ไขกุญแจการต่างประเทศรัสเซีย | ภราดร รังสิมาภรณ์

ไขกุญแจการต่างประเทศรัสเซีย | ภราดร รังสิมาภรณ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 Dec 2023

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 Sep 2024

| 2,984 view
วิเทศปริทัศน์_(JPG)

No. 5/2566 | ธันวาคม 2566

ไขกุญแจการต่างประเทศรัสเซีย*
ภราดร รังสิมาภรณ์**

(Download .pdf below)

 

          Winston Churchill ผู้นำสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าวถึงรัสเซียในสมัยที่เป็นสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1939 ว่า “I cannot forecast to you the action of Russia. It is a riddle wrapped in a mystery inside an enigma” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ยังใช้กับรัสเซียได้ในปัจจุบัน เพราะการที่จะเข้าใจหรือคาดการณ์พฤติกรรมของรัสเซียนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากระบอบการปกครองของรัสเซียก็ยังเป็นระบอบกึ่งเผด็จการหรืออำนาจนิยม ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่แตกต่างนักจากสมัยที่เป็นสหภาพโซเวียตหรือจักรวรรดิรัสเซีย โดยผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดนโยบายต่างประเทศรัสเซียมีอยู่เพียงไม่กี่คน ซึ่งแน่นอนผู้ที่กุมอำนาจสูงสุด คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ดังนั้น การวิเคราะห์หรือคาดการณ์ท่าที ค่านิยม และแนวโน้มนโยบายของรัสเซียเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ซึ่งนักวิชาการและผู้ที่เป็น Russia watchers ทั้งหลายมักเรียกพระราชวัง Kremlin ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองและการกำหนดนโยบายของรัสเซียว่าเป็น black box อันยากที่จะทะลวงเข้าถึงได้

          อย่างไรก็ดี คำกล่าวของ Churchill ดังกล่าว ยังไม่จบดี เพราะเขากล่าวต่อว่า “but perhaps there is a key. That key is Russian national interests.” กล่าวคือ การจะเข้าใจรัสเซียได้ ก็ต้องเข้าใจผลประโยชน์ของรัสเซีย และการจะเข้าใจผลประโยชน์ของรัสเซียได้ ก็จะต้องเข้าใจสิ่งที่มาหล่อหลอมผลประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งหลัก ๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ แนวความคิดหรืออุดมการณ์ มุมมองของรัสเซียต่อตนเอง ต่อโลก และต่อประเทศอื่น ๆ

          อาจกล่าวได้ว่า รัสเซียประกอบด้วยปัจจัยหรือคุณลักษณะหลัก 3 ประการ ที่ทำให้เราสามารถเข้าใจท่าทีและนโยบายรัสเซียในการต่างประเทศได้ดีขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหรือคุณลักษณะที่มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การต่างประเทศของรัสเซีย 

          ลำดับแรกคือ Fortress Russia หรือการมองรัสเซียเป็นป้อมปราการที่จะต้องเผชิญภัยคุกคามรอบด้าน ทั้งจากเอเชียในสมัยที่มองโกลรุกรานและครอบครองรัสเซียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 15 และต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มคืบคลานเข้ามาทางอาณาเขตตะวันออกไกลของรัสเซีย จนเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อปี ค.ศ. 1904-1905 ที่จักรวรรดิรัสเซียพ่ายแพ้ญี่ปุ่นอย่างเสียท่า ปี ค.ศ. 1939 ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สหภาพโซเวียตในการสู้รบบริเวณแนวชายแดน และปี ค.ศ. 1945 ในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหภาพโซเวียตฉวยโอกาสโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในพื้นที่ตอนเหนือของจีนและเกาหลี รวมทั้งหมู่เกาะต่าง ๆ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังพ่ายแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตร

          แต่ผู้เล่นที่รัสเซียมองเป็นภัยคุกคามหลัก คือ ยุโรปหรือต่อมาคือกลุ่มประเทศตะวันตกนั่นเอง โดยนับตั้งแต่อดีตมีนานาประเทศตบเท้ากันรุกรานรัสเซีย เช่น โปแลนด์ และสวีเดน ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สวีเดนอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเยอรมนี 2 ครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั่นเอง

