ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้: นัยต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย | เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้: นัยต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย | เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 Jan 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 Jan 2024

| 1,810 view

Header_Journal_(ไทย)

No. 1/2567 | มกราคม 2567

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้: นัยต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย*
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ**

(Download .pdf below)

 

          เกาหลีใต้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 2017 การเลือกตั้งประธานาธิบดีปีดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้สมัครระบุในปฏิญญาการหาเสียงเลือกตั้งว่า ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับอาเซียนและอินเดียโดยยกระดับความสัมพันธ์ให้ทัดเทียมกับประเทศผู้เล่นหลักอื่น ๆ ในคาบสมุทรเกาหลี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ในเดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีมุน แช-อิน (Moon Jae-in) ได้ส่ง “ผู้แทนพิเศษ (Special Envoy)” มาเยือนฟิลิปปินส์ (ประธานอาเซียนในปีนั้น) อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก่อนจะมีการประกาศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ในการประชุม Indonesia-Korea Business Forum ที่ประเทศอินโดนีเซีย เน้นหลักการ 3Ps ได้แก่ (1) People (ประชาชน) (2) Prosperity (ความเจริญรุ่งเรืองซึ่งในคำแปลภาษาเกาหลีมีคำว่า “ร่วมกัน” อยู่ด้วย) และ (3) Peace (สันติภาพ) โดยมีบทความชื่อ “Toward a People-Centered ASEAN Community” ซึ่งเป็นบทความภาษาอังกฤษเรื่องเดียวที่มีชื่อประธานาธิบดีมุนเป็นผู้เขียนเผยแพร่ในวันต่อมา[1]

          นอกจากความตั้งใจที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนและอินเดียแล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีมุนยังพยายามเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนภายในประเทศเองด้วยการดำเนินการและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับโครงสร้างองค์กรภายในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อจัดตั้งเป็นกรมอาเซียน (Department of ASEAN and Southeast Asian Affairs) ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Culture House) ที่ปูซานและตั้งชื่อถนนที่ผ่านหน้าศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็น “ถนนอาเซียน (ASEAN-ro)” มีการเปิดทำเนียบประธานาธิบดี (Blue House) เพื่อต้อนรับสื่อมวลชนและเยาวชนอาเซียน มีการจัดโครงการรถไฟอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Train) โดยนำบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากอาเซียนเดินทางเยือนเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ของเกาหลีใต้โดยรถไฟ ที่สำคัญ ประธานาธิบดีมุนสามารถเดินทางเยือน 10 ประเทศอาเซียนได้ครบก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2019 ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ และยังกล่าวว่า การประชุมนี้ถือเป็นการประชุมพหุภาคีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรัฐบาลของเขาด้วย[2]

          ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลเกาหลีใต้ปรับแนวทางการดำเนินนโยบาย NSP เป็น New Southern Policy Plus (NSPP) ประกอบด้วย 7 ประเด็น ได้แก่ (1) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขแบบรอบด้านในยุคหลังโควิด-19 (2) การแบ่งปันประสบการณ์ด้านการศึกษาของเกาหลีใต้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (3) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบสองทาง (4) การสร้างพื้นฐานสำหรับการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและได้ประโยชน์ร่วมกัน (5) การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชนบทและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมือง (6) ความร่วมมือในอุตสาหกรรมอนาคตเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และ (7) ความร่วมมือเพื่อการเสริมสร้างประชาคมระหว่างประเทศที่ปลอดภัยและมีสันติภาพ[3] ในประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยดำเนินกิจกรรมการทูตสาธารณะ (public diplomacy) มากขึ้น เช่น การส่งมอบชุดตรวจและอุปกรณ์ดำรงชีพแก่ทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงผู้ปฏิบัติงานภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตั้งตู้ปันสุขหน้าศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ณ กรุงเทพฯ การริเริ่มโครงการผู้ช่วยสนับสนุนฝ่ายการทูตสาธารณะ (Digital Public Diplomacy Supporters) ฯลฯ

          ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 อาเซียนเป็นประเด็นในนโยบายต่างประเทศที่ผู้สมัครหลักทั้งจากพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าให้ความสำคัญโดยระบุในปฏิญญาการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายก้าวหน้าซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกันกับรัฐบาลก่อนสนับสนุนการคงหลักการและแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนตาม NSP และ NSPP ส่วนผู้สมัครจากพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นฝ่ายค้าน และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีพิจารณาความสัมพันธ์กับอาเซียนจากมุมมองพหุภาคีหรือเน้นบทบาทของอาเซียนในระดับภูมิภาคมากกว่า โดยเสนอให้มี “Win-Win Solidarity Initiative” ประกอบด้วย Advance Human Capital (การเสริมสร้างคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์), Build Health Security (การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ), Connect Cultures (การเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย) และ Digitize Asian Infrastructure (การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียให้เป็นดิจิทัล) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ABCD Model[4]

          ในเดือนแรกของรัฐบาลประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล (Yoon Suk-yeol)[5] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปัก จิน (Park Jin) มีโอกาสพบหารือกับเอกอัครราชทูตทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อให้คำมั่นว่า เกาหลีใต้จะยังให้ความสำคัญต่ออาเซียนต่อไป โดยถือเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตกลุ่มแรกที่มีโอกาสพบหารือกับรัฐมนตรี[6] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดียุนได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ครั้งที่ 23 ที่กรุงพนมเปญ และได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ด้วยความตั้งใจที่จะ “สร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี มีสันติภาพ และมีความเจริญรุ่งเรือง ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความร่วมมือกับอาเซียนและประเทศผู้เล่นหลักอื่น ๆ”[7] และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์บนพื้นฐานของค่านิยมสากล โดยมี “Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI)” เป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้ยังให้ความสำคัญต่ออาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง ซึ่งแม้จะเปลี่ยนขั้วการเมืองก็ยังคงสานต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

 

  1. ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย NSP/NSPP ของประธานาธิบดีมุน และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของประธานาธิบดียุน

          ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย NSP และ NSPP ในรัฐบาลประธานาธิบดีมุนมีปัจจัยระหว่างประเทศ ได้แก่ (1) ทางแพร่งของการดำเนินนโยบายติดตั้งระบบขีปนาวุธป้องกันในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) ที่ส่งผลให้จีนแสดงความไม่พอใจและมีมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่น การระงับหรือลดจำนวนเที่ยวบินที่นำนักท่องเที่ยวจากจีนไปเกาหลีใต้ในช่วงฤดูท่องเที่ยว การบังคับบริษัททัวร์จีนไม่ให้จำหน่ายบัตรโดยสารทั้งแบบหมู่คณะและแบบบุคคล การตรวจสอบบริษัท Lotte ในทางภาษีและการอ้างประเด็นความปลอดภัยในการปิดห้างสรรพสินค้า Lotte Mart ในจีน มาตรการเหล่านี้ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 ลดลงถึงร้อยละ 33.1 เมื่อเทียบกับสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 เช่นเดียวกับมูลค่าการลงทุนของเกาหลีใต้ในจีนที่ลดลงร้อยละ 22.7 และมูลค่าการลงทุนของจีนในเกาหลีใต้ลดลงถึงร้อยละ 46.3 ใน ค.ศ. 2017 โดยเทียบกับปีก่อนหน้า ในระดับธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้โดยเฉพาะ Lotte Mart ต้องปิดกิจการถึง 112 แห่งในเดือนกันยายนปีเดียวกัน และถอนตัวออกจากจีนไปยังภูมิภาคเอเชียใต้แทน[8]

          (2) ความน่าสนใจของอาเซียนและอินเดียทั้งในด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน แผ่นพับแนะนำ NSP สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2019 กล่าวถึงความโดดเด่นของอาเซียนไว้ 3 ประการ ประการแรก การเป็นภูมิภาคของคนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพ จำนวนประชากรของอาเซียนเมื่อรวมกับอินเดียจะมีจำนวนราว 2 พันล้านคน ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรอยู่ที่ 30 ปีซึ่งเป็นวัยทำงาน ประการที่สอง การเป็นตลาดโตเร็วที่สามารถเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้ โดยพิจารณาจาก GDP ของอาเซียนเมื่อรวมกับอินเดียจะอยู่ที่ 5.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.1 อินเดียอยู่ที่ร้อยละ 7.1 และประการที่สามคือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียนและอินเดียที่รวมกันแล้วจะคิดเป็นร้อยละ 15.9 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของเกาหลีใต้ มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2007 เป็น 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2018 และจำนวนนักท่องเที่ยวจากอาเซียนและอินเดียที่คิดเป็นร้อยละ 26.6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ทั้งหมด[9] และ (3) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีมุนต้องแสวงหาแนวนโยบายที่จะช่วยสร้างความต่อเนื่องของ NSP จึงได้ปรับให้สอดคล้องกับบริบทเป็น NSPP และขยายประเด็นหลักของความร่วมมือให้ลงลึกกว่า 3Ps ซึ่งเปรียบเสมือนกรอบนโยบายกว้าง ๆ มากกว่า

          ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งมีแนวนโยบายค่อนข้างชัดเจนในการ “สร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์” หรือเน้นนโยบาย “เกาหลีที่เป็นอิสระ (Independent Korea)” มากกว่าพึ่งพามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งเป็นหลัก นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้ายังมีจุดร่วมกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมองเกาหลีเหนือเป็นเพื่อนร่วมชาติมากกว่าเป็นศัตรู[10] ดังนั้น แนวนโยบายต่อเกาหลีเหนือจึงใช้ “การทูตนำการทหาร” โดยมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานที่น่าเชื่อถือ (honest broker) ผ่านการประชุมสุดยอดในระดับผู้นำระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 2018 และ 2019[11] และมองว่า อาเซียนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถมีบทบาทสนับสนุนเกาหลีใต้ในประเด็นเกาหลีเหนือและสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีในเชิงสร้างสรรค์ได้ ทั้งในแง่กลไกระดับภูมิภาคและความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ประเทศสมาชิกมีกับเกาหลีเหนือ ตัวอย่างเช่น บทบาทของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่เชิญให้เกาหลีเหนือเข้าร่วมการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ใน ค.ศ. 2000[12]

          (2) ผลสืบเนื่องจากมาตรการตอบโต้ของจีนทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องแสวงหาและรักษา “ตลาดที่มั่นคง” สำหรับสินค้าส่งออกของประเทศทั้งอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม ซึ่งตลาดที่มีระยะทางไม่ไกลจากที่ตั้งของเกาหลีใต้มาก มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ และที่สำคัญคือเป็นมิตรหรือต้อนรับเกาหลีใต้อย่างมากนั่นคืออาเซียน ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีประเทศใดในอาเซียนที่มีความขัดแย้งทั้งในด้านดินแดนและด้านประวัติศาสตร์อย่างเปิดเผยในระดับรัฐกับเกาหลีใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นฐานแฟนคลับสำคัญของศิลปิน K-Pop อีกด้วย นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 2017 อาเซียนยังเป็นตลาดส่งออกของเกาหลีใต้ที่มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากจีน รัฐบาลประธานาธิบดีมุนจึงกำหนดให้เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของ NSP คือ การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนกับอาเซียนเพื่อลดการพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจ

          อย่างไรก็ดี สถานการณ์โลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกใน ค.ศ. 2022-2023 มีความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก ปัจจัยระหว่างประเทศที่ผลักดันให้รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดียุนต้องดำเนินนโยบายในลักษณะ “การทูตยืดอกตรง ความมั่นคงที่น่าเชื่อถือ” คือ (1) การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เข้มข้นขึ้น มีแนวโน้มที่จะมุ่งไปสู่การแยกเศรษฐกิจและเทคโนโลยีออกจากกัน (decoupling) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทและท่าทีของเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศมีศักยภาพทางเทคโนโลยีและต้องการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่อุปทานวัตถุดิบและวงจรการผลิตชิป (2) ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งประธานาธิบดียุนประกาศในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ที่กรุงพนมเปญเช่นกันว่า “การเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมแต่ฝ่ายเดียวโดยใช้กำลังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”[13] ซึ่งเป็นการส่งข้อความโดยตรงถึงรัสเซีย ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียุนออกมาประกาศสนับสนุนการส่งอาวุธไม่ร้ายแรง (non-lethal weapons) ให้ยูเครนโดยตรง[14] ส่งผลให้รัสเซียแสดงความไม่พอใจอย่างมาก และ (3) เกาหลีเหนือ ซึ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นผ่านถ้อยแถลง การแสดงศักยภาพขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีพัฒนาการมากขึ้น และจำนวนการทดสอบขีปนาวุธที่มีถึง 68 ครั้ง ใน ค.ศ. 2022 และมากกว่า 11 ครั้งในไตรมาสแรกของ ค.ศ. 2023[15] คาดการณ์ว่า อาจจะมีการทดสอบศักยภาพของระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 ในอนาคตอันใกล้

