ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียกับโอกาสของไทย | ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียกับโอกาสของไทย | ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 Jan 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 12,533 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 1/2565 | มกราคม 2565

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียกับโอกาสของไทย
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก* 

(Download .pdf below)

 

          โลกภายหลังวิกฤตการเงิน ค.ศ. 2008 เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนโดยเฉพาะหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเพื่อเติมเต็มความฝันของจีน (Chinese Dream) และการผลักดันยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างมหาศาลตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา[1] ในขณะเดียวกัน ท่าทีของสหรัฐอเมริกาในด้านการต่างประเทศต่อการผงาดขึ้นของจีนที่เปลี่ยนแปลงจากพันธมิตรสู่การเป็นคู่แข่งขันมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ความตึงเครียดในเวทีระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำสงครามการค้าของสองประเทศที่ทำให้เกิดการแยกห่วงโซ่ทางการค้า (Decoupling)[2]  

          นอกจากนี้ วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในสหรัฐอเมริกาและบทบาทของตัวแสดงใหม่ ๆ ในการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจขนาดกลางที่ค่อย ๆ เพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาพมหาอำนาจหลายขั้วมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายประเทศเริ่มสนับสนุนแนวคิดนี้ และหนึ่งในนั้นก็คืออินเดีย[3]

          บทบาทของอินเดียในเวทีระหว่างประเทศนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยเฉพาะการเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของอินเดียมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้อินเดียมีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่[4]

          นี่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการวางรากฐานยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียที่ต้องการไปไกลมากกว่าการเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคหรือมหาอำนาจขนาดกลาง ช่วงปลายทศวรรษ 1990 อินเดียหันมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งและประสบความสำเร็จในที่สุด[5] ในขณะเดียวกัน อินเดียคือหนึ่งในแกนนำสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดการปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อเพิ่มที่นั่งของสมาชิกถาวรที่มาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา[6]

          ศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่อินเดียแสดงบทบาทโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะ 10 ปีหลังมานี้ จนอินเดียได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหาอำนาจเกิดใหม่ (Emerging Power)” ความสำคัญของอินเดียที่เพิ่มขึ้นในเวทีระหว่างเทศนี้จึงกลายเป็นความสนใจสำคัญของบทความชิ้นนี้ที่ต้องการสำรวจทิศทางนโยบายต่างประเทศของอินเดีย โดยเฉพาะแนวนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ท่าทีการต่างประเทศของอินเดียในภูมิภาคเอเชีย และชวนมองอินเดียใหม่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการต่างประเทศสำหรับไทย

 

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด?

          หนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของนโยบายต่างประเทศอินเดียในช่วงสงครามเย็นคือการเลือกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างชัดเจน แม้บางช่วงบางเวลาอินเดียดูเหมือนจะโน้มเอียงไปทางสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี[7] แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอินเดียเลือกข้างอย่างชัดเจน เพราะยังปรากฏหลากหลายนโยบายที่สะท้อนว่า อินเดียมีนโยบายผูกสัมพันธ์กับโลกเสรีเช่นเดียวกัน ลักษณะความพยายามสร้างสมดุลทางด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นแกนกลางถือเป็นจุดยืนสำคัญของอินเดียมาโดยตลอด[8] คำถามสำคัญคือ ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นแล้วอินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเองอย่างไร ภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวอย่างสหรัฐอเมริกา

          อาจดูเหมือนว่า อินเดียโน้มเอียงเข้าหามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่จีนเริ่มผงาดขึ้นมา ซึ่งถือว่าคุกคามผลประโยชน์ทางความมั่นคงอย่างยิ่ง ส่งผลให้ท่าทีด้านการต่างประเทศของอินเดียมีทิศทางขยับเข้าหาสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น จนมีผู้มองว่าอินเดียเลือกเดินเกมเข้าข้างหรือเป็นพันธมิตรทางการต่างประเทศและความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา[9] ยกตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมการสนทนาจตุรภาคีว่าด้วยความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ QUAD ซึ่งได้รับการผลักดันอย่างมากจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร

          อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้นในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของอินเดีย เพราะในความเป็นจริงแล้ว อินเดียยังคงยืนกรานในความเป็นอิสระทางด้านนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างชัดเจน เช่นการเดินหน้าซื้ออาวุธ S-400 จากรัสเซีย[10] หรือการปฏิเสธที่จะคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งสวนทางอย่างยิ่งกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการกดดันประเทศเหล่านั้น[11] หรือแม้แต่การเข้าร่วม QUAD ของอินเดียเองก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะอินเดียยังคงยืนกรานว่ากรอบความร่วมมือนี้ไม่ได้มีเพื่อปิดล้อมจีน ดังที่สหรัฐอเมริกาคาดหวังบทบาทของอินเดีย[12]

          แม้ว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียตามแนวชายแดนดูเหมือนจะไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะการปะทะกันครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ซึ่งส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต จนนำมาซึ่งการประท้วงแบนสินค้าจีนอย่างหนักภายในอินเดีย[13] อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศดูเหมือนจะสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมูลค่าการค้าระหว่างจีน-อินเดียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดีย ด้วยมูลค่าการค้าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์[14]

          ฉะนั้น การกล่าวว่าอินเดียหันเหนโยบายต่างประเทศเข้าข้างสหรัฐอเมริกาเพื่อปิดล้อมจีนนั้นอาจไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว อินเดียยังคงพยายามรักษาความเป็นอิสระทางด้านการต่างประเทศ และยังคงสนใจผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเองเป็นหลักในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือใด ๆ  ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้แนวนโยบายต่างประเทศของอินเดียมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านดุลแห่งอำนาจในระบอบระหว่างประเทศ ในหลายครั้งอินเดียจึงพร้อมที่จะแปรเปลี่ยนนโยบายของตนเองอย่างกะทันหัน หากเล็งเห็นว่าตัวเองได้รับผลเสียมากกว่าผลดีจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว[15]

          ความพยายามเป็นมหาอำนาจของอินเดียจึงวางอยู่บนพื้นฐานสำคัญในความเป็นอิสระทางการต่างประเทศที่ไม่ได้เลือกข้างอย่างชัดเจน มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ตามสถานการณ์ และแสวงหาพันธมิตรบนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งชาติ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของอินเดียพยากรณ์ได้ค่อนข้างยาก แน่นอนว่ายุทธศาสตร์การต่างประเทศเช่นนี้ของอินเดียช่วยให้อินเดียสามารถฉกฉวยโอกาสและผลประโยชน์ของตนเองในเวทีระหว่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก เพื่อผลักดันความฝันในการขึ้นเป็นมหาอำนาจของตนเองในอนาคต โดยเฉพาะการมุ่งเน้นขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย ผ่านยุทธศาสตร์มากมายเพื่อแสวงหาพันธมิตรจากชาติขนาดกลางและเล็กภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

 

การต่างประเทศของอินเดียกับภูมิภาคเอเชีย

          ดังที่ได้กล่าวไปว่าการผงาดขึ้นมาของจีน และความโกลาหลของระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้ความขัดแย้งและแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้อินเดียต้องปรับเปลี่ยนท่าทีด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของตนเองขนานใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงการขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ใน ค.ศ. 2014 ซึ่งถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญอย่างมากแก่นโยบายต่างประเทศ ในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการสร้างตัวตนของอินเดียในเวทีโลก[16]

          แม้กระทั่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โมดีได้มีการนำเสนอชุดนโยบายต่างประเทศของตัวเองต่อสาธารณะด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคสมัยของโมดีนั้น ประเทศอินเดียได้กลับมาเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าโมดีมีบทบาทอย่างมากในการปักชื่ออินเดียในแผนที่โลกให้เป็นที่รับรู้ของบุคคลภายนอกประเทศมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้ชาติต่าง ๆ เล็งเห็นว่าอินเดียมีความสำคัญต่อเวทีระหว่างประเทศภายใต้การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน[17] โดยความโดดเด่นอย่างมากของยุทธศาสตร์การต่างประเทศของโมดีคือการหันมาสนใจภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

