ส่งเสริมสันติภาพโลกตามวิถีพุทธ | ฐากูร พานิช

ส่งเสริมสันติภาพโลกตามวิถีพุทธ | ฐากูร พานิช

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 Feb 2023

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 Feb 2023

| 4,567 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 1/2566 | กุมภาพันธ์ 2566

ส่งเสริมสันติภาพโลกตามวิถีพุทธ*
ฐากูร พานิช**

(Download .pdf below)

 

          บทความนี้ประยุกต์จากสุนทรพจน์ที่ข้าพเจ้ากล่าวต่อที่ประชุมของมูลนิธิสันติภาพแห่งชาวพุทธโลกในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2541 ในขณะที่ข้าพเจ้าเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ กัลยาณมิตรชาวศรีลังกาผู้ล่วงลับไปแล้วของข้าพเจ้า คือ นายเนมสิริ มุทุกุมารา ซึ่งเป็นสมาชิกผู้แข็งขันขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโสของหนังสือพิมพ์ศรีลังกา ฉบับ ภาษาอังกฤษ “เดลินิวส์” ได้เชิญข้าพเจ้าไปเป็นแขกเกียรติยศของที่ประชุมดังกล่าว ต่อมาสุนทรพจน์ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” สองฉบับ คือ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 กับฉบับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 แม้สุนทรพจน์นี้
จะผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้อ่านจะเห็นพ้องว่าทัศนะส่วนใหญ่ที่ปรากฏในบทความนี้ยังคงเหมาะสมยิ่งกับ สถานการณ์โลกปัจจุบัน

          ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงข้อคิดเห็นบางประการในเรื่องว่าจะส่งเสริมสันติภาพโลกอย่างไรดี ซึ่งในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านบทความสั้น ๆ เรื่อง พระพุทธศาสนาและสันติภาพโลก ในหนังสือ “The Spectrum of Buddhism” ที่พระปิยะทัสสีชาวศรีลังกาเป็นผู้ประพันธ์ ข้าพเจ้าจะอธิบายข้อคิดเห็นต่าง ๆ โดยใช้ความรู้อันจำกัดที่ได้จากการสังเกตความเป็นไปในสหประชาชาติ ในฐานะของนักการทูตผู้หนึ่งโดยเฉพาะในช่วง 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2536-2539 ที่ข้าพเจ้าเป็นรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ข้าพเจ้าหวังอย่างจริงใจว่าท่านคงจะได้ประโยชน์ในการนำไปใช้ “ต่อยอด” ในการดำเนินงานตามเป้าหมาย
อันสูงส่งของท่าน

          คำว่า “สันติภาพ” หรือ สันตินั้น ไม่ได้หมายเพียงสภาวะที่ไร้สงครามหรือไร้การปฏิปักษ์ต่อกันเท่านั้น แต่จะต้องหมายถึง “สันติสุข” ซึ่งเป็นสภาวะที่ประกอบด้วยความสงบราบรื่นและความผาสุกไปพร้อม ๆ กัน สันติภาพในชาติมิได้แปลว่าชาตินั้นไม่มีการสู้รบเท่านั้น แต่ต้องปล่อยให้ประชาชนสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาที่นำไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขด้วย ดังนั้น จึงต้องมีสันติภาพและความสุขควบคู่กันไป จะมีสันติภาพที่แท้จริงไปไม่ได้หากไร้ซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุข

          ในระดับระหว่างประเทศนั้น ชาติต่าง ๆ ควรต้องพัฒนาในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการพึ่งพาตนเอง เพื่อความผาสุกของพลเมืองในชาตินั้น ๆ ในขณะเดียวกันชาติต่างๆ ต้องตระหนักต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปนอกเขตแดนของตนและช่วยจรรโลงสันติภาพโลกไปด้วยกัน หากโลกเราได้สันติภาพ เราจะขาดความสงบราบรื่นอันจำเป็น ต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของชาติเหล่านั้น