          ประธานาธิบดียุนประกาศนโยบายที่เรียกว่า “Global Pivotal State” ที่แสดงถึงความปรารถนาของเกาหลีใต้ในการเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ สุนทรพจน์ของประธานาธิบดียุนในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 77 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 20221 ระบุว่า เกาหลีใต้ “มีพันธกิจในการมีบทบาทและแสดงความรับผิดชอบต่อการธำรงรักษาอิสรภาพของพลเมืองโลกและความมั่งคั่งของประชาคมโลก” โดยเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความจำเป็นของ “เอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันในการธำรงรักษาอิสรภาพและขับเคลื่อนอารยธรรมมนุษย์ให้ไปข้างหน้า”[16] ประธานาธิบดียุนยังกล่าวถึงความปรารถนาของเกาหลีใต้ในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในระดับโลก (Global Comprehensive Strategic Alliance) กับสหรัฐอเมริกา โดยคาดหวังบทบาทร่วมในระดับโลกที่มากกว่าแค่การสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี[17] ภูมิภาคแรกที่เกาหลีใต้กล่าวถึงในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกฉบับแรกนั้นคือ พื้นที่ “แปซิฟิกเหนือ (North Pacific)” ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า เกาหลีใต้จะยกระดับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 70 ปีให้แน่นแฟ้นขึ้นทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ และกระชับความสัมพันธ์กับ “เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด (our closest neighbor)” อย่างญี่ปุ่นแบบมองไปข้างหน้า เนื่องจากทั้งสองประเทศมีค่านิยมพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยร่วมกัน จัดเป็น “ประเทศที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกัน (like-minded country)” ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกล่าวถึงจีนว่ามีความสำคัญต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเช่นกัน แต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนควรจะมีวุฒิภาวะมากขึ้น มีความเคารพต่อกันและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันโดยเท่าเทียมกำหนดโดยบรรทัดฐานระหว่างประเทศ[18] เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เกาหลีใต้ในยุคประธานาธิบดียุนจะโน้มเอียงไปทางสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดประชุมกลุ่มปรึกษาหารือด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Consultative Group: NCG) ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่กรุงโซล[19] และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2023 ที่กรุงวอชิงตัน และการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถในการติดตั้งขีปนาวุธและหัวรบ USS Kentucky เข้าเทียบท่าที่นครปูซานเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1980 และเรือจู่โจมเรือรบและเรือดำน้ำ USS Annapolis เข้าเทียบท่าที่เกาะเชจู[20]

          ปัจจัยภายในประเทศที่หนุนการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลประธานาธิบดียุน ได้แก่ (1) การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากฝ่ายก้าวหน้าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งมีแนวนโยบายค่อนข้างชัดเจนในการ “ยกระดับความมั่นคง” เน้นความสำคัญของการป้องกันประเทศด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารและการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรทางทหารโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง สอดคล้องกับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากรายงานของ The Asan Institute for Policy Studies ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 ที่เสนอว่า สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีคะแนนนิยมจากกลุ่มสำรวจเป็นอันดับที่หนึ่งและสอง และกลุ่มสำรวจเห็นว่า การเป็นพันธมิตรและการคงกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในเกาหลีใต้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง[21] นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมยังมีจุดร่วมกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมองเกาหลีเหนือเป็นศัตรูมากกว่าเพื่อนร่วมชาติ[22] สอดคล้องกับกลุ่มสำรวจข้างต้นเช่นกันที่มองความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีแย่ลง พื้นฐานเช่นนี้สอดคล้องกับการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อเกาหลีเหนือ

          (2) กระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่ไว้วางใจจีนในสังคมเกาหลีใต้มีเพิ่มสูงขึ้น รายงานฉบับเดียวกันนี้เสนอว่า กลุ่มสำรวจมองสหรัฐอเมริกาว่ามีความสำคัญต่อเกาหลีใต้ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และในระยะ 10 ปี ข้างหน้า กลุ่มสำรวจมองว่า สหรัฐอเมริกาจะมีความเข้มแข็งมากกว่าจีนถึงร้อยละ 48.8 มองว่าพอ ๆ กันร้อยละ 31.9 และมองว่าจีนจะนำร้อยละ 16.8 และหากต้องเลือกข้าง เกาหลีใต้ควรเลือกใคร คำตอบของกลุ่มสำรวจคือสหรัฐอเมริกา[23] นอกจากนี้ ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จีนในสื่อสังคมออนไลน์ของเกาหลีใต้ เช่น นักศึกษาจีนแสดงท่าทีชาตินิยมเมื่อกล่าวถึงจีนในการอภิปรายในมหาวิทยาลัย[24] การเปิดกิจการร้านอาหารซึ่งคล้ายกับศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือปฏิบัติการแทรกซึมบ่อนทำลาย[25] วิวาทะชุดฮันบก-ฮั่นฝูในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง[26] หรือการที่ชาวจีนถือครองอสังหาริมทรัพย์ในเกาหลีใต้เป็นจำนวนถึงร้อยละ 54 ของจำนวนทรัพย์สินที่ถือครองโดยชาวต่างชาติ ใน ค.ศ. 2020 สร้างความกังวลถึงการขยายอิทธิพลและการครอบงำของจีนในเกาหลีใต้ในอนาคต[27] เป็นต้น

 

  1. การประเมินการนำนโยบาย Strategy for a Free, Peaceful, and Prosperous Indo-Pacific Region สู่การปฏิบัติในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน และเวทีระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และนัยต่อไทย