          ยุทธศาสตร์เพื่อนบ้านมาก่อน (Neighborhood First Policy) ถือเป็นหัวใจและแกนกลางสำคัญของการต่างประเทศในยุคสมัยของโมดีที่พยายามขับเคลื่อนมานับตั้งแต่เขารับตำแหน่งในสมัยแรก และได้รับการสานต่อในสมัยที่สอง เพราะเพื่อนบ้านของอินเดียโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของอินเดีย[18] การกลับมาดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านได้รับการให้ความสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะความพยายามในการปรับความสัมพันธ์กับปากีสถาน การเปลี่ยนท่าทีนโยบายการคว่ำบาตรศรีลังกา ตลอดจนการตกลงสนธิสัญญาแบ่งปันการใช้แม่น้ำและแลกดินแดนกับบังคลาเทศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้บทบาทของอินเดียในสายตาเพื่อนบ้านกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

          นอกจากนี้ การต่างประเทศของอินเดียภายใต้โมดียังให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเทศในฝั่งตะวันออกของอินเดีย โดยเฉพาะการปรับยุทธศาสตร์ “มองตะวันออก (Look East Policy)” เป็น “ปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy)” ซึ่งอินเดียได้มีการรื้อฟื้นกรอบความร่วมมือเก่า ๆ มากมายที่เคยมีร่วมกับประเทศในพื้นที่แถบนี้กลับมาใหม่[19] ไม่ว่าจะเป็น BIMSTEC หรือการให้ความสำคัญแก่อาเซียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศขนาดกลางและเล็กของอินเดีย เพื่อแสวงหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งการแสดงความสนใจเข้าร่วม RCEP (ภายหลังตัดสินใจถอนตัว) ยุทธศาสตร์นี้ยังหมายรวมถึงการสร้างความร่วมมือเพิ่มเติมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของอินเดียต่อทั้งสองประเทศทวีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตัวเลขการค้าและการลงทุนที่เติบโตอย่างมาก[20]

          ในขณะเดียวกัน การต่างประเทศอินเดียภายใต้การนำของโมดียังมีการวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางทะเลภายใต้ชื่อ “ความปลอดภัยและการเติบโตสำหรับทุกคนในภูมิภาค (Security and Growth for All in the Region: SAGAR)” โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย อันนี้เป้าหมายสำคัญในการรักษาสันติภาพในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทะเลระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง[21] ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่อีกหนึ่งชิ้นของอินเดียนั้นคือ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”

          อินเดียมีความเห็นสอดคล้องกับหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่ม QUAD ว่าการเปิดพื้นที่ และการเดินเรือเสรีในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก มูลค่าทางเศรษฐกิจของอินเดียจำนวนมากมาจากช่องทางการค้าผ่านทั้งสองมหาสมุทรนี้[22] จึงเป็นธรรมดาที่อินเดียจะให้ความสำคัญอย่างมากแก่เรื่องนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวของอินเดียหมายถึงการปิดล้อมจีนตามความคาดหวังของบางประเทศในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือสี่ฝ่ายดังกล่าวขึ้น เพราะสุดท้ายอินเดียยังคงมองเห็นโอกาสบางประการที่จะร่วมมือกับจีน แม้ว่าจีนจะถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการเป็นมหาอำนาจของอินเดียก็ตาม แน่นอนว่ายุทธศาสตร์การต่างประเทศที่มุ่งเน้นเอเชียอย่างชัดเจนนี้ย่อมสร้างประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยด้วย

 

มองอินเดียใหม่

          ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียในช่วงที่ผ่านมานั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ภูมิภาคเอเชีย และนับวันอินเดียจะพยายามเพิ่มความร่วมมือเข้ามาในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นผ่านนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 อินเดียได้มีการยกระดับความร่วมมือทางด้านยุทธศาสตร์กับอาเซียน และยืนยันหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเรื่องอินโด-แปซิฟิก[23] สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอินเดียให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคนี้อย่างมาก

          ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา อินเดียได้แสดงบทบาทการเป็นผู้บริจาควัคซีนที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และได้กระจายวัคซีนจำนวนมากไปทั่วภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย[24] สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงศักยภาพทางด้านเวชภัณฑ์ของอินเดียที่ถือได้ว่าเป็นแนวหน้าของโลก อินเดียยังถือเป็นอีกชาติในโลกที่มีการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางการทหารให้หลายประเทศ ซึ่งนั่นรวมถึงประเทศไทยด้วย[25]

          ฉะนั้นการต่างประเทศของอินเดียที่มุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเพื่อแสวงหาพันธมิตรใหม่ ๆ ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุล และกระจายความเสี่ยงทางการต่างประเทศภายใต้การแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่นับวันจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นมหาอำนาจขนาดกลางอย่างอินเดียจึงถือเป็นหนึ่งในตัวแสดงสำคัญในอนาคต เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประเทศไทยโดยอาศัยพลวัตทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง

          ค.ศ. 2022 ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะใช้วาระการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศครบรอบ 75 ปีมาเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกเข้าหาอินเดียมากยิ่งขึ้น ประการแรกคือการเปลี่ยนมุมมองต่ออินเดียใหม่ โดยเฉพาะการพยายามใช้ทัศนคติในการมองอินเดียให้เหมือนมองจีน ในฐานะที่อินเดียจะขยายตัวและจะขึ้นมาเป็นหมายเลขสองของโลกในทางในอนาคตเคียงคู่จีน เพราะเศรษฐกิจของอินเดียถือว่ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในห้วงที่โลกกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาด และด้วยปริมาณชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอินเดียจะกลายเป็นตลาดการค้าที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยเช่นเดียวกับจีนในอนาคต

          ประการที่สอง อินเดียมีสถานะเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลของไทย ซึ่งไทยสามารถเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันกับอินเดียได้ โดยเฉพาะการพัฒนาประเด็นเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ตามแนวพรมแดนทางทะเล ไม่ว่าจะในมิติการประมง การท่องเที่ยวระหว่างเกาะภูเก็ตของไทย และเกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย หรือการสำรวจสินแร่และแหล่งพลังงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ ฉะนั้นการยกระดับความร่วมมือทางทะเลทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้มีบทบาทด้านการต่างประเทศของไทยควรพิจารณา

          ประการสุดท้าย อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลของโลก การสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียในประเด็นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโครงการอบรม หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างฝ่ายไทยกับอินเดีย สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถเป็นโครงการนำร่องในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นได้

 

[1] Zhaohui Wang, “The Economic Rise of China Rule-Taker, Rule-Maker, or Rule-Breaker?,” Asian Survey 57, no. 4 (2017): 595–617.

[2] Li Wei, “Towards Economic Decoupling? Mapping Chinese Discourse on the China–US Trade War,” The Chinese Journal of International Politics 12, no. 4 (December 1, 2019): 519–56, https://doi.org/10.1093/cjip/poz017.

[3] Veena Kukreja, “India in the Emergent Multipolar World Order: Dynamics and Strategic Challenges,” India Quarterly: A Journal of International Affairs 76, no. 1 (March 1, 2020): 8–23, https://doi.org/10.1177/0974928419901187.

[4] Montek S. Ahluwalia, “India’s Economic Reforms: Achievements and Next Steps,” Asian Economic Policy Review 14, no. 1 (January 2019): 46–62, https://doi.org/10.1111/aepr.12239.

[5] Kumar Sundaram and M. V. Ramana, “India and the Policy of No First Use of Nuclear Weapons,” Journal for Peace and Nuclear Disarmament 1, no. 1 (January 2, 2018): 152–68, https://doi.org/10.1080/25751654.2018.1438737.

[6] Vinay Kaura and Chakravarti Singh, “India and the Geopolitics of UNSC Permanent Membership,” Strategic Analysis 45, no. 4 (July 4, 2021): 271–85, https://doi.org/10.1080/09700161.2021.1938943.

[7] Vojtech Mastny, “The Soviet Union’s Partnership with India,” Journal of Cold War Studies 12, no. 3 (July 2010): 50–90, https://doi.org/10.1162/JCWS_a_00006.

