ญี่ปุ่นกับระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก | เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

ญี่ปุ่นกับระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก | เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 Jan 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 Sep 2024

| 4,353 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 2/2567 | มกราคม 2567

ญี่ปุ่นกับระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก*
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ**

(Download .pdf below)

 

          ญี่ปุ่นในยุคนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ (Abe Shinzo) มีความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างความร่วมมือระหว่าง 3 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแอฟริกา ในการเยือนอินเดียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 นายกรัฐมนตรีอาเบะได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การบรรจบกันของสองมหาสมุทร (The Confluence of the Two Seas)” มีสาระสำคัญคือ ญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของอินเดียในฐานะประเทศเอเชียที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในด้านนโยบายความมั่นคงทางทะเล การนำคำว่าอินโดไว้ก่อนคำว่าแปซิฟิกสะท้อนมโนทัศน์เรื่องอินโด-แปซิฟิกคือเอเชียที่กว้างออกไป (broader Asia) และแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นเห็นความจำเป็นของการสร้างพื้นที่ใหม่ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์[1]

           นายกรัฐมนตรีอาเบะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งใน ค.ศ. 2012 หนึ่งวันหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เผยแพร่บทความเป็นภาษาอังกฤษชื่อ “Asia’s Democratic Security Diamond” กล่าวถึงบทบาทของประเทศประชาธิปไตยทั้งสี่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยยาวนานที่สุดในภูมิภาคของตนที่ร่วมกันปกป้องมหาสมุทรแปซิฟิกไปตลอดแนวจนมหาสมุทรอินเดีย และได้นำเสนอแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) อย่างเป็นทางการในการประชุมระหว่างประเทศโตเกียวว่าด้วยการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา (Tokyo International Conference on African Development: TICAD) ครั้งที่ 6 ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอาเบะและนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ของอินเดียออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) เกี่ยวกับการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับแอฟริกาผ่านความตระหนักถึงอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างว่าเป็นสิ่งสำคัญของภูมิภาคทั้งหมดในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีโมดีเดินทางเยือนญี่ปุ่น[2]

 

          1) ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย/แนวคิด FOIP ของญี่ปุ่น

          สงครามอ่าวเปอร์เซียใน ค.ศ. 1990-1991 เป็นหมุดหมายสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ญี่ปุ่นพยายามมีบทบาทในด้านการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากประชาคมระหว่างประเทศตำหนิญี่ปุ่นว่าไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้าได้ให้ไว้เกี่ยวกับการมีบทบาทเพื่อรักษาสันติภาพระหว่างประเทศจนเป็น “บาดแผลฝังใจ (trauma)” ในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย[3] การออกกฎหมายปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Operations (PKO) Law) แสดงพัฒนาการสำคัญของการขยายบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเอง (Self- Defense Forces: SDFs) จากการป้องกันประเทศใน “ขอบเขตต่ำสุดเท่าที่จำเป็น” ไปสู่ปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อการรักษาสันติภาพตาม “หลักความมั่นคงร่วม” ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทั้งในแง่ “รูปแบบ” และ “วิธีการ” ที่มากกว่าแค่การช่วยเหลือทางการเงินที่ทำให้ญี่ปุ่นเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ “การทูตแบบสั่งจ่าย (checkbook diplomacy)” ไปสู่การส่งบุคลากรในปฏิบัติการรักษาสันติภาพโดยตรง[4]

          ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย/แนวคิด FOIP มีปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ (1) หลักนิยมหรือแนวนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอาเบะ (Abe Doctrine) ในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่กล่าวถึง 1. การใช้การทูตแบบเน้นค่านิยม (value-oriented diplomacy) ซึ่งสะท้อนตัวตนของญี่ปุ่นที่เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย 2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหาร (re-militarization) เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถเป็น “รัฐปกติ” ซึ่งในช่วงที่นายกรัฐมนตรีอาเบะดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองได้ริเริ่มการจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy: NSS) ใน ค.ศ. 2013 3. การขยายบทบาทของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจการเมืองโลก และ 4. การตีความประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมที่เน้นความรุ่งเรืองและความสำเร็จของญี่ปุ่นในอดีตเป็นแกนกลางของเรื่อง (2) ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ญี่ปุ่นไม่สามารถมีความเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบก้าวกระโดดดังที่เคยเป็นมา ขณะเดียวกัน จำนวนประชากรและผลิตภาพยังลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องแสวงหานโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างความเจริญเติบโตได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขยายตลาดเดิมและเข้าถึงตลาดใหม่ในต่างประเทศ

          (3) การแสวงหาความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากญี่ปุ่นมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมและการบริโภคในครัวเรือนส่งผลต่อความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตพลังงานจำนวนมาก บริเวณช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ถือเป็นเส้นทางผ่านของกว่าร้อยละ 80 ของน้ำมันที่ญี่ปุ่นนำเข้าเพื่อการผลิตไฟฟ้า การรักษาความมั่นคงและขยายบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคจึงเป็นการรักษาความมั่นคงทางพลังงานของญี่ปุ่นไปด้วย[5] และ (4) มุมมองที่สาธารณชนญี่ปุ่นมีต่อจีนซึ่งเป็นผู้เล่นที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับโลกและภูมิภาคมีแนวโน้มเป็นลบมากขึ้น จากการสำรวจความเห็นชาวญี่ปุ่นที่เป็นกลุ่มตัวอย่างของ Pew Research ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2016 ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างมองจีนในเชิงลบถึงร้อยละ 86 มากขึ้นกว่าใน ค.ศ. 2006 ที่ร้อยละ 15 ชาวญี่ปุ่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนมีภาพจำของชาวจีนว่า “หยิ่งยะโส (arrogant) มีความชาตินิยม (nationalistic) และรุนแรง (violent)” โดยภาพจำเหล่านี้มักปรากฏในกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในอนาคต 8 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นเห็นว่า กรณีพิพาททางดินแดนระหว่างกับจีนกับเพื่อนบ้าน (รวมทั้งญี่ปุ่น) จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารในที่สุด[6] สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อจีนในสมุดปกน้ำเงินด้านการทูต (Diplomatic Bluebook) ของญี่ปุ่นหลายฉบับ แสดงให้เห็นว่า การเมืองภายในประเทศมีผลต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

          ปัจจัยระหว่างประเทศ ได้แก่ (1) ศักยภาพในทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นโอกาสให้จีนสามารถขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการขยายห่วงโซ่อุปทานของจีนเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของประเทศอื่น ๆ ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเช่นนี้ส่งผลให้จีนสามารถ “แข่งขัน” กับญี่ปุ่น ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การ “แทนที่” สถานะและบทบาทที่ญี่ปุ่นเคยมีในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ใน ค.ศ. 2004-2020 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปค่อย ๆ ลดลง

 

ภาพที่ 1   มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ค.ศ. 2004-2020)

Trade_Volume

ที่มา: Fung[7]

 

ในด้านการลงทุน จีนเริ่มหันมาขยายการลงทุนในภูมิภาคใกล้เคียงอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น จากสถิติใน ค.ศ. 2004-2012 การลงทุนของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 56 ต่อปี สูงกว่าญี่ปุ่นที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 16 ต่อปี หลังประกาศความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ใน ค.ศ. 2013 จีนเริ่มสนใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมหนักในภาคพลังงานและการขนส่งมากขึ้น ขณะที่การลงทุนจำนวนมากของญี่ปุ่นที่เคยอยู่ในภาคการผลิตนั้นเริ่มปรับทิศทางการลงทุนไปสู่ด้านการเงิน การประกันภัย การค้าปลีกและค้าส่งมากขึ้น[8] อีกด้านหนึ่งที่ญี่ปุ่นกำลังแข่งขันกับจีนคือ การลงทุนและให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า จีนจะเน้นด้านกายภาพของโครงสร้างพื้นฐาน (hard infrastructure) ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถไฟหรือการขนส่งทางราง ส่วนญี่ปุ่นโดย Japan International Cooperation Agency (JICA) จะเน้นความช่วยเหลือในการพัฒนาเชิงระบบหรือกลไกการทำงาน (soft infrastructure)[9] ข้อมูลจาก Fitch Solutions ใน ค.ศ. 2019 ระบุว่า มูลค่าโครงการของญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติและกำลังดำเนินอยู่อยู่ที่ประมาณ 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเวียดนามได้รับในจำนวนมากที่สุด (ประมาณ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ขณะที่จีนมีการกระจายเม็ดเงินมากกว่าญี่ปุ่น โดยไปลงที่อินโดนีเซีย (9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์[10] (2) การรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางทะเลและการเดินเรือในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแอฟริกา ที่จีนเริ่มเข้าไปขยายบทบาท ศักยภาพทางทหารของจีนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์หลัก (core interests) ในด้านความมั่นคงของจีน โดยเฉพาะทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน รวมถึงบริเวณอื่น ๆ อาทิ ทะเลจีนตะวันออกที่มีกรณีพิพาททางดินแดนกับญี่ปุ่นอยู่ด้วย อำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความท้าทายต่อบทบาทนำของญี่ปุ่นโดยตรง

          จะเห็นได้ว่า การกำหนดแนวคิด FOIP ของญี่ปุ่นมิได้เกิดจากสุญญากาศ แต่มีปัจจัยทั้งภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นมองเป็น “ผลประโยชน์” ที่ต้องธำรงรักษาและ “ภัยคุกคาม” ที่ต้องป้องปราม ผลักดันความพยายามของญี่ปุ่นในการมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

 