          ในระดับอาเซียน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลประธานาธิบดียุนมีพื้นฐานที่ดีจากนโยบาย NSP และ NSPP ของรัฐบาลก่อนหน้าเช่นกัน นอกจากช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนภายในสังคมเกาหลีเองผ่านการจัดตั้งหน่วยงานและกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้เกาหลีใต้แสดงบทบาทอีกด้วย การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ใน ค.ศ. 2019 ที่นครปูซาน เป็นปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน แนวคิดหลักของการประชุมที่ปูซานคือ “Partnership for Peace, Prosperity for People” เป็นการเพิ่มตัวอักษร P ที่ 4 ซึ่งคือ Partnership ที่เป็นแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย (Advancing Partnership for Sustainability) เข้าไปใน 3Ps ของ NSP ทั้ง 4Ps นี้มีความสอดคล้องกับ SDGs และยังมีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ (Mekong-ROK) เป็นครั้งแรก คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนด้วย[28]

          ประธานาธิบดียุนประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกและความริเริ่ม KASI ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 23 ที่กรุงพนมเปญในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ได้เผยแพร่เอกสาร “Strategy for a Free, Peaceful, and Prosperous Indo-Pacific Region” ในวันที่ 28 ธันวาคม เอกสารดังกล่าวระบุความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกว่าเป็นภูมิภาคที่มี “(1) จำนวนประชากรร้อยละ 65 ของโลก (2) มี GDP คิดเป็นร้อยละ 62 ของโลก (3) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศร้อยละ 46 ของโลก และ (4) ครึ่งหนึ่งของปริมาณการขนส่งทางทะเล” และกล่าวถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศเนื่องจากปัจจัยบั่นทอนเสถียรภาพหลายเรื่อง อาทิ ภาวะถดถอยของโลกาภิวัตน์และประชาธิปไตย ความท้าทายต่อค่านิยมสากลทั้งสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และเสรีภาพ การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ การสะสมอาวุธ และเกาหลีเหนือ โดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในมุมมองของเกาหลีใต้นั้นครอบคลุมตั้งแต่ (1) แปซิฟิกเหนือ (ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา มองโกเลีย) (2) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน (3) เอเชียใต้ (4) โอเชียเนีย (5) ชายฝั่งแอฟริกาและมหาสมุทรอินเดีย และ (6) ยุโรปและลาตินอเมริกา[29] 

          เอกสารดังกล่าวระบุหลักการของการสร้างความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกไว้ 3 ประการ ได้แก่ (1) Inclusiveness เปิดกว้างรับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่กีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง (2) Trust เน้นสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และ (3) Reciprocity เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ ความริเริ่ม KASI จะเป็นแกนกลางของการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียนโดยเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Vision 2025), AOIP, กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) และความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) และนโยบาย Global Pivotal State ของประธานาธิบดียุนที่ต้องการมีบทบาทเชิงรุกในระดับโลกและภูมิภาค[30] ในเอกสาร “Korea-ASEAN Solidarity Initiative” กล่าวถึง 8 ประเด็นที่เกาหลีใต้ต้องการผลักดัน (core lines of effort) ตามภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นความร่วมมือเชิงประเด็นด้านความมั่นคง อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างกลไกเพื่อกระชับความร่วมมือด้านการทหาร

 

ภาพที่ 1   ประเด็นหลักที่เกาหลีใต้ต้องการผลักดันตาม KASI

KASI

ที่มา: Korea-ASEAN Solidarity Initiative[31]

 

          เป้าหมายเฉพาะหน้าของเกาหลีใต้ในความริเริ่มนี้คือ การยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 35 ปี อาเซียน-เกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2024 โดยเน้นความร่วมมือเชิงประเด็นด้านความมั่นคงโดยการเพิ่มเติมหรือยกระดับกลไกต่าง ๆ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีเพื่อการประสานงานที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเกาหลีใต้กับประเทศสมาชิก มีความพยายามสนับสนุนการดำเนินงานในกลไกอาเซียนบวกสาม เช่น องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM) เป็นต้น เอกสารดังกล่าวยังระบุโครงการอย่างเฉพาะเจาะจงพร้อมกับจำนวนเงินที่เกาหลีใต้จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลดขยะพลาสติกในทะเลเอเชียตะวันออก (9 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีใน ค.ศ. 2023-2028) โครงการ ASEAN Cyber Shield (10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีใน ค.ศ. 2023-2025) โครงการเสริมสร้างศักยภาพการวางแผนเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล (5.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีใน ค.ศ. 2023-2027) เป็นต้น และสุดท้ายคือ การกำหนดจำนวนเงินสนับสนุนกองทุนความร่วมมือทั้งสาม ได้แก่ กองทุนความร่วมมืออาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-ROK Cooperation Fund: AKCF) 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไป และกองทุนความร่วมมือเขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนด้านตะวันออก บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์-เกาหลีใต้ (BIMP-EAGA-ROK Cooperation Fund: BKCF) 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี[32]

          มีข้อสังเกตว่า ความแตกต่างสำคัญในแนวทางของเกาหลีใต้ต่ออาเซียนระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดียุนในปัจจุบันกับรัฐบาลประธานาธิบดีมุนในยุคก่อนหน้าคือ รัฐบาลประธานาธิบดียุนจะเน้นการยกระดับความร่วมมือหรือการกำหนดประเด็นความร่วมมือกับอาเซียนจากมุมมอง “ความมั่นคง” ทั้งแบบดั้งเดิม (traditional) ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ออกมายังประเทศในอาเซียน ควบคู่กับความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (non-traditional) ตัวอย่างความร่วมมือด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิมเช่น การพัฒนาเครื่องบินเจ็ตโดย Korea Aerospace Industries (KAI) ร่วมกับอินโดนีเซียมีราคาที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบินเจ็ตของสหรัฐอเมริกาในการควบคุมข้อมูลไม่ให้รั่วไหล หรือเครื่องบินรุ่น FA-50 ที่มีราคาถูกกว่าเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาถึงครึ่งหนึ่ง รายงานระบุว่า มูลค่าการค้าอาวุธของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจาก 7.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2021 เป็น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2022 และใน ค.ศ. 2017-2021 มูลค่าการค้าอาวุธที่เกาหลีใต้ขายให้ประเทศในอาเซียนมีอยู่ราว ๆ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศที่เป็นผู้นำอาวุธจากเกาหลีใต้เข้ามากที่สุดคือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย[33]

