"ยุทธศาสตร์ Soft Power" ของไทย และความหนักใจในการสร้าง Moral Authority ด้านการต่างประเทศ | พีระ เจริญวัฒนนุกูล

"ยุทธศาสตร์ Soft Power" ของไทย และความหนักใจในการสร้าง Moral Authority ด้านการต่างประเทศ | พีระ เจริญวัฒนนุกูล

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 May 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 18,026 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 6/2565 | พฤษภาคม 2565

"ยุทธศาสตร์ Soft Power" ของไทย และความหนักใจในการสร้าง Moral Authority ด้านการต่างประเทศ*
พีระ เจริญวัฒนนุกูล** 

(Download .pdf below)

 

          “เมื่อเวลาผ่านไป ข้าพเจ้าก็รับรู้ได้ว่าแนวคิดอย่างเช่น Soft Power นั้นเหมือนเด็กน้อย ในฐานะที่เป็นนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะ คุณอาจจะรักแนวคิดนี้และกำกับมันได้ตอนที่ยังเล็กอยู่ แต่เมื่อแนวคิดนี้เติบโตขึ้นเขาก็ท่องเที่ยวออกไปและพบพานเพื่อนใหม่ อาจจะดีหรือร้ายก็เป็นได้ คุณทำอะไรไม่ได้มากนักหรอกแม้ว่าคุณจะอยู่ที่ตรงนั้นตอนที่แนวคิดนี้กำเนิดเกิดขึ้นก็ตามที[1]

          คำพูดข้างต้นนั้นเป็นคำพูดปิดท้ายของ Joseph Nye, Jr. ผู้เป็นเจ้าของแนวคิด Soft Power ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในโลกของนักวิชาการ นักปฏิบัติการ และบุคคลทั่วไปในสังคมปัจจุบัน นัยของ Nye ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หลัก ๆ ก็คือเขากำลังจะบอกว่าแนวคิดของเขานั้นมีผู้ใช้ไปไกลเกินกว่าที่เขาคิดค้นและขีดเส้นกำหนดเอาไว้แล้วนั่นเอง

          อันที่จริงนับตั้งแต่ พ.ศ. 2564 จนถึง พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ ลิซ่าแห่งวง “BLACKPINK” ชื่อดังได้นำเสนอเพลง “Lalisa” จนถึงกรณี “Milli” รับประทานข้าวเหนียวมะม่วงในเวทีคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ทั้งหลายที่ว่าได้ทำให้แนวคิด Soft Power กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ร้อนจนถึงที่นายกรัฐมนตรีต้องออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของไทย[2]

          จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม อาจเป็นเพราะบทความวิชาการของผมหลายปีก่อน[3] ที่ทำให้หลายท่านเชิญให้ความเห็นทั้งในวงสนทนาแบบเปิดและวงสนทนาแบบปิด การสนทนาไม่ว่าจะที่แห่งใดก็ตามย่อมมีผู้เห็นด้วยและเห็นต่างอันเป็นมรรควิถีของการพัฒนาและเหลาความคิดความอ่านให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น อันที่จริงบทความวิชาการของผมไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย ผมเพียงแค่อธิบายว่าสำหรับ Nye นั้น “วัฒนธรรม ≠ Soft Power” พูดง่าย ๆ ก็คือ ทรัพยากรทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นอาหาร มวยไทย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวโดยตัวเองนั้นเป็นของที่เอาไปขายได้ แต่ไม่ใช่ Soft Power ในตัวเอง เพราะ Soft Power หมายความถึงการใช้กลไกที่ไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญเพื่อบรรลุผลลัพธ์ประการใดประการหนึ่งที่ต้องการ

          แน่นอนว่าการเสนอคำอธิบายตามครรลองของเจ้าคัมภีร์มักโดนตั้งคำถามไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตามที่จะแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้

          “อันนี้คือการตีความ Soft Power ในทางวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้และไม่ใช่สิ่งที่ประเทศขนาดเท่าไทยพึงกระทำ

