อาร์เมเนียกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้ | มัญชุลิกา วงศ์ไชย

อาร์เมเนียกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้ | มัญชุลิกา วงศ์ไชย

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 Nov 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 Nov 2024

| 217 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 4/2567 | พฤศจิกายน 2567

อาร์เมเนียกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้
มัญชุลิกา วงศ์ไชย*

(Download .pdf below)

 

            บทความนี้เป็นการบอกเล่าประสบการณ์และมุมมองของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม South Caucasus Realities, Challenges and Prospects เมื่อวันที่ 1-12 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งจัดโดย Diplomatic School ของกระทรวงการต่างประเทศอาร์เมเนีย มีผู้เข้าร่วมจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย           

            การอบรมครอบคลุมประเด็นการเมืองและนโยบายการต่างประเทศของประเทศ ในภูมิภาคคอเคซัสใต้ (South Caucasus) ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย รวมถึงบทบาทของผู้เล่นสําคัญในภูมิภาค ได้แก่ รัสเซีย ตุรกี อิหร่าน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการสัมมนาในช่วงเช้าและการเยี่ยมชมสถานที่สําคัญในช่วงบ่ายและวันหยุด อาทิ คริสตจักร Mother See of Holy Etchmiadzin อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย (Armenian genocide) 

 

ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์           

            อาร์เมเนียตั้งอยู่ในภูมิภาคคอเคซัสใต้ ซึ่งเป็นทางแยก (crossroads) ระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย อาร์เมเนียไม่มีทางออกสู่ทะเล ลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดคือมีภูเขาจํานวนมาก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,800 เมตร โดยภูเขาอารากัต (Aragats) เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในอาร์เมเนีย สูงจากระดับน้ำทะเล 4,090 เมตร อาร์เมเนียมีพรมแดนติดกับจอร์เจียทางทิศเหนือ อาเซอร์ไบจานทางทิศตะวันออก อิหร่านทางทิศใต้ และตุรกีทางทิศตะวันตก อย่างไรก็ดี อาร์เมเนียไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับตุรกีและอาเซอร์ไบจาน ทําให้พรมแดนกว่าร้อยละ 80 ของอาร์เมเนียที่ติดกับตุรกีและอาเซอร์ไบจานถูกปิด        

            อาร์เมเนียมีประชากรประมาณ 2.78 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Armenian Apostolic Church อาร์เมเนียมีประชากรโพ้นทะเล (diaspora) ประมาณ 7 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ส่วนมากอพยพออกนอกประเทศในช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย ระหว่าง ค.ศ. 1915-1923 ทําให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 1.5 ล้านคน ปัจจุบัน ชุมชนชาวอาร์เมเนียที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ชาวอาร์เมเนียโพ้นทะเลหลายคนประสบความสําเร็จและมีบทบาทในสังคมที่อพยพไปตั้งถิ่นฐาน อาทิ Cher เจ้าของเพลง Believe และ Strong Enough ที่โด่งดังไปทั่วโลก Kim Kardashian เซเลบชื่อดังจากรายการ Keeping Up with the Kardashians นาย Aram Khachaturian นักประพันธ์เพลงสมัยโซเวียต นาย Sergey Lavrov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย (บิดาเป็นชาวอาร์เมเนีย) และกลุ่ม lobbyists ที่มีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา

          สำหรับประเด็นศาสนาในอาร์เมเนีย นิกาย Armenian Apostolic Church ถือเป็นหนึ่งในนิกายศาสนาคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุด ตามตํานานเชื่อว่า อัครสาวก (apostle) 2 พระองค์ ได้แก่ Bartholomew และ Thaddeus เป็นผู้นําศาสนาคริสต์มาเผยแผ่ในอาร์เมเนียช่วงประมาณ ค.ศ. 30 โดยอัครสาวก Thaddeus ได้นําหอกศักดิ์สิทธิ (Holy Spear) มายังอาร์เมเนีย ตามตำนานเชื่อว่าทหารโรมันใช้หอกดังกล่าวแทงสีข้างพระเยซูขณะถูกตรึงกางเขนเพื่อตรวจว่าสิ้นพระชนม์แล้วหรือยัง ตั้งแต่อดีตหอกดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่ Geghard Monastery (Geghard ในภาษาอาร์เมเนีย แปลว่า หอก) ก่อนย้ายมาเก็บไว้ที่คริสตจักร Mother See of Holy Etchmiadzin หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ปัจจุบันผู้มีศรัทธาสามารถเยี่ยมชมและสักการะหอกศักดิ์สิทธิ์ได้ที่พิพิธภัณฑ์ใน Etchmiadzin 

