อาเซอร์ไบจานกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้ | มัญชุลิกา วงศ์ไชย

อาเซอร์ไบจานกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้ | มัญชุลิกา วงศ์ไชย

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 Nov 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 Nov 2024

| 580 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 3/2567 | พฤศจิกายน 2567

อาเซอร์ไบจานกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้
มัญชุลิกา วงศ์ไชย*

(Download .pdf below)

 

            บทความนี้เป็นการบอกเล่าประสบการณ์และมุมมองของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม Advanced Foreign Service Program for Foreign Diplomats (AFSP) เมื่อวันที่ 12-24 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน โครงการดังกล่าวจัดโดย Institute for Development and Diplomacy (IDD) ของมหาวิทยาลัย ADA โดยการสนับสนุนจาก Azerbaijan International Development Agency (AIDA) กระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน มีผู้เข้าร่วมจาก 22 ประเทศ อาทิ รัสเซีย อินเดีย โปแลนด์ กรีซ เคนยา กัมพูชา และมีผู้เข้าร่วมจากไทยเป็นครั้งแรก

          การอบรมครอบคลุมประเด็นประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ พลังงานและ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอาเซอร์ไบจานเป็นหลัก โดยเป็นการสัมมนาในช่วงเช้าและ การเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงบ่าย อาทิ ท่าเรือ Baku International Sea Trade Port บริษัทน้ํามัน แห่งชาติ (State Oil Company of Azerbaijan Republic: SOCAR) และการเยี่ยมชมเมือง Shusha ในพื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) 

 

ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์           

          อาเซอร์ไบจานตั้งอยู่ในภูมิภาคคอเคซัสใต้ (South Caucasus) ประกอบด้วยอาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และจอร์เจีย ซึ่งเป็นทางแยก (crossroads) ระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย มีพรมแดนทิศเหนือติดกับรัสเซียและจอร์เจีย ทิศตะวันออกติดกับทะเลสาบแคสเปียน (Caspian) ทิศใต้ติดกับอิหร่าน และทิศตะวันออกติดกับอาร์เมเนีย นอกจากนี้ ยังมีเขตปกครองตนเองนักชีวาน (Nakhchivan) หรือนักฮีชีวาน (Nakhichevan) ทางทิศตะวันออก ซึ่งไม่เชื่อมกับพรมแดนหลัก โดยมีอาร์เมเนียและพื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัคคั่นกลาง

ภาพที่ 1 แผนที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน

อาเซอร์ไบจาน1

ที่มา: The World Factbook[1]            

          ภูมิภาคคอเคซัสตั้งอยู่บนทางผ่านของ 3 อารยธรรมหลักของโลก ได้แก่ จักรวรรดิเปอร์เซีย จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิรัสเซีย ทําให้อาเซอร์ไบจานได้รับอิทธิพลทางภาษา และวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันจากอารยธรรมเหล่านี้ โดยหลังจักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย เมื่อ ค.ศ. 1918 อาเซอร์ไบจานได้ประกาศตัวเป็นเอกราช ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิไตยอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan Democratic Republic: ADR) ถือเป็นประเทศมุสลิมที่เป็นประชาธิปไตย (Islamic Democracy) ประเทศแรกของโลก อย่างไรก็ดี ADR มีอายุเพียงสองปี ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1920 ต่อมา สหภาพโซเวียตล่มสลาย อาเซอร์ไบจานจึงได้ประกาศเอกราชอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1991

          ตั้งแต่อดีต ประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในภูมิภาคคอเคซัส อาทิ อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย จอร์เจีย Ossetia Abkhaz Tatysh และ Lezgin ทําให้ประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในข้อพิพาทสำคัญระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัส อาทิ พื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย แคว้น South Ossetia (ภาษารัสเซีย) หรือแคว้น Tskhinvali (ภาษาจอร์เจีย) และแคว้น Abkhazia ระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย

 

ภาพที่ 2 ภูมิภาคคอเคซัสใต้

อาเซอร์ไบจาน2

ที่มา: Wikipedia[2]

 

          อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคคอเคซัสที่มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ติดกับทะเลสาบแคสเปียน มีการขุดพบน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1848 และเริ่มดำเนินธุรกิจ (commercialize) การขุดเจาะน้ำมันในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 ทําให้กรุงบากูเปลี่ยนจากเมืองโบราณกลางทะเลทรายเป็น metropolis ซึ่งมีชาวต่างชาติมากมายรวมถึงพี่น้องตระกูลโนเบล (Nobel) เดินทางมาแสวงหาโอกาส อย่างไรก็ดี โดยที่ทะเลสาบแคสเปียนเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีทางออกสู่ทะเล น้ำมันที่ขุดเจาะได้ในอาเซอร์ไบจานจึงถูกส่งผ่านท่อขนส่งไปยังสหภาพโซเวียตเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ น้ำมัน 3 ใน 4 ที่สหภาพโซเวียตใช้มาจากกรุงบากู

          เมื่ออาเซอร์ไบจานประกาศตนเป็นเอกราช เศรษฐกิจได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อมีการเปิดท่อส่งน้ำมัน Baku-Tbilisi- Ceyhan (BTC) ในปี ค.ศ. 2006 เชื่อมต่อการขนส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนผ่านกรุง Tbilisi จอร์เจียไปยัง เมืองท่า Ceyhan ตุรกี เพื่อขนส่งน้ำมันผ่านทะเลดํา ไปยังผู้ซื้อในยุโรปและทวีปอื่น ๆ ต่อไป ไม่ต้องพึ่งพาท่อที่ส่งผ่านรัสเซียเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยท่อ BTC ยาวเป็นอันดับ 6 ของโลก 1,768 กิโลเมตร (รองจากท่อ Druzhba ของรัสเซีย) นักวิชาการหลายฝ่ายเรียกความสําเร็จของการก่อสร้างท่อ BTC ว่าเป็น “Contract of the Century” ที่ช่วยให้พลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่อย่างอาเซอร์ไบจานให้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ หากเดินทางไปกรุงบากู จะเห็นตึกรูปเปลวเพลิง หรือ Flame Towers เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองหลวง เพื่อสื่อว่าอาเซอร์ไบจานนั้นสร้างขึ้นมาจากเปลวเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บนน้ำมัน

 

การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

            อาเซอร์ไบจานปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีปัจจุบัน นายอิลฮัม อาลีเยฟ (Ilham Aliyev) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 สืบต่อจากบิดา นาย Heydar Aliyev โดยนาย Heydar Aliyev ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในสังคมอาเซอร์ไบจาน มีการประดับรูปและสร้าง Heydar Aliyev Centre ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสําคัญของกรุงบากู           

          เศรษฐกิจอาเซอร์ไบจานพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก (ร้อยละ 90 ของการส่งออก) และ GDP ร้อยละ 50 มาจากอุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยอาเซอร์ไบจานมีปริมาณน้ำมันสํารอง 7 พันล้านบาร์เรล คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของปริมาณน้ำมันสํารองโลก และใน ค.ศ. 2022 มีกําลังผลิตน้ำมันที่ 7 แสนบาร์เรล/วัน โดยการส่งออกน้ำมันร้อยละ 80 ส่งผ่านท่อ BTC นอกจากนี้ ยังมีท่อ Baku-Novorossiysk (รัสเซีย) และท่อ Baku-Supsa (จอร์เจีย) ไปยังทะเลดําอีกด้วย

 

ภาพที่ 3 แผนที่ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจาน

อาเซอร์ไบจาน3

ที่มา: S&P Global[3]            

 

          ในด้านการคมนาคมขนส่ง อาเซอร์ไบจานให้ความสําคัญต่อการพัฒนาท่าเรือบากูให้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป (Middle Corridor) โดยมีการจัดตั้ง Alat Free Economic Zone เพื่ออํานวยความสะดวกด้านกฎหมายให้สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้รวดเร็วขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าเป็นวาระสำคัญของอาเซอร์ไบจาน โดยเฉพาะสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ประเทศยุโรปพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปกับจีนที่ต้องผ่านรัสเซีย การใช้เส้นทาง Middle Corridor ขนส่งสินค้าผ่านภูมิภาคคอเคซัส ทะเลสาบแคสเปียน เชื่อมต่อไปยังเอเชียกลาง และตลาดสำคัญอย่างจีน จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซอร์ไบจานและประเทศในภูมิภาคคอเคซัสได้ในอนาคต           

