วิวัฒนาการของแนวคิดความมั่นคงทางทะเล: ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก | ธนวัฒน์ สมจิตร

วิวัฒนาการของแนวคิดความมั่นคงทางทะเล: ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก | ธนวัฒน์ สมจิตร

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 Sep 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 Sep 2024

| 1,261 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 7/2567 | กันยายน 2567

วิวัฒนาการของแนวคิดความมั่นคงทางทะเล: ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก*
ธนวัฒน์ สมจิตร**

(Download .pdf below)

 

          การศึกษาอาณาบริเวณต่าง ๆ หรือ area studies โดยทั่วไปเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและอนุภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง การทหาร การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตามภูมิภาคต่าง ๆ (regional studies) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูเรเชีย และอินโด-แปซิฟิก และเมื่อพิจารณาอาณาบริเวณศึกษาทางทะเลแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทะเลเป็นพื้นที่ศึกษาที่มีอาณาบริเวณมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 โดยประมาณ[1] เมื่อเทียบกับอาณาบริเวณทางบกทั้งหมดของโลกใบนี้ ทั้งนี้พื้นที่ทางทะเล ท้องทะเล และพื้นที่ใต้ผิวดินจากพื้นท้องทะเล หรือ sub soil เป็นอาณาบริเวณที่ประกอบไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต (living and non-living resources) เส้นทางเดินเรือ (Sea Line of Communication: SLOC) แหล่งพลังงานธรรมชาติทางทะเล สิทธิเสรีภาพในการเดินเรือตามแต่ละอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ทางทะเลและมหาสมุทรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สมบัติของมวลมนุษยชาติและยังเป็นผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งในฐานะรัฐชายฝั่ง รัฐอื่น ๆ รัฐที่ไม่มีอาณาเขตทางทะเล (landlocked)[2] อีกทั้งบริเวณทะเลหลวงก็ยังคงอุดมไว้ด้วยผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค

          การศึกษาอาณาบริเวณทางทะเลจึงมีความสำคัญมากเมื่อเทียบกับการศึกษาอาณาบริเวณบนบกโดยอาณาบริเวณทางทะเลมีความสำคัญในมิติต่าง ๆ ประกอบด้วย มิติทางภูมิศาสตร์ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางการเมือง (maritime geopolitics) มิติทางการทหาร มิติทางกฎหมาย และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม จากการนำแนวความคิดในการกำกับดูแลทะเลและมหาสมุทร (ocean governance) มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย (good order at seas) ความมั่นคงและความปลอดภัย การอุปโภคและบริโภคทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันและมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป ปัจจุบันยังคงพบกับอุปสรรคและสิ่งท้าทายที่มวลมนุษยชาติผู้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรทางทะเลในการอุปโภคและบริโภคจำเป็นต้องคำนึงถึงและร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาจากภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นอาทิ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ปัญหาความมั่นคงทางทะเลรูปแบบใหม่ การเคลื่อนย้ายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายและยาเสพติดทางทะเล ปัญหาการขยายอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจทางทะเล ปัญหาการทำการอันเป็นโจรสลัดและการก่อการร้าย ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เป็นต้น[3] ซึ่งปัญหาและภัยคุกคามเหล่านี้ไม่สามารถจัดการแก้ไขได้ด้วยรัฐใดเพียงรัฐเดียวเท่านั้นเนื่องจากปัญหาภัยคุกคามทางทะเลมีคุณลักษณะเฉพาะคือการแพร่กระจายและขยายผลกระทบไปได้ทั่วอาณาบริเวณทางทะเลและชายฝั่งต่าง ๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงมีความจำเป็นต้องอาศัยวิธีการและเครื่องมือที่เกิดจากองค์ความรู้และประสบการณ์หลากหลายแขนงมาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดการคิด วิเคราะห์ จำแนกและแยกแยะสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และสามารถประเมินความรุนแรงของผลกระทบได้อย่างแม่นยำถูกต้องจนนำไปสู่การสังเคราะห์กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบรอบคอบพร้อมกับข้อเสนอแนะได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศเพื่อทำให้เกิดสภาวะความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยนำไปสู่การทำให้การทำกิจกรรมทางทะเลสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