          2) การนำแนวคิด FOIP สู่การปฏิบัติในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

          แม้นายกรัฐมนตรีอาเบะจะลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลทางสุขภาพในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 แต่รัฐบาลต่อมาของนายกรัฐมนตรีสุงะ โยชิฮิเดะ (Suga Yoshihide) และนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟุมิโอะ (Kishida Fumio) ยังคงสานต่อแนวนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงจากรัฐบาลอาเบะ โดยประกาศแนวทางการทูตแบบ “สภาพจริงนิยมสำหรับยุคสมัยใหม่ (Realism Diplomacy for a New Era)” โดยให้คำมั่น 3 ประการว่า (1) จะส่งเสริมคุณค่าเสรีนิยมและและระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน (international rules-based order) (2) จะร่วมมือกับนานาชาติจัดการปัญหาในระดับโลก และ (3) จะปกป้องสวัสดิภาพของชาวญี่ปุ่นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่[11] หลักการเหล่านี้สะท้อนออกมาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นและการนำ FOIP ไปปฏิบัติด้วยเช่นกัน

          หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ NSS ฉบับใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 นายกรัฐมนตรีคิชิดะได้เดินทางเยือน “ประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน (like-minded countries)” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 ด้วย ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกาในระหว่างวันที่ 9-15 มกราคม ค.ศ. 2023 เพื่อหารือในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีกับญี่ปุ่นและแนวทางพหุภาคีที่ญี่ปุ่นมีบทบาทใน ค.ศ. 2023 โดยเฉพาะการเป็นประธานการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในเดือนพฤษภาคม ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ของแคนาดา นายกรัฐมนตรีคิชิดะอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องมี NSS ฉบับใหม่เพื่อการเสริมสร้างสมรรถนะในการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นโดยเฉพาะการครอบครองขีดความสามารถในการโจมตีกลับและการเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีทรูโดกล่าวสนับสนุนอย่างเต็มที่[12] นายกรัฐมนตรีคิชิดะย้ำประเด็น NSS นี้อีกครั้งในการหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า NSS ของทั้งสองประเทศมีความสอดคล้องกันตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การป้องปราม (deterrence) ซึ่งมีระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาเป็นแกนสำคัญ[13] ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม นายกรัฐมนตรีคิชิดะมีโอกาสต้อนรับผู้นำและผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ ได้แก่ ไมโครนีเซีย หมู่เกาะคุก ฟิลิปปินส์ แอลเบเนีย โรมาเนีย แองโกลา จอร์แดน เกาหลีใต้ เยอรมนี ก่อนจะออกเดินทางไปยังอินเดียในวันที่ 20 มีนาคม เพื่อพบนายกรัฐมนตรีโมดีและประกาศแนวคิด FOIP ฉบับใหม่ และออกเดินทางต่อไปยังยูเครนและโปแลนด์

          คำอธิบายแนวคิด FOIP เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 ระบุว่า FOIP คือ “กุญแจสู่เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนระหว่างประเทศที่มีพลวัต” สร้างขึ้นจากการรวม “สองทวีป” คือเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและแอฟริกาที่มีศักยภาพจะเติบโตในอนาคต และ “สองมหาสมุทร” คือมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย[14] หลักการสำคัญของ FOIP ประกอบด้วย (1) การส่งเสริมและการสถาปนาหลักนิติธรรม เสรีภาพในการเดินเรือ การค้าเสรี และคุณค่าสากลอื่น ๆ โดยสร้างความร่วมมือกับผู้เล่นอื่น ๆ ที่มีแนวคิดในลักษณะเดียวกันและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ (2) การเข้าถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยยกระดับความเชื่อมโยง 1. ด้านกายภาพทั้งท่าเรือ ทางรถไฟ ถนน พลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่าง ๆ 2. ด้านประชาชน ผ่านโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่าง ๆ และ 3. ด้านกฎระเบียบเชิงสถาบัน ผ่านการอำนวยความสะดวกทางพิธีศุลกากร ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และ (3) การยึดมั่นในสันติภาพและเสถียรภาพ ผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การป้องกันและฟื้นฟูจากภัยพิบัติ การต่อต้านโจรสลัด การต่อต้านการก่อการร้าย และการไม่แพร่ขยายอาวุธปรมาณู เป็นต้น โดยมีเสาหลัก (pillars) ของความร่วมมือทั้งสิ้น 4 เสา ได้แก่ (1) หลักการเพื่อสันติภาพและกฎเกณฑ์สำหรับความมั่งคั่ง เน้นการปกป้องประเทศที่อ่อนแอจากการใช้กำลัง (2) จัดการความท้าทายตาม “วิถีอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Way)” โดยเน้นประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ (3) สร้างความเชื่อมโยงหลายระดับทั้งทางกายภาพและความเชื่อมโยงด้านความรู้ระหว่างคนกับคน และ (4) ขยายความพยายามในการสร้างความมั่นคงจากท้องทะเลถึงชั้นบรรยากาศ[15] ภาพที่ 1 และ 2 แสดงกิจกรรมและสถานะของโครงการต่าง ๆ ภายใต้ FOIP

 

ภาพที่ 2   ความริเริ่มของญี่ปุ่นในการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวคิด FOIP

Japan_s_Connectivity_Initiative

ที่มา: Free and Open Indo-Pacific[16]

 

ภาพที่ 3   โครงการ FOIP ที่ดำเนินการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

FOIP_Indo-Pacific

ที่มา: Free and Open Indo-Pacific[17]

 

          ในระดับทวิภาคี ญี่ปุ่นพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์กับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน อิสราเอล ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งการแสวงหาโอกาสในการจัดซื้อ/จัดส่งอาวุธ การจัดหาและพัฒนาระบบปฏิบัติการ (software) การสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองประเทศ การวิจัยร่วมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในปฏิบัติการร่วมทางทหาร การจัดสัมมนา/ประชุมวิชาการด้านความมั่นคง ฯลฯ ในกรณีของประเทศอาเซียน เอกสารวิสัยทัศน์เวียงจันทน์ (Vientiane Vision) ที่ประกาศในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-ญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 กล่าวถึงกิจกรรมตามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Agreement concerning Defense Equipment and Technology Transfer) ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การส่งมอบเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (3) การจัดสัมมนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตารางที่ 1 แสดงรายการความตกลงและความร่วมมือที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิสัยทัศน์เวียงจันทน์

 

ตารางที่ 1   ความตกลงและความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศในอาเซียนที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิสัยทัศน์เวียงจันทน์

ประเทศ

รายการ

ฟิลิปปินส์

·       ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (มีผลบังคับใช้ เมษายน ค.ศ. 2016)

·       การส่งมอบอากาศยานฝึกหัดของกองกำลังป้องกันตนเองทางเรือ TC-90 จำนวน 5 ลำ (โดยสนับสนุนการฝึกอบรมนักบินจำนวน 6 คน และการบำรุงรักษา)

·       การส่งมอบชิ้นส่วนและอุปกรณ์บำรุงรักษาสำหรับเฮลิคอปเตอร์ UH-1 ที่ปลดประจำการจากกองกำลังป้องกันตนเองทางบก (กันยายน ค.ศ. 2019)

·       การหาข้อสรุปของสัญญาจัดหาระบบตรวจจับทางอากาศ (สิงหาคม ค.ศ. 2020)

เวียดนาม

·       ร่างเอกสารขอบเขตการหารือแบบปกติในประเด็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ (ลงนาม พฤศจิกายน ค.ศ. 2016)

·       บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

·       ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (เห็นพ้องในหลักการ ตุลาคม ค.ศ. 2020)

อินโดนีเซีย

·       การสัมมนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศญี่ปุ่น-อินโดนีเซีย (ที่อินโดนีเซีย สิงหาคม ค.ศ. 2017)

·       ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (มีผลบังคับใช้ มีนาคม ค.ศ. 2021)

มาเลเซีย

·       ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (ลงนามและเห็นชอบ เมษายน ค.ศ. 2018)

·       การมีส่วนร่วมขององค์กรด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และการจัดหาอาวุธของญี่ปุ่น (Acquisition, Technology & Logistics Agency: ATLA) ในงานจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางน้ำและอากาศนานาชาติแห่งลังกาวี (มีนาคม ค.ศ. 2019)

ไทย

·       ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (มีผลบังคับใช้ พฤษภาคม ค.ศ. 2022)

ที่มา: Acquisition, Technology & Logistics Agency[18]

 

          เอกสารความตกลงระบุหลักการสำคัญในการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศว่า เป็นไปเพื่อเป้าหมายการรักษาความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ การวิจัยร่วม โครงการพัฒนาและผลิตอาวุธ หรือเพื่อการขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติตามกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องและพันธกรณีระหว่างประเทศ และจะไม่ส่งมอบให้บุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องตามความตกลงนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายที่ส่งมอบเสียก่อน ความตกลงฉบับดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปีและจะต่ออายุโดยอัตโนมัติแบบปีต่อปีจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโดยต้องกระทำผ่านช่องทางการทูตก่อนดำเนินการเป็นเวลา 90 วัน ฝ่ายญี่ปุ่นมีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แทน[19]

          ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ญี่ปุ่นประกาศ “วิสัยทัศน์เวียงจันทน์ 2.0 (Vientiane Vision 2.0)” เป็นแนวทางสำหรับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกับประเทศในอาเซียนที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบ “ใจต่อใจ (heart-to-heart)” ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏในถ้อยแถลงของอดีตนายกรัฐมนตรีฟุกุดะ ทะเกะโอะ (Fukuda Takeo) ที่ญี่ปุ่นยึดเป็นแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนตลอดมา และเน้นการสร้างความร่วมมือแบบ “สอดคล้องกับความต้องการรายประเทศและยั่งยืน (tailored and lasting)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันและเสริมสร้าง “ความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)” โดยการสร้างความ “ยืดหยุ่น (resilience)” ในด้านวิธีการ ญี่ปุ่นต่อยอดการปฏิบัติจากวิสัยทัศน์เวียงจันทน์ใน ค.ศ. 2016 โดยเพิ่ม (1) การเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (2) โครงการความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะร่วม (3) ความร่วมมือด้านการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศและการสัมมนาทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (4) การฝึกอบรมและปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี และการเชิญผู้ปฏิบัติงานจากอาเซียนเข้าร่วมสังเกตการณ์ปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองแห่งญี่ปุ่น และ (5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ[20]

          ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเผยแพร่เอกสารแนวคิด (Concept Paper) ว่าด้วยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแบบให้เปล่า (Official Security Assistance: OSA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มใหม่ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีคิชิดะสำหรับกองทัพและองค์กรทางทหารของ “ประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน” ควบคู่กับความช่วยเหลือทางการเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) ซึ่งสะท้อนว่าญี่ปุ่นต้องการมีบทบาทด้านความมั่นคงของภูมิภาคเพิ่มขึ้นตามแนวคิด “แปซิฟิกนิยมเชิงรุก (Proactive Pacifism)” แตกต่างอย่างชัดเจนจากแนวปฏิบัติและนโยบายด้านการต่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงยุคก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซีย โดยญี่ปุ่นจะสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในด้านความมั่นคงและการป้องปรามใน 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ (1) กิจกรรมเพื่อธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม (2) กิจกรรมด้านมนุษยธรรม และ (3) ปฏิบัติการตามความร่วมมือเพื่อการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในรูปแบบความตกลงในระดับทวิภาคีกับประเทศผู้รับ กิจกรรมที่เป็นแนวทางสำหรับการสร้างความร่วมมือ อาทิ การเปิดเผยข้อมูลอย่างเหมาะสม โครงการติดตามและประเมินผล การกำหนดแนวทางการควบคุม เช่น การจำกัดการใช้ที่เกินขอบเขตวัตถุประสงค์ และการปฏิบัติตามความมุ่งหมายและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ[21]

          ประเทศอาเซียนที่ญี่ปุ่นลงนามความตกลงดังกล่าวแล้วคือฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวโดยญี่ปุ่นจะมอบเรดาร์ตรวจการณ์ชายฝั่งที่มีมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กองทัพเรือฟิลิปปินส์[22] สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นรายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการจัดส่งเรือตรวจการณ์ (patrol boat) ให้บังกลาเทศ มาเลเซีย และฟิจิ และญี่ปุ่นกำลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าวแก่เวียดนามและจีบูตีในปีงบประมาณ ค.ศ. 2024 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเมษายน[23] ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ที่กรุงโตเกียว นายกรัฐมนตรีคิชิดะมีโอกาสพบหารือกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และเห็นพ้องกันในหลักการของความตกลงการเข้าถึงข้อมูลร่วม (Reciprocal Access Agreement: RAA) พบหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประกาศการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านพร้อมกับให้คำมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงทางทะเลโดยการสนับสนุนเรือและโดรนตรวจการณ์ และการจัดการหารือทางยุทธศาสตร์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามโดยประกาศยกระดับความสัมพันธ์เช่นเดียวกับมาเลเซียและเห็นพ้องในการเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยยามฝั่ง (Coast Guard) ของทั้งสองประเทศ[24]

          นัยทางยุทธศาสตร์ของ OSA นอกจากเป็นการแสดงให้ “ประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน” เห็นการลงมือทำจริงของญี่ปุ่นแล้ว ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่ได้รับ OSA เป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซียเป็นประเทศที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ บังกลาเทศเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกมาตาร์บารี (Matarbari Deep Seaport) ที่สร้างจากความช่วยเหลือของญี่ปุ่นซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศวางแผนเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เช่นเดียวกับจีบูตีที่เป็นที่ตั้งของท่าเรืออเนกประสงค์โดราเลห์ (Doraleh Multipurpose Port) ที่จีนมีปฏิบัติการทางเรืออยู่และเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นกำลังดำเนินโครงการต่อต้านโจรสลัด ความพยายามเหล่านี้ของญี่ปุ่นเป็นการเสนอทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับประเทศในอาเซียนซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในห้วงเวลาที่มหาอำนาจแข่งขันกัน และเป็นการขยายความร่วมมือในด้านการทหารในรูปแบบแบบทวิภาคีอีกทางหนึ่งด้วย

          ในระดับอนุภูมิภาค นอกจากบทบาทด้านความมั่นคงและการทหาร ญี่ปุ่นยังแสดงความปรารถนาที่จะรักษาความเป็นผู้นำในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ญี่ปุ่นประกาศแผนยุทธศาสตร์โตเกียวฉบับใหม่สำหรับกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น (New Tokyo Strategy 2015 for Mekong-Japan Cooperation) ในการประชุมสุดยอดของกรอบความร่วมมือดังกล่าวใน ค.ศ. 2015 โดยให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจำนวน 7.5 แสนล้านเยน เน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม (3) การพัฒนา “แม่โขงสีเขียว (Green Mekong Development)” และ (4) การประสานงานการให้ความช่วยเหลือและติดตามประสิทธิผลของความช่วยเหลือ นักวิชาการด้านญี่ปุ่นศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่นมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) มุ่งสร้างความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศผู้รับโดยประเทศผู้รับเอง (2) มีแนวทางดำเนินโครงการแบบรายแผนงาน (program-based approach) ที่รูปแบบและลักษณะของการให้ความช่วยเหลือจะต่อยอดหรือเชื่อมโยงกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในภาพรวมมากกว่ารายโครงการ และ (3) เน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม มีพื้นที่ให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมแสดงบทบาทร่วมอยู่ด้วยเสมอ[25]

          ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับแนวทางของญี่ปุ่นข้างต้น อาทิ การประชุม Mekong-Japan SDGs Forum ครั้งที่ 1 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Towards Partnership for Health) (2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Towards Sustainable Economic Recovery) และ (3) สังคมที่มีการมีส่วนร่วมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Towards Green and Inclusive Society) โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโส และผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนของญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกลจำนวนมากกว่า 150-170 คน การประชุมดังกล่าวเป็นการยกระดับจากการประชุมแม่โขงสีเขียว (Green Mekong Forum) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับญี่ปุ่นมาแล้ว 6 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของ SDGs และให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อการบรรลุ SDGs ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นยังคงเห็นความสำคัญของอนุภูมิภาคนี้ แต่ปรับบทบาทจากการให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคและเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาสู่การขับเคลื่อนเชิงประเด็นหรือวาระใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มหลักของโลกโดยเฉพาะความมั่นคงของมนุษย์

          ในระดับระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกแบบไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ใน ค.ศ. 2023-2024 วาระที่ญี่ปุ่นต้องการขับเคลื่อนประกอบด้วย (1) การมีบทบาทอย่างแข็งขันต่อการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของโลก โดยกล่าวถึง “แนวทางใหม่สำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในแอฟริกา (New Approach for Peace and Stability in Africa (NAPSA))” ที่ญี่ปุ่นประกาศใน TICAD ค.ศ. 2019 ที่เน้นการลดความขัดแย้งและการพัฒนาเชิงสถาบันทางสังคมและการเมือง และ “ความริเริ่มระเบียงสันติภาพและความมั่งคั่ง (Corridor for Peace and Prosperity Initiative)” สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางที่เน้นการพัฒนาในปาเลสไตน์และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง “โครงการหุ้นส่วนไตรภาคี (Triangular Partnership Project)” ที่สนับสนุนการพัฒนาและรักษาสันติภาพในภูมิภาคแอฟริกาในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับสหประชาชาติ รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ การจำกัดและลดอาวุธปรมาณู การต่อต้านการก่อการร้าย และการพัฒนาแนวทางการทำงานของ UNSC ตามสมุดปกเขียว (Green Book) ที่ญี่ปุ่นริเริ่มไว้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมาชิกครั้งก่อนใน ค.ศ. 2016-2017

          (2) การจัดการปัญหาความท้าทายระดับโลกโดยยึดหลักความมั่นคงของมนุษย์ โดยกล่าวถึงความริเริ่มและโครงการต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นสนับสนุน อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสนับสนุนศูนย์อาเซียนว่าด้วยภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ศูนย์แอฟริกาเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ (African Centres for Disease Control and Prevention: Africa CDC) ซึ่งญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณตั้งต้นในการดำเนินงานจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การสนับสนุนบทบาทภาคประชาสังคมในการพัฒนาภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงความริเริ่มต่าง ๆ ของญี่ปุ่นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ วิสัยทัศน์น่านน้ำสีฟ้าแห่งโอซากา (Osaka Blue Ocean Vision) เพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2050 กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction) ค.ศ. 2015-2030 และ (3) การเน้นย้ำระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานเพื่อโลกที่มั่งคั่งและเป็นธรรม โดยเน้นการส่งเสริมคุณค่าแบบเสรีนิยมในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือ การค้าเสรี ประเด็นความทางไซเบอร์และอวกาศ สิทธิมนุษยชน เป็นต้น รวมถึงหลักการ G20 ว่าด้วยการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีคุณภาพ (G20 Principles for Quality Infrastructure Investment)[26]

