คดีปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ. 1962 และ 2013: ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง | เชิดชู รักตะบุตร

คดีปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ. 1962 และ 2013: ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง | เชิดชู รักตะบุตร

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 Jul 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 7,824 view
Cover_คดีปราสาทพระวิหาร

หนังสือ

คดีปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ. 1962 และ 2013: ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

Cases concerning the Temple of Phra Viharn in 1962 and 2013: Matter of Fact and Matter of Law

เชิดชู รักตะบุตร Chirdchu Raktabutr

ISBN 978-616-341-112-9

(Download .pdf below)

บทคัดย่อ

          ประเด็นแห่งคดีของคดีปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ที่อธิปไตยเหนือปราสาท มูลเหตุสำคัญแห่งคดีปราสาทพระวิหารเกิดจากแผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่ปักปันเขตแดนนั้นมีความแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในภูมิประเทศ จึงเป็นสาเหตุของการแสดงเครื่องหมายปราสาทพระวิหารไว้ทางทิศใต้ของเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ซึ่งเป็นฝั่งกัมพูชาของเส้นในแผนที่ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงของภูมิประเทศ กับตามข้อบทของสนธิสัญญาแล้ว ปราสาทตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสันปันนำ้ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย ซึ่งเป็นดังนั้นทั้งตามข้อเท็จจริงในสภาพทางภูมิศาสตร์ของภูมิประเทศและตามข้อบทของสนธิสัญญา แต่จากความเป็นมาในประวัติศาสตร์ การทำงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ผู้ทำหน้าที่ปักปันเขตแดน สิ้นสุดลงก่อนที่จะทำแผนที่สำเร็จ คณะกรรมการผสมฯ ไม่เคยตรวจสอบความถูกต้องและไม่เคยรับรองแผนที่นั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศภาคีสนธิสัญญาได้รับใช้งานและได้รับประโยชน์จากแผนที่ฉบับนี้มาเป็นเวลานานทั้งในแง่ความมีเสถียรภาพและความเป็นที่สุดของเส้นเขตแดน เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการครอบครองพื้นที่เกิดขึ้น และได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลจึงเกิดเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่าความเป็นสามเส้าระหว่างสนธิสัญญา กับแผนที่ และสภาพภูมิประเทศจริง นั้น สิ่งใดเป็นเครื่องชี้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ประเด็นแห่งคดีได้ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อกัมพูชาต้องการขยายข้อพิพาทจากประเด็นอธิปไตยเหนือปราสาทเป็นประเด็นด้านเส้นเขตแดน และขอให้ศาลพิพากษาว่าเส้นในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาไปด้วย ซึ่งการขยายประเด็นแห่งคดีนั้น มีผลให้เกิดการขยายพื้นที่พิพาทจากปราสาทหรือบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเขาพระวิหารและพนมตรับหรือภูมะเขือ ข้อพิพาทที่ซับซ้อนในปี 2505 (ค.ศ. 1962) ได้ถูกหยิบยกขึ้นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความอีกครั้งในปี 2554 (ค.ศ. 2011)

          ในคดีแรกทั้งสองฝ่ายต่อสู้ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและหลักฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติต่อมา (Acquiescense) กับหลักกฎหมายข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงปิดปาก (Estoppel) ไม่ให้ไทยยกขึ้นต่อสู้ว่าไทยไม่รับรองแผนที่ เป็นผลให้ศาลวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชาแต่ในเวลาเดียวกัน ศาลก็วินิจฉัยว่าประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีเรื่องเดียวคือเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดน ดังนั้น แม้ศาลจะพิจารณาเรื่องสถานะของแผนที่และเส้นในแผนที่ซึ่งเป็นคุณแก่กัมพูชาในประเด็นอธิปไตยก็ตาม แต่ศาลก็วินิจฉัยในฐานะที่เป็นเหตุผลในการพิพากษา แต่ไม่พิพากษาให้ในฐานะที่เป็นคำบังคับที่กัมพูชาจะอาศัยมาตีความ เพื่ออ้างสิทธิในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากบริเวณปราสาท ความข้อนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งในคำพิพากษาตีความเมื่อปี 2556 (ค.ศ. 2013) คำพิพากษาตีความได้ให้ความกระจ่างแก่คู่ความมากขึ้นว่า พื้นที่บริเวณปราสาทที่ไทยต้องถอนทหารนั้น คือยอดเขาพระวิหาร ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเด่นชัดทุกด้าน ส่วนทางทิศเหนือ ศาลตีความว่าคือเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ดังนั้น ในเมื่อแผนที่ภาคผนวก 1 ถูกสร้างขึ้นโดยผิดจากความเป็นจริง คำพิพากษาทั้งสองครั้งจึงยังไม่สามารถเฉลยข้อพิพาทระหว่างสองประเทศได้ทั้งหมด ซึ่งจะยังเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองที่จะต้องใช้วิธีเจรจากันต่อไป

Documents

คดีปราสาทพระวิหาร_เชิดชู_รักตะบุตร.pdf