          ในด้านการพัฒนาดิจิทัล รัฐบาลอาเซอร์ไบจานเห็นว่าเป็นหนทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงมีการวางรากฐานระบบดิจิทัล อาทิ การให้บริการประชาชนผ่านระบบ e-government ที่ศูนย์ ASAN (Azerbaijan Service and Assessment Network) การพัฒนาโครงข่ายสายสัญญาณ Fiber optic ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี อาเซอร์ไบจานประสบปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้าน IT และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งกระทรวง Digital Development and Transport ได้แก้ปัญหาโดยการให้เงินทุนแก่ภาคเอกชนในการจัดคอร์สอบรมระยะสั้น (6-9 เดือน) และจ้างงานผู้ผ่านการฝึกอบรม รวมถึงการร่วมมือกับอิสราเอลในการจัดตั้ง Azerbaijan Cyber Security Center เพื่อฝึกอบรมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (3 ปี)           

          ในด้านการท่องเที่ยว เมื่อ ค.ศ. 2019 ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวมาอาเซอร์ไบจาน 3.2 ล้านคน และ ค.ศ. 2022 อยู่ที่ 1.6 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก Azerbaijan Tourism Board เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่สําคัญ อาทิ การเป็นสถานที่จัดการประชุมขนาดใหญ่ที่ Heydar Aliyev Centre และกิจกรรมสําคัญระดับโลก เช่น งาน Formula one Grand Prix ที่จัดขึ้นเป็นประจําที่กรุงบากู ระหว่าง ค.ศ. 2017-2026 โดยการถ่ายทอดสดการแข่งขันรถยนต์ผ่านสถานที่สําคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงบากูช่วยทําให้อาเซอร์ไบจานเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันอาเซอร์ไบจานให้สิทธิ Visa on Arrival แก่ 15 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน จีน อิหร่าน อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมาเลเซีย และมีการพัฒนาระบบ e-Visa เพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว           

          อาเซอร์ไบจานมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน กว่าร้อยละ 90 เป็นคนชาติพันธุ์อาเซอร์ไบจานนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ (เป็นประเทศที่นับถือนิกายชีอะฮ์ใหญ่ที่สุด ลําดับที่ 2 รองจากอิหร่าน) มีภาษาอาเซอร์ไบจานและรัสเซียเป็นภาษาราชการ ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่พบปัญหาการเหยียดคนเอเชีย และคนอาเซอร์ไบจานที่ไม่รู้จักมักสื่อสารกับผู้เขียนด้วยภาษารัสเซีย อาจเพราะมีความคุ้นเคยกับชาวคาซัคสถานและประเทศเอเชียกลางอื่น ๆ

 

พื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค           

          อาเซอร์ไบจานเรียกพื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัคว่าแคว้นคาราบัค (Karabakh) กลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ในอดีต เมื่ออาเซอร์ไบจานถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในฐานะ Azerbaijan Soviet Socialist Republic (AzSSR) รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้สถาปนาเขตปกครองตนเอง (Autonomous Oblast) นากอร์โน-คาราบัค เป็นส่วนหนึ่งของ AzSSR โดยมีเมือง Stepanakert เป็นเมืองหลวง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการประกาศเอกราชของอาเซอร์ไบจาน ได้มีการสู้รบในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกองกําลังอาร์เมเนียเป็นฝ่ายชนะ อย่างไรก็ดี ยังคงมีการเผชิญหน้าทางทหาร และการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวจากกรุงเยเรวาน อาร์เมเนียทําได้ยาก ในสามทศวรรษถัดมา กองกําลังอาเซอร์ไบจานได้มีชัยชนะเหนือฝ่ายอาร์เมเนียในสงครามนากอร์โน คาราบัค-ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน-10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 หรือสงคราม 44 วัน