[8] Shivshankar Menon, “India’s Foreign Affairs Strategy” (Delhi, 2020).

[9] Rajesh Rajagopalan, “India’s Strategic Choices: China and the Balance of Power in Asia” (New Delhi, 2017), https://carnegieindia.org/2017/09/14/india-s-strategic-choices-china-and-balance-of-power-in-asia-pub-73108.

[10] Aditya Pandey, “S-400 Missile Systems: A Booster Dose with Side Effects,” 2021, https://www.orfonline.org/expert-speak/s-400-missile-systems-a-booster-dose-with-side-effects/.

[11] Dilip Hiro, “India and China Defy Trump on the Iranian Oil Boycott,” 2019, https://thewire.in/trade/india-china-iran-trump-sanctions-oil.

[12] Menon, “India’s Foreign Affairs Strategy.”

[13] Kenneth Rapoza, “India Goes All In On ‘Boycott China,’” 2020, https://www.forbes.com/sites/kenrapoza/2020/07/10/india-goes-all-in-on-boycott-china/?sh=5ac4a6216e19.

[14] Global Times, “China-India Trade in 2021 Exceeds $100 Billion for the First Time in October: Data,” 2021, https://www.globaltimes.cn/page/202111/1238365.shtml.

[15] Shivshankar Menon, Choices: Inside the Making of Indian Foreign Policy (New Delhi: Penguin Random House India, 2016).

[16] Johannes Plagemann and Sandra Destradi, “Populism and Foreign Policy: The Case of India,” Foreign Policy Analysis 15, no. 2 (April 1, 2019): 283–301, https://doi.org/10.1093/fpa/ory010.

[17] Ian Hall, Modi and the Reinvention of Indian Foreign Policy (Bristol: Bristol University Press, 2019).

[18] Saroj Kumar Aryal, “India’s ‘Neighbourhood First’ Policy and the Belt & Road Initiative (BRI),” Asian Journal of Comparative Politics, May 11, 2021, 205789112110142, https://doi.org/10.1177/20578911211014282.

[19] Ngaibiakching and Amba Pande, “India’s Act East Policy and ASEAN: Building a Regional Order Through Partnership in the Indo-Pacific,” International Studies 57, no. 1 (January 22, 2020): 67–78, https://doi.org/10.1177/0020881719885526.

[20] Rajiv Kumar, “Introduction: India–East Asia Relations in the Post-COVID-19 Era,” The Journal of Indian and Asian Studies 02, no. 02 (July 7, 2021), https://doi.org/10.1142/S2717541321030017.

[21] Jivanta Schöttli, “‘Security and Growth for All in the Indian Ocean’ – Maritime Governance and India’s Foreign Policy,” India Review 18, no. 5 (October 20, 2019): 568–81, https://doi.org/10.1080/14736489.2019.1703366.

[22] Rajesh Rajagopalan, “Evasive Balancing: India’s Unviable Indo-Pacific Strategy,” International Affairs 96, no. 1 (January 1, 2020): 75–93, https://doi.org/10.1093/ia/iiz224.

[23] The ASEAN Secretariat, “ASEAN-India Joint Statement on Cooperation on the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific for Peace, Stability, and Prosperity in the Region,” 2021, https://asean.org/asean-india-joint-statement-on-cooperation-on-the-asean-outlook-on-the-indo-pacific-for-peace-stability-and-prosperity-in-the-region/.

[24] Angelina Gurunathan and Ravichandran Moorthy, “Riding the Indo-Pacific Wave: India–ASEAN Partnership Sans RCEP,” India Quarterly: A Journal of International Affairs 77, no. 4 (December 28, 2021): 560–78, https://doi.org/10.1177/09749284211047707.

[25] India Times, “Royal Thai Army Set to Complete Purchase of 600 Tata Military Trucks,” 2020, https://www.zoomnews.in/en/news-detail/royal-thai-army-set-to-complete-purchase-of-600-tata-military-trucks.html.

 

[*] นักวิจัย สถาบันศึกษานโยบายพลังงานแห่งประเทศจีน คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

Documents

1-2565_Jan2022_ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดีย_ศุภวิชญ์_แก้วคูนอก.pdf