          ทุกชาติในโลกน่าจะพอใจในผลงานการรักษาความมั่นคงและสันติภาพโลกของสหประชาชาติองค์กรหลักของสหประชาชาติที่ดูแลเรื่องสำคัญยิ่งนี้โดยตรงคือ คณะมนตรีความมั่นคง ที่ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ และในจำนวนนี้มี 5 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกถาวร แม้เราจะเห็นในรายงานข่าวซีเอ็นเอ็น หรือบีบีซี หรือในสื่ออื่น ๆ ว่าในการดำเนินงานจะมีการถกเถียง ชิงดีชิงเด่น ใช้กลวิธีของการเป็น “พี่เบิ้ม” และการวีโต้ (ใช้สิทธิยับยั้ง) แต่ยังกล่าวโดยรวมได้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงนี้มีประสิทธิภาพจะเห็นได้ว่าสมาชิกสหประชาชาติแทบทุกประเทศเคารพกฎหมายและกฎบัตรสหประชาชาติ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม และแทบทุกประเทศ ไม่ปรารถนาให้คณะมนตรีความมั่นคงสั่งดำเนินมาตรการลงโทษตน ยิ่งไปกว่านั้น แทบทุกประเทศตั้งความหวังไว้กับสหประชาชาติว่าจะช่วยพวกเขาหากความมั่นคงของเขาถูกคุกคามหรือถูกละเมิด

 

พระพุทธธรรมคำสอนจะช่วยส่งเสริมสันติภาพโลกได้อย่างไร?

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเราในเรื่องของการมีสติควบคุมตนเอง การอดกลั้นการให้อภัยและอื่น ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในเวทีระหว่างประเทศแล้ว ถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและการอยู่ร่วมกันโดยสันติในหมู่มวลประชาชาติ ปัจจุบันนี้ไม่มีประเทศใดสามารถอยู่ได้เองอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป โลกเรานั้นต้องพึ่งพากัน (interdependent) มากขึ้น ดังนั้น การควบคุมตนเองและความอดกลั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวด กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศต่าง ๆ ต้องประพฤติตัวดีเพื่อที่จะมีความสัมพันธ์อันสงบสุขกับประเทศอื่น ๆ

          ในทัศนะของข้าพเจ้า บุคคลจะประพฤติตนดีได้เมื่อละเว้นจากการกระทำ 5 ประการ หรือ เบญจศีล (Pancasila) นั่นเอง เบญจศีลทำให้เกิดความสงบสุขในหมู่ชน เราจะรู้สึกสบายใจและปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้กับคนที่รักษาเบญจศีล เพราะเราทราบว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่ ฆาตกร โจรผู้ร้าย คนไร้ศีลธรรม คนโกหกหรือคนติดสุรายาเมา มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า “สงครามเริ่มจากในใจของมนุษย์” และ “ในใจของมนุษย์นี่เองที่เราต้องปลูกฝังให้ช่วยกันปกป้องสันติภาพ” ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าในใจของมนุษย์ที่รักษาเบญจศีลนั้น จะไม่ยอมให้เกิดการสู้รบฆ่าฟันกัน กล่าวง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าสมาชิกในครอบครัวทุกคนรักษาศีลห้า ครอบครัวนั้นจะมีความสงบสุข หากคนทุกคนในชาติใดรักษาเบญจศีล ชาตินั้นจะมีความสงบสุข หากทุกชาติในโลกรักษาเบญจศีลไม่ว่าชาตินั้นจะเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาหรือไม่ สันติภาพย่อมบังเกิดขึ้นในโลก

          ในความเป็นจริงนั้นคำว่าเบญจศีลหรือ “ปัญจะสีลา-Pancasila” มิใช่คำแปลกใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบนี้ของโลก ปัญจะสีลาเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับนับถือในการประชุมบันดุง ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งผู้นำและรัฐบุรุษของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกาได้มาประชุมเพื่อตกลงกันกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อให้ประชาชาติต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (peaceful coexistence) ช่วงเวลานั้นเป็นยุคที่สงคราม เย็นหรือความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกกำลังดำเนินไปอย่างรุนแรง หลักการสำคัญของปัญจะสีลานั้น ประกอบด้วยอาทิ การไม่ก้าวก่ายในกิจการภายในของประเทศอื่น และการเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่น เป็นต้น การประชุมบันดุงนี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ในยุคนี้

