IPEF Explained: แนวคิด ทิศทาง และประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย | จุฬามณี ชาติสุวรรณ

IPEF Explained: แนวคิด ทิศทาง และประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย | จุฬามณี ชาติสุวรรณ

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 Oct 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 Oct 2024

| 1,113 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 8/2567 | ตุลาคม 2567

IPEF Explained: แนวคิด ทิศทาง และประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
จุฬามณี ชาติสุวรรณ*

(Download .pdf below)

 

         ในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ความตกลง 4 ฉบับ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity – IPEF) ได้มีผลบังคับใช้กับภาคี คือ ความตกลงเสา 2 ด้านความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน[1] ความตกลงเสา 3 ด้านเศรษฐกิจสะอาด ความตกลงเสา 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และความตกลงว่าด้วย IPEF โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเจรจาในความตกลงเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น จึงน่าจะทบทวนกรอบความร่วมมือ IPEF และผลประโยชน์ที่ไทยน่าจะพัฒนาขึ้นจากความตกลงดังกล่าว

 

  1. IPEF คืออะไร

         IPEF เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ที่จะพัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกรอบใหม่เพื่อเสริมสร้างบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากความตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นความตกลง CPTPP) ใน พ.ศ. 2560 IPEF สะท้อนความคิดของพรรคเดโมแครตที่ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตร และตอบสนองการแข่งขันกับจีนแบบ derisk คือลดความเสี่ยงในทำการค้าการลงทุนในจีน และสร้างความเป็นไปได้ในการย้ายการลงทุนออกมายังมิตรประเทศ (friendshoring)

     ประเทศที่สหรัฐเชิญเข้าร่วม IPEF จึงมีทั้งพันธมิตรในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ และมิตรประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ อาเซียน 7 (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม) อินเดีย และฟิจิ ตามข้อมูล พ.ศ. 2566 ประเทศที่เข้าร่วม IPEF 14 ประเทศนี้มีจำนวนประชากรรวมกันร้อยละ 32 ของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP รวมกันร้อยละ 40 ของ GDP โลก ความร่วมมือในรูปแบบใด ๆ ของ IPEF จึงมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจของโลกในภาพรวม

          สารัตถะของ IPEF สะท้อนประเด็นสำคัญของการค้ายุคใหม่ แยกออกเป็น 4 เสา คือ เสาที่ 1 ด้านการค้า ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าคล้ายความตกลง FTA ทั่วไป[2] โดยฝ่ายสหรัฐฯ มี USTR เป็นผู้เจรจาหลัก  ส่วนเสาที่ 2 ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน, เสาที่ 3 เศรษฐกิจสะอาด และเสาที่ 4 เศรษฐกิจที่เป็นธรรม ครอบคลุมประเด็นซึ่งมักไม่อยู่ใน FTA ทั่วไป โดยฝ่ายสหรัฐฯ มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เจรจาหลัก                

          การออกแบบ IPEF สะท้อนถึงความพยายามแก้ปัญหาในการเจรจาความตกลงทางการค้าที่ผ่านมาของ สหรัฐฯ กล่าวคือ ไม่มีประเด็นอ่อนไหวที่สุดของฝ่ายสหรัฐฯ คือการเปิดตลาด ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์หลายฝ่ายในสหรัฐฯ มองว่าทำให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด และทำให้คนอเมริกันตกงาน ในขณะเดียวกัน ไม่มีประเด็นอ่อนไหวของคู่เจรจาในภูมิภาค เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ การออกแบบให้ IPEF แยกออกเป็น 4 เสาที่มีความตกลงแยกจากกัน ซึ่งคู่เจรจาเลือกเข้าร่วมเฉพาะเสาที่ตนสนใจได้ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเจรจา และการดำเนินการตามความตกลงและการขยายสมาชิกในภายหลัง ส่วนความจริงจังของ IPEF สะท้อนอยู่ในลักษณะของความตกลง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งผูกพันภาคีมากกว่าการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเช่นในกรณีเอเปค

          ความท้าทายพื้นฐานของ IPEF จึงอยู่ที่สหรัฐฯ มุ่งให้ความตกลง IPEF มีมาตรฐานสูงในระดับ WTO plus, CPTPP หรือ CPTPP plus และความตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement – USMCA) เช่น ในประเด็นแรงงาน เกษตร สิ่งแวดล้อม และดิจิตัล ภาคีจึงจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสูงเหล่านี้ โดยไม่ได้ผลประโยชน์จากการเข้าถึงตลาด ทำให้คู่เจรจามีคำถามตั้งแต่เริ่มต้นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้ (tangible benefits) จาก IPEF

          ความท้าทายต่อมาคือ สหรัฐฯ ตั้งเป้าว่าจะประกาศว่าการเจรจาความตกลง IPEF ทั้ง 4 ฉบับแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค โดยที่ IPEF เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และประกาศเริ่มเจรจาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน จึงมีเวลาเพียง 14 เดือนในการเจรจาความตกลงมาตรฐานสูงทั้ง 4 ฉบับพร้อมกัน ควบคู่กับการพัฒนาผลประโยชน์ที่จับต้องได้ที่ไม่ใช่การเปิดตลาด กำหนดเวลานี้ทะเยอทะยานมาก เมื่อเทียบว่าความตกลง TPP และ RCEP ใช้เวลาในการเจรจาถึง 5 ปี และ 8 ปี ตามลำดับ

          ประเทศไทยเข้าร่วม IPEF ตั้งแต่การเปิดตัว และเข้าร่วมการเจรจาทั้ง 4 ความตกลง กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาหลัก (Chief Negotiator – CN) โดย (1) เสาที่ 1 การค้า มีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็น Pillar Lead และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็น Chapter Lead ในแต่ละบท (2) เสาที่ 2 ห่วงโซ่อุปทาน มีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็น Pillar Lead (3) เสาที่ 3 เศรษฐกิจสะอาด มีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เป็น Pillar Lead และ (4) เสาที่ 4 เศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ เป็น Pillar Lead

 

  1. อะไรอยู่ใน IPEF                            

           การเจรจา IPEF มีความเข้มข้นอย่างมากทั้งในด้านสารัตถะและความเร่งด่วน ภายใน 14 เดือน มีการเจรจาแบบพบตัวระดับ CN 9 รอบ โดยไทยเป็นเจ้าภาพ 1 รอบในเดือนกันยายน 2566 และการประชุมแบบพบตัวระดับรัฐมนตรี 2 ครั้ง นอกจากนี้ มีการประชุมออนไลน์ระดับรัฐมนตรี การเจรจาออนไลน์ในระดับ CN, Pillar Lead และ Chapter Lead จำนวนมาก

          เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 ความตกลง 3 ฉบับซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็น CN สามารถเจรจาแล้วเสร็จ โดยรัฐมนตรีจากคู่เจรจา IPEF รวมทั้งไทยได้ลงนามในความตกลง เสา 2 ด้านห่วงโซ่อุปทานเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 และต่อมาได้ลงนามในความตกลงเสา 3 ด้านเศรษฐกิจสะอาด และความตกลงเสา 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตาม ความตกลงเสา 1 ด้านการค้าซึ่ง USTR เป็น CN ยังไม่สามารถเจรจาแล้วเสร็จ เนื่องจากความซับซ้อนและอ่อนไหวของเนื้อหา รวมทั้งความคาดหวังมาตรฐานสูง

          บทความนี้จึงขอนำเสนอเฉพาะสารัตถะความตกลงเสา 2, เสา 3 และเสา 4 เท่านั้น


2.1 ความตกลงเสา 2 ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

IPEF1

ที่มา: กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ความตกลงฉบับเต็มดูได้จาก https://www.commerce.gov/sites/default/files/2023-09/2023-09-07-IPEF-Pillar-II-Final-Text-Public-Release.pdf        

          ความตกลงเสา 2 เรื่อง ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2567 และได้เริ่มจัดตั้งกลไก และดำเนินงานตามที่กำหนดในความตกลงฯ แล้ว

         ความตกลง IPEF เสา 2 เป็นความตกลงด้านห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก มีแนวคิดสำคัญคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น และหลากหลายให้ห่วงโซ่อุปทานของภาคี ทั้งในเวลาปกติและในยามวิกฤต การส่งเสริมความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ และการส่งเสริมสิทธิแรงงาน

         ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ความตกลงฯ จัดตั้งคณะมนตรีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Council) ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐจากทุกภาคี เพื่อประสานความร่วมมือ พิจารณาความช่วยเหลือทางวิชาการ และรายงานประจำปีของแต่ละภาคีว่าได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้ห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างไร  

          ที่น่าสนใจคือ ความตกลงฯ ระบุให้แต่ละภาคีระบุสาขาสำคัญหรือสินค้าหลักของตนเอง โดยนอกจากดูถึงความสำคัญของสาขาหรือสินค้านั้นต่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของภาคีแล้ว ยังดูถึงความเสี่ยงของสาขาหรือสินค้านั้น ๆ ได้แก่ การพึ่งพาซัพพลายเออร์น้อยราย ไม่มีสินค้าทดแทน ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ เป็นต้น  สาขาหรือสินค้าใดที่ภาคี 3 ภาคีขึ้นไประบุ จะถือว่าเป็นสาขาสำคัญหรือสินค้าหลักของ IPEF ซึ่งคณะมนตรีฯ จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan Team) เพื่อวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของสาขาหรือสินค้านั้น และจัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของสินค้า การคาดการณ์อุปสงค์ ความสามารถในการผลิตและจัดเก็บสินค้า ทักษะแรงงานที่จำเป็น การแก้ปัญหาคอขวดทางโลจิสติค เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยืดหยุ่นของสาขาสำคัญหรือสินค้าหลักนั้น ๆ 

          สถานะล่าสุดคือ คณะมนตรีฯ ได้เลือกสหรัฐฯ เป็นประธาน และอินเดียเป็นรองประธาน ในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 คณะมนตรีฯ ได้ (1) จัดตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ คือ ด้านโลจิสติคและการเคลื่อนย้ายสินค้า และด้าน Data and Analytics เพื่อทำงานต่อไปในด้านนี้  (2) สรุปสาขาสำคัญและสินค้าหลักของ IPEF จากรายการสาขาและสินค้าที่ภาคีแจ้งมา พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะในการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าดังกล่าว คือ เซมิคอนดักเตอร์ เคมี และแร่ธาตุสำคัญโดยเน้นแบตเตอรี และมีแผนจะจัดตั้ง Action Plan Team ด้านการดูแลสุขภาพในภายหลัง[3] 

          สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในเวลาวิกฤต ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น โรคระบาด น้ำท่วม ฯลฯ หรือจากมนุษย์ เช่น สงคราม ฯลฯ ทั้งในภูมิภาค IPEF และในประเทศที่สาม ความตกลงฯ นี้จัดตั้งเครือข่ายรับมือวิกฤตด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Crisis Response Network – CRN) เพื่อการสื่อสารและสนับสนุนซึ่งกันและกันในยามวิกฤต ส่วนในยามที่ไม่มีวิกฤต เครือข่ายฯ จะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และฝึกรับมือสถานการณ์จำลองเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

         สถานะล่าสุดคือ CRN ได้เลือกเกาหลีใต้เป็นประธาน และญี่ปุ่นเป็นรองประธาน การประชุม CRN ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ได้หารือแนวทางการทำงาน และได้ฝึกรับมือสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ที่มีผลกระทบต่อการนำเข้าและการใช้สารเคมีของภาคี IPEF[4]

          ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน ความตกลงฯ จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน (Labor Right Advisory Board – LRAB) ประกอบด้วยไตรภาคี คือ ตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ของแต่ละภาคี เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อหาโอกาส ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานผ่านการส่งเสริมสิทธิแรงงาน  LRAB จะทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานในธุรกิจเฉพาะสาขาใน IPEF โดยร่วมมือกับ ILO  ที่น่าสนใจคือ มีการจัดตั้งกลไกให้บุคคลหรือองค์กรในภาคีหนึ่งร้องเรียนไปยังภาครัฐของตนหากเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในสถานที่ทำงานเฉพาะแห่งในอีกภาคีหนึ่ง โดยการละเมิดสิทธิแรงงานนั้นต้องกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของ IPEF หากภาครัฐของภาคีที่รับข้อร้องเรียนเห็นว่าคำร้องเรียนนั้นมีมูล จะแจ้งไปยังภาครัฐของภาคีที่โรงงานนั้นตั้งอยู่ เพื่อให้สอบสวนข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อไป

         สถานะล่าสุดคือ LRAB ได้เลือกสหรัฐฯ เป็นประธาน และฟิจิเป็นรองประธาน และขณะนี้ (ตุลาคม 2567) อยู่ระหว่างการจัดทำ ToR สำหรับการทำงานของ LRAB

         ความตกลงเสา 2 มีข้อบทเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการเห็นภาพรวมของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain mapping) และการติดตามห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ภาคีตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ-ธุรกิจและความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

         ระดับของความผูกพันตามความตกลงนี้ส่วนใหญ่แสดงถึงความตั้งใจที่จะกระทำ (“intend to”) โดยพันธกรณีที่อยู่ในระดับ”ต้องทำ“ (“shall”) คือการเข้าร่วมกลไก 3 ด้านของความตกลงฯ และการรักษาความลับของข้อมูล กลไกระงับข้อพิพาทในความตกลงเสา 2 อยู่ในระดับการปรึกษาหารือกันหากภาคีฝ่ายใดมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของความตกลงฉบับนี้ของภาคีอื่น 