          วาระดังกล่าวของญี่ปุ่นในฐานะสมาชิกแบบไม่ถาวรใน UNSC ได้รับการสานต่อในการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 ประเทศอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นเชิญเข้าร่วมส่วนมากมีสถานะเป็นประธานกลุ่มการประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล เกาหลีใต้ เวียดนาม คอโมโรส (ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา) หมู่เกาะคุก (ในฐานะประธานการประชุมประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก) อินเดีย (ในฐานะประธานกลุ่มประเทศ G20) และอินโดนีเซีย (ในฐานะประธานอาเซียน) วาระหลัก ๆ ที่ญี่ปุ่นต้องการผลักดัน ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย การช่วยเหลือยูเครน การขับเคลื่อน FOIP การจำกัดและลดอาวุธปรมาณู การเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงให้แก่ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและระดับภูมิภาค ความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน อาหาร และสุขภาพ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในประเด็นเพศภาวะ สิทธิมนุษยชน การปรับตัวสู่ดิจิทัล และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี[27] การจัดประชุมที่ฮิโรชิมะนี้ด้านหนึ่งเป็นการรักษาฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีคิชิดะ อีกด้านเป็นการส่งสารในเชิงยุทธศาสตร์ให้ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเห็นความสำคัญของสันติภาพและแสดงผลลัพธ์ที่ญี่ปุ่นได้เคยเผชิญความเจ็บปวดจากการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา และส่งสัญญาณถึงประเทศยุโรปว่า “ความมั่นคงของยุโรปกับเอเชียไม่อาจแยกจากกันได้”[28] ระบบพันธมิตรระหว่างสองภูมิภาคที่แนบแน่นจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วยในอีกทางหนึ่ง

          ในการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่ฮิโรชิมะ นายกรัฐมนตรีคิชิดะได้เชิญประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ (Volodymyr Zelenskyy) ของยูเครนเข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นการแสดงพันธกิจที่ญี่ปุ่นมีต่อการรักษาสันติภาพและคัดค้านการกระทำของประเทศหนึ่งประเทศใดที่ใช้กำลังทางทหารรุกล้ำอธิปไตยของประเทศอื่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาเบะกล่าวในบริบทสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในช่องแคบไต้หวันที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น ๆ อาทิ โอกินาวา และกรณีพิพาททางดินแดนระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ก่อนความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะเกิดขึ้นเสียอีก การเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟของนายกรัฐมนตรีคิชิดะในเดือนมีนาคมและการเชิญประธานาธิบดีเซเลนสกี้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ในเดือนพฤษภาคมนั้นเป็นความพยายามแสดงบทบาทนำของญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ถูกตำหนิดังที่เคยประสบมา[29]

          ในระดับภูมิภาค ญี่ปุ่นมีบทบาทในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของกรอบความร่วมมือพหุภาคี อาทิ กลุ่มพันธมิตรจตุภาคี (Quadrilateral Security Dialogue หรือ Quad) ที่ชะงักงันไปใน ค.ศ. 2008 และรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 2017 มีการจัดประชุมระดับผู้นำ 4 ครั้ง การประชุมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 ณ กรุงโตเกียว ผู้นำทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ได้หารือกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความท้าทายต่อระเบียบระหว่างประเทศทางทะเลโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก สงครามในยูเครน และวิกฤตในเอเชียซึ่งหมายถึงเกาหลีเหนือ ในอนาคต อาจมีแนวโน้มจัดการประชุมระดับผู้นำและการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องทุกปี และอาจมีกิจกรรมการฝึกร่วมและข้อริเริ่มใหม่ ๆ จากการประชุม

          ในภูมิภาคแอฟริกา ญี่ปุ่นมีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการสร้างรัฐชาติในด้านการพัฒนาและการเมืองการปกครองด้วยความเคารพความเป็นเจ้าของของคนท้องถิ่น ไม่บีบบังคับหรือแทรกแซง เพื่อช่วยให้ภูมิภาคที่กำลังพัฒนานี้สามารถเอาชนะความท้าทายด้านความยากจนและการก่อการร้าย ส่วนในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นจะสนับสนุนการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “ที่มีคุณภาพ”[30] เพื่อสร้างความเชื่อมโยงภายในอาเซียน และจะเผยแพร่ความสำเร็จของอาเซียนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่น แอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นต้น โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-5 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 นายกรัฐมนตรีคิชิดะเดินทางเยือนประเทศในแอฟริกา ได้แก่ อียิปต์ กานา เคนยา และโมซัมบิก ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์จากทำเลที่ตั้งและบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองในระดับภูมิภาค

          การเดินทางเยือนภูมิภาคแอฟริกาในครั้งนี้ มีผู้วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นต้องการแสดงบทบาทในพื้นที่ที่จีนและรัสเซียมีอิทธิพล และแสดงความสำคัญที่แอฟริกามีต่อญี่ปุ่นโดยการเชิญประธานสหภาพแอฟริกาเป็นผู้แทนจากภูมิภาคเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่ฮิโรชิมะซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นในขณะนั้นจัดการหารือระดับรัฐมนตรีและผู้แทนจาก 50 ประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ในยูเครน และการพึ่งพาจีนของแอฟริกาที่เพิ่มมากขึ้น นักวิเคราะห์บางท่านเสนอว่า เป้าหมายแท้จริงของญี่ปุ่นคือการกระจายความเสี่ยงโดยการแสวงหาแหล่งที่มาใหม่ ๆ ของพลังงานและทรัพยากรแร่ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกับอินเดียยังมีความริเริ่มร่วมกันในชื่อ “ระเบียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเอเชีย-แอฟริกา (Asia-Africa Growth Corridor)”[31] ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank: AfDB) ครั้งที่ 52 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ซึ่งการประชุมนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุม Belt and Road Forum ที่จัดโดยจีนในเดือนเดียวกัน

          ในกรอบความร่วมมืออาเซียน ญี่ปุ่นมีโครงการความร่วมมือกับอาเซียนจำนวน 73 โครงการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 และมีโครงการที่สนับสนุนการดำเนินงานตามเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) อีกจำนวน 16 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนเชิงเทคนิคจากหน่วยงานของญี่ปุ่น เช่น กองทุนเพื่อการบูรณาการญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Integration Fund: JAIF) ซึ่งญี่ปุ่นประกาศให้เงินสนับสนุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology: MEXT) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) มูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation: JF) ตัวอย่างโครงการปรากฏดังตารางที่ 2

 

ตารางที่ 2   ตัวอย่างโครงการที่ญี่ปุ่นสนับสนุนการดำเนินงานตาม AOIP

ประเด็นความร่วมมือ

โครงการ

ความร่วมมือทางทะเล

- การอบรมเชิงปฏิบัติการระบบควบคุมจราจรทางน้ำ (Vessel Traffic Services: VTS)

- การอบรมกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองโดยเน้นกฎหมายทะเลและกลไกการระงับข้อพิพาท

- การลดขยะทะเล

การสร้างความเชื่อมโยง

- ความริเริ่มว่าด้วยความเชื่อมโยงอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Connectivity Initiative)

·       โครงการก่อสร้างทางด่วนในเวียดนาม

·       โครงการพัฒนาอาคารควบคุมตู้บรรจุสินค้าท่าเรือเมืองพระสีหนุ (Sihanoukville Port)

·       โครงการพัฒนาท่าเรือปาติมบัน (Patimban Port)

·       ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN)

·       โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในเครือข่ายญี่ปุ่น-เอเชียตะวันออก (Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths: JENESYS)

·       โครงการอาสาสมัครภาษาญี่ปุ่น WA

SDGs

- การก่อตั้ง ACPHEED

- โครงการระบบอาหารยั่งยืน

- แผนงานการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น

- กิจกรรมของศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพทางไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC)

ฯลฯ

ที่มา: Ministry of Foreign Affairs[32]

 

          กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นพยายามมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนแนวคิด FOIP สู่การปฏิบัติทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้) ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งการดำเนินการในแต่ละระดับมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ มีผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประเทศและประเด็นที่ญี่ปุ่นจะสร้างความร่วมมือ ในบริบทการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ แนวคิด FOIP จะไม่ได้เป็นเพียง “ทิศทาง” แต่จะเป็น “เครื่องมือ” ของญี่ปุ่นในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ “มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน” ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่เพียงแนวความคิดเท่านั้น แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจด้วย

 

          3) นัยของ FOIP ต่อระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเสริมสร้างบทบาทของญี่ปุ่นในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ

          การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการต่อสู้เพื่อผลักดันวาระของฝ่ายตนในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทั้งสองฝ่ายเริ่มขยายแนวร่วมทั้งที่เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาเดิมและประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันผ่านการให้ ODA และกลไกการประชุมปรึกษาหารือ ตัวอย่างเช่น การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม การประชุมสุดยอด BRI (BRI Summit) และการประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา (Forum on China-Africa Cooperation) ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม ขณะเดียวกันก็มีการขยายความร่วมมือทางทหาร โดยเฉพาะการซ้อมรบ ที่มีบ่อยครั้งขึ้น มีกองกำลังขนาดใหญ่หรือมีประเทศที่เข้าร่วมหลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปฏิบัติการ “Northern/Interaction-2023” ที่เกิดขึ้นใกล้กับญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม มีการระดมสรรพกำลังจากฝ่ายจีนไม่ว่าจะเป็นเรือฟริเกต 2 ลำ เรือเสบียง เครื่องบินส่งกำลังบำรุงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพจีน (Y-20) เครื่องบินขับไล่แบบเตือนภัยล่วงหน้า (J-16) และเฮลิคอปเตอร์ Black Hawk (Z-20) เช่นเดียวกับกองทัพรัสเซียที่มีทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศเข้าร่วมปฏิบัติการ[33]