         นอกจากนี้ ในคัมภีร์ไบเบิลยังระบุว่าเมื่อน้ำท่วมโลก เรือโนอาห์ (Noah’s Ark) ได้ไปจอดค้างที่ภูเขาอารารัต (Ararat) โดยโนอาห์และครอบครัวได้ลงมาจากเรือ เมื่อน้ำแห้งดีแล้ว ภูเขาอารารัตจึงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิในความเชื่อของชาวอาร์เมเนีย และที่พิพิธภัณฑ์ใน Etchmiadzin จึงมีการบูชาสักการะชิ้นไม้ที่เชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนของเรือโนอาห์ที่พบบนภูเขาอารารัตอีกด้วย 

 

ภาพที่ 1 หอกศักดิ์สิทธิ์ ภาพที่ 2 ชิ้นส่วนเรือโนอาห์ ที่พิพิธภัณฑ์ใน Etchmiadzin  

อาร์เมเนีย1 อาร์เมเนีย2  

ที่มา: ผู้เขียน

 

          อาร์เมเนียมีความภาคภูมิใจในการเป็นประเทศแรกของโลกที่รับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติเมื่อ ค.ศ. 301 โดยนักบุญ Gregory the Illuminator เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาและทําให้กษัตริย์อาร์เมเนียในตอนนั้นยอมรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจําชาติ จึงถือได้ว่านักบุญ Gregory the Illuminator เป็น ผู้นํา (Patriarch) ศาสนาคริสต์นิกาย Armenian Apostolic Church คนแรก สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คนที่ 85 ทั้งนี้ ผู้ที่จะนับถือศาสนาคริสต์นิกาย Armenian Apostolic Church ต้องเป็นชาวอาร์เมเนียหรือแต่งงานกับชาวอาร์เมเนีย

          ก่อนศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ในอาร์เมเนีย ผู้คนในดินแดนดังกล่าวนับถือเทพเจ้า (paganism) ทําให้ ปัจจุบัน ชาวอาร์เมเนียยังมีความเชื่อในการบูชายัญ (sacrifice) ปศุสัตว์ เช่น ไก่ แพะ วัว เพื่ออธิษฐานให้สมหวังและบริจาคเนื้อที่ได้จากการบูชายัญให้ชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นการทําทานอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ โบสถ์ Garni Temple เป็นโบสถ์ pagan โบสถ์เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในอาร์เมเนีย ซึ่งได้รับการบูรณะในช่วงโซเวียต

 

ภาพที่ 3   Garni Temple

อาร์เมเนีย3

ที่มา: ผู้เขียน

 

          อาร์เมเนียได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก (UNESCO World Heritage List) 3 แห่ง ซึ่งผู้จัดโครงการ ฝึกอบรมได้พาผู้เข้าร่วมไปเยี่ยมชม 2 แห่ง ได้แก่ Geghard Monastery และ Etchmiadzin (สถานที่เก็บหอกศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวอาร์เมเนีย) และมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ (UNESCO’s Intangible Cultural Heritage of Humanity) 7 รายการ ซึ่ง 1 รายการ เป็นการเสนอร่วมกับอิหร่าน (Pilgrimage to the St. Thaddeus Apostle Monastery)

 

บริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้

            อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน ทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno Karabakh) มาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต หากยึดตาม Alma-Ata Protocols (หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Almaty Declaration) ซึ่งประเทศอดีตสหภาพโซเวียตร่วมลงนามเมื่อ ค.ศ. 1991 เพื่อตกลงร่วมกันว่าพรมแดนของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ จะยึดตามการแบ่งเขตการปกครองสาธารณรัฐสังคมนิยม (Socialist Republic) ต่าง ๆ ในยุคโซเวียต ดังนั้น นากอร์โน-คาราบัคซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเอง (Autonomous Oblast) ภายใต้สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย กองกําลังอาร์เมเนียได้เข้าควบคุมพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาติพันธุ์อาร์เมเนีย และมีการปะทะกันกับฝ่ายอาเซอร์ไบจานเรื่อยมา จนถึงเมื่อเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ซึ่งอาเซอร์ไบจานได้มีชัยชนะเหนือฝ่ายอาร์เมเนีย ในสงครามนากอร์โน-คาราบัค ครั้งที่ 2 หรือสงคราม 44 วัน ปัจจุบัน อาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานอยู่ระหว่างเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้หลายประเทศ เช่น รัสเซีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

 

ภาพที่ 4   ภูมิภาคคอเคซัสใต้

อาร์เมเนีย4

ที่มา: Wikipedia[1]            

 