          อาเซอร์ไบจานมองว่าปัจจัยระหว่างประเทศสําคัญ 3 ปัจจัยทําให้อาเซอร์ไบจานชนะสงครามในที่สุด ได้แก่ (1) พันธมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซอร์ไบจานกับตุรกี (2) การถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะท้อนบทบาทที่ลดลงของชาติตะวันตก และ (3) ความอ่อนแอลงของรัสเซียจากสงครามในยูเครน โดยอาเซอร์ไบจานมุ่งเน้นการเจรจาสันติภาพผ่านกรอบทวิภาคี (เนื่องจากมีแต้มต่อมากกว่า) ขณะที่อาร์เมเนียประสงค์ให้ประเทศตะวันตก อาทิ EU สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส มีบทบาทในการไกล่เกลี่ย

          อาเซอร์ไบจานอยู่ระหว่างฟื้นฟูพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องมีการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ทั้งนี้ ในการเยี่ยมชมเมือง Shusha ซึ่งเป็นเมืองหลวงโบราณในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใช้เวลาเดินทางจากกรุงบากู 6-7 ชั่วโมง เห็นว่าอาเซอร์ไบจานมีความพยายามฟื้นฟูเมืองดังกล่าว อาทิ การสร้างโรงแรม สนามบิน การบูรณะมัสยิดและอนุสรณ์สถานต่าง ๆ แต่ยังพบซากปรักหักพังโดยทั่วไป

 

ภาพที่ 4-6 ภาพเมือง Shusha ในนากอร์โน-คาราบัค

     อาเซอร์ไบจาน4   อาเซอร์ไบจาน5   อาเซอร์ไบจาน6  

ที่มา: ผู้เขียน

 

บทบาทอาเซอร์ไบจานในเวทีระหว่างประเทศ

          ในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา อาเซอร์ไบจานได้ก่อตั้ง Azerbaijan International Development Agency (AIDA) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน เมื่อ ค.ศ. 2011 เพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีภารกิจการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยใน ค.ศ. 2022 มูลค่า Official Development Assistance (ODA) ของอาเซอร์ไบจานอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใน 5 เดือนแรกของ ค.ศ. 2023 มูลค่า ODA อยู่ที่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3 เท่าของปีก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของอาเซอร์ไบจานที่เปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้ โดย AIDA มีการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและวิชาการ รวมไปถึงความร่วมมือไตรภาคี (triangular cooperation) กับประเทศต่าง ๆ โครงการที่สําคัญ อาทิ การบริจาควัคซีนโควิด-19 กว่า 1 ล้านโดสให้ประเทศในแอฟริกา การให้ทุนการศึกษาเต็มจํานวนแก่ผู้สมัครจากประเทศสมาชิก NAM และ OIC ทั้งนี้ เมื่อผู้เขียนเข้าไปทักทายนาย Elmaddin Mehdiyev ผู้อํานวยการ AIDA อีกฝ่ายได้กล่าวชื่นชมกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย (Thailand International Cooperation Agency: TICA) และประสงค์มีความร่วมมือกันในอนาคต

          ในการเป็นประธาน Non-Aligned Movement (NAM) ใน ค.ศ. 2018-2023 (ขยายวาระการดํารงตําแหน่งเนื่องจากโควิด-19) อาเซอร์ไบจานได้ให้ความสําคัญต่อการสนับสนุนบทบาทของ NAM ซึ่งหายไปหลังสงครามเย็นยุติ โดยอาเซอร์ไบจานมองว่าสงครามเย็นยังดําเนินอยู่ และในฐานะที่ประเทศสมาชิก NAM คิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก จึงเห็นควรสนับสนุน (1) การพัฒนาเชิงสถาบันของ NAM ซึ่งอาเซอร์ไบจานได้เสนอจัดตั้ง NAM Parliamentary Network และ NAM Youth Organization เมื่อ ค.ศ. 2022 และ (2) การรับมือกับความท้าทายร่วมกันซึ่งนําไปสู่การจัดการประชุม NAM Contact Group Summit เพื่อรับมือกับโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 โดยอาเซอร์ไบจานไม่สนับสนุน “vaccine nationalism” ของประเทศที่ร่ำรวย

          อาเซอร์ไบจานดําเนินนโยบายต่างประเทศโดยเน้นนโยบายการต่างประเทศที่สมดุล ยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติและอํานาจอธิปไตยเป็นสําคัญ จึงไม่ประสงค์สมัครเป็นสมาชิก EU ดังเช่นจอร์เจีย ประเทศเพื่อนบ้าน และอยู่ระหว่างพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับหากเข้าร่วม WTO

