แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์: ปทัสถานร่วมกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก? | กิตติพศ พุทธิวนิช

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์: ปทัสถานร่วมกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก? | กิตติพศ พุทธิวนิช

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 Aug 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 4,898 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 8/2565 | สิงหาคม 2565

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์: ปทัสถานร่วมกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก?*
กิตติพศ พุทธิวนิช**

(Download .pdf below)

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) เป็นต้นมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่นโยบายปักหมุดสู่เอเชีย (Pivot to Asia) ที่มุ่งแสวงหาตลาดในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “จีน” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ อันนำไปสู่การริเริ่มและผลักดันกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค 3 กรอบ ได้แก่ Lower Mekong Initiative ค.ศ. 2009, Trans-Pacific Partnership ค.ศ. 2010 และ New Silk Road Initiative ค.ศ. 2011 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพิจารณากรอบความร่วมมือทั้งสามนี้เข้าด้วยกันแล้วจะพบว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการแสวงหาตลาดของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือดังกล่าวเลยทั้ง ๆ ที่สมาชิกของกรอบความร่วมมือดังกล่าวทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มประเทศที่อยู่รอบล้อมประเทศจีน จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าว สหรัฐฯ ต้องการเข้าหาจีนแต่ในขณะเดียวกันก็ทำการปิดล้อมจีนไปในตัวด้วย นัยของการปิดล้อมจีนยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโอบามาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง นโยบายปักหมุดสู่เอเชียได้กลายเป็นนโยบายถ่วงดุลในเอเชีย-แปซิฟิกอีกครั้ง (Asia-Pacific Rebalance) ซึ่งมีการเพิ่มมิติทางด้านความมั่นคงและการทหารเพิ่มเข้ามาเพื่อถ่วงดุลจีนอย่างชัดเจนมากขึ้น

          ขณะเดียวกัน ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากผู้นำรุ่นที่ 4 คือ หู จิ่นเทา (Hu Jintao) ไปสู่ผู้นำรุ่นที่ 5 คือ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ในแวดวงการเมืองจีนก็เริ่มมีการกล่าวถึงแนวทางการรับมือกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไป โดยใช้คำว่า “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ใช้ในการจัดตั้งกรอบความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางใน ค.ศ. 2011 ดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งคำดังกล่าวในแวดวงการเมืองจีนนั้นก็ยังมีความคลุมเครือและมีการใช้กันหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยในช่วงแรกนั้น ตัวผู้นำอย่างสี   จิ้นผิงเองก็ยังกล่าวถึงอย่างกว้าง ๆ และเพิ่มรายละเอียดเข้าไปให้แนวคิดดังกล่าวจนก่อให้เกิดความสับสนในแวดวงผู้ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2015 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ออกเอกสารที่ชื่อว่า “วิสัยทัศน์และปฏิบัติการในการสร้างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ร่วมกัน” (Vision and Actions on Jointly Building Silk Road Economic Belt and 21st-Century Maritime Silk Road) ซึ่งถือว่าเป็นแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนที่เน้นส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทั้งทางด้านนโยบาย ระบบสาธารณูปโภค การค้าการลงทุน การบูรณาการค่าเงิน และการติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชน นอกจากนั้นยังมีการจัดประชุม Belt and Road Forum ในปี ค.ศ. 2017 และ ค.ศ. 2019 ซึ่งสิ่งที่จีนทำทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในสมการเช่นกัน

          แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทางของจีนนั้นย่อมส่งผลให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าจำเป็นต้องถ่วงดุลกับจีนให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จึงได้นำแนวคิดของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) ที่ต่อมาได้กลายเป็นคำที่ปรากฏในสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียใน ค.ศ. 2012 ที่ว่าด้วยภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ในการเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน และประกาศว่าจะใช้กรอบแนวคิดดังกล่าวในการถ่วงดุลอำนาจกับยุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทางของจีน โดยสหรัฐฯ ได้มีการออกเอกสารสำคัญเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก มากมาย และล่าสุดเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ได้ก้าวเข้ามาสู่อำนาจ ก็ยังคงใช้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนี้อยู่ และได้เพิ่มมิติทางด้านเศรษฐกิจเข้าไปภายใต้กรอบความร่วมมือที่ชื่อว่า “Indo-Pacific Economic Framework” ที่เพิ่งมีการประกาศที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา

          จากภูมิทัศน์ทางการเมืองในภูมิภาคเอเชีย-มหาสมุทรแปซิฟิก-มหาสมุทรอินเดียที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ย่อมทำให้การเลือกที่จะร่วมมือในภูมิภาคนี้มีความตึงเครียดมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการแข่งขันกันสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค (regional architecture) ที่เป็นการบังคับให้ภูมิภาคนี้ต้องตกเป็นเครื่องมือในการแบ่งขั้วของมหาอำนาจไปโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนั้น การค้นหาชุดคุณค่าหรือปทัสถานร่วมกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่ ณ ปัจจุบัน ผลักดันโดยสหรัฐฯ จึงย่อมก่อให้เกิดปัญหาภายใต้บริบทดังกล่าวไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว บทความนี้จะพิจารณาคำถาม 3 ข้อที่เกี่ยวกับชุดคุณค่าหรือชุดปทัสถานร่วมกันที่พอเป็นไปได้ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

          คำถามข้อแรกคือ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีชุดคุณค่าร่วมกันอะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง?

          เนื่องจากการที่จะสร้างชุดคุณค่าร่วมกันในภูมิภาคอินโด-เเปซิฟิก ก็คงจะไม่สามารถดึงเอาอะไรที่สหรัฐฯ ว่ามาเเล้วจะยัดเยียดให้ภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งคำตอบสั้น ๆ ต่อคำถามนี้ก็คือ สิ่งที่มีอยู่ส่วนใหญ่คือชุดคุณค่าที่ให้ความสำคัญต่อรัฐอธิปไตยทั้งหมด อาเซียนมีหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ หรือหลักการปัญจศีล (Pancasila) ที่ทั้งอินเดียเเละจีนต่างก็ยึดถืออย่างตั้งมั่น ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี “วิถีอาเซียน (ASEAN Way)” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยึดถือกันก็ไม่ได้หมายความว่าในภูมิภาคนี้จะมีชุดคุณค่าหรือความคิดในเรื่องปทัสถานที่จำกัดอยู่แค่เพียงเท่านี้ เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างชุดคุณค่าในภูมิภาคต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งชุดคุณค่าที่สรรค์สร้างขึ้นมานั้น บ้างก็ได้รับการยอมรับอย่างเช่นกรณีชุดคุณค่ารัฐนิยมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว บ้างก็ได้รับการยอมรับบางส่วน แต่บ้างก็ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ คงจะถึงเวลาที่จะหันมาพิจารณาทบทวนชุดคุณค่าเหล่านั้นว่าเหตุใดจึงได้รับการยอมรับ ยอมรับบางส่วน หรือปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพื่อเป็นแนวทางพื้นฐานในการสร้างชุดปทัสถานหรือชุดคุณค่าร่วมกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

          ความพยายามแรกในการสร้างชุดคุณค่าร่วมกันในภูมิภาคนี้ อาจสามารถตั้งต้นได้ที่แนวคิดเรื่อง Pan-Asiatic community ของโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเเนวคิดที่ต่อต้านระบอบอาณานิคม โดยมองว่าประชาชนที่ถูกกดขี่ควรยึดถือชุดคุณค่าอื่น นอกเหนือไปจากสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยเจ้าอาณานิคม[1] อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เเนวคิดนี้กลับไม่เคยถูกนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะถึงเเม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะได้รับการยอมรับโดยหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยโดยมีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ แต่อินเดียซึ่งเป็นประเทศอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้กลับมีท่าทีที่ไม่สนใจ ไม่สนับสนุน เเละไม่ยอมมีส่วนร่วมใด ๆ จึงทำให้กรอบความคิดดังกล่าวตกไปในที่สุด

          ความพยายามที่สอง คือ แนวคิดเรื่อง New Asian Order ของนายพลอองซานซึ่งเกี่ยวกับการสร้างองค์การระหว่างประเทศที่เข้มแข็งและรวมชาติต่าง ๆ ในเอเชียไว้ เเต่จากความวุ่นวายทางการเมืองในพม่า ความคิดนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจริง[2]

          ความพยายามที่สาม คือ แนวคิดเรื่อง East Asia Economic Caucus (EAEC) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 อันเป็นปฏิกิริยาต่อการจัดตั้งสหภาพยุโรป โดยเขามองว่าเอเชียก็สามารถทำเเบบนั้นได้เช่นกัน โดยการที่อาเซียนจะต้องไปรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจแบบยุโรปขึ้นมา เเนวคิดดังกล่าวตกไปเพราะขัดกับหลักการการเป็นภูมิภาคนิยมแบบเปิด (open regionalism) ของอาเซียน เเต่ต่อมาเเนวคิดนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นต้นธารของกรอบความร่วมมือ ASEAN+3 ในเวลาต่อมาภายหลังจากที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนประสบปัญหาวิกฤติการเงินในปี ค.ศ.1997 และต่อมาก็นำไปสู่การสร้างกรอบความร่วมมือ East Asia Summit ในปี ค.ศ. 2005