           อาร์เมเนีย-รัสเซีย รัสเซียมีบทบาทเป็น security guarantor ของอาร์เมเนีย ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม Declaration on the Allied Partnership ประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคคอเคซัสร่วมกัน เมื่อ ค.ศ. 2000 และอาร์เมเนียเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization: CSTO) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งรัสเซียมีบทบาทนํา อย่างไรก็ดี รัสเซียและ CSTO ไม่ได้ส่งกองกําลังเข้าช่วยอาร์เมเนียรบกับอาเซอร์ไบจานเมื่อ ค.ศ. 2020

           แม้ประธานาธิบดีรัสเซียจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและออกแถลงการณ์สามฝ่ายร่วมกับนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียและประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 เพื่อประกาศหยุดยิงและส่งกองกําลังรักษาสันติภาพของรัสเซียเข้าไปในพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค แต่การที่รัสเซียทอดทิ้งอาร์เมเนียในยามวิกฤต เป็นชนวนสําคัญให้อาร์เมเนียเริ่มกระจายความสัมพันธ์ไปหาพันธมิตรอื่นนอกภูมิภาค ลดการพึ่งพารัสเซีย รวมถึงงดการมีส่วนร่วมในกรอบ CSTO ทั้งนี้ เศรษฐกิจอาร์เมเนียยังคงพึ่งพารัสเซียอย่างมาก โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 (มูลค่าการค้า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2023) และลงทุนในอุตสาหกรรมสําคัญของอาร์เมเนีย เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ธนาคาร เหมือง โครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม           

           อาร์เมเนีย-ตุรกี ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เนื่องจากมีประเด็นทางประวัติศาสตร์จากสมัยออตโตมันที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย เดิมชาวอาร์เมเนียอาศัยอยู่ในบริเวณ Armenian Highlands มาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเป็นบริเวณประเทศอาร์เมเนียในปัจจุบันรวมกับอนาโตเลีย (Anatolia) หรือภาคตะวันออกของตุรกีในปัจจุบัน ซึ่งชาวอาร์เมเนียไม่ยอมรับคำนี้ที่มีรากมาจากภาษากรีกแปลว่าทิศตะวันออก แต่จะเรียกพื้นที่นี้ว่า Western Armenia และมีแนวคิดรวมประเทศอาร์เมเนียในปัจจุบันกลับคืนเป็น Greater Armenia ภูเขาอารารัตเป็นภูเขาที่สูงที่สุดใน Armenian Highlands (สูงจากระดับน้ำทะเล 5,137 เมตร) และเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวอาร์เมเนีย ปัจจุบันอยู่ในดินแดนของตุรกี แต่จากกรุงเยเรวานยังสามารถมองเห็นภูเขาอารารัตได้เด่นชัด จึงสร้างความสะเทือนใจต่อชาวอาร์เมเนีย ปัจจุบันรัฐบาลอาร์เมเนียไม่ได้กําหนดให้รัฐบาลตุรกียอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต แต่กระบวนการเปิดความสัมพันธ์ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอาร์เมเนียมองว่าตุรกีต้องการให้อาร์เมเนียยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเจรจาสันติภาพระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานก่อน 

 

ภาพที่ 5      ภูเขาอารารัต (Ararat)

อาร์เมเนีย5

ที่มา: ผู้เขียน 

 

          อาเซอร์ไบจาน-ตุรกี ต่างเป็นประเทศมุสลิม (อาเซอร์ไบจานนิกายชีอะฮ์ ตุรกีนิกายซุนนี) อาเซอร์ไบจานเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับตุรกีจนมีการเรียกว่าเป็น one nation, two states (ในกรุงบากู มีการประดับธงอาเซอร์ไบจานคู่กับธงตุรกีในหลายที่) ทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่ม Organization of Turkic States หรือประเทศที่ใช้ภาษากลุ่ม Turkic ซึ่งมีคาซัคสถาน คีร์กีซ เติร์กเมนิสถาน และ อุซเบกิสถาน เป็นสมาชิกด้วย นอกจากนี้
ในสงครามนากอร์โน-คาราบัค เมื่อ ค.ศ. 2020 ตุรกีได้สนับสนุนอาวุธและโดรนของตุรกีให้อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้อาเซอร์ไบจานชนะสงครามในที่สุด