วิวัฒนาการด้านความมั่นคงทางทะเล[4]

          จากการศึกษาวิวัฒนาการด้านความมั่นคงทางทะเลของ Professor Christian Bueger[5] ได้จำแนกวิวัฒนาการออกเป็นลูกคลื่นจำนวน 4 ระลอกตามลำดับ ซึ่งแต่ละลูกคลื่นได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดการคาดการณ์แนวโน้มของภัยคุกคามทางทะเลในแต่ละยุคว่ามีฉากทัศน์และสภาพปัญหาเป็นอย่างไร อีกทั้งการศึกษาดังกล่าวยังได้นำเสนอการเปลี่ยนผ่านและการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกที่ต้องการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางทะเลและสิ่งท้าทายต่อการสร้างความมั่นคงทางทะเลในแต่ละยุคไว้อย่างเป็นระบบ

          คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 1: Emergence of terrorism, pirates and the rise of holistic understanding เป็นการกำเนิดขึ้นของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทางทะเล การทำการอันเป็นโจรสลัด และการสร้างความเข้าใจความมั่นคงทางทะเลแบบองค์รวมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากการถกเถียงเรื่องความมั่นคงทางทะเลตั้งแต่อดีต[6] พบว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีความเข้าใจความมั่นคงทางทะเลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยุคจักรวรรดิการล่าอาณานิคม การครองความเป็นเจ้าอาณานิคมทางทะเลด้วยการใช้กำลังทางเรือและสมุททานุภาพของแต่ละประเทศ สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางทะเล (maritime safety) นั้นจะเน้นที่การศึกษาการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากการคมนาคมและการขนส่งจากอุบัติเหตุทางทะเลที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยทางทะเลที่เพิ่มมากขึ้นนี้ได้นำไปสู่การถกเถียงในเรื่องหลักกฎหมาย และข้อบังคับทางทะเลระหว่างประเทศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดีสำหรับมิติด้านความมั่นคงทางทะเลนั้นยังมีหัวข้อที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระทางทะเลที่สำคัญใน ค.ศ. 1990 โดยเป็นการควบรวมกันระหว่างแนวความคิดเรื่องการเสริมสร้างสมุททานุภาพ และความปลอดภัยทางทะเล[7]ซึ่งเป็นการสะท้อนแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในบริบทโลกที่ขยายออกไปทั้งภาพกว้างและมีความลึกโดยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่กระจายออกไปอย่างไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น สำหรับวิวัฒนาการความมั่นคงทางทะเลคลื่นลูกที่ 1 นี้แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เกิดจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) พบว่า ปัญหาหลักของภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลเกิดจากการกระทำการอันเป็นโจรสลัดบริเวณพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริเวณพื้นที่อ่าวเอเดนประเทศโซมาเลีย การทำการเป็นโจรสลัดนั้นได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือ และเป็นภัยคุกคามต่อเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้าทางทะเล อีกทั้งการก่อการร้ายทางทะเลในยุคนั้นได้ทำให้เกิดความหวาดกลัวการโจมตีเรือสินค้าผนวกกับใน ค.ศ.2001 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการก่อการร้ายด้วยการใช้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลทำให้กระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงทางทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และจากการศึกษายังคงพบว่า กรอบแนวความคิดด้านความมั่นคงทางทะเลที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นเพียงเรื่องขกงการใช้กำลังทางเรือของกองทัพเรือแต่ละประเทศเท่านั้น แต่กลับมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกิจกรรมทางทะเลที่ต้องอาศัยหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอื่น ๆ เข้ามาร่วมกันในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้พบว่าการปฏิบัติการทางเรือเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และการปราบปรามโจรสลัดสามารถยกระดับความั่นคงทางทะเลและความปลอดภัยเขตท่าเรือต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยุคคลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 1 นี้ ยังคงปรากฏแนวความคิดการสร้างความตระหนักรู้ทางทะเล (Maritime Domain Awareness: MDA)  ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในกิจกรรมและภัยคุกคามทางทะเลที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อไป

          คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 2: Consolidation Maritime Security Strategy and the extension of scope จากวิวัฒนาการความมั่นคงทางทะเลคลื่นลูกทึ่ 1 ได้สะท้อนแนวความคิดภัยคุกคามทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงจากแบบดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญต่อการใช้กำลังเพื่อปกป้องอธิปไตยดินแดนทางทะเลเป็นหลักโดยเปลี่ยนไปสู่การจัดการภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐตนเองและผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งยังคงต้องพึ่งพาการใช้เครื่องมือด้านความมั่นคงทางทะเลทั้งกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งในการจัดการปัญหาการก่อการร้ายทางทะเล การทำการอันเป็นโจรสลัด การรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยท่าเรือรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อภัยคุกคามทางทะเลได้ส่งผลถึงวิวัฒนาการความมั่นคงทางทะเลลูกทึ่ 2 ซึ่งจะได้ฉายภาพความชัดเจนด้วยการสร้างความร่วมมือที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะเผชิญสิ่งท้าทายความมั่นคงทางทะเลในขณะนั้นได้ทำให้รัฐซึ่งเป็นผู้แสดงหลักระหว่างประเทศเกิดความเข้าใจปัญหาภัยคุกคามทางทะเลและพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น โดยสังเกตได้จากความร่วมมือในการกับปัญหาโจรสลัดบริเวณอ่าวเอเดน ณ ประเทศโซมาเลีย ด้วยการใช้ปฏิบัติการผสมทางเรือร่วมกันรวมถึงประเทศต่าง ๆ และองค์กรทางทะเลในภูมิภาคยังได้รับรู้และตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาความมั่นคงทางทะเลและสิ่งท้าทายต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น

          คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 2  ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาอาชญากรรมทางทะเล (blue crimes)[8] ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเคลื่อนย้ายสิ่งของผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น และจากปัญหาต่างๆเหล่านี้จึงนำไปสู่แนวทางการกำหนดแนวความคิดในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น สหภาพยุโรป อินเดีย ฝรั่งเศส สเปน หรือสหราชอาณาจักร ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ทางทะเลขึ้นระหว่าง ค.ศ. 2014-2015  แผนเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ เครื่องมือกับทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกลไกสำหรับจัดการภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่และสร้างสภาวะแวดล้อมทางทะเลให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยให้แก่การดำเนินกิจกรรมทางทะเลได้อย่างต่อเนื่องและสำหรับในเวลาเดียวกันนั้นประเทศไทยโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดทำแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลขึ้นสำหรับใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาความมั่นคงทางทะเลภายในประเทศและการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคสำหรับรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไว้เช่นเดียวกัน

          คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 3 Expansion: MDA, Capacity Building and Blue Economy จากการสร้างความตระหนักรู้ทางทะเล การกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางและแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลจากประเทศต่าง ๆ ได้เกิดจากวิวัฒนาการด้านความมั่นคงทางทะเลจากคลื่นลูกที่ 2 ที่กล่าวมาแล้วนั้น ปัญหาและภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นยังคงเป็นสิ่งท้าทายต่อระบอบความมั่นคงทางทะเลระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ  ดังนั้นการอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถ การสร้างความตระหนักรู้ทางทะเล การพัฒนายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล ด้วยวิธีการเสริมสร้างศักยภาพหรือ capacity building นั้น ยังคงต้องอาศัยการประสานความร่วมมือร่วมกันในทุกพื้นที่ทั่วโลก