         อนึ่ง ความตกลงเสา 2 ระบุด้วยว่า ภาคีใด ๆ จะถอนตัวจากความตกลงฉบับนี้ได้ หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ 3 ปีแล้วเท่านั้น

2.2 ความตกลงเสา 3 เศรษฐกิจสะอาด

IPEF2

ที่มา: กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ความตกลงฉบับเต็มดูได้จาก https://www.commerce.gov/sites/default/files/2024-03/IPEF-PIII-Clean-Economy-Agreement.pdf

          ความตกลงเสา 3 เรื่องเศรษฐกิจสะอาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2567 โดยโครงการความร่วมมือ (Cooperative Work Program – CWP) (ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง) ได้เริ่มพัฒนา และดำเนินการตั้งแต่อยู่ในช่วงการเจรจาความตกลงฯ

          ความตกลงเสา 3 ไม่ได้สร้างพันธกรณีหรือเป้าหมายใหม่ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มุ่งเพิ่มความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่สะอาด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของแต่ละภาคี  ความร่วมมือตามความตกลงฉบับนี้ครอบคลุมถึง (1) ความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนผ่าน (2) เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง (3) การแก้ปัญหาทางบก น้ำ และมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (4) นวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับการดักจับและกำจัดก๊าซเรือนกระจก (5) แรงจูงใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาด และ (6) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

          ในประเด็นความมั่นคงทางพลังงานและพลังงานสะอาด ความร่วมมืออาจรวมถึงการหารือด้านนโยบาย การวิเคราะห์ทางวิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงานโดยสมัครใจ การจัดหาเงินทุน และการพัฒนาบุคลากรในด้านพลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดน พลังงานหมุนเวียน เสถียรภาพของตลาดและการลดมีเทนในภาคพลังงาน

          ความตกลงฯ ระบุถึงความร่วมมือในการส่งเสริมอุปสงค์ของเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในภาคอุตสาหกรรม การบิน การเดินเรือ การขนส่งทางรางและทางถนน ซึ่งก็คือการใช้กลไกตลาดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว  และยังครอบคลุมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาดในภาคการเกษตร ป่าไม้ การใช้น้ำและมหาสมุทร และการส่งเสริมเทคโนโลยีนวัตกรรมในการดักจับและกำจัดก๊าซเรือนกระจก

          ในประเด็นการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาด ความตกลงฯ กล่าวถึงมาตรการเพื่อสร้างอุปสงค์ การพัฒนาตลาดคาร์บอน การระดมการลงทุนและการเงินที่ยั่งยืนร่วมกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนา ภาคเอกชนและนักลงทุนสถาบัน รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจ ความตกลงฯ ยังระบุถึงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่สะอาดของภาคี ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนาแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

          โดยที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาดจะมีผลกระทบต่อแรงงาน ความตกลงฯ จึงครอบคลุมถึงการแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถปรับตัวกับเศรษฐกิจสะอาด การส่งเสริมงานที่มีคุณค่า และการเจรจาทางสังคม (social dialogue) ในทุกระดับ

          จุดเด่นของความตกลงเสา 3 น่าจะเป็น Cooperative Work Program (CWP) ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคีใด ๆ ริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาด ภาคีอื่นเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ CWP ได้ตามความสมัครใจ ตามความสนใจและแนวทางสู่เศรษฐกิจสะอาดของตน  สถานะล่าสุดคือ มีโครงการ CWP 10 โครงการ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ในความตกลงนี้ ได้แก่ ภาคพลังงาน (เช่น ไฮโดรเจน, Small Modular Reactor (SMR), ไฟฟ้าสะอาด, การจัดเก็บพลังงาน) การปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสะอาด (เช่น embedded emission accounting, e-waste urban mining) การส่งเสริมอุปทาน (เช่น ตลาดคาร์บอน เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (sustainable aviation fuel – SAF))   และการส่งเสริมแรงงาน (เช่น Just Transition)

          ระดับของความผูกพันตามความตกลงนี้ส่วนใหญ่แสดงถึงความตั้งใจที่จะกระทำ (“intend to”) โดยพันธกรณีที่อยู่ในระดับ “ต้องทำ“ (“shall”) คือการเข้าร่วมกลไกของความตกลง และการรักษาความลับของข้อมูล นอกจากนี้ กลไกระงับข้อพิพาทในความตกลงเสา 3 อยู่ในระดับการปรึกษาหารือกันหากภาคีฝ่ายใดมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของความตกลงฉบับนี้ของภาคีอื่น


2.3 ความตกลงเสา 4 เศรษฐกิจที่เป็นธรรม

IPEF3

ที่มา: กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ความตกลงฉบับเต็มดูได้จาก https://www.commerce.gov/sites/default/files/2024-03/IPEF-PIV-Fair-Economy-Agreement.pdf

           ความตกลงเสา 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2567 และได้มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการหลายโครงการได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ช่วงการเจรจา

           ความตกลงเสา 4 แบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ คือ ด้านการต่อต้านการทุจริต และด้านการจัดเก็บภาษีที่โปร่งใส โดยไม่ได้สร้างพันธกรณีใหม่นอกเหนือไปจากพันธกรณีที่มีอยู่แล้วภายใต้ OECD และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) และตามกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องบนแนวคิดที่ว่า การทุจริตและระบบภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพส่งผลกระทบทางลบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุน และลดทอนความซื่อสัตย์ของภาครัฐและเอกชน

           ในด้านการต่อต้านการทุจริต ภาคีฯ ต้องบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการลงโทษ มีการติดตามทรัพย์สินคืนและความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ภาคเอกชนมีการควบคุมภายใน จริยธรรม และปฏิบัติตามกฎหมาย มีความโปร่งใสในผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงและธุรกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีกระบวนการร้องเรียนที่ชัดเจนและเป็นความลับ และส่งเสริมความสุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมในการต่อต้านการทุจริต เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระบวนการประเมินและติดตามการต่อต้านการทุจริต และต่อต้านการทุจริตและสินบนในบริบทของการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน

          ในด้านภาษี ความตกลงฯ ครอบคลุมถึงความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ทางภาษี การพัฒนาหน่วยงานและนโยบายด้านภาษี และการเก็บภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัล

          จุดเด่นของความตกลงนี้อยู่ที่ความร่วมมือกันระหว่างภาคีในการต่อต้านการทุจริตและในด้านภาษี ผ่านการสร้างขีดความสามารถ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยมีกรอบการทำงานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building Framework) ซึ่งกำหนดให้ภาคีแจ้งความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการต่อต้านทุจริตและภาษีที่ตนต้องการ และภาคีอื่นพิจารณาให้ความสนับสนุนตามที่เหมาะสม

          ระดับของความผูกพันตามความตกลงนี้อยู่ในระดับ”ต้องทำ“ (“shall”) มากกว่าความตกลงเสา 2 และเสา 3 เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ข้อบทด้านการต่อต้านการทุจริตมีประเด็นและระดับความผูกพันมากกว่าด้านภาษี ซึ่งอาจเป็นเพราะความตกลงฯ ด้านการต่อต้านทุจริตอ้างอิงถึง UNCAC ซึ่งทุกประเทศ IPEF เป็นภาคีแล้ว ส่วนด้านภาษี อ้างอิงถึง OECD/G20 Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting regarding the Two-Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalization of the Economy (OECD/G20 Two-Pillar Solution) ซึ่งการเจรจาใน OECD ยังดำเนินคู่ขนานไปกับการเจรจา IPEF[5]    

          กลไกระงับข้อพิพาทในความตกลงเสา 4 อยู่ในระดับการปรึกษาหารือกันหากภาคีฝ่ายใดมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของความตกลงฉบับนี้ของภาคีอื่น แต่มีบทบัญญัติที่มากกว่าความตกลงเสา 2 และเสา 3 คือ หากภาคีที่ปรึกษาหารือกันไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ภาคีฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายอาจขอให้มีการตั้ง ad hoc Committee ประกอบด้วยภาคีอื่น เพื่อพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าว ad hoc Committee มีบทบาทที่จำกัด โดยอย่างมากที่สุดคือการให้คำแนะนำเพื่อให้ภาคีที่ปรึกษาหารือกันพิจารณา และภาคีที่ปรึกษาหารือกันอาจจะรับหรือปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าวก็ได้

          อนึ่ง ความตกลงเสา 4 ระบุด้วยว่า ภาคีใด ๆ จะถอนตัวจากความตกลงฉบับนี้ได้ หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ 3 ปีแล้วเท่านั้น


2.4 ความตกลง IPEF   

ที่มา : กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ความตกลงฉบับเต็มดูได้จาก

IPEF4

https://www.commerce.gov/sites/default/files/2024-03/IPEF-Overarching-Agreement.pdf

         โดยที่ IPEF แยกออกเป็นความตกลง 4 ฉบับ ซึ่งมีกลไกการทำงานแยกจากกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงสร้างการทำงานในภาพรวม จึงมีการเจรจาความตกลงอีกฉบับหนึ่งเรียกว่าความตกลงเกี่ยวกับ IPEF เพื่อจัดตั้ง IPEF Joint Commission ระดับรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดตามผลการทำงานของเสา 2-3-4 และจัดตั้ง IPEF Council ระดับรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การรับสมาชิกใหม่ หรือการเพิ่มเสาความร่วมมือใหม่ ในขณะที่ระบุให้ความตกลงเสา 1 จัดตั้ง Trade Commission เพื่อดูแลทั้ง 10 บทในเสา 1  ทั้งนี้ จะมีการประชุม IPEF Council และ Joint Commission ระดับรัฐมนตรีทุกปี

          ความตกลงฉบับนี้ลงนามในระดับรัฐมนตรีแล้ว และจะมีผลใช้บังคับในเดือนตุลาคม 2567 ตามความตกลงนี้ คาดว่าจะมีการประชุม IPEF Joint Commission และ IPEF Council ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2568

          ความตกลง IPEF เปิดให้ประเทศที่เข้าร่วมความตกลง IPEF ฉบับใดฉบับหนึ่งเข้าร่วม ไม่มีกลไกระงับข้อพิพาท และระบุด้วยว่า ภาคีใด ๆ จะถอนตัวจากความตกลงฉบับนี้ได้ หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ 3 ปีแล้วเท่านั้น

2.5 สรุปความตกลง IPEF เสา 2 เสา 3 และเสา 4         

          แม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือ IPEF แต่ความตกลง IPEF ที่เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่างคู่เจรจา 14 ประเทศ มุ่งสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างภาคี IPEF ไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

          ความตกลง IPEF ทั้ง 3 ฉบับมีมิติแปลกใหม่ของตนเอง โดยเสา 2 เป็นความตกลงเรื่องห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก ซึ่งมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อสร้างเสริมความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานของภาคีทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน สอดคล้องกับแนวคิด friendshoring ซึ่งภาคีไม่จำเป็นต้องออกห่างจากห่วงโซ่อุปทานของประเทศอื่นนอก IPEF ในขณะที่ความตกลงเสา 3 ไม่ได้สร้างพันธกรณีใหม่นอกเหนือกรอบ UNFCCC แต่เน้นมิติด้านเศรษฐกิจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาด ทั้งในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่าน การร่วมพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างแรงจูงใจ และการเข้าถึงเงินทุนและหุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชน ความร่วมมือระหว่างกันตาม ความตกลงนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ภาคีสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาดได้ตามหรือก่อนกำหนดเวลาที่ตนผูกพันไว้ตามความตกลงปารีส แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมากอีกด้วย  ส่วนความตกลงเสา 4 ไม่ได้สร้างพันธกรณีใหม่ แต่เป็นการสนับสนุนทางวิชาการ สร้างแรงจูงใจ และสร้าง peer pressure ให้ภาคีสามารถบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศตามพันธกรณีเรื่องการต่อต้านการทุจริต และระบบภาษีที่โปร่งใสที่มีอยู่แล้วใต้ UNCAC และ OECD เพื่อความมั่นใจในการทำธุรกิจระหว่างกัน

          ในแง่ลักษณะความตกลง ความตกลง IPEF เสา 2 เสา 3 และเสา 4 เป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันภาคี โดยระดับความผูกพันส่วนใหญ่เป็น “soft obligation” คือแสดงความตั้งใจที่จะทำ ทั้งยังมีกลไกการระงับข้อพิพาทในระดับการปรึกษาหารือ ซึ่งภาคีอื่นอาจแสดงความห่วงกังวลต่อการดำเนินการตามความตกลงของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ระดับความผูกพันใน IPEF จึงสูงกว่ากรอบความร่วมมืออื่น เช่น เอเปค ซึ่งเอกสารผลลัพธ์เป็นการแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และไม่มีกลไกระงับข้อพิพาท

          ในบริบทนี้ คาดว่าระดับความผูกพัน กลไกระงับข้อพิพาท โครงการความร่วมมือ peer pressure และโอกาสทางการค้าการลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามความตกลง IPEF 3 ฉบับ น่าจะสร้างพลวัตและแรงจูงใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง

 

  1. ทิศทางของ IPEF ในระยะต่อไป

           ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐฯ มีบทบาทนำต่อทิศทางและความสำเร็จของ IPEF ประเด็นที่น่าสนใจคือ ฝ่ายสหรัฐฯ ในปัจจุบันถือว่าความตกลง IPEF ทั้ง 3 ฉบับเป็น Executive Agreement ที่ฝ่ายบริหารสามารถเจรจาและให้ความเห็นชอบได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ข้อดีของแนวทางนี้คือสามารถเจรจาได้อย่างรวดเร็ว แต่จุดอ่อนคือประธานาธิบดีคนใหม่อาจใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าวได้เช่นกัน 

           คำถามหลักขณะนี้คือความยั่งยืนของ IPEF ในกรณีที่พรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันได้ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่า หากได้รับเลือกตั้งจะ”knock out” IPEF ซึ่งทรัมป์เรียกว่า “the Biden plan for TPP Two[6]” และต่อมา 2024 Republican Party Platform ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2567 ย้ำถึง “America First Trade Policy” ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศสูงกว่า “foreign outsourcers” การนำห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกลับมายังสหรัฐฯ นโยบายซื้อสินค้าอเมริกันและจ้างคนอเมริกัน (“Buy American and Hire American”) การยกเลิกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น แนวนโยบายเช่นนี้ดูไม่ตรงกับแนวคิด friendshoring และการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานนอกประเทศตามความตกลงเสา 2 และเศรษฐกิจสะอาดในเสา 3   มีข้อสังเกตว่า แนวนโยบายดังกล่าวในหัวข้อ “Fair and Reciprocal Trade Deals” ระบุว่าจะเจรจาความตกลงที่ล้มเหลวใหม่ (“renegotiating failed agreements”) โดยไม่ได้ระบุชื่อ IPEF โดยตรง[7]

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบันได้ออกแบบ IPEF โดยถอดบทเรียนจากการเจรจาความตกลงทางการค้าที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐฯ ได้เร่งรัดให้การเจรจาความตกลง IPEF แล้วเสร็จภายในปลาย พ.ศ. 2566 ส่งผลให้ความตกลงเสา 2, 3 และ 4 และความตกลง IPEF มีผลใช้บังคับแล้วกับภาคีก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 มิติด้านเงื่อนเวลานี้มีนัยสำคัญ เมื่อมองย้อนไปว่าความตกลง TPP ได้เจรจาแล้วเสร็จและประเทศคู่เจรจาลงนามแล้วเมื่อ พ.ศ. 2559 แต่ยังไม่ทันมีผลใช้บังคับ จนประธานาธิบดีโอบามาจากพรรคเดโมแครตพ้นตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์จากพรรครีพับลิกันเข้ารับตำแหน่งในปี พ.ศ.2560 และประกาศถอนตัวออกจากความตกลง TPP โดยทันที คู่เจรจาความตกลง TPP ที่เหลืออยู่ 11 ประเทศต้องเจรจาทบทวนความตกลง TPP ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นความตกลง CPTPP ซึ่งได้ลงนามและมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2561

          นอกจากนี้ ผู้เจรจาสหรัฐฯ ได้ป้องกันความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจากพรรครีพับลิกันจะถอนตัวจาก IPEF ไว้ ด้วยข้อบทในความตกลงเสา 2 ความตกลงเสา 4 และความตกลง IPEF ที่ไม่ให้ภาคีใดถอนตัวจากความตกลงดังกล่าวภายใน 3 ปีหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ แต่ไม่มีข้อบทลักษณะนี้ในความตกลงเสา 3 เศรษฐกิจสะอาด และความตกลงทั้ง 3 เสาได้กำหนดด้วยว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าวได้หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ปีเท่านั้น

         ที่จริงแล้ว การส่งเสริมความสัมพันธ์กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกถือได้ว่าเป็นนโยบายที่พรรครีพับลิกันและ    เดโมแครตมีความเห็นสอดคล้องกัน (bipartisan) รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์สมัยแรกได้ออกนโยบายที่เรียกว่า Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ซึ่งประกาศว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศในอินโด-แปซิฟิก เน้นการค้าเสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทน บรรยากาศการลงทุนที่เปิดกว้าง ธรรมาภิบาล (good governance) และเสรีภาพในการเดินเรือ และมีความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยข้อริเริ่ม เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Blue Dot Network)[8] ซึ่งแนวคิดหลายประการสอดคล้องกับ IPEF ในปัจจุบัน

        โดยที่ขณะนี้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นโอกาสทางการค้าการลงทุนอย่างมากต่อภาคธุรกิจของสหรัฐฯ แม้ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้นโยบาย America First โดยที่ IPEF ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างบทบาทด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กำลังเข้มข้น และอิทธิพลของจีนในภูมิภาคกำลังขยายตัว การถอนตัวจาก IPEF ของสหรัฐฯ จึงไม่น่าจะสนับสนุนผลประโยชน์ทางธุรกิจของสหรัฐฯ หรือการสกัดกั้นอิทธิพลจีนในภูมิภาค ในทางตรงข้าม IPEF น่าจะมีศักยภาพที่จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการขยายบทบาทของตนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ ในชั้นนี้ อาจประเมินได้ว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลพรรครีพับลิกันอาจจะยังคงใช้ประโยชน์จากความตกลง IPEF เสา 2 เสา 3 และเสา 4 ต่อไป โดยอาจปรับทิศทางการดำเนินงานหรือขอแก้ไขความตกลง IPEF ให้ตอบสนองนโยบายของพรรครีพับลิกันมากขึ้น ซึ่งหากถึงขั้นขอแก้ไขความตกลงจะสามารถทำได้หลังความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ปี และภาคีทุกฝ่ายต้องให้สัตยาบันการปรับแก้ใด ๆ ในความตกลงด้วย 

     จนถึงขณะนี้ (ตุลาคม 2567) กลไกของ IPEF ได้เริ่มทำงานตามที่กำหนดไว้ในความตกลงแล้ว ดังรายละเอียดในข้อ 2. ข้างต้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่ประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรครีพับลิกันถอนตัวออกจาก IPEF หรือไม่แสดงบทบาทแข็งขันเท่าที่เคยเป็นมา พันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งเห็นประโยชน์จากกรอบ IPEF น่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการผลักดัน IPEF ให้พัฒนาต่อไป ยิ่งกว่านั้น ในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภาคเอกชนมีอิสระในการตัดสินใจทางธุรกิจ หากภาคเอกชนสหรัฐฯ เห็นประโยชน์ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากกรอบ IPEF ไทยและภาคีอื่นก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก IPEF ในการสร้างพลวัตความสัมพันธ์กับภาคเอกชนสหรัฐฯ ต่อไป