          อาเซอร์ไบจาน-อิหร่าน แม้ทั้งสองประเทศจะเป็นประเทศมุสลิมนิกายชีอะฮ์เช่นเดียวกัน แต่อิหร่านค่อนข้างระมัดระวังอาเซอร์ไบจาน เนื่องจากรัฐบาลยุคแรกของอาเซอร์ไบจานมีแนวคิดรวมกลุ่มคนชาติพันธุ์อาเซอร์ไบจานในอิหร่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่ในอิหร่านซึ่งมีพรมแดนติดกับอาเซอร์ไบจานมีคนชาติพันธุ์อาเซอร์ไบจานอาศัยอยู่ประมาณ 12-23 ล้านคน มากกว่าประชากร 9 ล้านคนของอาเซอร์ไบจาน นอกจากนี้ แม้ทั้งสองประเทศจะนับถือนิกายชีอะฮ์เหมือนกัน แต่อาเซอร์ไบจานแยกหลักศาสนาออกจากการปกครองประเทศ (secular) เมื่อเปรียบเทียบแล้ว อิหร่านจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาร์เมเนียมากกว่า เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของอิหร่าน           

          รัสเซีย-จอร์เจีย เมื่อ ค.ศ. 2008 รัสเซียรับรองให้แคว้น Abkhazia และแคว้น South Ossetia (แคว้น Tskhinvali ในภาษาจอร์เจีย) เป็นดินแดนเอกราช นําไปสู่สงครามรัสเซีย-จอร์เจียในปีเดียวกัน ซึ่งจอร์เจียเป็นฝ่ายแพ้ มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 320,000 คน และ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย การเจรจาสันติภาพระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน

          ประเด็นสําคัญ 3 ประเด็นที่อยู่ระหว่างเจรจา ได้แก่ (1) การยอมรับบูรณภาพแห่งดินแดน (2) การปักปันเขตแดน และ (3) การเปิดเส้นทางคมนาคมและการติดต่อสื่อสาร โดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากอาร์เมเนียต้องการให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับเขตแดนตาม Alma-Ata Protocols เมื่อ ค.ศ. 1991 ขณะที่อาเซอร์ไบจานได้นําแผนที่หรือเอกสารอื่น ๆ มาใช้อ้างอิงเพื่อกําหนดเขตแดนเพิ่มเติม และกองกําลังอาเซอร์ไบจานยังคงรุกคืบเข้าครอบครองดินแดนบางส่วนของอาร์เมเนีย นอกจากนี้ ประเด็นการเปิดเส้นทางคมนาคมยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหว เนื่องจากอาเซอร์ไบจานมีเขตปกครองตนเอง Nakhchivan ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ติดกับพรมแดนหลักอาเซอร์ไบจาน มีพรมแดนอาร์เมเนียและพื้นที่นากอร์โน-คาราบัคคั่นกลาง อาเซอร์ไบจานจึงเสนอให้มีการเปิด Zangezur Corridor ให้รถยนต์สามารถผ่านเส้นทางดังกล่าวจากพรมแดนหลักไปแคว้น Nakhchivan อย่างไม่มีอุปสรรค (unimpeded) อย่างไรก็ดี อาร์เมเนียไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ เนื่องจากรถยนต์ที่ขับผ่านพรมแดนของอาร์เมเนียจะต้องมีการตรวจสอบตามกระบวนการผ่านแดน โดยอาร์เมเนียมีเทคโนโลยีเพื่ออํานวยความสะดวกและลดระยะเวลากระบวนการผ่านแดน รวมถึงได้เสนอแนวคิด “Crossroads of Peace” เพื่อเปิดเส้นทางการเดินทางเชื่อมต่อถนนทุกสายของประเทศในภูมิภาคคอเคซัสใต้ไม่เฉพาะ Zangezur Corridor

 

ภาพที่ 6   Zangezur Corridor

อาร์เมเนีย6

ที่มา: United World International[2] 

 

          แม้หลายประเทศจะมีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่เห็นได้ชัดว่าอาเซอร์ไบจานเป็นฝ่ายได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา เนื่องจาก (1) เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับตุรกี (2) ประเทศในยุโรปเริ่มซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจานมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย (3) รัสเซียต้องมุ่งเน้นปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยเมื่อ ค.ศ. 2020 อาร์เมเนียได้สั่งซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากรัสเซีย อย่างไรก็ดี รัสเซียไม่ได้ส่งยุทโธปกรณ์ให้ตามข้อตกลง โดยฝ่ายรัสเซียและอาร์เมเนียให้ข้อมูลว่า เป็นข้อติดขัดของภาคเอกชน อาร์เมเนียจึงซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอินเดียซึ่งได้รับมอบเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 และ (4) สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทําให้สหรัฐอเมริกาและอิหร่านหันความสนใจออกไปจากภูมิภาคคอเคซัสใต้ ทั้งนี้ นักวิชาการมองว่าอิหร่านแม้จะเป็น regional power แต่มีสถานะเป็น bystander ต่อความขัดแย้งในภูมิภาคคอเคซัสใต้มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