          แต่สิ่งที่เรากำลังพิจารณากันในขณะนี้คือ แนวคิดในเรื่องสันติภาพตามวิถีเบญจศีลในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละเว้นจากการฆ่า (killing) การลักทรัพย์ (theft) การประพฤติผิดในกาม (misconduct) การพูดเท็จ (false speech) และการมัวเมา (intoxicants) เราจะนำมโนคติของวิถีเบญจศีลมาประยุกต์ใช้อธิบายสภาพความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันได้อย่างไร?

  1. ละเว้นจากการฆ่า (ปาณาติบาต) หากผู้นำของชาติยึดถือศีลปฏิบัติในข้อนี้ก็จะไม่มีนโยบายรุกรานประเทศเพื่อนบ้านโดยส่งทหารของตนไปฆ่าฟันทหารของประเทศอื่นเขาจะไม่ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือเครื่องบินรบเพื่อไปสังหารผู้นำประเทศอื่นที่เขาถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ หรือเขาจะไม่ส่งสายลับไปสังหารฝ่ายค้านของตน
    ที่หลบไปลี้ภัยอยู่ในประเทศอื่น ตัวอย่างของการกระทำผิดศีลข้อนี้โดยประเทศต่าง ๆ มีให้เห็นได้ไม่ยาก มันเกิดขึ้นบ่อยเกินไปด้วยซ้ำ
  2. ละเว้นจากการลักทรัพย์ (อทินนาทาน) ผู้นำโลกที่มีศีลปฏิบัติในข้อนี้จะไม่พยายามบากบั่นในการนำความมั่งคั่งและทรัพยากรของประเทศอื่นมาเป็นของตนโดยที่เขาไม่ยินยอม มันจะไม่มีข้อกล่าวหากันที่ว่าประเทศหนึ่ง “ขโมย” น้ำจากแม่น้ำร่วมกับอีกประเทศหนึ่งมากเกินไป ทำให้อีกประเทศหนึ่งได้ส่วนแบ่งน้ำที่ไม่ยุติธรรม เป็นผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม สงครามในอดีตเกิดขึ้นหลายครั้ง เมื่อผู้นำชาติหนึ่งเพียงต้องการสมบัติหรือทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของอีกชาติหนึ่ง จึงส่งกองทัพเข้าไป “ปล้น” เอาสิ่งที่ตนปรารถนา
  3. ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิฉาจาร) ในความเข้าใจของข้าพเจ้า ศีลข้อนี้ครอบคลุมมากกว่าเพียงการประพฤติผิดทางโลกีย์เท่านั้น แต่หมายถึงการไปยึดเอาสิ่งอันเป็นที่รักหรือหวงแหนของผู้อื่นมาเป็นของตน โดยที่เจ้าของไม่ยินยอมในความเป็นจริงนั้นแม้แต่ตามความหมายในทางกามโลกีย์ เราได้เรียนรู้ถึงสงครามในอดีตกาลที่เกิดขึ้น เพราะราชอาณาจักรหนึ่งประสงค์ที่จะได้เจ้าหญิงของอีกราชอาณาจักรหนึ่งมาเป็นคู่ครอง ในโลกปัจจุบันรัฐบาลของประเทศหนึ่งไม่ควรยอมให้คนสัญชาติตนครอบครองโบราณวัตถุอันเป็นที่รักหวงแหนของอีกประเทศหนึ่งโดยวิธีการอันไม่สุจริต หรือประเทศมหาอำนาจหนึ่งบีบบังคับให้ประชากรของประเทศที่อ่อนแอกว่าเลิกเชื่อและปฏิบัติตามศาสนาของพวกเขา เราได้เห็นปรากฏการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นทั่วไปในยุคของการมีอาณานิคม หากผู้นำประเทศมหาอำนาจในยุคนั้นมีศีลข้อนี้ โลกของเราคงจะน่าอยู่มากกว่านี้
  4. ละเว้นจากการพูดเท็จ (มุสาวาท) ผู้นำรัฐบาลที่ปฏิบัติศีลข้อนี้จะดำเนินการเจรจาหรือมีความร่วมมืออย่างจริงใจกับรัฐบาลประเทศอื่น พวกเขาจะเคารพในความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ได้ลงนามร่วมกับ ผู้นำคนอื่น ๆ พวกเขาจะไม่เอารัดเอาเปรียบประเทศอื่นด้วยการหลอกลวงหรือใช้เล่ห์กล หรือใช้หลุมพรางให้อีกฝ่ายตกลงไป กล่าวโดยย่อคือ ผู้นำเหล่านี้จะต้องทำความตกลงกันโดยบริสุทธิ์ใจ (in good faith) ความตกลงเหล่านี้ควรจะยุติธรรมและเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองฝ่าย ความตกลงที่ไม่ยุติธรรมจะไม่จีรัง เพราะฝ่ายที่เสียเปรียบจะต้อง พยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกมันให้ได้
  5. ละเว้นจากการมัวเมา (สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน) ความมึนเมาทำให้จิตใจสับสน ไม่สามารถแยกแยะระหว่างสัมมาทิกับมิจฉาทิฐิ และระหว่างการตัดสินใจที่ถูกต้องกับที่ไร้เหตุผล ผู้นำที่มึนเมาย่อมตัดสินใจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง อันจะเป็นผลเสียต่อสันติภาพและความเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน การมัวเมานี้มิได้หมายถึงเพียงแต่ที่เกิดจากฤทธิ์แอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดอื่น ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการมัวเมาในลัทธิอุดมการณ์ และความเชื่อชนิดคลั่งไคล้อื่น ๆ ด้วย

