วันที่นำเข้าข้อมูล 3 Oct 2022
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 May 2023
No. 9/2565 | กันยายน 2565
อาเซียน: ความคาดหวังกับความเป็นจริง
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ*
(Download .pdf below)
ค.ศ. 2022 เป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 55 ปี โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับนับตั้งแต่ก่อตั้ง แรงผลักดันจากทั้งบริบทสถานการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้นและบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของประเทศสมาชิกหลักเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อาเซียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่ง อาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่สมรรถนะแท้จริงของอาเซียนไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ บทความนี้ต้องการสะท้อนความคาดหวังต่ออาเซียนจากมุมมองของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการพิจารณานโยบายเกี่ยวกับอาเซียน พร้อมกับนำเสนอแนวทางพินิจอาเซียนที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นโอกาสสำหรับตัวแสดงต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากอาเซียนให้มากขึ้น
ความคาดหวังต่ออนาคตของอาเซียน[1]
เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก อาเซียนไม่อาจหลีกหนีผลกระทบจากบริบทความพลิกผันต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวทางเทคโนโลยี ประเด็นเหล่านี้เป็นบริบทตั้งต้นสำคัญหากจะพิจารณาถึงบทบาทและแนวทางการทำงานของอาเซียนในทศวรรษหน้า ในโลกที่ “พลิกผัน” มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงกันมากในวงวิชาการคือคำถามต่อหลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันและการตัดสินใจแบบฉันทมติของอาเซียนว่าทำให้การขับเคลื่อนประเด็นและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ล่าช้าเกินไปหรือไม่ มีความคาดหวังจากภายในและภายนอกภูมิภาคว่า อาเซียนควรจะเป็นองค์กรที่ช่วยระงับหรือลดความขัดแย้ง และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันได้มากกว่านี้ อาเซียนจึงควรมีกลไกหรือมาตรการในการบังคับประเทศสมาชิกอาเซียนให้ปฏิบัติตามหลักการในกฎบัตรโดยเคร่งครัดกว่านี้
ประเด็นต่อมาคือ อาเซียนยังไม่เข้าถึงและตอบสนองข้อเสนอของภาคประชาชนเท่าที่ควร อาเซียนมีเวทีสำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะนั่นคือ ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples’ Forum แต่ผู้นำของประเทศในอาเซียนรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเพียงใด ในระดับประชาชน คนในภูมิภาคอาเซียนยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนมากนัก ในขณะที่อาเซียนเน้นย้ำเสมอถึงการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและความหลากหลายที่เป็นคุณค่าสำคัญของภูมิภาคซึ่งสะท้อนการดำรงอยู่หรือการมีตัวตนของอาเซียนเอง อาเซียนควรให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงประชาชนในระดับต่าง ๆ มากกว่านี้
ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศอาเซียนควรคำนึงถึงความยั่งยืนของการค้า การลงทุน และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาเซียนควรเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันในอาเซียน (intra-ASEAN trade) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สามารถขยายผลไปสู่การสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งของประชาคมในมิติอื่น ๆ ได้ ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งวาระที่อาเซียนต้องเร่งสร้างศักยภาพ ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็น “ผู้รับ” เทคโนโลยี หรือ “ผู้รอ” การลงทุนจากประเทศภายนอกเป็นหลัก หากอาเซียนสามารถช่วยเหลือกันในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีได้ย่อมส่งผลให้ความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ที่หมายถึงการพึ่งพากันภายในภูมิภาคและลดอิทธิพลของภายนอกที่จะมีผลต่อการดำเนินกิจการของอาเซียน มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ประเทศและประชาชนอาเซียนสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังมากมายเพียงนี้อย่างไร? ผู้เขียนเสนอให้ (1) เรียนรู้จากทศวรรษแรกของอาเซียน และ (2) ใช้ประโยชน์จากอาเซียนในฐานะ “เครื่องมือ” ในการบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากอาเซียนมีวิถีการทำงานที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถปรับปรุงหรือเพิ่มเติมรูปแบบ กลไก ข้อเสนอ และแนวทางการทำงาน โดยสอดคล้องกับบรรทัดฐานและโครงสร้างการทำงานที่เป็นกรอบกว้าง ๆ และตัดสินใจโดยใช้ฉันทมติ