          ตัวอย่างความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว อาทิ ความมั่นคงในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และการเสริมสร้างความร่วมมือของ “หน่วยงานหรือกลไก” ด้านความมั่นคง และเน้นกรอบ “ภูมิภาค” มากกว่ามุ่งยกระดับความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี แตกต่างจากนโยบาย NSP หรือ NSPP ของรัฐบาลประธานาธิบดีมุนที่เน้น “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และมุ่งเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ความแตกต่างที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ “น้ำเสียง” ของการสื่อสารในเชิงยุทธศาสตร์ต่ออาเซียนและประเทศในภูมิภาค ในภาพรวม ทั้งสองรัฐบาลกล่าวเน้นย้ำบทบาทและสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ซึ่งเกาหลีใต้แสดงออกด้วยการสนับสนุนงบประมาณและความช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบในถ้อยแถลงของการประชุมต่าง ๆ แต่ประธานาธิบดียุนจะ “เรียกร้อง” ให้อาเซียนต้องแสดงบทบาทมากขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ถ้อยแถลงของประธานาธิบดียุนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 24 ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2023 ที่เรียกร้องให้อาเซียนร่วมมือกับเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิดเพื่อจำกัดภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ[34]

          ในระดับอนุภูมิภาค เกาหลีใต้พยายามแสดงความจริงใจในการดำเนินนโยบายกับอาเซียนผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเพิ่มงบประมาณสำหรับ AKCF MKCF และ BKCF โดยเฉพาะ MKCF ที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 2013 โดยใน ค.ศ. 2021 มีจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 13.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนโครงการที่สนับสนุนไปแล้วจำนวน 33 โครงการ ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม การเกษตรและการพัฒนาชนบท การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยมีสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก (implementing unit) ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ[35] เกาหลีใต้ยังมีบทบาทในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กองทุนการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund) และแสดงความสนใจเป็นคู่เจรจาของกรอบความร่วมมือดังกล่าวอีกด้วย[36]

          ในระดับทวิภาคี เกาหลีใต้มีประเทศที่ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ในมุมมองของนักธุรกิจเกาหลีใต้ เวียดนามมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหลายประเทศ ชาวเวียดนามมีวัฒนธรรมการทำงานที่ใกล้เคียงกับชาวเกาหลีใต้ ใน ค.ศ. 2019 รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายสร้างแรงจูงใจสำหรับโครงการลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงในเขตอุตสาหกรรม (Hi-Tech Park) ในโฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง อาทิ โครงการ Hoa Lac ที่เก็บภาษีรายได้เพียงร้อยละ 10 จากร้อยละ 20 ของการลงทุนปกติสำหรับโครงการที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านด่งหรือประมาณ 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 30 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมที่รวมถึงการลดหย่อนภาษีที่ดินหากบริษัทมีการพัฒนาพื้นที่เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานในโครงการ[37] ขณะที่อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากร มีศักยภาพในทางธุรกิจ และมีเสถียรภาพ เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีมุนพิจารณาเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกเพื่อประกาศนโยบาย NSP และผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการเงินอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-ROK Financial Cooperation Centre) ที่อินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้มีแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจนในการส่งเสริมภาคการเงินการธนาคารควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเกาหลีใต้ในประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกับไทย ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ฝ่ายเกาหลีใต้มีความพยายามที่จะขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารเกาหลีใต้ในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ปิดกิจการในไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ค.ศ. 1997 ซึ่งรวมทั้งความสนใจในการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)[38] ในไทยที่จะมีขึ้นในอนาคตด้วย

          มีรายงานว่า ใน ค.ศ. 2020 มีบริษัทด้านการเงินสัญชาติเกาหลีใต้เปิดทำการในอาเซียนจำนวน 153 แห่ง คิดเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทด้านการเงินสัญชาติเกาหลีใต้ที่เปิดทำการทั่วโลก โดยเปิดทำการในเวียดนามจำนวน 54 แห่ง และอินโดนีเซีย 32 แห่ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021[39] ใน ค.ศ. 2022 รัฐบาลอินโดนีเซียปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจำนวน 70 ฉบับ โดยกำหนดจำนวนสาขาการลงทุนที่มีความสำคัญที่จะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ถึง 246 ประเภท การลงทุนที่มีมูลค่า 1 แสนล้านรูเปียห์หรือประมาณ 6.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐสามารถได้รับยกเว้นภาษีรายได้ถึงร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีและอาจได้รับยกเว้นทั้งหมดเป็นเวลา 5-20 ปี หากการลงทุนนั้นมีมูลค่าสูงกว่า 5 แสนล้านรูเปียห์หรือประมาณ 33.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[40] ซึ่งแรงจูงใจในการลงทุนของเวียดนามและอินโดนีเซียตอบโจทย์และมีความยืดหยุ่นมากกว่าแรงจูงใจที่ได้รับจากประเทศอาเซียนอื่น ๆ รวมทั้งไทย นอกจากนี้ ฮานอยและจาการ์ตายังเป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาของมูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการทูตสาธารณะเพียงสองแห่งในอาเซียน นอกเหนือจากศูนย์การศึกษา (Korea Education Center: KEC) และศูนย์วัฒนธรรม (Korea Cultural Center: KCC) ซึ่งมีอยู่แล้วในหลายประเทศอาเซียน

          นอกจากเวียดนามและอินโดนีเซียแล้ว สิงคโปร์และไทยเป็นอีกสองประเทศที่เกาหลีใต้สนใจในเชิงยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับเวียดนาม สิงคโปร์เคยมีบทบาทในการเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา-เกาหลีเหนือในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ต่อมาใน ค.ศ. 2020 กระทรวงเอสเอ็มอีและวิสากิจเริ่มต้นของเกาหลีใต้เปิดศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (K-Startup Center: KSC) เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีสัญชาติเกาหลีในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับเอสเอ็มอีในอาเซียน ขณะที่ภาคเอกชน Hyundai Motor Group เปิดศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงของสิงคโปร์เป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดศูนย์นวัตกรรมดังกล่าว[41]