          ความพยายามในการนำเสนอและเสริมสร้างความตระหนักรู้ทางทะเลทั่วภูมิภาคสะท้อนให้เห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเลในภูมิภาค ณ ประเทศสิงคโปร์ หรือ Information Fusion Center in Singapore (IFC) โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าเรือต้องสงสัยบริเวณพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกาและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยศูนย์ปฏิบัติการผสมทางทะเลระหว่างประเทศนี้จะทำหน้าที่เป็นกลไกที่สำคัญสำหรับตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคโดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเลร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก ศูนย์ IFC ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและได้นำไปเป็นแนวทางให้แก่หลายประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาครวมทั้งทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความต้องการจัดตั้งศูนย์ขึ้นเอง การขยายขอบเขตความร่วมมือทางทะเลไปทั่วโลกนั้นเป็นผลมาจากการสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญด้วยการทุ่มเททรัพยากรด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทะเลร่วมกันจากประเทศที่เป็นตัวแสดงที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศภายใต้กำกับขององค์การสหประชาชาติ เช่น UNODC โดย Global Maritime Crime Programme เป็นโครงการที่มีแนวความคิดริเริ่มในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีความต้องการที่จะพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลด้วยการจัดโครงการฝึก ศึกษาและอบรม การให้ความรู้และการฝึกให้แก่หน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลและการดำเนินคดีให้เป็นไปตามหลักความเป็นธรรมระหว่างประเทศและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก อีกทั้ง UNODC ยังได้มีส่วนในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกให้มีขีดความสามารถด้านการบังคับใช้กฎหมายทะเลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

          การพัฒนาด้านความมั่นคงทางทะเลที่สำคัญเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และภูมิภาคจนนำมาสู่กระบวนทัศน์ในบริบทของเศรษฐกิจสีน้ำเงินหรือ blue economy[9]เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเล[10] สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่มีการลงทุนกับกิจกรรมและอุตสาหกรรมทางทะเลได้มีความเข้าใจถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเลว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการสร้างโอกาสในการสร้างงานทางทะเลขนาดใหญ่ และเมื่อพิจารณาแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ความมั่นคงทางทะเลกำลังกลายเป็นสภาวะที่ไม่เพียงแต่ประเทศมหาอำนาจที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่ยังคงมีประเทศขนาดเล็กที่ได้รับรู้ถึงความสำคัญกับการดูแลรักษาและปกป้องทะเลร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในอนาคต

          การควบรวมสภาวะความมั่นคงทางทะเลไว้กับระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงินขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของกิจกรรมทางทะเล อาทิ การทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ซึ่งเปรียบเสมือนการก่ออาชญากรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรประมงที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลกที่เคยเป็นความสำคัญลำดับแรก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาโจรสลัด หรือการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย เป็นต้น การทำประมงผิดกฎหมายยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่น่าติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะมีการโต้แย้งว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐชายฝั่งหรือองค์กรการบริหารจัดการประมงในภูมิภาค หรือ RFMO จะรับผิดชอบต่อปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายต่อไปหรือไม่นั้น[11] การขยายตัวของแนวคิดด้านความมั่นคงทางทะเลแบบเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจสีน้ำเงินกับการทำประมงผิดกฎหมายยังคงเกิดการถกเถียงโต้แย้งว่าจะดำเนินไปด้วยกันอย่างเรียบร้อยได้อย่างไร

          คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 4 Geo-politicization: The consequences of indo-pacific thinking ขณะที่คลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกที่ 3 ยังคงทรงพลังและส่งผลกระทบไปทั่วอาณาบริเวณทางทะเลอยู่นั้น แนวความคิดการกำเนิดคลื่นความมั่นคงทางทะเลลูกใหม่ได้กำลังสั่งสมปัญหาและสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์จากการขยายอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจทางการเมืองและการทหารมาด้วยการใช้กำลังทางเรือและหน่วยงานยามฝั่งเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของตนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ภัยคุกคามจากการก่ออาชญากรรมทางทะเลหรือ blue crimes และการก่อการร้ายทางทะเลดูเหมือนจะลดทอนความสำคัญลงไปแม้ว่าจะยังคงมีจำนวนการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นอยู่และยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางทะเลอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดการตั้งคำถามและความกังวลต่อกรณีการขยายอำนาจและอิทธิพลทางทะเลจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศจีนที่กำลังแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้จนนำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ควรจะกำหนดเป็นวาระสำคัญที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลอีกรูปแบบหนึ่งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ต่อไปได้หรือไม่