          ก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนเคยแสดงท่าทีที่เกี่ยวข้องกับการขยายบทบาทของญี่ปุ่นในด้านการทหารและความมั่นคง รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคน (Antony J. Blinken) ออกแถลงการณ์แสดงความ “ยินดี” ที่ญี่ปุ่นพยายามมีบทบาทในด้านการทหารและความมั่นคงมากขึ้นโดยการออกเอกสารด้านความมั่นคง 3 ฉบับ ซึ่งมีความสอดคล้องกับ FOIP ในฐานะที่เป็น “ก้าวใหม่ (new step)” ในการปรับปรุงระบบพันธมิตรให้ทันสมัยและเสริมสร้างศักยภาพร่วมในการจัดการปัญหาระดับโลก สำหรับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเป็น “หุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ (indispensable partner)” ในการสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ที่พยายามรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานตั้งแต่ปฏิบัติการใน “อัฟกานิสถานถึงยูเครน”[34] ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่นกล่าว “ประณาม” โดยกล่าวถึงการระบุจีนว่าเป็นภัยคุกคามนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง และจะเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการที่ระบุในเอกสารทางการเมือง 4 ฉบับที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และกล่าวเพิ่มเติมว่า วิถีการพัฒนากองทัพของจีนเป็นไปเพื่อการป้องกันประเทศ มิได้มุ่งกระตุ้นหรือมีส่วนร่วมในการแข่งขันทางทหารแต่อย่างใด[35] FOIP ของญี่ปุ่นจึงมีนัยสำคัญต่อไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของการกำหนดวาระและประเด็นที่ญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ญี่ปุ่นต้องการขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการทหารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังไม่ลดความสำคัญของประเด็นการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคมวัฒนธรรมซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยและอาเซียนให้ความสำคัญและผลักดันอยู่เสมอในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

          ในด้านความมั่นคงและการทหาร ญี่ปุ่นเน้นขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคยุโรปที่มีความสัมพันธ์ในกรอบการประชุมกลุ่มประเทศ G7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ญี่ปุ่นคาดหวังความร่วมมือจากอิตาลีและอังกฤษในการเข้าร่วมโครงการความริเริ่มจัดหาเครื่องบินขับไล่ประสิทธิภาพสูงรุ่นที่ 6 (Global Combat Air Programme: GCAP)  ซึ่งญี่ปุ่นมองว่า จะช่วยสร้างนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและมีส่วนในการเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้[36] ในการหารือกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการหาข้อสรุปของความตกลงที่จะให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นฝึกร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ของฝรั่งเศสแสดงความเห็นคัดค้านความพยายามของญี่ปุ่นในการผลักดันการจัดตั้งสำนักงานพลเรือนขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) ซึ่งเป็นประเด็นที่เลขาธิการ NATO ได้ยกขึ้นหารือกับนายกรัฐมนตรีคิชิดะในเดือนมกราคม โดยมองว่า จะเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนและอาจมีการตีความไปในเชิงการขยายดินแดนได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ NATO จากการประชุมสุดยอดในเดือนกรกฎาคมกล่าวถึงจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามเชิงระบบโครงสร้าง (systemic threat)” ต่อพันธมิตรของ NATO คณะผู้แทนถาวรจีนประจำสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ตอบโต้โดยกล่าวว่า ข้อกังวลที่มีต่อจีนเป็น “อคติในเชิงอุดมการณ์ (ideological bias)” และได้แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความพยายามของ NATO ในการ “รุกคืบมาทางตะวันออก (eastward movement)” และเตือนว่า “การกระทำใด ๆ ที่เป็นการท้าทายผลประโยชน์และสิทธิอันชอบธรรมของจีนจะได้รับการตอบโต้”[37]

          ผลลัพธ์สำคัญอีกประการหนึ่งจากการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่มประเทศ NATO ที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมคือ การลงนามในความริเริ่ม “โครงการหุ้นส่วนความร่วมมือตามความต้องการรายประเทศ (Individually Tailored Partnership Programme: ITPP)” ระหว่างญี่ปุ่นกับ NATO ค.ศ. 2023-2026 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการวางกลไกการปรึกษาหารือเชิงนโยบาย การอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากร และความร่วมมือด้านการวิจัย โดยให้ความสำคัญต่อ 16 เป้าหมาย 4 ลำดับประเด็นสำคัญ (priorities) (ตารางที่ 3) ดังนี้

 

ตารางที่ 3   เป้าหมายและประเด็นสำคัญใน ITPP

ประเด็นสำคัญ

เป้าหมาย

ประเด็นความมั่นคงใหม่

- การป้องกันทางไซเบอร์

- การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์

- เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน

- ความมั่นคงทางอวกาศ

- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่อง

ประเด็นความมั่นคงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

- ความมั่นคงทางทะเล

- การควบคุม จำกัด และแพร่ขยายอาวุธ

- การเจรจาและปรึกษาหารือ

การขยายขอบเขตกิจกรรมความร่วมมือ

- การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน

- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

- ความร่วมมือเพื่อสมรรถนะในการปฏิบัติร่วม (interoperability) ที่สามารถทำได้จริง

- การเสริมสร้างสมรรถนะในการพัฒนาและการปฏิบัติร่วม

- ความสามารถในการล้มแล้วลุกได้และการเตรียมพร้อม

- การทูตสาธารณะ

การส่งเสริมค่านิยมพื้นฐาน

- บทบาทของผู้หญิงกับสันติภาพและความมั่นคง

- ความมั่นคงของมนุษย์

ที่มา: NATO[38]

 

          ในวันที่ 12-26 มกราคม ค.ศ. 2023 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่นซ้อมรบกับอินเดียเป็นครั้งแรกที่ฐานทัพฮยะกุริ โดยอินเดียนำเครื่องบินขับไล่ Su-30 MKI C-17 และ IL-78 เข้าร่วม ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นมีเครื่องบิน F-2 และ F-15 อย่างละ 4 ลำเข้าร่วม การฝึกซ้อมครั้งนี้เน้นการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันและเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางอากาศแบบผสมผสานในรหัส “Veer Guardian”[39] ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งสองประเทศมีการฝึกซ้อมร่วมของทหารบกในรหัส “Dharma Guardian” ซึ่งเป็นการซ้อมรบประจำปี โดยในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 ที่ค่ายอิมะสุในจังหวัดชิงะระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติในเชิงยุทธวิธี เทคนิคและแนวปฏิบัติตามกรอบการปฏิบัติของสหประชาชาติ และสมรรถนะในปฏิบัติการร่วม[40] นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันตนเองทางเรือยังมีปฏิบัติการประจำปีเพื่อสานต่อการปฏิบัติของ FOIP ในชื่อรหัส “Indo-Pacific Deployment (IPD)” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ใน ค.ศ. 2023 การฝึกซ้อมเกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน-17 กันยายน โดยจะมีการเยี่ยมเยือนฐานทัพเรือหลายประเทศในภูมิภาค และอาจเข้าร่วมการฝึกในปฏิบัติการอื่น ๆ อาทิ IMDEX Asia 2023, LIMA 2023, Pacific Vanguard 2023, JIMEX 2023, Pacific Partnership 2023, Talisman Sabre 2023, MALABAR 2023 ด้วย[41]

          การประชุมระดับผู้นำไตรภาคีที่แคมป์ เดวิดระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ถือเป็นพัฒนาการล่าสุดของการยกระดับความสัมพันธ์ในระบบพันธมิตรระหว่างสามประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน ถ้อยแถลงร่วมได้ระบุประเด็นสำคัญที่ทั้งสามฝ่ายมุ่งพัฒนาต่อไปในอนาคต อาทิ การเพิ่มช่องทางและความถี่ในการสื่อสารระหว่างสามฝ่ายในระดับผู้นำ รัฐมนตรีกลาโหมและต่างประเทศ และที่ปรึกษาความมั่นคง รวมถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการเงินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนตามหลักการและประเด็นที่ระบุใน AOIP โดยเน้นประเด็นพลังงาน การจัดการน้ำ และสมรรถนะในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และยังให้ความสำคัญต่อหมู่เกาะแปซิฟิกในระดับที่ใกล้เคียงกับอาเซียน โดยจะเน้นการส่งเสริม “วิถีแปซิฟิก (Pacific Way)” การกระชับความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกต่าง ๆ ผ่านโครงการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จริยธรรมทางการเงิน (financial integrity) และกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลไตรภาคี (Trilateral Maritime Security Cooperation Framework) ด้วย

          นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังกล่าวถึงความสำคัญของระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์โดยเชื่อมโยงกับประเด็นทะเลจีนใต้ ในประเด็นเกาหลีเหนือ ทั้งสามฝ่ายสนับสนุนการยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธปรมาณูของเกาหลีเหนือโดยสมบูรณ์และจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือภายใน ค.ศ. 2023 เพื่อแสดงให้เห็นว่า พันธมิตรไตรภาคีเพื่อการป้องปรามนั้น “แข็งแกร่งประดุจเสริมด้วยเกราะเหล็ก (ironclad)” โดยมีขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐอเมริกาหนุนเสริม[42] สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ฝึกซ้อมปฏิบัติการทางอากาศแบบไตรภาคี (Trilateral Air Exercise) ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น B-1 และ B-52 ร่วมกันเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมในบริเวณเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone: ADIZ) ที่ทับซ้อนกันระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม[43]