 

มุมมองและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

          ภูมิภาคคอเคซัสแม้จะประกอบด้วยประเทศขนาดเล็กเพียง 3 ประเทศ แต่ทุกประเทศมีนโยบายต่างประเทศแตกต่างกันอย่างมาก อาเซอร์ไบจานเน้นอิสระในการกําหนดนโยบาย และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับตุรกี (one nation, two states) อาร์เมเนียมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย (แม้ปัจจุบันจะเริ่มมองหาทางเลือกอื่น) และเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งไทยประสงค์เริ่มต้นเจรจา FTA และจอร์เจียประสงค์เข้าเป็นสมาชิก EU และ NATO รวมถึงมีข้อพิพาทดินแดนแคว้น South Ossetia และแคว้น Abkhazia กับรัสเซีย ดังนั้น การกําหนดท่าที่ไทยต่อประเทศทั้งสามในภูมิภาคคอเคซัสจึงควรเน้นกระชับความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับแต่ละประเทศในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนการเจรจาอย่างสันติและการฟื้นฟูสันติภาพในพื้นที่พิพาทต่าง ๆ

          เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในภูมิภาคคอเคซัส จะเห็นได้ว่า ไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจอร์เจียมากที่สุด โดยมีการจัดตั้งกลไกการประชุม Political Consultations และจัดการประชุมครั้งล่าสุด ครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 2023 ในระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ และจอร์เจียให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราแก่นักท่องเที่ยวไทยนาน 365 วัน ขณะที่ไทยให้สิทธิ Visa on Arrival แก่จอร์เจีย 15 วัน ทําให้นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปจอร์เจียมากขึ้น (เมื่อ ค.ศ. 2022 อยู่ที่ประมาณ 19,000 คน) ขณะที่ไทยยังไม่มีการจัดการประชุม Political Consultations กับทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย และอยู่ระหว่างเจรจาจัดทําความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการกับทั้งสองประเทศ

          ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคคอเคซัส จึงเห็นควรพิจารณาให้ความสําคัญต่อประเด็น (1) การจัดตั้งกลไกและจัดการประชุม Political Consultations ไทย-อาเซอร์ไบจาน และ ไทย-อาร์เมเนีย ครั้งที่ 1 (2) การเจรจาความตกลงฯ หนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ อาจพิจารณาการให้สิทธิ Visa on Arrival ตามหลักประติบัติต่างตอบแทน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน (3) การส่งเสริมความร่วมมือด้านการแปรรูปอาหารและการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอาหารฮาลาลเพื่อกระจายความเสี่ยงในโครงสร้างการค้าไทย-อาเซอร์ไบจาน และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาตามที่ฝ่ายอาเซอร์ไบจานแสดงความสนใจ นอกจากนี้ อาเซอร์ไบจานได้เพิ่งเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

          นอกจากนั้น นักวิชาการและผู้สนใจอาจพิจารณาติดตามพัฒนาการในพื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค รวมถึงพื้นที่พิพาทต่าง ๆ (frozen conflicts) ระหว่างรัสเซียกับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่สะท้อนให้เห็นบทบาทที่ลดลงของรัสเซียในประเทศใกล้เคียงเหล่านี้ และอาจนําไปสู่การเข้ามามีบทบาทของมหาอํานาจใหม่ เช่น ตุรกี จีน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มการยุติของสถานการณ์การสู้รบในยูเครนต่อไปในอนาคต

 

[1] The World Factbook 2024. Central Intelligence Agency, available at https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/azerbaijan/map/

[2] South Caucasus. (2013, January 21). Wikipedia, available at https://en.wikipedia.org/wiki/South_Caucasus

[3] Azerbaijan’s Oil and Gas Export Routes, available at https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/market-insights/latest-news/natural-gas/100720-major-caucasus-oil-gas-pipelines-unaffected-by-rocket-attack-azerbaijans-socarhttps://en.wikipedia.org/wiki/South_Caucasus

 

[*] นักการทูตปฏิบัติการ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติงานที่กองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป

Documents

3-2567_Nov2024_อาเซอร์ไบจาน_มัญชุลิกา.pdf