          นอกจากนั้น รัสเซียต้องเผชิญภัยคุกคามจากจักรวรรดิออตโตมันทางตอนใต้ของรัสเซียอีกด้วย ซึ่งรบกับรัสเซียถึง 12 ครั้ง ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-20 ตลอดจนสงครามไครเมียในช่วงปี ค.ศ. 1853-1856 ที่รัสเซียรบกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และตุรกี และยังมีสงครามสายลับหรือสงครามข่าวกรองกับสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่า The Great Game ในแถบเอเชียใต้และเอเชียกลางอีกด้วยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนั้น รัสเซียยังต้องเผชิญภัยคุกคามจากชาวมุสลิมที่ตนไปยึดครองในแถบคอเคซัสตอนเหนือซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซีย โดยเฉพาะจากชาวเชชเนีย (Chechnya) ซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้ ทำให้รัสเซียมองทางตอนใต้ของประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียกลางว่าเป็น soft underbelly ที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สหภาพโซเวียตตัดสินใจบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี ค.ศ. 1979 เพื่อป้องปรามไม่ให้ปัญหาภายในประเทศเกิดการ spillover เข้ามาในบริเวณเอเชียกลางของสหภาพโซเวียตต่อไป

          ดังนั้น ไม่แปลกใจที่สงครามและการรุกรานเหล่านี้ ส่งผลให้รัสเซียเป็นประเทศที่หวาดระแวงมาก มองเห็นถึงภัยคุกคามรอบด้าน และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมียุทธศาสตร์ defence in depth หรือการป้องกันเชิงลึก จากการที่รัสเซียมีอาณาเขตใหญ่โต สามารถต้านทานข้าศึกได้นานจนข้าศึกหมดกำลัง กอปรกับอากาศอันหนาวเหน็บในช่วงฤดูหนาว ซึ่งทำให้รัสเซียประสบความสำเร็จในการรบกับทั้งนโปเลียนและฮิตเลอร์ นอกจากนี้ แนวคิด Fortress Russia ดังกล่าวทำให้รัสเซียพยายามลดการพึ่งพาประเทศอื่น ๆ และพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้ก้าวหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพโซเวียตทำในสมัยสงครามเย็น และเป็นสิ่งที่รัสเซียทำอยู่ในขณะนี้ภายหลังจากที่ถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน

          ปัจจัยหรือคุณลักษณะที่ 2 คือการมองตนเองเป็นประเทศมหาอำนาจ หรือ Great Power เนื่องจากเป็นประเทศที่แผ่ขยายจนกลายเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาด 17 ล้าน ตร.กม. และมีถึง 11 time zones แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการเป็นมหาอำนาจทางทหารนับตั้งแต่สมัยปีเตอร์มหาราชที่รบชนะสวีเดนเมื่อปี ค.ศ. 1709 โดยต่อมารัสเซียก็รบชนะนโปเลียน จนรัสเซียได้ไต่เต้ากลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในยุโรป รวมทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหภาพโซเวียตรบชนะนาซีเยอรมนี และต่อมากลายเป็น 1 ใน 2 superpowers ในช่วงสงครามเย็นที่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขาม

          ในขณะเดียวกัน การเป็นมหาอำนาจในสายตาของรัสเซีย หมายความว่าจะต้องมีเขตอิทธิพลหรือ spheres of influence ด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสื่อถึงสถานะความเป็นมหาอำนาจของตนแล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เป็น buffer zone หรือเขตกันชนป้องปรามภัยคุกคามและการรุกรานจากศัตรู สอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์ defence in depth หรือการป้องกันเชิงลึก ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ทั้งนี้ ในสมัยสหภาพโซเวียตและสงครามเย็นนั้น เขตอิทธิพลหลักคือกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน เช่น โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก เชโกสโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย และบัลแกเรีย ซึ่งล้วนเป็นสมาชิก Warsaw Pact ที่สหภาพโซเวียตริเริ่มจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1955 เพื่อตอบโต้การที่เยอรมนีตะวันตกเข้าเป็นสมาชิก NATO ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปบางประเทศยังสามารถรักษาระยะห่างจากสหภาพโซเวียตและรักษาความเป็นอิสระของตนเองได้ เช่น ยูโกสลาเวีย และแอลเบเนีย