          ในด้านเศรษฐกิจ ถ้อยแถลงร่วมที่สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ตกลงกันในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พนมเปญใน ค.ศ. 2022 ระบุว่า ผู้แทนคณะทำงานด้านความมั่นคงของทั้งสามประเทศจะพบหารือกันปีละ 2 ครั้ง โดยในกรอบการเจรจาความมั่นคงทางเศรษฐกิจไตรภาคี (Trilateral Economic Security Dialogue) เน้นการสร้างความสอดคล้องกันของห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะวัสดุกึ่งตัวนำ (semiconductors) แบตเตอรี่ ความมั่นคงและบรรทัดฐานทางเทคโนโลยี พลังงานสะอาดและความมั่นคงทางพลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ แร่ธาตุที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยาและเวชภัณฑ์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีควอนตัม การวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยการใช้ห้องปฏิบัติการร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและยกระดับความร่วมมือกับหน่วยปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผันของสหรัฐอเมริกา (U.S. Disruptive Technology Strike Force) เป็นครั้งแรก ทั้งสามประเทศยังตกลงกันในการสร้างความริเริ่มเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่รวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีความยืดหยุ่น (Partnership for Resilient and Inclusive Supply-Chain Enhancement: RISE) เพื่อยกระดับการพัฒนาพลังงานสะอาดและป้องกันการโจรกรรมเทคโนโลยี และหุ้นส่วนเพื่อการลงทุนและสาธารณูปโภคในระดับโลก (Partnership for Global Infrastructure and Investment: PGII) ซึ่งเป็นความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบพหุภาคี[44]

          ญี่ปุ่นยังแสดงบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุน” ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อาจเรียกได้ว่า “เสรีและเป็นธรรม” ในมุมมองของญี่ปุ่น โดยเฉพาะกรอบความตกลงที่ไม่มีจีนเป็นสมาชิก เอกสาร FOIP ฉบับที่ออกในเดือนมีนาคมกล่าวถึงแนวทางในการขยายความร่วมมือในด้านนี้ เช่น บังคับใช้และขยายกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่มี “มาตรฐานสูง” ที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอย่างความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) วางกฎเกณฑ์และสนับสนุนการสร้างผลประโยชน์ที่จับต้องได้ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งยังอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจา

          ในโอกาสที่ ค.ศ. 2023 เป็นปีครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 6 กันยายน ทั้งสองฝ่ายได้ออกถ้อยแถลงร่วมในการยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ในเดือนสิงหาคม มีการออก “วิสัยทัศน์อาเซียน-ญี่ปุ่นในการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน (ASEAN-Japan Economic Co-Creation Vision)” ซึ่งญี่ปุ่นนิยามตนเองในฐานะ “หุ้นส่วนเพื่อการสร้างสรรค์ร่วมกัน (co-creation partner)” เพื่อร่วมกันแสวงหาตัวแบบทางเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการแบ่งปันแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนา การตระหนักในความจริงที่หลากหลายและเงื่อนไขของภูมิรัฐศาสตร์ และการใช้ทรัพยากรมนุษย์แบบหมุนเวียนเพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ใน 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) ความยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความหลากหลายกับความเปิดกว้าง เน้นประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) นวัตกรรมแบบเปิดข้ามพรมแดน เน้นการสร้างระบบสำหรับพัฒนานวัตกรรมโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ (3)  ความเชื่อมโยงระหว่างโลกกายภาพกับโลกเสมือน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความท้าทายทางไซเบอร์และปรับรูปแบบของอุตสาหกรรมอนาคต และ (4) สร้างระบบนิเวศสำหรับทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดเชิงนวัตกรรม โดยเฉพาะชาวเอเชียที่มีแนวคิดสอดคล้องกับโลก (Globalized Asians) ซึ่ง “ใช้ชีวิตแบบสองวัฒนธรรม มีใจรักประชาธิปไตย และมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยี” โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) เป็นผู้ประสานงาน[45] โดยมีแผนปฏิบัติการที่มีความละเอียด มีการกำหนดลำดับความสำคัญ และมีการระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนในฝ่ายญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ในมุมมองผู้เขียน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นของญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ

          นัยสำคัญของแนวคิด FOIP และการนำแนวคิดดังกล่าวสู่การปฏิบัติคือ ญี่ปุ่นพยายามจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่จะให้ความสำคัญต่อความร่วมมือที่จะช่วยญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในด้านการทหารและความมั่นคงมากขึ้น ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแบบให้เปล่าหรือ OSA เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามริเริ่มแนวทางใหม่ ๆ เท่าที่หลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นพอจะเอื้ออำนวยเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถเสนอตัวเป็น “ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์” ที่สอดคล้องกับความต้องการหรือผลประโยชน์ของประเทศที่ “มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน” ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การที่ญี่ปุ่นเผยแพร่เอกสารด้านความมั่นคงจำนวน 3 ฉบับ ที่แสดงถึงมุมมองและการกำหนดลำดับความสำคัญที่จะส่งผลต่อการเสริมสร้างบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาค

 

          4) แนวโน้มการดำเนิน FOIP ของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกภายใต้บริบทยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ (NSS) ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ (National Defense Strategy: NDS) และแผนการเตรียมกำลังด้านการป้องกันประเทศ (Defense Buildup Program: DBP) ฉบับใหม่ของญี่ปุ่นต่อการเสริมสร้างบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาค และนัยต่อไทย

          เอกสาร NSS ฉบับใหม่กล่าวถึงสาระสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) บริบทการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจโลกที่เป็นเหตุผลให้ญี่ปุ่นต้องแสดงบทบาทในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนศูนย์อำนาจของโลกมายังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความพยายามของมหาอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน ภัยคุกคามจากความมั่นคงรูปแบบใหม่และความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากขึ้น ภาวะขาดผู้นำในการเมืองระหว่างประเทศ (2) ความท้าทายในระดับภูมิภาคจากมุมมองของญี่ปุ่น ได้แก่ จีนซึ่งเป็น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด” เกาหลีเหนือซึ่งเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงของญี่ปุ่นที่รุนแรงและใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา” และรัสเซียซึ่งเป็น “ข้อห่วงกังวลด้านความมั่นคงอย่างรุนแรง” และ (3) ผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยอธิปไตยและเอกราช ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและความเจริญร่วมกัน และค่านิยมสากลและระเบียบระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมหลักการตามแนวคิด FOIP เอกสาร NSS ยังกล่าวถึง “หลักการพื้นฐาน 5 ประการ” ในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นด้วย ได้แก่ (1) นโยบายส่งเสริมสันติภาพเชิงรุก (2) ค่านิยมสากล (3) นโยบายป้องกันประเทศโดยไม่มุ่งสู่การเป็นมหาอำนาจทางทหารและไม่ครอบครองอาวุธปรมาณู (4) พันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา และ (5) การอยู่ร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่าง ๆ

          หาก NSS เป็นเอกสารในระดับ “ยุทธศาสตร์” NDS และ DBP เปรียบเสมือนเอกสารในระดับ “ยุทธวิธี” ที่ลงรายละเอียดในแง่ของหลักนิยม (doctrine) การปรับโครงสร้างกำลัง (force structure) และการกำหนดทิศทางของการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า เอกสารกล่าวถึงความท้าทายที่เป็นบริบทกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศโดยเฉพาะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน การเพิ่มศักยภาพทางทหารของจีน และการพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และความท้าทายทางทหารที่ญี่ปุ่นเผชิญทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสงคราม (warfare) ในรูปแบบใหม่ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์และการแข่งขันในพื้นที่อวกาศ การมีสงครามลูกผสม (hybrid warfare) ที่ไม่ใช่แค่การโจมตีทางทหารแต่รวมถึงการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศและส่งอิทธิพลต่อประชาชนของประเทศเป้าหมาย แนวนโยบายพื้นฐาน 3 ประการในการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นตามที่ระบุใน NDS ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่โครงสร้างและขีดความสามารถในการป้องกันประเทศของญี่ปุ่น (2) การเสริมสร้างสมรรถนะของปฏิบัติการร่วมในการป้องปรามการโจมตีในกรอบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา และการสนับสนุนให้มีสถานีปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น และ (3) ความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันและประเทศอื่น ๆ เพื่อก่อกวนและเอาชนะปฏิบัติการเหล่านั้น[46]

          เอกสาร NDS ยังระบุประเด็นด้านการทหารและความมั่นคงที่ญี่ปุ่นสนใจจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างชัดเจน โดยเน้นความสำคัญของพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกาเป็นแกนกลาง รองลงมาคือความสัมพันธ์กับออสเตรเลียที่เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์พิเศษ (Special Strategic Partnership)” โดยเน้นปฏิบัติการทางทหารและการฝึกซ้อมรบแบบประจำ และอินเดียที่เป็น “หุ้นส่วนระดับโลกและยุทธศาสตร์ที่มีความพิเศษ (Special Strategic and Global Partnership)” เน้นการขยายความร่วมมือด้านที่เกี่ยวข้องกับการสงครามแบบใหม่ รองลงมาคือ ความร่วมมือกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เน้นประเด็นความมั่นคงระดับโลกและการร่วมมือในกรอบ NATO เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ส่วนเกาหลีใต้นั้น ญี่ปุ่นจะเน้นสร้างความร่วมมือเพื่อการป้องปรามและขีดความสามารถการตอบสนองสถานการณ์ในกรอบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกา ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นจะสนับสนุนความเป็นแกนกลางและความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนผ่านกลไกต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคและกรอบที่มีญี่ปุ่นร่วมอยู่ รวมถึงกลไกการหารือแบบ “2+2” ที่หมายถึงการพบปะหารือร่วมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศกับรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองฝ่าย การเยี่ยมเยือนทางเรือและทางอากาศ (strategic port calls and air visits) การฝึกซ้อมร่วมทางทหารตามสถานการณ์ในภูมิภาค และการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันประเทศ[47]

