7 ทศวรรษของไทยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ | กุสุมา สารีบุญฤทธิ์ บัญญวัต วิฑูรย์ และธัญชนก กลิ่นจันทร์

7 ทศวรรษของไทยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ | กุสุมา สารีบุญฤทธิ์ บัญญวัต วิฑูรย์ และธัญชนก กลิ่นจันทร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 Jul 2025

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 Jul 2025

| 25 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 2/2568 | กรกฎาคม 2568

7 ทศวรรษของไทยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหภาพประชาชาติ 
กุสุมา สารีบุญฤทธิ์* บัญญวัต วิฑูรย์** และธัญชนก กลิ่นจันทร์***

(Download .pdf below)

 

          ภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สอง นานาประเทศมีความร่วมมือภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การจัดตั้งปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peacekeeping operations: PKO) อันเป็นหนึ่งในเครื่องมือของสหประชาชาติที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดย PKO เป็นเทคนิค วิธีการ และมาตรการที่พัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับความขัดแย้งภายใต้หลักการและแนวทางตามที่ระบุในกฎบัตรสหประชาชาติหมวดที่6 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน และหมวดที่ 8 ข้อตกลงส่วนภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างสภาวการณ์ที่เอื้อต่อการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านสันติภาพที่ประเทศคู่ขัดแย้งเห็็นชอบร่วมกัน

          การจัดตั้งปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นไปตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) โดยเลขาธิการสหประชาชาติจะประสานงานกับรัฐสมาชิกเพื่อขอรับการสนับสนุนในการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมภารกิจ ซึ่งสหประชาชาติจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ภารกิจแรกเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1948 เมื่อสหประชาชาติจัดตั้ง United Nations Truce Supervision Organization (UNTSO) เพื่ออํานวยการข้อตกลงยุติสงครามระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอล ต่อมาใน ค.ศ. 1988 กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาติได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และนับตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” (International Day of United Nations Peacekeepers) เพื่อรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่อุทิศตนในภารกิจรักษาสันติภาพ นับจนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน ค.ศ. 2025) สหประชาชาติมีภารกิจรักษาสันติภาพ รวมทั้งสิ้น 71 ภารกิจ โดยมี 11 ภารกิจที่ยังดำเนินอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และเอเชีย ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในปฏิบัติการรักษาสันติภาพฯ เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 7 ทศวรรษ

 

  1. พัฒนาการปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติ

          ปฏิบัติการรักษาสันติภาพมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามบริบทและสภาพแวดล้อมของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          (1) ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุค “traditional peacekeeping” ที่มุ่งเน้นภารกิจการติดตาม การเฝ้าระวัง การสังเกตสถานการณ์ และการป้องกันตนเอง

          (2) ยุคหลังสงครามเย็น (ค.ศ. 1947 - 1989) เป็นยุคโลกเสรีนิยมนำโดยสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้าง “liberal peace” จึงเน้นผลักดันหลายประเด็นควบคู่กับการรักษาสันติภาพ เช่น สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

          (3) ยุคแห่งความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (ค.ศ. 2010 - ปัจจุบัน) เป็นยุคที่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ ส่งผลให้ปฏิบัติการรักษาสันติภาพมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นและมักถูกใช้ประโยชน์ในทางการเมือง สหประชาชาติจึงต้องปรับตัวโดยเพิ่มรูปแบบความร่วมมือ เช่น การรักษาสันติภาพในระดับภูมิภาค (regional peacekeeping) และการรักษาสันติภาพแบบรวมกลุ่มเฉพาะกิจ (ad hoc coalitions peacekeeping)

          โดยทั่วไปการดำเนินภารกิจรักษาสันติภาพมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่

 

                   (1) การได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง (consent of the parties)

                   (2) มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (impartiality)

                   (3) การไม่ใช้กำลัง (non-use of force) ยกเว้นในกรณีป้องกันตนเอง

 

          ทั้งนี้ จุดแข็งของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ คือ ความเป็นสากล (universality) และการได้รับความยอมรับทางการเมืองจากทุกฝ่ายของประเทศที่เกี่ยวข้อง (political acceptance) ดังนั้น บทบาทหลักของกองกำลังรักษาสันติภาพ คือ การเป็นกองกำลังการป้องปราม (deterrent force) มากกว่าเป็นกองกำลังสู้รบ ปัจจุบันสหประชาชาติได้มอบหมายให้ Department of Peacekeeping Operations (DPKO) รับผิดชอบงานด้านการวางแผนและจัดการกองกำลัง และต่อมาได้จัดตั้ง Department of Field Support (DFS) รับผิดชอบด้านโลจิสติกส์แก่กองกำลัง รวมถึงบุคลากร งบประมาณ การสื่อสาร และโครงการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (New Horizon Project) เพื่อวิเคราะห์เชิงรุกเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