          จอร์เจียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน โดยเป็นทางผ่านเชื่อมอาร์เมเนียไปยังรัสเซียและทะเลดำ และวางบทบาทเป็นกลางในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน อย่างไรก็ดี จอร์เจียไม่สามารถยอมรับกลไก 3+3 format (ประเทศคอเคซัสใต้ รัสเซีย ตุรกี อิหร่าน) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทนากอร์โน-คาราบัคได้ เนื่องจากจอร์เจียไม่ประสงค์ร่วมมือกับรัสเซีย ปัจจุบัน จอร์เจียมุ่งเน้นการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและ NATO ซึ่งได้รับสถานะผู้สมัคร EU แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023

          อาร์เมเนียยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยได้ลงนามความตกลง Comprehensive and Enhanced Partnership Agreement (CEPA) กับสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 มีการจัดการประชุม Partnership Council, Partnership Committee และ Partnership Subcommittee เป็นประจําทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาร์เมเนียได้จัดตั้งกลไก Security Dialogue กับสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 2019 เพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชันในอาร์เมเนีย 

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียได้เข้าร่วมการประชุม Joint EU-US-Armenia High Level Meeting in Support of Armenia's resilience ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยมีนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นาย Josep Borrell ผู้แทนระดับสูง ของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และนาย Anthony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว EU ได้ประกาศแผน Resilience and Growth Plan for Armenia สําหรับ ค.ศ. 2024-207 มูลค่า 270 ล้านยูโร (ประมาณ 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายความเสี่ยงทางด้านการค้าของอาร์เมเนีย ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นและผู้อพยพจากพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค มูลค่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นับตั้งแต่สงครามยุติใน ค.ศ. 2020 สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อาร์เมเนียรวม 38.4 ล้านยูโร (ประมาณ 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลืออาร์เมเนียรวม 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          แม้อาร์เมเนียจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่นักวิชาการประเมินว่า ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังไม่พร้อมเป็น security guarantor ให้แก่อาร์เมเนีย

 

มุมมองและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

          โครงการฝึกอบรมนี้เป็นครั้งแรกที่ Diplomatic School กระทรวงการต่างประเทศอาร์เมเนีย เชิญนักการทูตจากภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมอันสะท้อนความพยายามของอาร์เมเนียที่จะกระจายความเสี่ยงและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น

          ในการเข้าพบนาง Hripsime Mkrtchyan กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงเยเรวาน ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันมีคนไทยในอาร์เมเนียประมาณ 50 คน ส่วนมากประกอบอาชีพในร้านอาหารและร้านนวด หากไทยและอาร์เมเนียสามารถลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการในโอกาสแรก และผลักดันการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกันก็น่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศมากขึ้น

          แม้ภูมิภาคคอเคซัสใต้จะมีประเทศขนาดเล็ก 3 ประเทศ แต่ละประเทศกลับมีนโยบายแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างกันหรือกับผู้เล่นสําคัญยังเป็นอุปสรรคต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งไทยสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสามารถเลือกกระชับความร่วมมือในสาขาที่สร้างสรรค์และเป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับแต่ละประเทศได้ ได้แก่ การขอรับการสนับสนุนจากอาร์เมเนียในการเจรจา FTA ไทย-EAEU การรักษาปฏิสัมพันธ์อันดีกับอาเซอร์ไบจาน และสามารถร่วมมือกันได้ในกรอบ NAM OIC และ CICA ขณะที่จอร์เจียเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทย จึงอาจเน้นความร่วมมือด้านกงสุลและการท่องเที่ยว

          ไทยกับอาร์เมเนียยังมีปฏิสัมพันธ์กันไม่มากนัก เมื่อคํานึงว่าไทยประสงค์เริ่มต้นกระบวนการเจรจา FTA กับ EAEU ซึ่งอาร์เมเนียเป็นประเทศสมาชิก จึงอาจพิจารณา (1) จัดการประชุม Political Consultations ครั้งที่ 1 และ (2) เร่งรัดการพิจารณาร่างความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป

 

[1] South Caucasus. (2013, January 21). Wikipedia, available at https://en.wikipedia.org/wiki/South_Caucasus

[2] United World International, available at https://unitedworldint.com/31749-all-eyes-on-the-zangezur-corridor/

 

[*] นักการทูตปฏิบัติการ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติงานที่กองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป

Documents

4-2567_Nov2024_อาร์เมเนีย_มัญชุลิกา.pdf