          สมรรถนะทางทหารหลักที่ญี่ปุ่นต้องการเสริมสร้างเพื่อการป้องกันประเทศมี 7 ประเด็น ได้แก่ (1) ขีดความสามารถในการป้องกันแบบแยกขาดโดยเฉพาะ (2) ปฏิบัติการร่วมทางทะเลกับทางอากาศ (3) ปฏิบัติการที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ (4) ปฏิบัติการแบบข้ามส่วนระหว่างทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กับทางไซเบอร์และอวกาศ (5) กลไกที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและควบคุมข่าวกรอง (6) การป้องกันของพลเรือนและปฏิบัติการเคลื่อนย้าย และ (7) การสร้างความยั่งยืนและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป[48] แนวทางหลัก ๆ ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมี 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การใช้ประโยชน์จากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่โดยพัฒนาอัตราการใช้งาน การครอบครองกระสุนในปริมาณที่เพียงพอ และยกระดับการลงทุนในการพัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการป้องกันประเทศ (2) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แกนหลักของศักยภาพในการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้ตอบโต้คู่ต่อสู้ได้และระบบปฏิบัติการแบบที่สามารถใช้หุ่นยนต์ควบคุมได้ และ (3) การเพิ่มสมรรถนะของบุคลากรในกองกำลังป้องกันตนเองโดยการสร้างความสอดคล้องกับ 7 ประเด็นข้างต้น พร้อมกับส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีของการทำงานและการใช้ชีวิต[49]

          เอกสารอีกฉบับที่มีความสำคัญคือ DBP ซึ่งเป็นการขยายความรายละเอียดของ NSS และ NDS ข้างต้น โดยเฉพาะประเด็นแกนกลางที่เป็นลำดับความสำคัญแรก ๆ ในการเสริมสร้างสมรรถนะการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นใน 7 สมรรถนะทางทหารหลักที่กล่าวไปแล้ว มีการกล่าวถึงรูปแบบลักษณะของอาวุธยุทโธปกรณ์เป้าหมาย การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา จำนวนและแผนการจัดกำลังพล แต่ที่เป็นรายละเอียดสำคัญของเอกสารนี้คือ การระบุงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ชัดเจนในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2023-2027) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 43 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับแนวทางการบริหารโครงการและงบประมาณไว้ค่อนข้างละเอียด[50]

          เอกสารเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อไทยคือ (1) สาระสำคัญในเอกสารทั้งสามบ่งชี้ว่า ความตึงเครียดหรือความไม่ไว้วางใจระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศที่ระบุในเอกสารเหล่านี้จะมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบางประเทศนั้นอาจมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกับไทยในหลายด้าน ไทยอาจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพิจารณาการดำเนินการของญี่ปุ่นในความเป็นจริงว่าเป็นไปตามแนวทางที่ระบุไว้ในเอกสารเหล่านั้นเพียงใด (2) ความพยายามในการยกระดับความมั่นคงด้วยการเสริมสร้างกำลังทางทหารของญี่ปุ่นมีเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่อีกด้านหนึ่งจะสร้างความตึงเครียดที่นำไปสู่การสะสมกำลังทางทหารและการแข่งขันทางอาวุธ (arm race) ที่จะมีมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลีซึ่งเป็นจุดวาบไฟ (flashpoint) อยู่แล้ว และ (3) ญี่ปุ่นอาจจะผลักดันความร่วมมือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความตกลงไว้ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อย่างแข็งขันมากขึ้น

          ความสอดคล้องระหว่างเอกสาร NSS NDS และ DBS ที่ประกาศออกมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 กับ FOIP ฉบับใหม่ที่ประกาศในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 แสดงนัยสำคัญ 2 ประการที่อาจสะท้อนถึงทิศทางในอนาคตของ FOIP ของญี่ปุ่นด้วย ได้แก่ (1) คุณค่าและผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นยึดถือในด้านการต่างประเทศ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อคุณค่าแบบเสรีนิยมในการเมืองระหว่างประเทศ แสดงตนยืนหยัดเคียงข้างประเทศที่อ่อนแอ และคัดค้านการใช้กำลังทหารรุกล้ำอธิปไตยแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะเป็นจุดยืนของญี่ปุ่นต่อประเด็นอื่น ๆ ทั้งช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และกรณีพิพาทที่มีกับจีน และ (2) นายกรัฐมนตรีคิชิดะจะใช้ประเด็นการทหารและความมั่นคงควบคู่กับความพยายามทางการทูตในการสร้าง “แนวร่วม” เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการป้องกันประเทศญี่ปุ่นโดยใช้กลไก/กลวิธีทางการทูตเป็นหลัก อาทิ การเดินทางเยือนประเทศในกลุ่ม G7 ในช่วงเดือนมกราคม การเดินทางเยือนอินเดียในเดือนมีนาคมเพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นและพันธกิจของอินเดียในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า ญี่ปุ่นจะมุ่งกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นนี้กับประเทศทางยุทธศาสตร์อื่น ๆ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และแคนาดา เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงที่กว้างและลึกกว่าแกนพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังขยายฐานการสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ด้วย ญี่ปุ่นกล่าวย้ำเสมอถึงการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน แต่อาเซียนมิได้เป็นกลุ่มประเทศเดียวที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยังมีแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทอย่างต่อเนื่องและจริงจังผ่านกลไกการประชุมอย่าง TICAD และความริเริ่มระเบียงสันติภาพและความมั่งคั่งด้วย ในแง่การบริหารนโยบาย ญี่ปุ่นอาจเผชิญข้อจำกัดของการจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรในอนาคตเมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์อัตราการเกิดที่น้อยลงอย่างต่อเนื่องและภาวะความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ

 

          5) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

          ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีพื้นฐานที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง-ความมั่นคงทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ในบริบทที่การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมีความเข้มข้นขึ้น ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทในการเป็น “ผู้สร้างสะพาน (bridge-builder)” ให้บรรดาพันธมิตรสหรัฐอเมริกาและประเทศที่อาจจะมีแนวความคิดคล้ายคลึงกันสามารถมีจุดเชื่อมทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น บริบทเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อทิศทางความมั่นคงและการต่างประเทศของไทยอย่างแน่นอน

          ในการตอบสนองแนวคิด FOIP ของญี่ปุ่น ผู้เขียนมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

          ระดับนโยบาย

          (1) ไทยสามารถสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่นผ่านกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการพูดคุยและลดความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน และลดความเสี่ยงที่จะมีผู้มองว่าไทย “เลือกข้าง” ผู้เล่นใดผู้เล่นหนึ่ง โดยเน้นประเด็นความมั่นคงไม่ตามแบบ (non-traditional security) หรือความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมของทั้งไทยและอาเซียน มากกว่าเน้นความร่วมมือทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว

          (2) ไทยควรใช้โอกาสจากเครือข่ายและบทบาทนำของญี่ปุ่นในการเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคที่กำลังมีความเติบโตทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง (emerging regions) เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ในการขยายบทบาทของไทยในภูมิภาคเหล่านี้ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบไตรภาคีในภูมิภาคดังกล่าว

          ระดับปฏิบัติการ

          ประเด็นที่ควรร่วมมือในเชิงลึกมากขึ้นในประเด็นความมั่นคงไม่ตามแบบ ได้แก่

          (1) การปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเน้นด้านความมั่นคงทางสุขภาพและประเด็นมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นเนื่องจากได้รับผลกระทบ (climate-induced displacement)

          (2) อุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของญี่ปุ่นตามที่ระบุใน NSS NDS และ DBS ซึ่งญี่ปุ่นมีการกำหนดลำดับความสำคัญและมีงบประมาณลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจน

          (3) ความมั่นคงทางทะเลในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น การคุ้มครองการดำรงชีวิตของชุมชนบริเวณชายฝั่งและการสนับสนุนชุมชนประมงขนาดเล็ก การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

[1] นรุตม์ เจริญศรี, ญี่ปุ่นอย่างที่เป็น ลำดับที่ 18 อินโด-แปซิฟิกในกระแสการเปลี่ยนแปลง: ยุทธศาสตร์ FOIP ของญี่ปุ่นที่มีต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯและจีน และผลกระทบต่อไทย (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), 18-19.

[2] อ้างแล้ว.

[3] ธีวินท์ สุพุทธิกุล, โครงการสิทธิป้องกันตนเองร่วมในการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่น: กรณีศึกษาทศวรรษ 1990 และทศวรรษ 2010: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม), 2561, 89.

[4] ธีวินท์, โครงการสิทธิป้องกันตนเองร่วม, 95.

[5] “Safety in the Straits of Malacca and Singapore,” The Nippon Foundation, https://www.nippon-foundation.or.jp/en/what/projects/safe_passage, accessed May 26, 2023; กิตติ ประเสริฐสุข, ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อินเดีย ในโครงสร้างอำนาจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง (ปทุมธานี: สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561), 112-113.

[6] Bruce Stokes, “Hostile Neighbors: China vs. Japan,” Pew Research, September 13, 2016, https://www.pewresearch.org/global/2016/09/13/hostile-neighbors-china-vs-japan/ (accessed May 26, 2023).