          นอกจากนี้ สหประชาชาติยังมีความพยายามสร้างกลไกเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สูงสุด โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2021 เลขาธิการสหประชาชาติเปิดตัวข้อริเริ่ม “Action for Peacekeeping+ (A4P+) 2021-2023” เพื่อต่อยอดความสำเร็จของข้อริเริ่ม “Action for Peacekeeping (A4P)”[1] โดย A4P+ กำหนดประเด็นสำคัญ 7 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การประสานงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องโดยมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมกัน (2) การบูรณการระหว่างฝ่ายปฏิบัติการกับฝ่ายนโยบาย กองกำลังกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายสนับสนุน (3) การเพิ่มขีดความสามารถของปฏิบัติการและการส่งเสริมความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ (4) ภาระความรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ (5) ภาระความรับผิดของเจ้าหน้าที่ (6) การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และ (7) ความร่วมมือกับประเทศเจ้าบ้าน

          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพภายใต้กลไกต่าง ๆ สหประชาชาติได้จัดตั้ง “คณะกรรมการพิเศษว่าด้วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Special Committee on Peacekeeping Operations: C-34)” ใน ค.ศ. 1965 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 34 ประเทศสมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง และเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา โดย C-34 มีภารกิจหารือเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในทุกด้าน และเสนอรายงานต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ผ่านคณะกรรมการ 4 การเมืองพิเศษและการปลดปล่อยอาณานิคม (Special Political and Decolonization Committee) พร้อมทั้งจัดประชุมเพื่อเจรจา จัดทำ และรับรองรายงานทุกปี ทั้งนี้ ใน ค.ศ. 2023 ที่ประชุมของ C-34 ได้มอบหมายให้ไทยเป็นผู้ประสานงานร่วม (co-facilitator) ในหัวข้อความร่วมมือ (partnerships) และหัวข้อความปลอดภัยและความมั่นคง (safety and security)

 

  1. ไทยกับปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

           ตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เป็นต้นมา ไทยส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 27,000 คน เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติรวมมากกว่า 20 ภารกิจทั่วโลก เริ่มด้วยภารกิจแรก คือ United Nations Observer Group in Lebanon (UNOGIL) ที่เลบานอน

          ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (ศสภ.)” ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย โดย ศสภ. มีภารกิจติดตามปฏิบัติการด้านสันติภาพในลักษณะองค์รวม
มีบทบาทครอบคลุมตั้งแต่การเป็นตัวแทนของกองทัพในกระบวนการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีสำหรับการมีส่วนร่วมของไทยในกองกำลังรักษาสันติภาพ ไปจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการรักษาสันติภาพในระดับกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพัฒนาและจัดหลักสูตรฝึกอบรมก่อนส่งกำลังพล

           ปัจจุบัน (มิถุนายน ค.ศ. 2025) ในระดับกองกำลัง ไทยส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ จำนวน 273 นาย เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพ ณ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (United Nations Mission in South Sudan: UNMISS) โดยมีภารกิจหลักในการซ่อมแซมปรับปรุงถนน การสร้างและซ่อมแซมสาธารณูปโภคในค่ายทหารของสหประชาชาติและสนามบินกรุงจูบา นอกเหนือจากภารกิจข้างต้น กองกำลังทหารช่างของไทยได้ถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่รากเหง้าและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นซ้ำ

          ในระดับบุคคล ไทยส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพ 3 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจรักษาสันติภาพ ณ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ภารกิจของคณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติในสาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน (United Nation Military Observer Group in India and Pakisatan: UNMOGIP) บริเวณชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน และภารกิจกองกำลังชั่วคราวรักษาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับเอบิเย (United Nations Interim Security Force for Abyei: UNISFA) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างซูดานกับเซาท์ซูดาน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะบุคลากรยืมตัว โดยปฏิบัติงานที่ Department of Peace Operations สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

 

  1. ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

          ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้

          (1) การส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน ไทยเห็นว่าเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะช่วยวางรากฐานสำหรับการสร้างสันติภาพภายหลังความขัดแย้ง (peacebuilding) ในฐานะ “early peacebuilders”[2] โดยเน้นการถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชนที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจ

          (2) การส่งเสริมวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง (Women, Peace and Security: WPS)[3] ตามข้อมติ UNSC ที่ 1324 (ค.ศ. 2000) ซึ่งเน้นการเพิ่มจำนวนและบทบาทของเจ้าหน้าที่สตรีในกระบวนการสันติภาพ (ครอบคลุมทั้งปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การเสริมสร้างสันติภาพ และการฟื้นฟูประเทศภายหลังความขัดแย้ง) ปัจจุบัน (มีนาคม ค.ศ. 2025) ในระดับบุคคล ไทยส่งเจ้าหน้าที่สตรี รวม 19 คน เข้าร่วมภารกิจ UNMISS UNMOGIP และ UNISFA ถือว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับ 40 ของโลก และอันดับ 4 ของอาเซียน และในระดับกองกำลัง ได้ส่งเจ้าหน้าที่สตรี รวม 28 คน (จากทั้งสิ้น 273 คน) เข้าร่วมภารกิจ UNMISS (คิดเป็นร้อยละ 10.26)