          ผู้นำประเทศที่มัวเมาในลัทธิอุดมการณ์ทางศาสนา ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง อาจจะเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าพวกเขาดีกว่าคนอื่น พวกเขามีศีลธรรมที่สูงส่งยิ่งกว่าผู้อื่นมากจนเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของพวกเขาที่จะต้องเปลี่ยนให้ผู้อื่นหรือประเทศอื่นมาน้อมรับความเชื่อของตน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือโดยการบังคับก็ตาม "สงครามเย็น” ที่เราเรียกกัน อาจอธิบายได้ว่าเกิดจากความมึนเมาทางอุดมการณ์ สงครามทางศาสนาหลายแห่ง  ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นภายในศาสนาเดียวกันเพียงแต่ต่างนิกาย เกิดจากความเชื่อผิด ๆ ว่าตนมีศีลธรรมสูงส่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้นำประเทศที่ไม่ยอมให้ตนเองมึนเมาไร้สติย่อมไม่มีนโยบายที่เป็นอันตรายเช่นที่กล่าวมา

          จากประเด็นต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้สาธยายมา เบญจศีลควรจะช่วยจรรโลงให้ประเทศต่าง ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นสุข แต่เราไม่ได้ไร้เดียงสาที่จะเชื่อว่าสภาวะอุดมคตินี้จะมีได้โดยง่าย มนุษย์เรา ชาติของเราหรือแม้แต่โลกของเรายังไม่สมบูรณ์แบบ (perfect) และผู้นำบางประเทศที่วิกลจริตยังคงมีให้เราเห็นกันอยู่

          ข้าพเจ้าขอจบด้วยการยกคติพจน์ที่พระอาจารย์ปิยะทัสสิผู้ล่วงลับได้เขียนไว้และเป็นคติพจน์ที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง คือ “สันติภาพจะได้มาก็ด้วยการดิ้นรนที่ทุ่มเทและจริงใจ มิใช่มาจากเพียงการพูดถึงแต่อย่างเดียว เราจะต้องคิดเพื่อสันติภาพ พูดเพื่อสันติภาพ และดำเนินการเพื่อสันติภาพ (We should think peace, spread peace, and act peace.)”

 

[*] บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2015) หน้า 24-29

[**] อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา นอร์เวย์ สิงคโปร์ โปแลนด์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

Documents

1-2566_Feb2023_ส่งเสริมสันติภาพโลกตามวิถีพุทธ_ฐากูร.pdf