          ในกรณีของไทย มีข้อสังเกตว่า ได้รับความสนใจในด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นหลัก เนื่องจากไทยเป็นตลาดผู้ฟัง/ผู้บริโภคสินค้าวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่สำคัญประเทศหนึ่งในโลก สถิติจาก Twitter External ระบุว่า จำนวนการทวิตเนื้อหาเกี่ยวกับเกาหลีใต้ในไทยเป็นอันดับสองรองจากเกาหลีใต้เอง ความนิยมเกาหลีใต้ในไทยเป็นเหตุให้สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ณ กรุงเทพฯ จัดกิจกรรม “โอ้ จริง หรอ” เพื่อเลียนแบบซีรีส์เรื่อง Squid Game ที่มีชื่อภาษาเกาหลีว่า “โอจิงอ เกม” ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก โรงเรียนโนนสุวรรณพิทยาคมที่จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของลิซ่า Blackpink ได้รับการสนับสนุนจาก Korean Foundation of International and Cultural Exchange (KOFICE) และ YG Entertainment ในการจัดตั้ง K-pop Academy ภายในโรงเรียน[42] เมืองอัจฉริยะ (smart city) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกาหลีใต้สนใจสร้างความร่วมมือกับไทย บริษัท Rexgen ได้ส่งมอบระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะที่ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเป็นแห่งแรกในจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 เป็นต้น[43] อย่างไรก็ดี ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจยังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของทั้งสองประเทศ

          ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้มีนัยต่อไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ (1) ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะร่วมมือกันในระดับยุทธศาสตร์มากขึ้นในฐานะพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาตามที่ระบุในแถลงการณ์วอชิงตัน (Washington Declaration) ด้านหนึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้อาเซียนมีช่องทางในการสื่อสารกับสหรัฐอเมริกาโดยผ่านญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่อีกด้านเป็นความเสี่ยงที่ทั้งสองประเทศอาจจะเป็นแนวร่วมในการใช้ “ค่านิยม” มาสื่อสารกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้แสดงท่าทีในประเด็นต่าง ๆ โดยสนับสนุนแนวคิดหรือค่านิยมแบบเสรีนิยมในเวทีระหว่างประเทศ

          (2) มีแนวโน้มว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะแสดงบทบาทเป็น “hub and spoke” สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และวาระของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเพื่อจำกัดอิทธิพลของจีนมากขึ้น ส่งผลต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยที่ต้องหาสมดุลท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน โดยที่สหรัฐอเมริกามีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นพันธมิตร ซึ่งอาเซียนและไทยอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน สถานการณ์ในเมียนมา

          (3) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างเกาหลีใต้กับประเทศอื่น ๆ โดยอาจเน้นการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เกาหลีใต้เป็นผู้จัดจำหน่ายที่เป็น “ทางเลือก” สำหรับหลายประเทศในอาเซียน เนื่องจากไม่มีจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์แอบแฝง เน้นการค้าขายเพื่อมูลค่าทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว[44]

          อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้อาจพบความท้าทายและข้อจำกัดในการดำเนินนโยบาย อาทิ (1) การขยายขอบเขตการทำงานเกินสมรรถนะที่แท้จริงหรือ “overstretch”[45] หากเกาหลีใต้ปรารถนาที่จะดำเนินงานกับกลุ่มประเทศทั้งหมดตามที่ระบุในเอกสาร จะเผชิญข้อจำกัดด้านทรัพยากรทั้งเวลา งบประมาณ บุคลากร และการประสานงานเพื่อให้มีการตัดสินใจทางการเมืองจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะจากทำเนียบประธานาธิบดี ในขณะที่ (2) คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีและรัฐบาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง[46]ส่งผลต่อการสนับสนุนนโยบายของประชาชน ในบริบทของเกาหลีใต้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินนโยบายต่างประเทศมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2024 จะเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาลในอีกครึ่งวาระที่เหลือ

 

  1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้

          ใน ค.ศ. 2022 ไทยและเกาหลีใต้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อปูทางไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในเวลาที่เหมาะสม โดยมีหมุดหมายสำคัญใน ค.ศ. 2028 (พ.ศ. 2571) ซึ่งไทยกับเกาหลีใต้จะครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความร่วมมือ 6 สาขาที่แผนดังกล่าวมุ่งเน้นขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) การเมือง-ความมั่นคง (2) การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนและวัฒนธรรม (3) สาธารณสุข (4) อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและการค้า (5) เศรษฐกิจสีเขียว และ (6) การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในทศวรรษหน้า

          ในการตอบสนองยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเกาหลีใต้ ผู้เขียนมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

          ระดับนโยบาย

          (1) ไทยควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ผ่านกรอบ “Trilateral+X” (อาจหมายถึงอาเซียนหรือ ACMECS ก็ได้) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้งสามประเทศเห็นพ้องในหลักการแต่ยังไม่มีการดำเนินการในรายละเอียดมากนัก อาจทำในรูปแบบของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สามหรือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อม

          (2) ไทยควรส่งเสริมบทบาท “นำ” ของเกาหลีใต้ในกรอบอนุภูมิภาคในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ และบุคลากรในโครงการต่าง ๆ และอาจพิจารณาเพิ่มเติมการใช้ประโยชน์จากบทบาทของไทยในการเป็นประเทศผู้ประสานงาน (Country Coordinator) ของกรอบความร่วมมืออาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-ROK) ใน ค.ศ. 2024-2027 (พ.ศ. 2567-2570)

          (3) ไทยควรผลักดันให้มีการลงทุนของเกาหลีใต้ในประเทศทั้งทางตรง (ผ่าน EEC หรือการตั้งโรงงาน ฯลฯ) และทางอ้อม (ผ่านบริษัทร่วมทุน ผู้รับเหมาช่วงรายย่อย ฯลฯ รวมทั้งกับบริษัทญี่ปุ่นที่ลงหลักปักฐานแล้วในไทย)

          (4) ไทยกับเกาหลีใต้ควรมีกลไกหรือกรอบการหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสานท่าทีและรับมือสถานการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วร่วมกัน ตัวอย่างที่ดำเนินการแล้วเช่น การยกระดับการหารือในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจากการหารือเชิงนโยบาย (Policy Consultation) (จัดมาแล้ว 4 ครั้ง) เป็นการหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023

          ระดับปฏิบัติการ

          ประเด็นที่ควรร่วมมือให้มากขึ้น หลัก ๆ คือการเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) แต่ลงลึกในประเด็นสำคัญมากขึ้น ได้แก่

          (1) การปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว เกาหลีใต้เป็นที่ตั้งของกองทุนระดับสหประชาชาติที่สำคัญ ได้แก่ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และสถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Global Green Growth Institute: GGGI) ที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ พัน คี-มุน (Ban Ki-moon) เป็นประธาน

