไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง ซึ่งสามารถสอดรับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ นอกจากนี้ การที่ไทยมีอัตราค่าบริการการรักษาพยาบาลที่ความเหมาะสมเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ อีกทั้งมีสถานบริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ และยังมีความโดดเด่นด้านการแพทย์ทางเลือก เช่นแพทย์แผนไทย รวมถึงมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยมากมายที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ

 

รายการอ้างอิง

(1) Svante E. Cornell (2024). “Kazakhstan and the Rise of Middle Powers in Central Asia”, The Central Asia-Caucasus Analyst.

(2) Shaping Cooperation in the Fragmenting World (2024). White Paper, World Economic Forum. (https://www3.weforum.org/docs/WEF_Shaping_Cooperation_in_ a_Fragmenting_World_2024.pdf)

(3) George de Twenebrokes Glazebrook (1947). “The Middle Powers in the United Nations System”, International Organization, vol. 1 no. 2, pp. 307 - 315.

(4) Bernard Wood (1987). “Middle Powers in the International System: A Preliminary Assessment of Potential,” WIDER Working Paper Series wp-1987-011, World Institute for Development Economic Research (UNU-WIDER).

(5) Arta Moeini, Christopher Mott, Zachary Paikin, David Polansky (2022). “Middle Powers in the Multipolar World”, Institute for Peace and Diplomacy, p. 12. (https://peacediplomacy.org/wp-content/uploads/2022/03/Middle-Powers-in-the-Multipolar-World.pdf)

(6) Willem Oosterveld and Bianca Torossian (2018). A Balancing Act: The Role of Middle Powers in Contemporary Diplomacy, Hague Center for Security Studies Strategic Monitor. (https://hcss.nl/pub.2018/strategic-monitor-2018-2019/ a-balancing -act/)

(7) S.M. Saifee Islam (2024). Geopolitical Significance of Central Asia and Global Politics, The KRF Center for Bangladesh and Global Affairs (https://www.cbgabd.

org/2024/05/07/geopolitical-significance-of-central-asia-and-global-politics/)

(8) Roman Vakulchuk and Indra Overland (2021). “Central Asia is a missing link

 in analyses of critical materials for the global clean energy transition”, OneEarth. https://doi.org/10.1016/j.oneear.2021.11.012

(9) https://astanatimes.com/2024/02/kazakhstan-forecasts-5-3-economic-growth-in -2024-amid-strong-performance-in-key-sectors

(10) Hunter Stoll (2024). The Middle Corridor: A Renaissance in Global Commerce, The Diplomat. (https://thediplomat.com/2024/03/the-middle-corridor-a-

renaissance-in-global-commerce/)

(11) Address by the President of the Republic of Kazakhstan, Leader of the Nation, N.Nazarbayev “Strategy Kazakhstan-2050”: new political course of the established state” (https://www.akorda.kz/en/addresses/addresses_of_president/address-by-the-president-of-the-republic-of-kazakhstan-leader-of-the-nation-nnazarbayev-strategy-kazakhstan-2050-new-political-course-of-the-established-state)

(12) Svante E. Cornell and S. Frederick Starr (2020). Kazakhstan’s Role in International Mediation under First President Nursultan Nazarbayev. Central Asia-Caucasus Institute & Silk Road Studies Program.

https://www.silkroadstudies.org/resources/Kazakhstan-mediation-Final.pdf

(13) Svante E. Cornell (2024). Two years later: Kazakhstan’s January events. Central Asia-Caucasus Institute & Silk Road Studies Program.

(14) Remarks by President Kassym-Jomart Tokayev at the second meeting of the National Kurultai “Just Kazakhstan – Fair Citizen” (https://www.akorda.kz/en/remarks-by-president-kassym-jomart-tokayev-at-the-second-meeting-of-the-national-kurultaijust-kazakhstan-responsible-citizen-1752616)

 

[*] ดร. อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน ที่ปรึกษา ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานนา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย เอเชียกลาง และยูเรเชียศึกษา / บทความนี้สะท้อนความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนและไม่สะท้อนนโยบายหรือท่าทีทางการของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย

Documents

9-2567_Nov2024_คาซัคสถานในฐานะะอำนาจขนาดกลาง_อรทัย.pdf