เรียนรู้จากทศวรรษแรกของอาเซียน
ข้อสังเกตเรื่องช่องว่างระหว่างความคาดหวังที่ตัวแสดงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมีต่ออาเซียนกับความเป็นจริงที่อาเซียนเป็นหรือทำได้มีมาตั้งแต่ทศวรรษแรกของการก่อตั้งอาเซียนใน ค.ศ. 1967 แล้ว ดร. ฐากูร พานิช เล่าไว้ในหนังสือ ASEAN’s First Decade ซึ่งพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านใน ค.ศ. 1980 ว่า เพิ่งลงนามก่อตั้งอาเซียนกันได้ไม่ทันไร ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งก็กลับไปอ้างสิทธิเหนือดินแดนรัฐซาบาห์ในปีต่อมาทันที แต่อาเซียนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้แม้ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันในบรรดาประเทศก่อตั้งยังคงอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ในระยะแรกเริ่ม สิ่งที่อาเซียนทำสำเร็จไม่ใช่การสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ Carlos P. Romulo กล่าวไว้อย่างน่าสนใจใน ค.ศ. 1971 ว่า
มีคนกล่าวว่า อาเซียนนั้นเชื่องช้า-ทั้งในการกำหนดนโยบายและการทำนโยบายให้เกิดผลจริง ผมคิดว่าไม่เกินความจริงหรอก แต่ที่อาเซียนช้าเพราะตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อะไรที่ทำเร็วเกินไปอาจสร้างปัญหาที่หากเราไม่ระวังแล้ว คงจะฟื้นคืนได้ยาก ในมุมมองของอาเซียน การทำงานแบบจำกัดแต่ทำให้สำเร็จดีกว่าทำอะไรใหญ่โตแต่เสี่ยงล้มเหลวมากนัก[2]
ดร. ฐากูร ชี้ให้เห็นว่า การทำงานของอาเซียนที่กำหนดเป้าหมายและมีผลผลิตอย่างจริงจังเริ่มต้นใน ค.ศ. 1972 ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีหลายการประชุมมีนโยบายและแนวทางการทำกิจกรรม/โครงการร่วมกันในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าของอาเซียนคือ ชาตินิยมแบบคับแคบที่มองเฉพาะผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐตนเป็นใหญ่ซึ่งยังมีอยู่มากในช่วงแรกของการก่อตั้ง และลักษณะทางสังคม-การเมืองของแต่ละประเทศเองที่มีความหลากหลายในรูปแบบของการจัดการปกครองซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจที่อาจจะช้าหรือเร็วด้วย
แต่ในความโชคร้ายมีความโชคดี สถานการณ์ระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่มีความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต การถอนตัวของประเทศโลกตะวันตกหลังจากสงครามเวียดนาม วิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาอินโดจีน กลับกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ช่วยผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้ก้าวหน้ามากขึ้น ประเทศสมาชิกต่างตระหนักว่า ไม่อาจพึ่งพามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งได้ตลอดไป อย่างน้อยการมีอาเซียนทำให้อุ่นใจในระดับหนึ่งว่า หากเกิดวิกฤต จะยังพอมีกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้
หนังสือของ ดร. ฐากูร ให้ข้อเสนอแนะในการบูรณาการภูมิภาคให้กระชับยิ่งขึ้นไว้ 3 แนวทางซึ่งปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอในหมู่ผู้ปฏิบัตินโยบายและวงวิชาการอาเซียนศึกษา แนวทางแรก สร้างสถาบันระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยจำกัดหรือปรับรูปแบบของการลงมติแทนที่จะใช้ฉันทมติ (consensus) ในทุกเรื่อง ให้ใช้เฉพาะเรื่องสำคัญระดับนโยบายเท่านั้นซึ่งประเทศสมาชิกมีสิทธิยับยั้ง (veto rights) ส่วนบริหารหรือระดับปฏิบัติการอาจใช้การตัดสินใจแบบเสียงข้างมาก (majority rule) แนวทางที่สองที่ ดร. ฐากูร เห็นว่าอาจใช้ต้นทุนต่ำกว่าคือ การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียนให้แพร่หลายซึ่งมีข้อจำกัดอย่างมากในขณะนั้น และแนวทางสุดท้ายที่น่าจะมีประสิทธิภาพคือ การเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนสู่ประชาชนผ่านกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดเช่นกันเพราะในเวลานั้นบางประเทศยังอยู่ในกระบวนการเริ่มสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ และกิจกรรมลักษณะนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ยังดีที่มีผู้เล่นภายนอกอย่างญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง
จะเห็นได้ว่า บริบททั้งภายนอกและภายในภูมิภาคมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางของอาเซียนในทศวรรษแรก อาเซียนเป็นองค์กรที่ “ช้าแต่หนักแน่น (slow but steady)” ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยความตระหนักว่า หากขับเคลื่อนประเทศที่มีความแตกต่างกันสูงมากในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเร็วเกินไป อาเซียนอาจพบจุดจบไปแล้วก็เป็นได้ และสถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่อาจรับประกันได้เช่นกันว่าจะดีหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือ
การกำเนิดของอาเซียนสะท้อนเจตนาของประเทศสมาชิกที่จะใช้องค์กรอาเซียนเพื่อสนองวัตถุประสงค์ร่วมและวัตถุประสงค์ของแต่ละประเทศ กรณีของอาเซียนเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เรียกว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาค หรือ ภูมิภาคนิยม หรือการบูรณาการในระดับภูมิภาคเป็นเครื่องมือ (means) ให้ประเทศสมาชิกบรรลุผลประโยชน์และวัตถุประสงค์แห่งชาติของตน ซึ่งไม่ใช่เป้าประสงค์ในตัวอาเซียนเอง (not an end in itself) อาเซียนเป็นเพียงอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยดำเนินงานให้ประเทศสมาชิก[3]
ข้อความข้างต้นจากเอกสารศึกษาของ ดร. ฐากูร แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาเซียนเป็น “วิธีการ/กระบวนการ” สอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการอย่าง Jones and Smith[4] ที่ตั้งชื่อบทความของทั้งสองว่า “Making Process, Not Progress” โดยเฉพาะ (1) บทบาทในการส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียใน ค.ศ. 1997 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพร้อม ๆ กับการระดมความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค อาทิ ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) (2) การบูรณาการสาขาความร่วมมือและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในภูมิภาค บทความยกตัวอย่างความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งในขณะนั้นประเทศสมาชิกอาจมีมุมมองและแนวปฏิบัติภายในประเทศที่แตกต่างกัน แต่กลับสามารถหาจุดยืนร่วมกันในประเด็นดังกล่าวได้ และ (3) การขยายขนาดของประชาคมที่เปิดโอกาสให้ประเทศคู่เจรจาสามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีการประชุมในระดับต่าง ๆ และเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF)
สถานการณ์การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นมีความเข้มข้นและรุนแรงไม่แตกต่างไปจากบริบทที่อาเซียนก่อตั้งในทศวรรษแรกมากนัก มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันสร้างอำนาจนำและแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคด้วยวิธีการต่าง ๆ รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดในอาเซียน The State of Southeast Asia 2022: Survey Report จัดทำโดย ASEAN Studies Centre, ISEAS-Yusof Ishak Institute นำเสนออย่างสนใจว่า ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สิ่งที่อาเซียนควรทำคือ เพิ่ม resilience หรือความยืดหยุ่นตั้งมั่น[5] และความเป็นเอกภาพ (unity) เพื่อลดแรงกดดันจากสองมหาอำนาจ อันดับรองลงมาคือ รักษาจุดยืนที่ไม่เลือกข้าง และหาฝ่ายที่สามเพื่อเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์[6] แสดงให้เห็นว่า อาเซียนเองยังมีความหมายในสายตาของผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่ตอบแบบสำรวจดังกล่าวในฐานะ “เครื่องมือ” ของการต่อรองกับผู้เล่นภายนอก อาเซียนยังมีเอกสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ที่ประเทศภายนอกอาเซียนหรือองค์กรระหว่างประเทศจะต้องลงนามภาคยานุวัติสารหากประสงค์จะมีความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นทางการ อาเซียนมีปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration: ZOPFAN) สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ) หรือแม้แต่เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ที่ไทยผลักดันในปีที่เป็นประธานอาเซียน ใน ค.ศ. 2019 ที่สามารถเป็น “หลังพิง” ในเชิงหลักการเกี่ยวกับความเป็นกลาง การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน และการลดแรงจูงใจในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศสมาชิกอาเซียน
ในระดับปฏิบัติการ อาเซียนมีกลไกการประชุมและแผนงานจำนวนมาก แผนงานที่ผู้เขียนประทับใจและเห็นว่าสำคัญที่สุดในบริบทที่ความคาดหวังต่ออาเซียนมีอยู่สูงกว่าสมรรถนะแท้จริงที่อาเซียนมี สมควรที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาเซียนควรได้อ่านทุกคนคือ แผนงานว่าด้วยการสื่อสารของอาเซียน (ASEAN Communication Master Plan: ACMP) ที่มีการจำแนกกลุ่มเป้าหมาย ข้อความและวิธีการที่ควรใช้สื่อสาร โดยกำหนดสาระหลักคือ อาเซียนคือประชาคมแห่งโอกาสของทุกคน (ASEAN: A Community of Opportunities for All) และนำเสนอสาระย่อยที่สอดคล้องกับใจความในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ (1) อาเซียนมีอัตลักษณ์ของตนเอง (อาจแปลได้ว่า อาเซียนไม่ใช่และจะไม่เป็นแบบสหภาพยุโรป) และแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่ออยู่รวมกันเป็นประชาคม (2) การบูรณาการที่มากขึ้นจะนำโอกาสมาสู่ทุกคน และ (3) สันติภาพและความมั่นคงเป็นหนึ่งในคุณประโยชน์ของอาเซียน พร้อมกับให้ตัวอย่างข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์สนับสนุน