          ต่อมา เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อธันวาคม ค.ศ. 1991 ประเทศที่แยกตัวเป็นเอกราชออกจากสหภาพโซเวียต 15 ประเทศ (รวมรัสเซีย) ส่วนใหญ่ก็กลับกลายเป็นประเทศที่รัสเซียถือว่ายังเป็นเขตอิทธิพลของตน และเรียกกลุ่มประเทศแถบนี้ว่า Near Abroad (อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จอร์เจีย คาซัคสถาน คีร์กีซ มอลโดวา ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถาน) ในขณะที่ 3 รัฐบอลติก (เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย) ที่เคยเป็นรัฐในสหภาพโซเวียตก็ได้หนีออกจากเงาอิทธิพลรัสเซียและเข้าหาประเทศตะวันตกอย่างชัดแจ้ง นอกจากนั้น ประเทศในกลุ่ม Warsaw Pact เดิมได้ล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์และเข้าหาประชาธิปไตยโดยประสงค์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศตะวันตกแทน

          แต่รัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตยังถือว่าเป็นมหาอำนาจหรือ great power ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก จนกลายเป็น great power complex หรือ identity complex ของรัสเซียเอง ซึ่งยังมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอันรุ่งเรืองที่เป็นหนึ่งใน superpower ของโลก และไม่สามารถยอมรับการลดสถานะให้เป็นเพียงประเทศธรรมดาประเทศหนึ่งได้ ซึ่งประเด็นนี้จะสะท้อนให้เห็นในนโยบายต่างประเทศของรัสเซียที่เรียกร้องสิทธิที่จะมีบทบาทใน global and regional issues ที่สำคัญต่าง ๆ และเรียกร้องให้ประเทศอื่นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้ความเคารพต่อรัสเซีย หรือ treat Russia with respect ให้สมฐานะที่รัสเซียเป็นมหาอำนาจ

          ทั้งนี้ great power complex นี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดในแนวความคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2 แนวหลัก ที่ยังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ (1) การดำเนินนโยบาย multi-vector foreign policy ซึ่งหมายถึงการที่รัสเซียจะต้องดำเนินนโยบายหลายทิศทาง ทั้งกับทางกลุ่มประเทศตะวันตก และกับเอเชีย รวมถึงภูมิภาคอื่นที่สำคัญลำดับถัด ๆ มา เช่น ตะวันออกกลางและแม้กระทั่งแอฟริกา เพื่อให้สมฐานะกับที่รัสเซียมองตนเองว่ายังเป็นประเทศมหาอำนาจ และ (2) การมองโลกหรือพยายามดำเนินนโยบายให้โลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ หรือ multipolar world ซึ่งจริงแล้วสะท้อนให้เห็นว่า รัสเซียยอมรับในระดับหนึ่งว่าตนเองไม่ใช่ superpower ดังเช่นสมัยสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่าโลกเป็นระบบ 2 ขั้วอำนาจ (bipolar world) โดยรัสเซียในปัจจุบันมองตนเองเป็นเพียงหนึ่งในหลายประเทศมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถยอมรับได้ที่สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใดรวมถึงจีน จะเป็นหรือกลายเป็นประเทศ superpower หนึ่งเดียว จนโลกเป็นระบบขั้วอำนาจเดียว (unipolar world) รัสเซียจึงประสงค์สร้างโลกหลายขั้วอำนาจ (multipolar world) เพื่อที่รัสเซียและประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ จะได้ช่วยกันคานอำนาจสหรัฐฯ