          (2) ความมั่นคงทางสุขภาพ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นที่ตั้งของสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute: IVI) และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสมรรถนะในการทำวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์

          (3) อุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลประธานาธิบดียุนผลักดันเป็นพิเศษ

          (4) การศึกษาการใช้ประโยชน์จาก Metaverse ซึ่งเกาหลีใต้ผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจังในทุกระดับและทุกภาคส่วน

          (5) ผลักดันให้เกิดสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีในลักษณะใกล้เคียงกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

          (6) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรระหว่างสองประเทศ โดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นในระดับโลก

          (7) ผลักดันการจัดตั้งสำนักงาน Korea Foundation ในประเทศไทย หรือการจัดตั้งเวทีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในเชิงยุทธศาสตร์และองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มของโลกในอนาคตในรูปแบบ Track 1.5

 

[1] เสกสรร อานันทศิริเกียรติ, “อินไซด์การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ทำไมเกาหลีใต้ถึงหันมาสนใจอาเซียน,” The Momentum, 24 พฤศจิกายน 2562, https://themomentum.co/asean-rok-commemorative-summit-2019/ (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566).

[2] Seksan Anantasirikiat, “From Partnership for Sustainability to Sustainable Partnership: A Thai Perspective on NSPP and South Korea’s Engagement in the Mekong Sub-region,” in South Korea’s New Southern Policy: A Middle Power’s International Relations with Southeast Asia and India, ed. Lam Peng Er (London and New York: Routledge, 2023), 78, 80.

[3] Young-sun Kim, “The New Southern Policy Plus and ASEAN-Korea Relations,” in The New Southern Policy Plus: Progress and Way Forward, eds. Kwon Hyung Lee and Yoon Jae Ro (Seoul: Korea Institute for International Economic Policy, 2021), 26-28.

[4] Kavi Chongkittavorn, “South Korea’s New Foreign Policy Roadmap,” Points of View, International Studies Center (ISC), May 2022, https://isc.mfa.go.th/en/content/south-korea-s-new-foreign-policy-roadmap (accessed May 25, 2023).

[5] ผู้เขียนเลือกสะกดชื่อประธานาธิบดียุนตามตัวสะกดภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยอ่านง่าย ทั้งนี้ ในสังคมเกาหลีเคยมีการถกเถียงกันถึงการอ่านชื่อประธานาธิบดีที่ถูกต้อง หน่วยงานด้านภาษาศาสตร์ในลักษณะใกล้เคียงกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอคำอ่าน “ยุน ซอ-กย็อล” โดยอธิบายตามหลักไวยากรณ์ว่า คำว่า “ซ็อก” ลงท้ายด้วยตัวอักษร ส่วน “ย็อล” ขึ้นต้นด้วยสระ จึงควรใช้หลักการอ่านควบพยัญชนะกับสระ ขณะที่ประธานาธิบดีเองยืนยันว่า ชื่อของเขาอ่านว่า “ยุน ซ็อง-นย็อล” โดยอ่านเช่นนี้มาตั้งแต่เขายังเด็ก

[6] Seksan Anantasirikiat, “A Thai Perspective on the Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI),” Points of View, International Studies Center (ISC), June 2023, https://isc.mfa.go.th/en/content/a-thai-perspective-on-kasi (accessed August, 15 2023).

[7] Haye-ah Lee, “Yoon unveils S. Korea's strategy for free, peaceful, prosperous Indo-Pacific,” Yonhap News, November 11, 2022, https://en.yna.co.kr/view/AEN20221111009500315 (accessed May, 26 2023).

[8] Hyejin Kim and Jungmin Lee, “The Economic Costs of Diplomatic Conflict: Evidence from the South Korea-China THAAD Dispute,” The Korean Economic Review 37, no. 2 (Summer 2021): 228; “Statistics on China-Korea Economic and Trade Cooperation in 2017,” Ministry of Commerce, People’s Republic of China, April 11, 2018, http://english.mofcom.gov.cn/article/statistic/lanmubb/ASEAN/201808/20180802781402.shtml (accessed May, 26 2023); Soo-yeon Kim, “No. of Chinese tourists to S. Korea dips 30 pct over THAAD row,” Yonhap News, July 2, 2020, https://en.yna.co.kr/view/AEN20200702003700320 (accessed May 26, 2023).

[9] Presidential Committee on New Southern Policy, A People-Centered Community of Peace and Prosperity (Seoul: Presidential Committee on New Southern Policy, 2019).

[10] เสกสรร อานันทศิริเกียรติ, “สองโคริยาประชาธิปไตย: พลวัตการเคลี่อนไหวของชุมนุมดวงเทียนจรัสแสง ค.ศ. 2016-2017,” ใน ประชาธิปไตยและกระแสอนุรักษนิยมในเอเชียตะวันออก, (บก.) ไชยวัฒน์ ค้ำชู และนิธิ เนื่องจำนงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), 177.

[11] เสกสรร อานันทศิริเกียรติ, “เกาหลีใต้ในยุคมุน แช-อิน: 5 ปี แห่งความเปลี่ยนแปลง,” The 101.World, 18 พฤษภาคม 2566, https://www.the101.world/moon-jae-in-south-korea/ (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566).

[12] Shawn Ho and Seksan Anantasirikiat, “What North Korea gains from participating in the ASEAN Regional Forum,” NK News, August 27, 2021, https://www.nknews.org/2021/08/what-north-korea-gains-from-participating-in-the-asean-regional-forum (accessed 26 May 2023).

[13] Lee, “Yoon unveils S. Korea's strategy for free, peaceful, prosperous Indo-Pacific.”

[14] “South Korea’s Yoon promises $150m aid after Zelenskyy talks,” Al Jazeera, July 15, 2023, https://www.aljazeera.com/news/2023/7/15/south-koreas-president-yoon-in-ukraine-to-meet-zelenskyy (accessed August 15, 2023).

[15] Chad De Guzman, “North Korea Keeps Launching Missile Tests. How Worried Should We Be?,” Time, edited September 13, 2023, https://time.com/6266737/north-korea-ballistic-missile-tests-2023/ (accessed September 14, 2023).

[16] John Nilsson-Wright, “Yoon’s Vision for South Korea as a Global Pivotal State: Is There Anything to It?,” Global Asia 18, no. 1 (March 2023): 83.

