เรียนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จากคุณอานันท์ ปันยารชุน | ศุภมิตร ปิติพัฒน์

เรียนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จากคุณอานันท์ ปันยารชุน | ศุภมิตร ปิติพัฒน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 Apr 2022

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 Dec 2022

| 11,082 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 5/2565 | เมษายน 2565

เรียนนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จากคุณอานันท์ ปันยารชุน*
ศุภมิตร ปิติพัฒน์** 

(Download .pdf below)

 

          เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 คุณอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นประธานในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ Thai Diplomacy: in Conversation with Tej Bunnag

          ในตอนท้ายของการเสวนา คุณอานันท์ได้ให้ข้อคิดเห็นน่าฟังน่าคิดตามหลายเรื่อง รวมทั้งความแตกต่างระหว่างนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนสำคัญสำหรับงานการทูตหรืองานของฝ่ายปฏิบัติอยู่ที่การเข้าใจยุทธศาสตร์ ทั้งยุทธศาสตร์ของเราและของคนอื่น ๆ คุณอานันท์ได้ยกสหรัฐฯ กับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่าง และชวนให้พิจารณาสถานการณ์สงครามในยูเครนด้วย

          รายละเอียดที่ท่านกล่าวให้ข้อคิด คงต้องรอฟังจากบันทึกการเสวนาของ ISC ส่วนที่ข้าพเจ้าจะบันทึกต่อไปนี้ เป็นส่วนความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อได้เรียนวิธีมองยุทธศาสตร์จากข้อคิดและตัวอย่างของคุณอานันท์ ที่ท่านให้ไว้ในวงเสวนา

          ข้อสังเกตของคุณอานันท์ ในทางหนึ่งทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงประธานาธิบดี Joe Biden และยุทธศาสตร์ของเขาต่อรัสเซียในสงครามยูเครนขณะนี้ว่าคืออะไรแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Biden ออกมาเรียกร้อง war crimes trial และเลือกจัดปูตินเป็น war criminal ไปแล้ว ฟังจากข่าวก็ยังไม่สู้จะเข้าใจนัก ส่วนหนึ่งเพราะว่าตัวเองยังติดความคิดที่มองมหาอำนาจในแบบเก่า ว่าพวกเขาไม่ว่าฝ่ายไหน จะเข้าใจและยังรับความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ในเรื่อง sphere of influence เป็นแนวทางจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ แต่การสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อยูเครนบ่งว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว ข้าพเจ้าจึงต้องหาทางปรับความเข้าใจของตัวเอง

          นอกจากสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ Biden ยังออกมานำชาติอื่นในการตั้งประเด็น war crimes และ war criminal ต่อรัสเซียและปูติน ทั้งที่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นรัฐภาคีสมาชิกใน Rome Statute of the International Criminal Court และพลเมืองสหรัฐฯ อย่างเฮนรี่ คิสซินเจอร์ ก็อยู่ในข่ายที่ถูกใคร ๆ หลายฝ่ายมองว่าเป็น war criminal เหมือนกัน ดัง Christopher Hitchens (2001) เคยแจกแจงความผิดของคิสซินเจอร์ (และสหรัฐฯ) ไว้อย่างละเอียด แต่ Hitchens ก็ตายจากไปก่อน และตอนหลังเขาหันกลับมาสนับสนุนสหรัฐฯ ใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงหลัง 9/11 เหมือนกัน[1]

          คำถามที่ข้าพเจ้าสนใจตอนอ่านเจอ-ติดตามข่าวเรื่องนี้ คือทำไม Biden นำมาในทางกฎหมายแบบนี้ แต่ยังไม่รู้จะอธิบายวิธี Biden ให้ตัวเองเข้าใจอย่างไร

          จนได้มาฟังคุณอานันท์ให้ความเข้าใจยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงผลลัพธ์ที่สหรัฐฯ ต้องการได้ หรือต้องการเลี่ยง กับวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ในการทำสงครามในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็น total war คุณอานันท์ใช้คำบรรยายวิธีการของสหรัฐฯ คำหนึ่งคือคำว่า ถล่มให้ราบ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคำที่เหมาะมากสำหรับจะใช้กับ total war แบบสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรวมด้วย คำว่าเบ็ดเสร็จ ที่ใช้กัน ข้าพเจ้าว่าให้ภาพ total war ไม่ชัดเจนเท่ากับ สงครามแบบถล่มให้ราบ