          การแข่งขันกันขยายอำนาจและอิทธิพลทางทะเลระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกทำให้พื้นที่ทางทะเลที่เคยสงบเรียบร้อยกำลังกลายเป็นสถาปัตยกรรมการทางการเมืองเพื่อแข่งขันกันทางอำนาจจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยเครื่องมือทางยุทธศาสตร์และแผนเศรษฐกิจความมั่นคงแห่งชาติของแต่ละประเทศ เช่น Belt Road Initiative (BRI) ของจีน และ Indo-Pacific Strategy ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น การแข่งขันกันเป็นเจ้าในภูมิภาคระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ทำให้ประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคเริ่มตั้งคำถามและรู้สึกกังวลต่อสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือ (rights and freedom of navigation) ความกังวลจากการแสดงกำลังอำนาจทางเรือ และการฝึกผสมทางทะเล[12]ของแต่ละกลุ่มพันธมิตรในการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทางทะเล เช่น กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ที่เกิดจากการอ้างอำนาจอธิปไตยทางทะเลจากการประกาศ “Nine-dash line” ของจีน เป็นต้น จากสถานการณ์เหล่านี้ทำให้ฉากทัศน์ด้านความมั่นคงทางทะเลมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นปัญหาข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลระหว่างรัฐชายฝั่งที่แสดงท่าทีผ่านนโยบายต่างประเทศด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถกำลังทางเรือของตนเองและจากความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ

          การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจผ่านอาณาบริเวณทางทะเลจากการใช้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นพื้นที่ปฏิบัติการนั้น กำลังเป็นสิ่งท้าทายอีกประการต่อปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์นี้กำลังทำให้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางทะเลลดทอนความสำคัญและมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้น ปัญหาจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังทำให้กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางทะเลร่วมกัน เช่น การสร้างความตระหนักรู้ทางทะเล และกลไกการประสานความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลได้รับผลกระทบจนเกิดปัญหาทำให้รัฐชายฝั่งขนาดเล็กที่ขาดขีดความสามารถในการจัดการปัญหาต้องพบกับความยากลำบากและสิ่งท้าทายเพิ่มมากขึ้นเพราะแทนที่จะต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทะเลของรัฐตนเองเพียงเท่านั้น แต่กลับต้องเตรียมความพร้อมด้านขีดความสามารถทางเรือเพิ่มมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางทะเลร่วมกันท่ามกลางสภาวะแวดล้อมความมั่นคงทางทะเลที่มีความผันผวนจากการขยายอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจทางทะเลอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

          A New wave on the horizon? Climate Change, Environment Crime and Blue Justice[13] ปัญหาภัยคุกคามทางทะเลจากการแข่งกันขยายอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจโดยอาศัยปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคต่อไปหรือไม่นั้น การบูรณาการด้านความมั่นคงทางทะเลภายใต้แนวทางการกำกับดูแลมหาสมุทรหรือ ocean governance ได้ขยายอาณาบริเวณครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและยังคงเป็นหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัย ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยมีความเกี่ยวข้องและซ้อนทับกันกับกระบวนทัศน์ทางทะเลที่สำคัญในปัจจุบัน อาทิ  ‘Blue Economy’, ‘Ocean health’, ‘Blue Justice’ ขณะที่การผสมผสานกันระหว่างความมั่นคงทางทะเลและเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้รับการยกระดับให้เป็นจุดเชื่อมโยงกับความยั่งยืนของทะเลและมหาสมุทร นอกจากนี้ความยุติธรรมทางทะเล แนวทางการกำกับดูแลมหาสมุทร เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลก็ได้รับการยอมรับจากรัฐชายฝั่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPA) บริเวณพื้นที่ทะเลหลวงซึ่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพาข้อตกลง หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นเสมือนหัวใจในการรักษาความมั่นคงทางทะเลโดยรวมถึงการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหามลพิษทางทะเล และอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น