          “แนวคิด Soft Power อาจต้องถูกหนุนด้วยอำนาจทางการทหารถึงจะประสิทธิ์สัมฤทธิ์ผล

          “แม้ว่าจะเห็นด้วยกับผู้เขียน แต่ตราบเท่าที่ยังหาคำอื่นที่เหมาะไม่ได้ก็จะขอเรียกสิ่งเหล่านี้ (วัฒนธรรม ฯลฯ) ว่า Soft Power ไปเสียก่อน

          “สิ่งที่ไทยต้องการคือการขายวัฒนธรรมเพื่อนำเม็ดเงินเท่าประเทศ ไม่ได้หวังผลทางการเมืองอื่นใด

          “Soft Power ที่ดีต้องประกอบด้วยเรื่องเล่าหรือ Narrative ด้วย

          “การสร้าง Soft Power นั้น การใช้กำลังทหาร Lead by Examples ก็สามารถหวังผลที่ดีได้ด้วย

          อันที่จริง หากท่านใดอ่านบทความวิชาการของกระผมแล้วอาจพาลทำให้คิดไปได้ว่าผมยึดมั่นตำราของ Nye ราวกับคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อันที่จริงก็คือ สำหรับผมนั้น ทางออกในประเด็นปัญหาเชิงแนวคิดที่สามารถเชื่อมโลกวิชาการและโลกของนักปฏิบัติการได้นั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าทิฐิมานะในตำราเสียอีก เพราะผมตระหนักดีดังที่ Nye ว่าเอาไว้ว่าแนวคิดดังกล่าวไปไกลเกินกว่าที่จะไปเรียกร้องให้เลิกใช้ไปแล้ว

          แต่โจทย์หลักก็คือ ภายใต้สภาวะที่แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากมายจนกระทั่งภาครัฐก็จะเข้ามาสนับสนุนโครงการต่าง ๆ นักวิชาการจะทำอย่างไรเพื่อให้เราสามารถรอมชอมแนวคิดนี้ให้เข้ากับสถานการณ์และความแตกต่างหลากหลายได้

          คำตอบก็คือแทนที่เราจะเรียกสินค้าทางวัฒนธรรมว่า Soft Power อย่างเดียวตามกระแสเสมือนกับการเกาะชายผ้าเหลืองเมื่อใครประสบความสำเร็จในการขายทรัพยากรแบบไทย ๆ เราก็เรียกมันว่า “ยุทธศาสตร์ Soft Power” เสียเลย คำถามคือ เพราะเหตุใดที่ต้องเติมคำว่า “ยุทธศาสตร์” เข้ามา คำตอบก็คือ เพราะเมื่อเราเติมคำว่ายุทธศาสตร์เข้ามาแล้วนั้น เราต้องมีการ 1) กำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุอย่างชัดเจน; 2) กำหนดทรัพยากรและวิธีการที่จะใช้; 3) และกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จของการดำเนินยุทธศาสตร์

          ข้อดีของการทำงานอยู่กับงานที่มีกลิ่นอายของระบบราชการก็คือ เวลาเราทำโครงการใดที่มีการใช้คำว่ายุทธศาสตร์ กระบวนการเขียนโครงการเราต้องคิดถึง “วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ และตัวชี้วัดผลลัพธ์ ความสำเร็จ” ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เพียงมีสามองค์ประกอบนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเติมเต็มนิยาม Soft Power ของ Nye จากมุมนี้ เราจะได้การจัดวางความต่างดังตารางต่อไปนี้

 

ยุทธศาสตร์ Soft Power

(ฉบับปรับปรุงจาก Nye )

นิยามเป้าหมายความสำเร็จ

(Defining Objectives/National interests)

 

·       คนต่างชาติประเทศ A, B, C, D นิยมสินค้าไทยและชื่นชมไทยมากขึ้น

·       ขายของได้มากยิ่งขึ้น

·       National Branding

·       Better Narrative/Identity/Image

วิธีการดำเนินการ
(Soft Power Resources)

·       เศรษฐกิจสร้างสรรค์

·       ขายทรัพยากรทางวัฒนธรรม อาหาร ฯลฯ

·       การ lead by examples อาทิ การบริจาควัคซีน

·       สร้างอุตสาหกรรมบันเทิงจากไทย อาทิ ซีรีส์ Y

ตัวชี้วัดความสำเร็จทางยุทธศาสตร์

(Evaluation of Success)

·       สำรวจความนิยมไทย

·       สำรวจความนิยมสินค้าไทยที่กำหนด

·       สำรวจความน่าเชื่อมั่นต่อท่าทีด้านการต่างประเทศของไทย

·       ???