          ความพยายามที่สี่ คือ แนวคิดเรื่อง Constructive Engagement โดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย แนวคิดดังกล่าวเป็นนโยบายที่มุ่งเป้าหมายโดยตรงไปที่เมียนมา โดยเล็งเห็นว่า ถ้าทุกประเทศทั่วโลกต่างคว่ำบาตรเมียนมาซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นรัฐบาลทหาร แล้วจะทำให้เมียนมากลายเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร? การดึงเมียนมาเข้ามาในวงเเละมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์จึงน่าจะเป็นทางออก เเต่ภายหลังจากการทำเช่นนั้นเเล้วหลาย ๆ ประเทศก็ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าเป็นการละเมิดหลักการไม่เเทรกเเซงกิจการภายในซึ่งกันเเละกันอันเป็นวิถีปฏิบัติที่อาเซียนยึดถือ

          จากแนวคิดทั้งสี่ที่นอกเหนือไปจากชุดคุณค่าที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนี้ เราได้เห็นถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้แนวคิดเหล่านี้ถูกปฏิเสธหรือได้รับการยอมรับบางส่วนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เราก็จะเห็นได้เช่นกันว่า แนวคิดส่วนใหญ่ที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นก็ยังคงอยู่ในระดับรัฐอยู่

          คำถามที่สองก็คือ ชุดคุณค่าที่เป็นรัฐนิยมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะประนีประนอมกับชุดคุณค่าที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมอย่างไร?

          ทั้งนี้ เอกสารทุกชิ้นของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นกรอบการทำงาน (Terms of Reference) ของ AICHR และ ACWC หรือ ADHR ล้วนแล้วแต่มี “วรรคทอง” ปรากฏอยู่ อาเซียนเริ่มใช้วรรคทองดังกล่าวครั้งแรกในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอาเซียนในปี ค.ศ. 1993 โดยมีใจความสำคัญว่า

          ...บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในอาเซียนย้ำว่า สิทธิมนุษยชนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันและไม่สามารถแบ่งแยกได้ สิทธิเหล่านี้ควรได้รับการกล่าวถึงในทางที่เป็นกลางและครอบคลุม และควรได้รับการปกป้องและส่งเสริมโดยต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างกันในแต่ละที่ พวกเขายังย้ำอีกว่า การส่งเสริมและการปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่ควรถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง[3]

          อาจกล่าวได้ว่าอาเซียนเเทบจะปิดประตูใส่หลักการสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง เเม้ว่าอาเซียนจะมีเอกสารหรือเครื่องมือกลไกต่าง ๆ ในการจัดการกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอยู่หลากหลายก็ตาม เเต่ทั้งหมดนั้นล้วนเเล้วเเต่มีวรรคทองแบบนี้อยู่ทั้งสิ้น จึงส่งผลให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในอาเซียนไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร คือทำได้แค่การ “ส่งเสริม” แต่กลับไม่สามารถ “ปกป้อง” สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นข้อจำกัดมาจากวรรคทองดังกล่าว

          เเต่ก็เป็นเรื่องที่น่าฉงนเป็นอย่างมากที่อาเซียนกลับยอมรับในหลักการความรับผิดชอบในการปกป้อง (Responsibility to Protect: R2P) ซึ่งหมายถึงการที่รัฐอธิปไตยจะต้องมีความรับผิดชอบในการปกป้องประชากรของตนให้รอดพ้นจากอาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ (atrocity crimes) 4 ประการ ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) การชำระล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) อาชญากรรมสงคราม (war crimes) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) เพราะเมื่อปี ค.ศ.2014 มีการจัดทำรายงานเรื่อง “การทำให้หลักการความรับผิดชอบในการปกป้องเป็นกระแสหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Mainstreaming the Responsibility to Protect in Southeast Asia: Pathway Towards a Caring ASEAN Community) ในเวทีสหประชาชาติ โดยมี ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นหัวหน้าคณะทำงาน รายงานฉบับนี้สรุปได้ว่า อาเซียนมีหลักการ R2P เป็นพื้นฐานอยู่เเล้ว เเละมีกลไกที่พร้อมสำหรับการส่งเสริมหลักการดังกล่าวอีกด้วย[4]