          ความมั่นคงทางทะเลยังคงเป็นเรื่องราวและบริบทของความร่วมมือกันโดยได้รับผลกระทบจากสภาวะความไม่มั่นคงและการไร้เสถียรภาพของภูมิภาค จากปัญหาผลกระทบเหล่านี้จึงนำมาสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศและการสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาและผลกระทบจากภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นซึ่งกำลังเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญต่อการจัดการปัญหาของรัฐชายฝั่ง และเป็นปัญหาต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ทั้งนี้ปัญหาภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปประกอบด้วย ปัญหาอาชญากรรมทางทะเล ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาผลกระทบความอุดมสมบูรณ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลด้วยความชอบธรรม ทั้งนี้ผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐชายฝั่ง และการพัฒนาความร่วมมือและความช่วยเหลือของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคง และแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลของแต่ละประเทศ การสร้างความร่วมมือด้านการตระหนักรู้ทางทะเลร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะนำไปสู่การกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของมหาสมุทรตามแนวความคิด ocean governance เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมทางทะเลให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การสร้างความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนทางทะเลต่อไปได้

          ใน ค.ศ. 2022 มีการจัดประชุมระหว่างประเทศจำนวนมากเพื่อหารือและนำเสนอปัญหาอุปสรรคสิ่งท้าทายต่อการกำกับดูแลท้องทะเลและมหาสมุทร เช่น การประชุม UN Oceans Conference  มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา การแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ หรือ Best Practices การพิจารณากลไกการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการปกป้องมหาสมุทรและทรัพยากรที่มีชีวิตทางทะเล การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การสร้างความปลอดภัยให้แก่กิจกรรมทางทะเลโดยใช้เป้าหมาย United Nations Sustainable Development Goals (UNSDGs) เป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนการจัดการปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การสูญเสียระบบนิเวศทางทะเล ปัญหามลพิษทางทะเล ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้ทรัพยากรทางทะเลโดยปราศจากการควบคุม อย่างไรก็ดีจากการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่งคงทางทะเลในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้กลับพบว่าปัญหาจากการขยายอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคกำลังปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนควบคู่ไปกับวิวัฒนาการด้านความมั่นคงทางทะเลที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป    

          อุปสรรคและสิ่งท้าทายต่อความมั่นคงทางทะเลที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิกขณะนี้เกิดขึ้นจากการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ BRI และ Indo-Pacific Strategy มาเป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคกำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค แทนที่ควรจะเป็นพื้นที่แห่งสันติภาพและมีความเป็นกลางกับทุกความขัดแย้ง ทั้งนี้ การใช้กำลังทางเรือและจากหน่วยยามฝั่งในรูปแบบ Gray Zone Operations จากการขยายอำนาจอธิปไตยของตนเองที่ขัดต่อกฎหมายทะเล 1982 ด้วยการอ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการถือบทบาท หน้าที่ตามกฎหมายทะเล 1982 บัญญัติไว้เพื่อปกป้องดินแดนและอธิปไตยทางทะเล รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือของคู่ขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายนี้ การใช้กำลังในรูปแบบ Gray Zone Operations เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามขนาดใหญ่นี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเลทั้งกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และยังกระทบกับความปลอดภัย และสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือของรัฐอื่น ๆ ที่สามารถใช้พื้นที่ในการเดินเรือตามที่กฎหมายทะเลกำหนดไว้ โดยสามารถแล่นผ่านพื้นที่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้อย่างปลอดภัยทั้งนี้การใช้ปฏิบัติการ Gray Zone Operations ระหว่างประเทศพิพาทในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลจีนใต้นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์และฉากทัศน์ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งยากต่อการป้องกันการและควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าปราศจากความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียนที่จำเป็นจะต้องยึดมั่นและยืนยันในหลักการสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคด้วยการดำรงไว้ซึ่งสภาวะด้านความมั่นคงทางทะเลบนพื้นฐานแนวความคิด “Oceans are commonality of peace and security” ร่วมกันต่อไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประชาคมอาเซียนกำลังเดินทางมาถึงสภาวะที่สำคัญที่เกิดจากการที่มหาอำนาจโลกได้ใช้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่แข่งขันกันขยายอำนาจและอิทธพลทางทะเลด้วยปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังทำให้สมาชิกอาเซียนเกิดความขัดแย้งกันในระดับที่สูงขึ้นจนอาจจะไม่สามารถกลับมาร่วมกันรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอย่างเดิมได้