          พอฟังคุณอานันท์มองยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ในสงคราม “ถล่มให้ราบ” ข้าพเจ้าก็คิดถึง George Kennan และงาน American Diplomacy ของเขาขึ้นมาได้ในตอนนั้น และได้ความเข้าใจหรือได้คำอธิบายที่ข้าพเจ้าจะใช้พิจารณาวิธีของ Biden ต่อรัสเซียในสงครามในยูเครนมาพร้อมกัน

          คุณอานันท์กับ Kennan เหมือนกันในข้อที่ว่าการเป็นนักยุทธศาสตร์กับการเป็นนักปฏิบัติส่งเสริมกันและกันอย่างดียิ่ง การฟังข้อคิดทางยุทธศาสตร์ต้องฟังจากฝ่ายปฏิบัติ หรือจากคนมีประสบการณ์ผ่านงานในฝ่ายปฏิบัติมามาก พวกเขาจะเห็นและจะให้แง่คิดมุมมองอันควรสังเกต อย่างที่นักวิชาการในโลกทฤษฎีให้ไม่ได้ หรือสังเกตได้ก็ไม่คล่องแคล่วฉับไวเท่า

          ดังนั้น พอกลับถึงบ้าน อย่างแรกที่ทำคือหาหนังสือของ Kennan

          Kennan เคยให้ข้อสังเกตนี้ไว้ใน American Diplomacy เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทางกฎหมายกับการสงคราม ต้องบอกด้วยว่า เขาไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีแบบนี้ แต่ไม่ว่า Kennan จะเห็นด้วยหรือไม่ ข้อสังเกตของเขาถึงผลในทางยุทธศาสตร์ในการใช้เครื่องมือกฎหมายกับการสงคราม ก็แหลมคมมาก

          เมื่อ Kennan กล่าวถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของการใช้เครื่องมือทางกฎหมายกับการสงครามแล้ว เขาให้ข้อสังเกตในประการสุดท้ายว่า[2]

            There is a greater deficiency still that I should like to mention before I close.

            That is the inevitable association of legalistic ideas with moralistic ones: the carrying-over into the affairs of states of the concepts of right and wrong, the assumption that state behavior is a fit subject for moral judgment. Whoever says there is a law must of course be indignant against the lawbreaker and feel a moral superiority to him.

            And when such indignation spills over into military contest, it knows no bounds short of the reduction of the lawbreaker to the point of complete submissiveness — namely, unconditional surrender.

            It is a curious thing, but it is true, that the legalistic approach to world affairs, rooted as it unquestionably is in a desire to do away with war and violence, makes violence more enduring, more terrible, and more destructive to political stability than did the older motives of national interest.

            A war fought in the name of high moral principle finds no early end short of some form of total domination. (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

          เมื่อฟังคุณอานันท์พาให้คิดถึงมติของ Kennan ข้าพเจ้าก็ได้คำถามและข้อคิดต่อ Biden  และการเลือกใช้ legalistic approach ร่วมกับ sanctions ในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไว้ติดตามทำความเข้าใจผลลัพธ์ และวิธีการในการสงครามร่วมสมัยระหว่างประเทศมหาอำนาจต่อไป

          ขอสันติสุขกลับคืนสู่ยูเครนในเร็ววัน

 

[1] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Christopher Hitchens, The Trial of Henry Kissinger, (London: Verso, 2001).

[2] George F. Kennan, American Diplomacy, expanded edition, (Chicago: The University of Chicago Press, 1951/1984), 100-1.

 

[*] ข้อสังเกตเพิ่มเติมของผู้เขียนจากการอภิปรายในการสัมมนาเปิดตัวหนังสือ “Thai Diplomacy: In Conversation with Tej Bunnag” จัดโดย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ณ ห้องสุรวงศ์บอลรูม 1 โรงแรมแบ็งคอกแมริออท เดอะสุรวงศ์

[**] ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Documents

5-2565_Apr2022_เรียนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ_จากคุณอานันท์_ปันยารชุน_ศุภมิตร_ปิติพัฒน์.pdf