[17] “United States-Republic of Korea Leaders’ Joint Statement,” The White House, May 21, 2022, https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/05/21/united-states-republic-of-korea-leaders-joint-statement/ (accessed May 26, 2023).

[18] The Government of the Republic of Korea, Strategy for a Free, Peaceful, and Prosperous Indo-Pacific Region (Seoul: The Government of the Republic of Korea, 2022), 13-14.

[19] ดูเพิ่มเติมใน “Joint Readout of the Inaugural U.S.-ROK Nuclear Consultative Group Meeting,” The White House, July 18, 2023, https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/07/18/joint-readout-of-the-inaugural-u-s-rok-nuclear-consultative-group-meeting/ (accessed August 15, 2023).

[20] Hyonhee Shin, “Second US submarine arrives in South Korea amid North Korea tensions,” Reuters, July 24, 2023, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/second-us-submarine-arrives-south-korea-amid-north-korea-tensions-2023-07-24/ (accessed August, 15, 2023).

[21] The Asan Institute for Policy Studies, South Koreans and Their Neighbors 2023 (Seoul: The Asan Institute for Policy Studies, 2023), 8, 10.

[22] เสกสรร, “สองโคริยาประชาธิปไตย,” 167-169.

[23] The Asan Institute for Policy Studies, South Koreans and Their Neighbors 2023, 13-14, 19-20.

[24] ดูเพิ่มเติมใน Crystal Tai, “In South Korea, Chinese and Korean students are clashing over Hong Kong protests,” South China Morning Post, November 22, 2019, https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3038795/south-korea-chinese-and-korean-students-are-clashing-over-hong (accessed May 26, 2023).

[25] ดูเพิ่มเติมใน Arin Kim, “NIS believes Seoul restaurant was covert Chinese police station: lawmaker,” The Korea Herald, May 19, 2023, https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20230519000564 (accessed May 26, 2023).

[26] ดูเพิ่มเติมใน Justin McCurry, “Hanbok at Beijing Winter Olympics opening sparks South Korean anger,” The Guardian, February 9, 2022, https://www.theguardian.com/world/2022/feb/09/hanbok-beijing-winter-olympics-opening-sparks-south-korea-chinan-anger (accessed May 26, 2023).

[27] ดูเพิ่มเติมใน Ja-young, Yoon, “Increasing Chinese property purchases concern Koreans,” The Korea Times, July 27, 2021, https://www.koreatimes.co.kr/www/biz/2023/09/602_312820.html (accessed May 26, 2023).

[28] Anantasirikiat, “From Partnership for Sustainability to Sustainable Partnership,” 79.

[29] The Government of the Republic of Korea, Strategy for a Free, Peaceful, and Prosperous Indo-Pacific Region, 4, 13-21.

[30] The Government of the Republic of Korea, Strategy for a Free, Peaceful, and Prosperous Indo-Pacific Region, 11-12.

[31] Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI), unpublished document, 3.

[32] Ibid.

[33] Maria Siow, “Asean turns to ‘reliable’ South Korea to feed growing demand for affordable hi-tech arms,” South China Morning Post, June 1, 2023, https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3222501/asean-turns-reliable-south-korea-feed-growing-demand-affordable-hi-tech-arms (accessed August 15, 2023).

[34] “South Korea, Southeast Asia must ‘join forces’ to counter North Korea: Yoon,” Channel News Asia, September 5, 2023, https://www.channelnewsasia.com/world/south-korea-asean-southeast-asia-join-forces-counter-north-yoon-suk-yeol-3747066 (accessed May 26, 2023).

[35] Anantasirikiat, “From Partnership for Sustainability to Sustainable Partnership,” 80-82.

[36] “Press Statement by the Prime Minister of the Kingdom of Thailand for the 1st Mekong-ROK Summit,” Ministry of Foreign Affairs, November 27, 2019, https://www.mfa.go.th/en/content/111769-press-statement-by-the-prime-minister-of-the-kingdom-of-thailand-for-the-1st-mekong-rok-summit (accessed May 26, 2023).

[37] Anh Hong, “Incentive policies appeal to Korean investors to Vietnam’s high-tech,” Hanoi Times, October 9, 2019, https://hanoitimes.vn/incentive-policies-appeal-to-korean-investors-to-vietnams-high-tech-45261.html (accessed May 26, 2023).

[38] คำแปลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank),” ธนาคารแห่งประเทศไทย, https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/digital-finance/virtual-bank.html (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566)

[39] “ASEAN-RoK financial cooperation centre opens in Jakarta,” Vietnam Plus, April 15, 2022, https://en.vietnamplus.vn/asean-rok-financial-cooperation-centre-opens-in-jakarta/225099.vnp (accessed May 26, 2023).

[40] Ayman Falak Medina, “Incentives for Doing Business in Indonesia,” ASEAN Briefing, March 31, 2023, https://www.aseanbriefing.com/news/incentives-for-doing-business-in-indonesia/ (accessed May 26, 2023).

[41] Shawn Ho, “A Singaporean Perspective on the NSP Plus’ Outreach to ASEAN,” in South Korea’s New Southern Policy: A Middle Power’s International Relations with Southeast Asia and India, ed. Lam Peng Er (London and New York: Routledge, 2023), 190.

[42] Seksan Anantasirikiat, “Attractive and (Could be More) Persuasive: A Thai Perspective on Korea’s Soft Power,” Korea Bulletin 4 (October-December 2022), 5-6, https://research.nus.edu.sg/eai/wp-content/uploads/sites/2/2023/02/KB-EAI-NUS-V4-OctDec2022-new3.pdf.

[43] “แปดริ้วนำร่อง นำระบบเทคโนโลยีเกาหลีใต้ใช้ จัดการจราจรอัจฉริยะ,” สยามรัฐออนไลน์, 7 ตุลาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/389091 (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566).

[44] Siow, “Asean turns to ‘reliable’ South Korea.”

[45] Anantasirikiat, “A Thai Perspective on the Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI).”

[46] Jae-eun Kang, Yoon’s approval rating inches down to 38 pct: Yonhap survey,” Yonhap News, August 9, 2023, https://en.yna.co.kr/view/AEN20230809002200315 (accessed August 15, 2023).

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชิ้นนี้ จัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก

[**] นักวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KATS)

Documents

1-2567_Jan2024_อินโด-แปซิฟิกเกาหลีใต้_เสกสรร.pdf