 

  1. IPEF ให้ประโยชน์อะไร

         ผลประโยชน์ที่จับต้องได้จากการเข้าร่วมความตกลงเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งไม่ใช่การเข้าถึงตลาดของภาคี เป็นประเด็นสำคัญตลอดการเจรจา เนื่องจากคู่เจรจาต้องการความมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายต่อผู้มีส่วนได้เสียในประเทศได้ ว่าจะได้รับประโยชน์คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสูงของ IPEF การพัฒนาผลประโยชน์เป็นรูปธรรมที่ภาคีจะได้รับจึงคู่ขนานไปกับการเจรจา และบางส่วนกำหนดไว้ในความตกลงโดยตรงด้วย สรุปได้ 5 ด้าน ดังนี้

          4.1 การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ: ทั้ง 3 ความตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงเสา 4 มีข้อบทเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ครอบคลุมกิจกรรม เช่น การอบรม ดูงาน การฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการต่าง ๆ มาตั้งแต่ช่วงการเจรจา

          4.2 โอกาสในการยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ: ทั้ง 3 ความตกลงครอบคลุมความร่วมมือระหว่างภาคีในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานและปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการค้าการลงทุน และ friendshoring ต่อไป ตัวอย่างเช่น

          (1) การกำหนดเป้าหมายร่วม ได้แก่ ในเสา 3 กำหนดเป้าหมายร่วมให้เกิดเส้นทางเดินเรือสีเขียวในภูมิภาคอย่างน้อย 5 เส้นทางใน พ.ศ. 2027, การยกระดับคลัสเตอร์เศรษฐกิจ (เช่น นิคมอุตสาหกรรม) อย่างน้อย 20 คลัสเตอร์ ให้ใช้เทคโนโลยีสะอาด และผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2030 เป็นต้น

         (2) peer pressure จากการที่ภาคีต้องรายงานเป็นระยะ ๆ ต่อกลไกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้เสา 2 เสา 3 และเสา 4 ถึงการดำเนินการของตนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาด และการต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างความโปร่งใสของการเก็บภาษี  นอกจากนี้ กลไกการระงับข้อพิพาทในรูปแบบของการปรึกษาหารือในกรณีที่ภาคีฝ่ายหนึ่งมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการตามความตกลงของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ก็สร้างแรงกดดันให้ประเทศต้องปรับมาตรฐานของตนโดยตลอดเช่นกัน

         (3) Cooperative Work Program (CWP) ในความตกลงเสา 3 ซึ่งภาคีใด ๆ สามารถริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสะอาด และภาคีอื่นเข้าร่วมตามความสนใจ เพื่อการพัฒนากิจกรรมนั้น ๆ ร่วมกัน เช่น โครงการการพัฒนาความสอดคล้องกัน (interoperability) ของตลาดคาร์บอน

         (4) การหารือเพื่อแลกเปลี่ยน และ/หรือ พัฒนามาตรฐานร่วมกัน เช่น การหารือเรืองความปลอดภัยด้านไซเบอร์ใน IPEF Council on Cyber and Emerging Technology (เครือข่ายการหารือใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในกรอบ IPEF แต่ไม่ได้อยู่ในความตกลง 3 ฉบับ)

          ข้อบทที่ระบุในความตกลงฯ เป็นโอกาสนำไปสู่การพัฒนาโครงการร่วมระหว่างภาคี ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา Green and Digital Shipping Corridor (GDSC) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือลอสแอนเจลิส และท่าเรือลองบีช[9] การตั้งคณะทำงานระหว่างสหรัฐฯ เวียดนาม และสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และศึกษากรอบเคเบิลใต้ทะเลเพื่อการขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน[10] เป็นต้น

        4.3 โอกาสในการค้าการลงทุน: ความตกลงทั้ง 3 ฉบับมุ่งนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการค้าการลงทุนจาก

        (1) การมีมาตรฐานร่วมหรือสอดคล้องกัน การแสดงถึงการเป็นหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้ (trusted) เชื่อถือได้ (reliable) และตรวจสอบได้ (accountable) เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่ และเป็นเศรษฐกิจสะอาด ตามความตกลงเสา 2 และเสา 3 น่าจะสนับสนุนการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานผ่าน sustainable sourcing และส่งเสริมให้สินค้าเข้าสู่ตลาดระดับพรีเมียมของภาคีได้ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีและภาครัฐที่เข้มแข็งจากการต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มงวดตามเสา 4 จะสร้างความมั่นใจในการลงทุน

          (2) การกำหนดเป้าหมายร่วมจะช่วยสร้างพลวัตให้กับการค้าการลงทุนระหว่างกัน เช่น เสา 3 กำหนดเป้าหมายร่วมให้มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ค.ศ. 2030 

          (3) IPEF Clean Economy Investor Forum ซึ่งกำหนดอย่างชัดเจนในเสา 3 เป็นเวทีสำคัญในการจับคู่ธุรกิจระหว่างโครงการด้านเศรษฐกิจสะอาดกับกองทุนและนักลงทุนจากทั้งภูมิภาค IPEF ทั้งนี้ ใน Clean Economy Investor Forum ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 หน่วยงานและบริษัทจากสมาชิก IPEF ได้นำเสนอ (pitch) โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 20 โครงการที่พร้อมลงทุน มูลค่ารวม 6 พันล้าน  ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อนักลงทุน ครอบคลุมสาขา เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ พลังงาน เกษตรกรรม การจัดการขยะ และการขนส่ง  และในงานเดียวกัน สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีด้านอากาศ (climate tech) ได้นำเสนอโครงการ 49 โครงการ มูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อนักลงทุนเช่นกัน[11]

          (4) การหารือเพื่อแลกเปลี่ยน และ/หรือพัฒนาลู่ทางการค้าการลงทุน เป็นการเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนใหม่ด้วย เช่น การหารือใน IPEF Critical Minerals Dialogue (เครือข่ายการหารือใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในกรอบ IPEF แต่ไม่ได้อยู่ในความตกลง 3 ฉบับ) เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ เช่น ไทย ในสถานการณ์ที่แร่ธาตุหายากกลายเป็นสินค้าที่มีการแย่งชิงกันระหว่างมหาอำนาจ