 

[1] See, https://www.dmcr.go.th/detailAll/24449/nws/196

[2] อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982  

[3]  Till, Geoffrey Professor. 2024., Maritime Security: Some Issues, Maritime Security Programme RSIS, Singapore.

[4] Bueger, Christian. 2022.  Making and Breaking waves: the evolution of global maritime security thinking, paper for proceeding of 2022 Indo- Pacific Sea Power conference, Sydney: Sea power Centre of the Royal Australian Navy.

[5] Ibid.

[6] For a compelling reconstruction of attempts to govern the Oceans, see Bosco, David. 2022. The Poseidon Project. The struggle to govern the world’s oceans. Oxford: Oxford University Press.

[7] See Bueger, Christian.2015. What is maritime Security?, Marine Policy 53.

[8] See Bueger, Christian and Timothy Edmunds. 2020, Blue Crime: conceptualizing transnational Organized Crime at sea, Marine Policy 119,104067.

[9] Voyer, Michelle, Clive Schofield, Kamal Azmi, Robin Warner, Alistair Mcllgorm, and Genevieve Quirk. 2018. “Maritime Security and the Blue Economy : Intersections and Interdependencies in the Indian Oceans” Journal of the Indian Ocean Region 14 (1).

[10] See, https://www.dmcr.go.th/detailLib/6384

[11] Okafor-Yarwood, Ifesinachi and Dyhia Belhabib.2020. The Duplicity of the European Union Common Fisheries Policy in third countries : Evidence from the Gulf of Guinea, Ocean and Coastal Management 184.

[12] The European Union, as discussed e.g., in Rettman, Andrew.2022. EU eyes Indian Ocean naval adventure, EU Observe, 25.1.2022, https://euobserver.com/world/154186; see also Bueger, Christian and Jan Stockbruegger. 2022. Maritime Security and the Western Indian Ocean’s militarization dilemma, Africa Security Review, online first 04 Apr 2022.

[13] Ibid 6.

 

[*] บทความเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะให้ทราบถึงวิธีการศึกษาอาณาบริเวณทางทะเลในมิติต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาการวิวัฒนาการด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคว่ามีการแปรสภาพในแต่ละยุคสมัยที่สอดคล้องต่อความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างไรอีกทั้งการศึกษาวิวัฒนาการความมั่นคงทางทะเลนี้ยังได้คาดคะเนแนวโน้มสถานการณ์และฉากทัศน์ที่เกิดจากการแข่งขันการขยายอำนาจและอิทธิพลผ่านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์บริเวณภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดยเฉพาะพื้นทีทะเลจีนใต้ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตต่อไปอย่างไร

[**] นาวาเอก ธนวัฒน์ สมจิตร หัวหน้ากลุ่มการฝึกต่างประเทศ ศรชล. รับราชการในกองทัพเรือมามากกว่า 24 ปีและมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Maritime Policy ณ ศูนย์ ANCORS มหาวิทยาลัยวูลองกอง เครือรัฐออสเตรเลีย กับศึกษาหลักสูตร Executive Diploma in Strategic and Defence Studies at UPNM Malaysia อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อหลักสูตร International anti-terrorism and piracy ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นาวาเอก ธนวัฒน์ มีความสนใจศึกษาความรู้ในวิชาแขนงความมั่นคงทางทะเล กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายทะเล กรณีศึกษาภัยคุกคามทางทะเลในทุกรูปแบบรวมถึงการศึกษาหาความรู้ด้านความมั่นคงของรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

Documents

7-2567_Sep2024_วิวัฒนาการความมั่นคงทางทะเล_ธนวัฒน์.pdf