 

          จะเห็นได้ว่า หากเรานิยามแนวคิดนี้ให้เป็น “ยุทธศาสตร์ Soft Power” จะทำให้ความต่างจากการนำแนวคิดวิชาการไปใช้ในทางปฏิบัติพอมีทางเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น และสามารถบูรณาการความแตกต่างจากหลากมิติและหลากสาขาวิชาให้เข้ามารวมกันภายใต้ร่มเงา “ยุทธศาสตร์ Soft Power” ได้มากยิ่งขึ้นและไม่ทำลายความคิดแบบต้นตำหรับจนเกินไป

          อย่างไรก็ดี โจทย์ถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ แล้วเราจะนิยามเป้าหมายแบบใดก่อนที่จะดำเนิน “ยุทธศาสตร์ Soft Power” แน่ละว่า เป้าหมายและผลประโยชน์แห่งชาติมีความแตกต่างหลากหลายตามแต่ละประเทศจะนิยามตามวาระ แต่ประเทศหนึ่งสามารถนิยามเป้าหมายอันหลากหลายได้ หน่วยงานใดพึงขายของเชิงสร้างสรรค์ก็กระทำไป หน่วยงานใดพึงโปรโมตเชิงวัฒนธรรมเพื่อสร้างความนิยมไทยก็พึงกระทำไป หน่วยงานใดพึงสร้างภาพยนตร์ในอุตสาหกรรมบันเทิงก็ทำไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อไทยแทบทั้งสิ้นทั้งต่อภายในประเทศและภายนอกประเทศ และภาครัฐก็ควรเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังให้เป็นเชิงยุทธศาสตร์ด้วย

          แต่ในเชิงนโยบายต่างประเทศนั้น หากว่าโจทย์คือการสร้างสถานภาพ สร้างพลัง สร้างความน่าเชื่อถือในเวทีโลกแล้วนั้น ผมไม่แน่ใจว่าวิธีการหรือทรัพยากรข้างต้นนั้นสามารถตอบโจทย์ได้ จริงอยู่ที่การ “แสดงออกด้วยตัวอย่างที่ดี” (lead by examples) อาจจะตอบโจทย์เป้าหมายเหล่านั้น แต่คำถามคือ การนำด้วยตัวอย่างแบบใดที่จะสร้างสถานภาพ สร้างพลัง สร้างแรงดึงดูดใจ และสร้างความน่าเชื่อถือได้บ้าง

          คำตอบที่ผมได้ฟังจากผู้รู้ท่านหนึ่งในวงเสวนาปิดก็คือการดำเนินนโยบายบนฐานของ “อำนาจทางศีลธรรม” (moral authority) ซื่งเป็นประเด็นที่ผมสนใจมากและเป็นแนวทางที่รัฐที่มีขนาดกลางหรือขนาดเล็กในเวทีโลกสามารถกระทำได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ เหล่านี้แปลว่าอะไร แปลว่าด้วยข้อจำกัดของรัฐขนาดกลางหรือรัฐขนาดเล็ก สิ่งที่รัฐนั้น ๆ พึงกระทำได้ก็คือการแสดงท่าทีที่สอดคล้องตามทำนองคลองธรรมของปทัสถานหรือศีลธรรมอันดีนั้นเองเพื่อที่จะสร้างสถานภาพและความเชื่อมั่นในเวทีโลกได้ นี่ไม่ใช่การกล่าวอ้างอย่างลอยแต่มีงานวิจัยในวารสารที่น่าเชื่อถือได้เสนอเอาไว้ ดังที่ได้ศึกษานโยบายต่างประเทศของประเทศนอร์เวย์ที่คอยเข้าร่วมกับกองกำลังสันติภาพขององค์การสหประชาติอยู่เป็นประจำหรือความพยายามยุติความขัดแย้งโดยการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยดังที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เรียกว่า Oslo Process[4]

          ฟังดูเรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องง่ายที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อันที่จริงการเฉิดฉายจากความน่าเชื่อถือผ่านอำนาจทางศีลธรรมไม่ง่ายเลย หากเรานึกถึงนอร์เวย์เราคงอาจนึกถึง Oslo Process หรือความเป็นชาติที่ดำเนินนโยบายประพฤติดีในเวทีระหว่างประเทศ ความยากของการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างอำนาจทางศีลธรรมเพื่อให้ชาติอื่นเชื่อมั่นและคล้อยตามนั้นคือความยากในด้านเวลา เพราะต้องมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร

          นักปฏิบัติการอาจฟังดูว่าข้อเสนอเรื่องอำนาจทางศีลธรรมนั้นเหลวไหลและไม่สะท้อนความเป็นจริงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจะบอกว่าภูมิรัฐศาสตร์ของไทยต้องคอยระวังทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ากระทั่งเมื่อครั้งรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศขนาดเล็กที่เป็นเกาะอย่างเช่นสิงคโปร์ยังได้ออกประณามการกระทำดังกล่าวอย่างเปิดเผยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศ[5]

          เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่หากทำสำเร็จก็สร้างความดึงดูดใจและความน่าเชื่อถือในเวทีโลกได้ แต่ย่อมแลกมาด้วยต้นทุนบางประการ ความเป็นจริงก็คือไทยมีทรัพยากรและต้นทุนที่จะดำเนินนโยบายสร้างสถานภาพผ่านอำนาจทางศีลธรรมได้โดยไม่กระทบชาติใดอยู่แล้วมากมาย ซึ่งจะเป็นการนำด้วยปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หากสิ่งที่เรียกว่าซีรีส์ Y เป็นที่นิยมในต่างแดน หากว่าไทยเคยโปรโมตโครงการท่องเที่ยวอย่างเช่น “Go Thai, Be Free” แล้วนั้น แล้วด้วยเหตุอันใดที่ไทยไม่หยิบยกประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันขึ้นมาทำให้เป็นประเด็นที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อส่งสัญญาณว่าชาตินี้นี่ละเคารพเส้นทางการเลือกของมนุษย์ ไม่ใช่แนวทางแบบนี้หรือที่ “ยุทธศาสตร์ Soft Power” จะสามารถบูรณาการแนวทางจากหลายภาคส่วนได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์สื่อบันเทิง การนำเม็ดเงินเข้าไทยผ่านการท่องเที่ยว และการสร้างอำนาจทางศีลธรรมผ่านการสนับสนุนการเลือกเส้นทางของการเลือกเพศสภาพ

 

[1] Joseph Nye, “Soft Power: The Evolution of a Concept,” Journal of Political Power Vol. 14, no. 1 (2020): 14.

[2] “นายกฯปลื้มความสำเร็จ "ลิซ่า" สร้าง soft power นำวัฒนธรรมไทย ให้ทั่วโลกรู้จัก,” กรุงเทพธุรกิจ, 13 กันยายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/959765.

[3] พีระ เจริญวัฒนนุกูล, "พินิจแนวคิด Soft Power อย่างจริงจัง: ปัญหาและความเข้าใจผิดในการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในงานวิชาการไทย," รัฐศาสตร์นิเทศ 4, ฉบับที่ 1-2 (กรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2561): 237-277.

[4] Wohlforth, William C., Benjamin de Carvalho, Halvard Leira and Iver B. Neumann. “Moral Authority and Status in International Relations: Good States and the Social Dimension of Status Seeking.” Review of International Studies 44, no. 3 (2018): 526–546.

[5] Hariz Baharuddin, “Singapore strongly condemns Russia’s invasion of Ukraine: PM Lee,” The Straits Times, February 28, 2022, https://www.straitstimes.com/singapore/singapore-strongly-condemns-russias-invasion-of-ukraine-pm-lee.

 

[*] ข้อสังเกตเพิ่มเติมของผู้เขียนจากการระดมสมอง (Focus Group) ในหัวข้อ Soft Power พลังการต่างประเทศของไทยในทศวรรษ 2020 ครั้งที่ 1 “ย้อนพินิจแนวคิด Soft Power” จัดโดย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ

[**] สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Documents

6-2565_May2022_ยุทธศาสตร์_Soft_Power_ของไทย_พีระ_เจริญวัฒนนุกูล.pdf