         4.4 เงินทุนสนับสนุน: ในเดือนพฤศจิกายน 2566 สหรัฐฯ ได้ประกาศตั้ง Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGI) IPEF Investment Accelerator เพื่อให้ความสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการลงทุนในสาขาที่ประเทศนั้นต้องการ และออกแบบสำหรับประเทศนั้นโดยเฉพาะ เน้นผลลัพธ์ที่มีมาตรฐานสูง และมีการคุ้มครองสิทธิคนงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง[12] นอกจากนี้ United States Trade and Development Agency (USTDA) ได้ประกาศ IPEF Project Preparation Facility เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนโครงการ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การศึกษาความเป็นไปได้ และความช่วยเหลือทางวิชาการอื่น ๆ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนขั้นต้น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะประสานกับประเทศผู้ให้ นักลงทุน สถาบันการเงิน และหุ้นส่วนอื่นใน IPEF ด้วย[13]

       4.5 หุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชน: ความตกลงเสา 3 ระบุอย่างชัดเจนถึงการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยในเดือนมิถุนายน 2024 สมาชิก IPEF และ Private Infrastructure Development Group (PIDG) ได้ประกาศตั้ง IPEF Catalytic Capital Fund ซึ่งให้เงินทุนเงื่อนไขผ่อนปรน (concessional financing) ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการสนับสนุนในการสร้างความสามารถ เพื่อขยาย pipeline ของโครงการโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสะอาดที่มีคุณภาพ ยืดหยุ่น และครอบคลุม ในภาคีความตกลงเสา 3 ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้ปานกลางระดับสูง  ผู้สนับสนุนก่อตั้งของกองทุนประกอบด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ซึ่งมีแผนให้เงินทุนตั้งต้น 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[14]

          อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนใช้งบประมาณจากภาครัฐจีนเป็นหลัก ผลประโยชน์ที่ให้ในกรอบ IPEF ไม่ได้มาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว แต่ต้องระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ มาจากภาคเอกชน สถาบันการเงิน และประเทศภาคีอื่นใน IPEF ด้วย

 

  1. ไทยจะได้อะไรจาก IPEF

          แม้ IPEF เกิดขึ้นในบริบทของการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ การที่ไทยตัดสินใจเข้าร่วม IPEF มาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับเป็นหลัก ความสำคัญของกรอบ IPEF ต่อไทยมีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไทยมีกับภาคี IPEF ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าภาคี IPEF 13 ประเทศ (ไม่รวมไทย) มี 7 ประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึงร้อยละ 47 ของการค้าทั้งหมดของไทย และมี 5 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนักลงทุน 10 อันดับแรกของไทย มูลค่าการลงทุนรวมกันถึงร้อยละ 36 ของการลงทุนในไทยทั้งหมด ทั้งยังเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน คิดเป็นร้อยละ 39 ของมูลค่าการลงทุนจากไทยทั้งหมด ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า ไม่ว่ากลุ่มประเทศ IPEF จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด จะส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และไทยจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐานทัดเทียม มีห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยง มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสะอาด มีพลังงานสะอาดเพียงพอ มีภาครัฐที่โปร่งใส และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับเดียวกับหรือเหนือกว่าภาคี IPEF อื่น เพื่อรักษาและขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวทาง friendshoring

          การเข้าร่วมอย่างแข็งขันในโครงการต่าง ๆ ที่ภาคีต่าง ๆ ริเริ่มขึ้นในกรอบ IPEF ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การหารือแลกเปลี่ยน การเข้าร่วมโครงการความร่วมมือ (CWP) ในเสา 3 ไปจนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าคู่ลงทุน ขยายโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น บริษัทที่ปรึกษา HolonIQ รวบรวมและจัดอันดับสุดยอด 100 บริษัทด้าน Climate Tech 100 ในภูมิภาคต่าง ๆ ทุกปี โดยในรายงานประจำปี ค.ศ. 2023 สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไม่มีบริษัท Climate Tech จากไทยปรากฏในการจัดอันดับเลย ใน พ.ศ. 2567 บริษัทที่ปรึกษา HolonIQ ได้รับมอบหมายให้คัดเลือกสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพที่สุดในการสร้างนวัตกรรมหรือโซลูชั่นด้าน Climate Tech ไม่เกิน 50 บริษัทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อไปนำเสนอ (pitch) โครงการใน IPEF Clean Economy Investor Forum ครั้งที่ 1 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมกันเฟ้นหาสตาร์ตอัปไทยไปร่วมงานนี้ ผลที่ได้รับคือบริษัท HolonIQ จัดอันดับให้สตาร์ตอัปจากไทย 5 บริษัท อยู่ในรายงาน Indo-Pacific Climate Tech 100 ประจำปี ค.ศ. 2024[15] และ 4 บริษัทในจำนวนนี้ได้ไปนำเสนอโครงการใน IPEF Clean Economy Investor Forum ดังกล่าว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับนักลงทุน  การที่สตาร์ตอัปจากไทยได้รับการยอมรับในระดับนี้เป็นการส่งเสริมสตาร์ตอัปไทยในเวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

          อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการทำงานเชิงรับด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ IPEF แล้ว ไทยจะได้ประโยชน์เต็มที่จาก IPEF ด้วยการทำงานเชิงรุก และเป็นฝ่ายริเริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของความต้องการของประเทศ ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำความตกลงมาตรฐานสูงกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ความตกลง FTA  ไทย-สหภาพยุโรป และการเข้าเป็นสมาชิก OECD  ซึ่งอาจพัฒนาได้จากหลายด้าน เช่น

         5.1 หลายประเด็นใน IPEF เป็นประเด็นใหม่ที่ไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือนโยบายรองรับเลย เช่น การจัดการกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในเวลาวิกฤต การดำเนินการของไทยที่ผ่านมา มีลักษณะเฉพาะกิจโดยไม่มีระบบรองรับที่ชัดเจน เครือข่ายรับมือวิกฤตด้านห่วงโซ่อุปทานที่จัดตั้งขึ้นตามความตกลงเสา 2 จึงจะเป็นจุดกระตุ้นให้ไทยพัฒนาโครงสร้างการรับมือวิกฤต และการฝึกซ้อมกับสถานการณ์จำลองร่วมกับภาคี IPEF อื่นที่มีแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องนี้

        5.2 หลายประเด็นใน IPEF เป็นงานที่หน่วยงานไทยมีนโยบายจะดำเนินงานอยู่แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านหน่วยงานรับผิดชอบที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตัว และมีข้อจำกัดในด้านวิชาการ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกสาขาสินค้า ยังไม่ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และยังมีข้อจำกัดในการตรวจสอบย้อนกลับ ความร่วมมือทางวิชาการในเสา 2 เช่น การจัดทำ supply chain mapping และการเข้าร่วม Action Plan Team ในสาขาหลักและสินค้าสำคัญของ IPEF ขณะนี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ เคมี และแร่ธาตุสำคัญโดยเน้นแบตเตอรี และการดูแลสุขภาพ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ยืดหยุ่น หลากหลาย และสามารถตอบสนองความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ในทำนองเดียวกัน ไทยมีนโยบายที่จะปรับปรุงกฎระเบียบอื่น ๆ และพัฒนามาตรฐานใหม่ ปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น คาร์บอนเครดิต พลังงานสะอาด การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในโลกดิจิทัล  การใช้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และโครงการต่าง ๆ ใน IPEF จะช่วยสนับสนุนไทยในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เร็วขึ้น