นอกจากแผนงานการสื่อสารแล้ว กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) หมวด 8 ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทยังเปิดช่องสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอมไกล่เกลี่ย การใช้กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท หรือบทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติและกระบวนการระหว่างประเทศอื่น ๆ ไว้ด้วย การเปิดช่องทางไว้เช่นนี้ทำให้อาเซียนมีโอกาสที่จะใช้เครื่องมือหรือกลไกทางกฎหมายได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเทศใดประสงค์จะมีบทบาทนำในรูปแบบใด และสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เชื่อถือและยอมรับได้มากเพียงใด ประเทศไทยเองเคยเสนอ ASEAN Troika ใน ค.ศ. 1999 เป็นกลไกเฉพาะกิจในระดับรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที นอกจากการใช้โอกาสจากกลไกรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ระบุในกฎบัตรแล้ว สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ควรเป็นอีกหน่วยงานที่ต้องเร่งปรับตัวให้ตอบสนองบริบทความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น และประเทศไทยควรส่งเสริมให้คนไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปมีบทบาทในตำแหน่งระดับบริหารต่าง ๆ ของสำนักเลขาธิการมากขึ้น
ในระดับประชาชน อาเซียนสามารถเป็น “เครื่องมือ” ในการบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน ในช่วงที่ผู้เขียนศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Seoul National University ได้มีโอกาสจัดตั้ง “โต๊ะกลมอาเซียน (ASEAN Roundtable)”[7] ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาชาวอาเซียนและผู้ที่สนใจอาเซียนจากภูมิภาคอื่น ๆ ได้แสดงความคิดเห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศคู่เจรจาและเพิ่มสถานะและเกียรติภูมิให้นักศึกษาชาวอาเซียน ที่สำคัญ โต๊ะกลมนี้ได้เป็นสะพานเชื่อมนักศึกษาชาวอาเซียนกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ปกตินักศึกษาจะไม่มีโอกาสได้เข้าพบ อาทิ สถานเอกอัครราชทูต สำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (Trilateral Cooperation Secretariat) และศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Centre) ด้วย
กล่าวโดยสรุป การทำงานและการดำรงอยู่ของอาเซียนจะมีเงาของความคาดหวังจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอาเซียนติดตัวไปด้วยเสมอ แต่อาเซียนยังมีความจำเป็น ยิ่งในบริบทของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจด้วยแล้ว อาเซียนจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบรรลุเป้าหมายได้ อย่างน้อยที่สุด การมีเครื่องมือนี่ไว้กับตัวย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย
[1] เนื้อหาส่วนนี้เรียบเรียงขึ้นจากการสัมมนาในหัวข้อ “เข้าใจความท้าทายในอนาคตของอาเซียน: มุมมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ในงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียน จัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2022
[2] Thakur Phanit, ASEAN’s First Decade (Bangkok: International Studies Center, 2021), 255-256.
[3] ฐากูร พานิช, กว่าจะมาเป็นประชาคมอาเซียน (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ), 14.
[4] David Martin Jones and Michael L. R. Smith, “Making Process, Not Progress: ASEAN and the Evolving East Asian Regional Order,” International Security 32, no. 1 (Summer 2007): 160-180.
[5] คำแปลของ รองศาสตราจารย์ ดร. ม.ล. พินิตพันธุ์ บริพัตร ที่กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ ASEAN’s First Decade และการเสวนา ASEAN’s Next Decade เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 จัดโดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) ร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย
[6] ISEAS-Yusof Ishak Institute, The State of Southeast Asia 2022: Survey Report (Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute, 2022), 31.
[7] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโต๊ะกลมอาเซียนได้ที่ Seksan Anantasirikiat, “Branding ASEAN, Bridging People in South Korea,” Blog, USC Center on Public Diplomacy, January 21, 2019, https://uscpublicdiplomacy.org/blog/branding-asean-bridging-people-south-korea.
[*] นักวิจัย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