[7] Doris Fung, “The Growing China-ASEAN Economic Ties,” HKTDC Research, January 7, 2022, https://research.hktdc.com/en/article/OTUxMzk0NDE0 (accessed May 26, 2023).

[8] Sarah Oliver and Kevin Stahler, “Can Japan Tell Us Where Chinese FDI Is Going In ASEAN?,” China Economic Watch, Peterson Institute of International Economics, July 3, 2014, https://www.piie.com/blogs/china-economic-watch/can-japan-tell-us-where-chinese-fdi-going-asean (accessed May 26, 2023).

[9] Liqin Wang, “China-Japan Competition in Infrastructure Investment in Southeast Asia: A Two-Level Analysis,” Chinese Political Science Review (2022), 11, https://doi.org/10.1007/s41111-022-00231-7.

[10] Andy Brown, “Japan investing US$367 billion in Southeast Asia infrastructure,” KHL, June 27, 2019, https://www.khl.com/1139032.article (accessed May 26, 2023).

[11] ธีวินท์ สุพุทธิกุล, “ญี่ปุ่น G7 กับการเป็นประเทศกลุ่มผู้นำโลก,” The 101.World, 27 เมษายน 2566, https://www.the101.world/japan-g7/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566).

[12] “Japan-Canada Summit Meeting,” Ministry of Foreign Affairs, January 12, 2023, https://www.mofa.go.jp/na/na1/ca/page4e_001315.html (accessed May 26, 2023).

[13] “Japan-U.S. Summit Meeting,” Ministry of Foreign Affairs, January 13, 2023, https://www.mofa.go.jp/na/na1/us/page4e_001323.html (accessed May 26, 2023).

[14] “New Plan for a “Free and Open Indo-Pacific (FOIP)”,” Ministry of Foreign Affairs, March 2023, https://www.mofa.go.jp/files/100484990.pdf (accessed May 26, 2023), 2-4.

[15] Ibid.

[16] “Free and Open Indo-Pacific,” Ministry of Foreign Affairs, March 2023, https://www.mofa.go.jp/files/000430632.pdf (accessed May 26, 2023), 4.

[17] “Free and Open Indo-Pacific,” 5.

[18] “Defense Equipment and Technology,” Acquisition, Technology &Logistics Agency (ATLA), https://www.mod.go.jp/atla/en/policy/defense_equipment.html (accessed May 26, 2023).

[19] ดูตัวอย่างความตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับไทยได้ที่ “Agreement between the Government of Japan and the Government of the Kingdom of Thailand Concerning the Transfer of Defense Equipment and Technology,” Ministry of Defense, https://www.mofa.go.jp/files/
100346185.pdf
(accessed May 26, 2023).

[20] “Updating the “Vientiane Vision”: Japan’s Defense Cooperation Initiative with ASEAN,” Ministry of Defense, November 2019, https://www.mod.go.jp/en/d_act/exc/admm/06/vv2_en.pdf (accessed May 26, 2023).

[21] “[CONCEPT PAPER] Official Security Assistance (OSA),” Ministry of Foreign Affairs, https://www.mofa.go.jp/files/100487431.pdf (accessed May 26, 2023).

[22] Julian Ryall, “Japan military aid expands Southeast Asia footprint,” DW, November 22, 2023, https://www.dw.com/en/japan-military-aid-expands-southeast-asia-footprint/a-67521664 (accessed November 24, 2023).

[23] “Japan likely to provide defense equipment to Vietnam, Djibouti,” NHK World Japan, November 13, 2023, https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20231113_15/ (accessed November 24, 2023).

[24] Gregory B. Poling and Japhet Quitzon, “The Latest on Southeast Asia: December 21, 2023,” Blog, Center for Strategic & International Studies (CSIS), December 21, 2023, https://www.csis.org/blogs/latest-southeast-asia/latest-southeast-asia-december-21-2023 (accessed January 1, 2024).

[25] ศิริพร วัชชวัลคุ, ญี่ปุ่นกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา: นโยบาย และปฏิบัติการในประเทศลุ่มน้ำโขง (กรุงเทพฯ: ศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยเชิงนโยบาย (ด้านสถาบันการเมืองและนโยบายต่างประเทศ) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), 194-204.

[26] “Japan for United Nations Security Council 2023-2024,” Ministry of Foreign Affairs, https://www.mofa.go.jp/policy/un/sc/japan-unsc2023-2024/index.html (accessed May 26, 2023).

[27] “Issues,” G7 Hiroshima Summit 2023, https://www.g7hiroshima.go.jp/en/summit/issue/ (accessed May 26, 2023).

[28] ธีวินท์, “ญี่ปุ่น G7 กับการเป็นประเทศ.”

[29] อ้างแล้ว.

[30] เสกสรร อานันทศิริเกียรติ, “รถไฟความเร็วสูงกับอำนาจของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,” วิเทศปริทัศน์, ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC), ฉบับที่ 8/2564 (สิงหาคม 2564), https://isc.mfa.go.th/en/content/รถไฟความเร็วสูงกับอำนาจของจีน (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566).

[31] Jan Van de Made, “Japan PM’s Africa tour a bid to counter China, Russia influence,” RFI, May 2, 2023, https://www.rfi.fr/en/africa/20230502-japan-pm-s-africa-tour-a-bid-to-counter-china-russia-influence (accessed May 26, 2023).

[32] “Progress Report on Japan’s Cooperation for the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific,” Ministry of Foreign Affairs, https://www.mofa.go.jp/files/100420036.pdf (accessed May 26, 2023).

[33] Kathrin Hille, “China and Russia step up military co-operation on Japan’s doorstep,” Financial Times, July 18, 2023, https://www.ft.com/content/3a6f7efe-b064-45a7-8125-259a51df8a20 (accessed August 15, 2023).

[34] Antony J. Blinken, “Welcoming Japan’s New National Security Strategy, National Defense Strategy, and Defense Buildup Program,” Press Statement, U.S. Department of State, December 16, 2022, https://www.state.gov/welcoming-japans-new-national-security-strategy-national-defense-strategy-and-defense-buildup-program/ (accessed May 26, 2023).

[35] “China condemns Japan’s new national security strategies for stoking regional tensions,” CGTN, December 16, 2022, https://news.cgtn.com/news/2022-12-16/Japan-approves-new-national-security-strategy-1fOjtIZUIFi/index.html (accessed May 26, 2023).

[36] Oue Sadamasa, “What the trilateral fighter jet program means for Japan,” Japan Times, August 31, 2023, https://www.japantimes.co.jp/commentary/2023/08/31/japan/japan-trilateral-jet-development/ (accessed August 31, 2023).

[37] Amy Hawkins, “Nato appears to shelve plans to open Japan liaison office in Tokyo,” The Guardian, July 12, 2023, https://www.theguardian.com/world/2023/jul/12/nato-appears-to-shelve-plans-open-japan-liaison-office-tokyo (accessed August 15, 2023).

[38] “Individually Tailored Partnership Programme between NATO and Japan for 2023 – 2026,” NATO, updated July 20, 2023, https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_217797.htm (accessed August 15, 2023).

[39] “India, Japan joint exercise from Jan 12 to promote air defence cooperation,” The Indian Express, January 7, 2023, https://indianexpress.com/article/india/india-japan-to-hold-joint-exercise-to-promote-air-defence-cooperation-8367265/ (accessed May 26, 2023).

[40] “India-Japan Army exercise ‘Dharma Guardian’ gets under way,” The Hindu, February 17, 2023, https://www.thehindu.com/news/national/india-japan-army-exercise-dharma-guardian-gets-under-way/article66521787.ece (accessed May 26, 2023).

[41] “Indo-Pacific Deployment 2023 (IPD 2023),” JMSDF, https://www.mod.go.jp/msdf/en/exercises/IPD23.html (accessed August 27, 2023).

[42] “The Spirit of Camp David: Joint Statement of Japan, the Republic of Korea, and the United States,” The White House, August 18, 2023, https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/08/18/the-spirit-of-camp-david-joint-statement-of-japan-the-republic-of-korea-and-the-united-states/ (accessed August 27, 2023).

[43] Unshin Lee Harpley, “B-1 Bombers Fly in Second Trilateral Exercise with Japan and South Korea,” Air & Space Forces Magazine, December 21, 2023, https://www.airandspaceforces.com/b-1-bombers-trilateral-exercise-japan-south-korea/ (accessed January 1, 2024).

[44] Ibid.

[45] “ASEAN-Japan Economic Co-Creation Vision” Ministry of Economy, Trade and Industry, August 22, 2023, https://www.meti.go.jp/press/2023/08/20230822005/20230823005-2.pdf (accessed August 27, 2023).

[46] “Ministry of Defense, National Defense Strategy, December 16, 2022, https://www.mod.go.jp/j/policy/agenda/guideline/strategy/pdf/strategy_en.pdf (accessed May 26, 2023), part II, III.

[47] “National Defense Strategy,” 20-21.

[48] “National Defense Strategy,” part IV.

[49] Ministry of Defense, “On the Publication of Defense of Japan 2023,” in Defense of Japan 2023, https://www.mod.go.jp/en/publ/w_paper/wp2023/DOJ2023_Digest_EN.pdf (accessed May 26, 2023); “National Defense Strategy,” part V, VII.

[50] Ministry of Defense, Defense Buildup Program, March 14, 2023, https://www.mod.go.jp/j/policy/agenda/guideline/plan/pdf/program_en.pdf (accessed May 26, 2023), 48.

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชิ้นนี้ จัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก

[**] นักวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC)

Documents

2-2567_Jan2024_ญี่ปุ่นกับอินโด-แปซิฟิก_เสกสรร.pdf