          5.3 ในการสมัครเป็นสมาขิก OECD ไทยต้องเป็นภาคีอนุสัญญา OECD ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน และเป็นสมาชิก OECD Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และ OECD/G20 Inclusive Framework on BEPS โครงการความร่วมมือภายใต้ความตกลงเสา 4 จะช่วยเตรียมความพร้อมในการรับพันธกรณีมาตรฐานสูงเหล่านี้ได้  และยังสามารถเกื้อหนุนการดำเนินการตามมาตรฐานอื่น ๆ ของ OECD เช่น ด้านความโปร่งใสทางภาษี ความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนประเด็นอุบัติใหม่ต่าง ๆ อาทิ จริยธรรม AI (AI ethics)

           5.4 หลายประเด็นใน IPEF เป็นงานที่กระจายอยู่หลายหน่วยงาน โดยยังไม่มีการบูรณาการด้านนโยบายหรือการขับเคลื่อน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาด ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยไทยตั้งเป้า carbon neutrality และ net zero ใน พ.ศ. 2593 และ 2608 ตามลำดับ ซึ่งช้ากว่าประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ โดยที่ไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดล่างแล้วด้วยค่าจ้างแรงงานสูง จึงต้องเร่งความสามารถในการแข่งขันในตลาดพรีเมียมของโลก ซึ่งตลาดพรีเมียมดังกล่าวคาดหวังสินค้าที่มี carbon footprint ต่ำหรือเป็นศูนย์โดยเร็ว และภาคเอกชนได้เรียกร้องมาโดยตลอดว่าไม่สามารถรอตามเป้าหมายของไทยข้างต้นได้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงน่าจะพิจารณาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก IPEF เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาด ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดพรีเมียมของโลก และไทยยังคงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ ผ่านการริเริ่มโครงการทวิภาคีกับภาคี IPEF อื่น ดังที่สิงคโปร์และเวียดนามได้ริเริ่มโครงการเส้นทางเดินเรือสีเขียว และพลังงานสะอาดในข้อ 4.2 และผ่านการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือ (CWP) ต่าง ๆ ในเสา 3 ซึ่งขณะนี้ไทยเข้าร่วมเพียง 3 จาก 10 โครงการเท่านั้น

          กล่าวโดยสรุปแล้ว ไทยควรจะต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากกรอบความร่วมมือในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เติบโยอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส อย่างแท้จริง

 

[1] เฉพาะความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2567

[2] ร่างความตกลงเสา 1 ประกอบด้วย 10 บท คือ  Agriculture, Competition Policy, Digital Economy, Environment, Transparency and Good Regulatory Practices, Inclusivity, Labor, Service Domestic Regulations, Technical Assistance and Economic Cooperation, และ Trade Facilitation

[3] U.S. Department of Commerce. (2024, September 14). U.S. and IPEF partners hold first in-person meetings of the IPEF supply chain council and the IPEF crisis response network. https://www.commerce.gov/news/press-releases/2024/09/us-and-ipef-partners-hold-first-person-meetings-ipef-supply-chain.

[4] Ibid.

[5] Organisation for Economic Cooperation and Development. (2023, July 11). OECD/G20 Base Erosion and Profit Shifting Project, outcome statement on the two-pillar solution to address the tax challenges arising from the digitalisation of the economy. https://www.oecd.org/content/dam/oecd/en/topics/policy-issues/beps/outcome-statement-on-the-two-pillar-solution-to-address-the-tax-challenges-arising-from-the-digitalisation-of-the-economy-july-2023.pdf

[6] Layne, N. (2023, November 19). Trump vows to kill Asia trade deal being pursued by Biden if elected. Reuters. https://www.reuters.com/world/us/trump-vows-kill-asia-trade-deal-being-pursued-by-biden-if-elected-2023-11-19/

[7] The American Presidency Project. (2024, July 8). 2024 Republican Party platform, Make America great again.  https://www.presidency.ucsb.edu/documents/2024-republican-party-platform

[8] U.S. Department of State. (2019, 4 November). A Free and Open Indo-Pacific : Advancing a Shared Vision.  https://www.state.gov/wp-content/uploads/2019/11/Free-and-Open-Indo-Pacific-4Nov2019.pdf.

[9] Maritime and Port Authority of Singapore. (2023, 6 December). Maritime and Port Authority of Singapore, Port of Los Angeles and Port of Long Beach unveil Partnership Strategy on green and digital shipping corridor. https://www.mpa.gov.sg/media-centre/details/maritime-and-port-authority-of-singapore-port-of-los-angeles-and-port-of-long-beach-unveil-partnership-strategy-on-green-and-digital-shipping-corridor.

[10] Singapore Ministry of Trade and Industry. (2024, 6 June). Press Release : Over US$23 Billion of Sustainable Infrastructure Projects Identified at Inaugural IPEF Clean Economy Investor Forum in Singapore.   https://www.mti.gov.sg/-/media/MTI/Newsroom/Press-Releases/2024/06/Press-Release-on-the-IPEF-Clean-Economy-Investor-Forum---6-Jun.pdf

[11] Ibid.

[12] The White House. (2023, 16 November). Fact Sheet : Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGI) Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity (IPEF) Investment Forum. https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/11/16/fact-sheet-partnership-for-global-infrastructure-and-investment-pgi-indo-pacific-economic-framework-for-prosperity-ipef-investor-forum/

[13] U.S. Trade and Development Agency. (2023, 16 November). Fact Sheet : Strengthening APEC Infrastructure.  https://www.ustda.gov/fact-sheet-strengthening-apec-infrastructure/

[14] U.S. Department of Commerce. (2024, 6 June). Fact Sheet : IPEF Clean Economy Investor Forum.      https://www.commerce.gov/news/fact-sheets/2024/06/fact-sheet-ipef-clean-economy-investor-forum

[15] Techsauce. (2024, 7 June). 5 Thai Companies Selected as Top Climate Tech Startups 100.  https://techsauce.co/en/pr-news/5-thai-companies-named-in-top-climate-tech-startups-100.

 

[*] จุฬามณี ชาติสุวรรณ เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เคยทำหน้าที่ผู้เจรจาหลัก (Chief Negotiator) / ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของไทยในกรอบ IPEF ระหว่างมิถุนายน 2565-กันยายน 2567 ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

Documents

8-2567_Oct2024_IPEF_จุฬามณี.pdf