          เเละสิ่งที่น่าประหลาดใจไปมากกว่านั้นก็คือ ประเทศที่ส่งเสริมประเด็นนี้อย่างเเข็งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ กัมพูชาเเละอินโดนีเซีย ซึ่งที่จริงแล้ว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีประสบการณ์จากอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติมาก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนาม ค.ศ. 1955-1975, สงครามกลางเมืองลาว ค.ศ. 1959-1975, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของระบอบเขมรเเดง ค.ศ. 1975-1978, วิกฤตการณ์มนุษยธรรมจากไซโคลนนากีส ค.ศ. 2008, การสังหารหมู่ที่มะกินดาเนา ค.ศ. 2009 ฯลฯ (ส่วนของไทยก็มีกรณี "ถีบลงเขา เผาลงถังเเดง" ที่รัฐบาลท้องถิ่นทำเพื่อกวาดล้างคอมมิวนิสต์)

          ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศใหญ่ ๆ ในภูมิภาคอินโด-เเปซิฟิกอย่างสหรัฐฯ อินเดีย หรือเเม้กระทั่งจีน ต่างก็มีการผลักดันหลักการดังกล่าวอย่างเเข็งขันด้วยเช่นกัน เพราะทุกประเทศต่างมีประสบการณ์กับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติด้วยกันทั้งสิ้น

          เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามที่สาม คือ หลักการความรับผิดชอบในการปกป้องจะสามารถกลายมาเป็นชุดคุณค่าร่วมกันของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้หรือไม่?

          อาจกล่าวได้ว่า จากปัญหาวิกฤตการเมืองภายในของเมียนมาตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา ก็ทำให้เห็นได้ว่า อาเซียนไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามของกลุ่มคนที่สนับสนุนและผลักดันหลักการ R2P ในช่วงก่อนหน้านี้นั้นให้ความสำคัญแก่โครงสร้างที่เป็นทางการอย่างเช่นกฎหมายต่าง ๆ นานา หรือการแต่งตั้งตัวแทนประสานงานอย่างเป็นทางการ (focal point) ซึ่งแน่นอนว่า แม้ในกรณีประเทศไทยเอง ก็ยังมีปัญหาในการที่จะแต่งตั้งคนที่จะมาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ให้ความชอบธรรมแก่องค์กรใดในการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวได้เลย เรื่องนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีเมียนมา เพราะการที่จะหาตัวแทนจากเมียนมาในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเมืองนั้นแทบจะไม่สามารถเป็นไปได้เลย เราจึงไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อเกิดวิกฤติการเมืองขึ้นมา เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ไขอาจต้องหาลู่ทางที่ไม่เป็นทางการมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าชุดคุณค่าดังกล่าวจะเป็นคุณค่าร่วมกันของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้หรือไม่

          สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอยกคำกล่าวของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้เขียนทันทีภายหลังจากที่อ่านจดหมายเชิญให้เข้ามาร่วมในวงเสวนานี้จบ ข้อความนี้เป็นประโยคสุดท้ายของหนังสือ Anarchical Society ของ Hedley Bull ที่ว่า

          ...ข้อเท็จจริงก็คือ ในขณะที่เรามีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะหยั่งรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของการเมืองระหว่างประเทศรวมไปถึงสิ่งที่เราควรกระทำในอนาคต พวกเราล้วนแล้วแต่ต้องคลำหามันในความมืดด้วยกันทั้งนั้น มันจึงเป็นการดีกว่าที่จะตระหนักว่าพวกเรายังอยู่ในความมืด แทนที่จะเสแสร้งว่าพวกเราเห็นแสงสว่างแล้ว[5]

 

[1] Amitav Acharya, The Making of Southeast Asia: International Relations of a Region (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2012), pp. 106-118.

[2] Ibid.

[3] ASEAN, 1993 Joint Communique of the 26th ASEAN Ministerial Meeting, 24 July 1993, Singapore.

[4] High-Level Advisory Panel on the Responsibility to Protect, Mainstreaming the Responsibility to Protect in Southeast Asia: Pathway Towards a Caring ASEAN Community (New York: United Nations, 2014).

[5] Hedley Bull, The Anarchical Society: A Study of Order in World Politics, Third Edition (New York: Palgrave Macmillan, 2002), p. 308.

 

[*] งานชิ้นนี้เป็นบทสรุปจากการนำเสนอข้อคิดในการเสวนา “The View from Southeast Asia: Building Shared Values for Equity” จัดโดย Indo-Pacific Circle สนับสนุนโดยสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำนครเจนไน Council for Strategic and Defense Research (CSDR) และ Council for Policy Research (CPR) ภายใต้งาน Indo-Pacific Circle Residency: A Network of Thought Leaders from Indo-Pacific ระหว่างวันที่ 22-27 กรกฎาคม 2022 ณ โรงแรมทัชคอนเนมารา นครเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย

[**] กลุ่มวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Documents

8-2565_Aug2022_แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์_กิตติพศ.pdf