กรณี "เสือร้องไห้" กับความรู้เรื่องวัฒนธรรมระหว่างประเทศ

กรณี "เสือร้องไห้" กับความรู้เรื่องวัฒนธรรมระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 Mar 2021

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 Feb 2024

| 12,152 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 1/2564 | มีนาคม 2564

กรณี "เสือร้องไห้" กับความรู้เรื่องวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ* และปริยาภา อมรวณิชสาร**

(Download .pdf below)

 

         นักธุรกิจชาวมาเลเซียต้องการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีชื่อแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เสือร้องไห้” จึงเกิดข้อกังวลในโลกออนไลน์ของไทยเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ทางธุรกิจและความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งในระดับระหว่างประเทศ มีหลักการและแนวปฏิบัติของ UNESCO เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมืออยู่ โดยยังมีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับข้อกฎหมายภายในและการเผยแพร่ความรู้เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ดี

 

ที่มาของประเด็น “เสือร้องไห้” ในโลกออนไลน์

          สื่อมาเลเซีย Malay Mail รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2021 ในทวิตเตอร์ มีการเผยแพร่ภาพเอกสารสรุปการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (trademark) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีชื่อว่า Harimau Menangis ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “เสือร้องไห้” โดยบริษัท Noor Khan Enterprise ประเด็นนี้กลายมาเป็นข้อกังวลในโลกออนไลน์ของมาเลเซียว่า จะเป็นการจำกัดโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยและในโลกออนไลน์ของไทยว่า เสือร้องไห้จะกลายไปเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของมาเลเซียเพียงประเทศเดียว และคนไทยจะต้องไปขออนุญาตมาเลเซียก่อนจึงจะสามารถปรุงเสือร้องไห้เพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2021 มีรายงานว่า บริษัทดังกล่าวยื่นถอนคำขอจดทะเบียนแล้ว

          อย่างไรก็ดี หากกระบวนการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังดำเนินต่อไปนั้น การอนุญาตก็อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าวมีความแตกต่างหรือดัดแปลง ไปจากสินค้าอื่นมากเพียงใด ท้ายที่สุด หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจริง กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหรือบุคคลใดก็สามารถยื่นคัดค้านหรือเพิกถอนการรับจดทะเบียนได้

          ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงระบุว่า เสือร้องไห้ที่บริษัทดังกล่าวต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะคล้ายเนื้อวัวหมักซอสที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิยมรับประทาน แตกต่างจากเสือร้องไห้ที่ชาวไทยนิยมรับประทานกันอย่างมาก เสือร้องไห้ของไทยนั้นที่จริงไม่ใช่ชื่อรายการอาหาร แต่เป็นชื่อเรียก “เนื้อส่วนอก (brisket)” ของวัวที่นำมาประกอบอาหารโดยการหมักและย่างกึ่งดิบกึ่งสุก และมีน้ำจิ้มรสเผ็ดหรือ “แจ่ว” เป็นเครื่องเคียง

          ในประเด็นที่มาของอาหารจากรายงานเพิ่มเติมของ Malay Mail นั้น ชาวมาเลเซียทราบว่า เสือร้องไห้ เป็นอาหารพื้นบ้านอีสานของไทย แพร่หลายเข้ามาในมาเลเซียผ่านทางรัฐกลันตัน สำหรับชื่อ “เสือร้องไห้” ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทยนี้มาจากเรื่องเล่าว่า เสือออกล่าวัวเป็นอาหาร แต่เนื้อส่วนนอกที่อร่อยกว่าส่วนอื่น ๆ นั้น มีซี่โครงวัวบังอยู่ จึงไม่สามารถกินเนื้อข้างในได้ เกิดเสียดายและร้องไห้ออกมา

 

ความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          แม้บริษัท Noor Khan Enterprise จะยื่นถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Harimau Menangis ไปแล้ว แต่การถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นประเด็นข้ามชาติโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมแบ่งปันร่วมกันในหลากหลายมิติอย่างอาเซียน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัยที่การเคลื่อนไหลทางความคิด วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการในภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมทั่วโลกดำเนินไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ล้ำทรงพลัง

          กรณี “เสือร้องไห้” เป็นเพียงประเด็นเล็ก ๆ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ในการถือครองวัฒนธรรม วัฒนธรรม ในบริบทกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยป้องกันการล่วงละเมิดทางวัฒนธรรมและสนับสนุนการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมแก่กลุ่มชนผู้ถือปฏิบัติ สิทธิในการคุ้มครองวัฒนธรรมในฐานะผู้ถือปฏิบัติ และมรดกทางวัฒนธรรมร่วม (shared cultural heritage) ที่ผู้คนถือปฏิบัติร่วมกันโดยไม่เกี่ยงพรมแดนประเทศ ประเด็นดังกล่าวเชื่อมโยงกับอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ค.ศ. 2003 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และร่างข้อบทกฎหมายขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกที่มุ่งคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม (Traditional Knowledge and Traditional Cultural Expressions) ที่ยังคงไม่มีบทสรุปแม้จะมีการถกเถียงและศึกษาต่อเนื่องยาวนานกว่าสองทศวรรษ

          กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ได้สร้างผลงาน ความคิด นวัตกรรม ประดิษฐกรรม ฯลฯ โดยมีทั้งสิทธิที่ได้รับโดยทันทีและสิทธิที่ได้รับรองเมื่อยื่นจดทะเบียน อย่างไรก็ดี การคุ้มครองสิทธิในภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนหรือชุมชนในฐานะผู้ถือปฏิบัติ (tradition bearer) ซึ่งส่วนใหญ่มักสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบมุขปาฐะ ไม่สามารถระบุปีที่ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้คิดค้นที่แน่ชัด ซึ่งอาจมีผู้มองว่าขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน การคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้ถือครองหรือผู้ถือปฏิบัติวัฒนธรรมจึงยังเป็นแนวคิดที่ไม่ได้รับการรับรองในหลักการในระดับสากล

          ในส่วนประเด็นการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ค.ศ. 2003 ได้วางหลักการว่า “คุณลักษณะอันจริงแท้ (authenticity)” มิใช่สารัตถะในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) เนื่องจากอาจนำไปสู่การถกเถียงและสร้างความขัดแย้งมากกว่าจะเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจและสันติภาพ และตัวอนุสัญญาเองก็มิได้เป็นไปเพื่อยืนยันการเป็นผู้ถือครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือสิทธิในการบริหารจัดการหรือแบ่งปันผลประโยชน์ของกลุ่มชนหรือชุมชนตามหลักการสิทธิเชิงทรัพย์สินทางปัญญา เพียงแต่เป็นเครื่องยืนยันถึงอัตลักษณ์ ตัวตน และการมีอยู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และผู้ถือปฏิบัติ ธำรงรักษา สืบทอด หรือฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้น

          ดังนั้น การขึ้นทะเบียน (inscribe) เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จึงไม่ใช่การครอบครองสิทธิหรือแสดงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม แต่เป็นเพียงการระบุตัวตน แนวคิด และวิถีกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหรือถือปฏิบัติ เป็นการบันทึกถึงการมีอยู่ของกลุ่มชนที่ถือปฏิบัติ แนวคิดหรือกรรมวิธีในการปฏิบัติและสืบทอดเท่านั้น ตัวอย่างเช่นการขึ้นทะเบียนโขนไทยกับ “ละครโขล (Lkhon Khol)” ของกัมพูชานั้น ไม่มีการรับรองการถือครองใด ๆ และสองรายการนี้ได้รับการรับรองในสาขาที่ต่างกัน โดยโขนไทยอยู่ในรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ส่วนละครโขลอยู่ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding) ใน ค.ศ. 2018

          ในระดับประเทศ ไทยได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและสงวนรักษามรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพ.ศ. 2559 เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว แม้ไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาช้ากว่ามาเลเซีย แต่ไทยก็มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน ICH อย่างแข็งขัน ใน ค.ศ. 2009-2019 ไทยขึ้นทะเบียนมรดกทางภูมิปัญญาระดับชาติจำนวน 354 รายการ ส่วนในระดับนานาชาติ โขน (Khon, Masked Dance Drama in Thailand) และนวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนใน ค.ศ. 2018 และ 2019 ตามลำดับ

          ขณะเดียวกัน UNESCO ตระหนักถึงลักษณะการเคลื่อนไหลของวัฒนธรรม โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกันหรือประเทศที่มีอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน จึงเปิดโอกาสและสนับสนุนให้มีการเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกันจากหลายประเทศ (Multi-country Nomination) กรณีหนึ่งของภูมิภาคเอเชียคือ การเสนอขึ้นทะเบียน “กีฬาชักเย่อ (Tugging rituals and games)” ซึ่งเป็นการเสนอร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้กับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งกระแสการเสนอขึ้นทะเบียนร่วมนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นในเวที UNESCO โดยใน ค.ศ. 2020 มีการรับรอง ICH ที่ได้รับการเสนอร่วมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 14 รายการ

 

ประเด็นท้าทายในปัจจุบันและอนาคต

          บทบัญญัติและแนวปฏิบัติที่ยอมรับกันในระดับระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการครอบครองสิทธิหรือแสดงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่มีการยืนยันความเป็นเจ้าของ กฎหมายที่ไทยใช้บังคับ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและสงวนรักษาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ซึ่งไม่มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งหรือทางอาญาเมื่อเกิดกรณีละเมิด การไม่มีบทลงโทษนี้อาจเป็นได้ทั้งจุดแข็งในการส่งเสริมการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม แต่ก็อาจเป็นจุดอ่อนในการคุ้มครองและพิทักษ์รักษาสิทธิของผู้สร้างหรือผู้ถือปฏิบัติด้วยเช่นกัน

          กรณี “เสือร้องไห้” ในครั้งนี้ นอกจากจะเน้นย้ำประเด็นทางกฎหมายแล้ว ยังทำให้ตระหนักว่าสังคมไทยรวมถึงประชาคมโลกยังต้องการการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติของความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น การขึ้นทะเบียน ICH ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ระบอบระหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการทางวัฒนธรรม และคุณลักษณะทางธรรมชาติของวัฒนธรรมอันเคลื่อนไหลและมีพลวัต เป็นต้น ความรู้เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างทัศนคติที่ดีในการบูรณาการประชาคมอาเซียนซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมในหลากหลายมิติต่อไป

 

[*] นักวิจัย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC)

[**] นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

Documents

วิเทศปริทัศน์_1-2564_กรณีเสือร้องไห้.pdf