          (3) การฝึกอบรมบุคลากร ศสภ. มีบทบาทสนับสนุนสหประชาชาติ โดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่ได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติให้แก่หน่วยงานของไทยและต่างประเทศ รวมถึงหลักสูตรเตรียมความพร้อมให้แก่กองกำลังของไทยก่อนเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพ เช่น การจัดหลักสูตร UN Staff Officers Course (UNSOC) ใน ค.ศ. 2020 โดยมีผู้แทนจากอินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย พร้อมผู้บรรยายที่มีความเชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน เข้าร่วม และหลักสูตร Child Protection Course (CPC) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่

          (4) การดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ไทยเข้าเป็นสมาชิก Group of Friends on the Safety and Security of UN Peacekeepers เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 (ปัจจุบันมีสมาชิก 49 ประเทศ) โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลไกประสานงานอย่างไม่เป็นทางการในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือในประเด็นความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ รวมทั้งประสานท่าทีและมีข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานของสหประชาชาติ

 

  1. ทิศทางการดำเนินงานของไทยต่อการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

          หากมองไปในอนาคต หน่วยงานหลักของไทยมีทิศทางและแนวทางส่งเสริมปฏิบัติการรักษาสันติภาพเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นที่สหประชาชาติกำหนด ดังนี้

          (1) การเพิ่มจำนวนและบทบาทของเจ้าหน้าที่สตรี ยุทธศาสตร์ Uniformed Gender Parity 2018-2028 ของสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนเจ้าหน้าที่สตรี ใน ค.ศ. 2028 ประเภทบุคคลให้อยู่ที่ร้อยละ 25 และประเภทกองกำลังอยู่ที่ร้อยละ 15 ดังนั้น ไทยจึงมีนโยบายเพิ่มจำนวนและส่งเสริมบทบาทเจ้าหน้าที่สตรี พร้อมผลักดันให้เจ้าหน้าที่สตรีปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันถือว่าการดำเนินการของไทยให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยใน ค.ศ. 2025 ไทยมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่สตรีประเภทบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 42.11 ซึ่งเกินเป้าหมายที่สหประชาชาติกำหนด และประเภทกองกำลังอยู่ที่ร้อยละ 10.26 ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายของสหประชาชาติ

          (2) การพัฒนาขีดความสามารถ ไทยมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางและผลประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมภารกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเข้าร่วมภารกิจจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายสนับสนุน (support network) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

          (3) การเตรียมความพร้อมกำลังพลตามมาตรฐานที่สหประชาชาติกำหนด ไทยประสงค์จัดการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ โดยปรับหลักสูตรให้ครอบคลุมและเข้มข้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อจัดอบรมด้านทักษะภาษา การเจรจา และทักษะวัฒนธรรม (cultural skills) โดยเฉพาะในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจในบริบทข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural) เพื่อเสริมศักยภาพให้เจ้าหน้าที่สามารถปรับตัวและปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          (4) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ ไทยเน้นเผยแพร่แนวทางด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสันติภาพภายหลังความขัดแย้ง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ความเท่าเทียมทางเพศ และเป้าหมายที่ 16 การสร้างสังคมที่สงบสุข การยุติธรรม และสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

          โดยสรุป ปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติเป็นกลไกสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยนานาประเทศ รวมทั้งไทย ได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมุ่งเน้นการส่งเสริมสันติภาพอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนวาระ WPS การพัฒนาศักยภาพและการฝึกอบรมบุคลากร ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ

          อย่างไรก็ดี จากบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงและรูปแบบความขัดแย้งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้สหประชาชาติต้องปรับปรุงกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ซึ่งไทยพร้อมตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมุ่งเพิ่มจำนวนและบทบาทของเจ้าหน้าที่สตรีในภารกิจรักษาสันติภาพ เสริมสร้างขีดความสามารถและการฝึกอบรมให้กำลังพลมีมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ปฏิบัติภารกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

[1] ใน UNGA73 เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เปิดตัวข้อริเริ่ม A4P เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภารกิจรักษาสันติภาพ ซึ่งที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาคำมั่นร่วมกันว่าด้วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ โดยมี 154 ปท. ร่วมรับรอง (รวมไทย) ข้อริเริ่ม A4P ประกอบด้วย 8 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินการทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (2) การปกป้องประชาชนในพื้นที่ (3) การเสริมสร้างสันติภาพและสันติภาพที่ยั่งยืน (4) การส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือ (5) ประสิทธิภาพและความโปร่งใสของกองกำลัง (6) ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ (7) วาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง และ (8) ระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ และกองกำลังรักษาสันติภาพ

[2] สอดคล้องกับ ข้อมติ UNSC ที่ 2086 (ค.ศ. 2013)

[3] วาระ WPS ให้ความสำคัญกับสตรี 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การเพิ่มบทบาทของสตรีในการป้องกัน แก้ไขและจัดการความขัดแย้ง โดยกระบวนการสันติภาพที่สตรีมีส่วนร่วมมักจะมีความยั่งยืนมากขึ้น (2) การปกป้องสิทธิสตรีในระหว่างและภายหลังความขัดแย้ง และ (3) การเพิ่มบทบาทและจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

 

 

[*] นักการทูตชำนาญการ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ

[**] เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ 

[***] นักศึกษาฝึกงาน กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ 

Documents

2-2568_July2025_7_ทศวรรษของไทยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ.pdf