          ดังนั้น ความคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจหรือ balance of power จึงเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของนโยบายต่างประเทศรัสเซีย ที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ เป็นลำดับแรก รวมทั้งถ่วงดุลอำนาจกลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งในสายตาของรัสเซียนั้นถูกนำและบงการโดยสหรัฐฯ และไม่ได้มีความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ หรือที่มักเรียกกันว่า strategic autonomy อย่างแท้จริง นอกจากนั้น อีกคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญคือมุมมองโลกของรัสเซียที่ US-centric หรือ Western-centric มาก โดยมักมองเปรียบเทียบตนเองกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักของโลก และประสงค์ที่จะทั้งเจริญรอยตามสหรัฐฯ เพื่อที่จะได้เป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมสหรัฐฯ หรือเอาชนะและเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ หรือจำกัดและถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ          

          ปัจจัยหรือคุณลักษณะที่ 3 คืออุดมการณ์ (ideology) ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นจักรวรรดินิยม (imperialism) ของรัสเซีย โดยรัสเซียมักใช้อุดมการณ์เป็นฉากบังหน้าหรือข้ออ้างในการขยายอาณาเขต รุกรานและครอบครองประเทศอื่น ๆ โดยในสมัยที่เป็นจักรวรรดิรัสเซียก็มักอ้างถึงพันธกิจ (obligation) ของตนที่จะนำพาความเจริญรุ่งเรืองและความศิวิไลซ์มาสู่ชาติพันธุ์และประเทศอื่น หรือที่เรียกว่า white man’s burden ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุคล่าอาณานิคม เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส หรือเบลเยียม  

ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อหรือแนวความคิดว่ารัสเซียและชาวรัสเซียมีอำนาจอันชอบธรรมจากพระเจ้า (divine right) ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับความเชื่อว่า รัสเซียเป็นผู้มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะปกป้องชาวคริสต์นิกาย orthodox และชาวสลาฟ (Slavophilism) ที่มีอยู่ในยุโรปตะวันออกและบอลข่าน ส่งผลให้รัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเหล่านั้น และขยายอิทธิพลไปสู่ประเทศเหล่านั้นด้วย นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อว่า กรุงมอสโกเป็นผู้สืบทอดอำนาจอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน หรือที่รัสเซียมักกล่าวขานกันเองว่า Moscow is the Third Rome โดยโรมที่สองคือ Constantinople ที่ถูกจักรวรรดิออตโตมันยึดครองในกลางคริสต์ศตววรษที่ 15

          ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของรัสเซียในการแผ่ขยายอาณาเขตและอิทธิพลอีกครั้ง ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียงจนกลายเป็นสหภาพโซเวียตอันประกอบด้วย 15 สาธารณรัฐโซเวียต แต่ยังไปสู่ประเทศอื่นทั่วโลกด้วย ภายใต้ข้อเรียกร้องของเลนินที่จะ export communist revolution ไปทั่วโลก ดังนั้น สหภาพโซเวียตมักถูกมองในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการเป็นจักรวรรดิที่ต้องการแผ่ขยายอำนาจ หรือที่มักเรียกว่า เป็น Soviet Empire ดี ๆ นั่นเอง นอกจากนั้น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ก็มีแนวความคิดยูเรเชียนิยม (Eurasianism) ในหมู่ปัญญาชนชาวรัสเซียที่หนีออกนอกประเทศภายหลังการปฏิวัติ Bolshevik ซึ่งเป็นความเชื่อว่า รัสเซียเป็นประเทศที่มีสถานะพิเศษไม่เหมือนใคร (unique) เพราะมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งยุโรปและเอเชีย โดยพื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศอยู่ในเอเชีย และยังครอบคลุมผู้คนที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย จึงเป็นเสมือน melting pot หล่อหลอมให้เป็นประเทศที่พิเศษและมีอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่ยุโรป หรือเอเชีย แต่สามารถมีบทบาทและอิทธิพลในทั้งสองภูมิภาค อันสะท้อนให้เห็นได้ในตราสัญลักษณ์ของประเทศรัสเซียที่เป็นนกอินทรีสีดำสองหัว หัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือยุโรป อีกหัวหันไปทางทิศตะวันออกหรือเอเชียนั่นเอง    

          หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แนวความคิด Eurasianism ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง กลายเป็นที่เรียกกันว่า Neo-Eurasianism ซึ่งเป็นแนวความคิดที่นักวิชาการที่เฝ้าจับตามองรัสเซียบางคนเชื่อว่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อประธานาธิบดีปูติน เนื่องจากเห็นว่า นาย Alexander Dugin ผู้เป็นนักคิดที่ผลักดันแนวความคิดนี้มีความใกล้ชิดกับปูติน ทั้งนี้ Neo-Eurasianism มีผลต่อนโยบายต่างประเทศรัสเซียในลักษณะคล้ายคลึงกับ multi-vector foreign policy ว่ารัสเซียมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีบทบาทและอิทธิพลในทั้งยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะในพื้นที่หลังบ้านตัวเอง (post-Soviet states) หรือที่รัสเซียเรียกว่า Near Abroad เช่น กลุ่มประเทศเอเชียกลางและคอเคซัส โดยที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือในเบลารุสและยูเครน นอกจากนั้น แนวความคิดยูเรเชียนิยมยังสะท้อนให้เห็นในข้อริเริ่มนโยบายของปูติน เรื่อง Eurasian Economic Union (EAEU) หรือสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย อันประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน และคีร์กีซ และแนวคิด Greater Eurasian Partnership ที่พยายามเชื่อมโยง EAEU กับ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia (CICA) ของคาซัคสถาน Shanghai Cooperation Organisation (SCO) ที่นำโดยรัสเซียและจีน แต่ปัจจุบันมีอินเดียและปากีสถานเข้าร่วมด้วย รวมทั้งพยายามเชื่อมโยงกับอาเซียน   

          อีกแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย คือความเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) หรือที่มีการตั้งชื่อในสมัยวาระที่ 2 ของประธานาธิบดีปูตินว่าเป็น sovereign democracy กล่าวคือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบของตนเอง ที่กำหนดเอง และไม่เหมือนใคร ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศตะวันตก นอกจากนั้น ยังปฏิเสธและไม่ยอมรับค่านิยมตะวันตก (reject Western values) ทั้งค่านิยมเสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ โดยในแง่ของนโยบายต่างประเทศนั้น จะเห็นได้ว่า รัสเซียมักผูกสัมพันธ์และใกล้ชิดกับประเทศที่ปกครองโดยระบอบอำนาจนิยมประเทศอื่น ๆ เช่น จีน และอิหร่าน เนื่องจากค่านิยมที่ตรงกัน (shared values) กอปรกับเป้าประสงค์ที่เหมือนกัน กล่าวคือ การต้านทานและถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ

          อีกนัยหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมและการปฏิเสธค่านิยมตะวันตกที่มีต่อนโยบายต่างประเทศของรัสเซียที่เห็นได้ชัด คือ ในการดำเนินความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ Near Abroad ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะเบลารุสและยูเครน ซึ่งสำหรับปูตินนั้น ประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่รัสเซียยอมรับไม่ได้คือการที่ประเทศเหล่านี้มีทีท่าจะเข้าหาประเทศตะวันตก ตีตนออกห่างจากรัสเซีย และล้มล้างระบอบการปกครองเดิมที่มีความใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งปูตินมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ในอำนาจของตนเอง (regime survival) เนื่องจากหากยูเครนหรือเบลารุสซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงรัสเซียมากสามารถล้มล้างระบอบการปกครองเดิมและหันหน้าเข้าหาตะวันตก เหตุการณ์เดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นในรัสเซียได้ จนอาจมีการล้มอำนาจปูตินด้วยซ้ำ ปูตินจึงได้ให้ความสำคัญกับการแทรกแซงในกิจการภายในประเทศเหล่านี้ เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น รัสเซียได้สนับสนุนประธานาธิบดี Aleksandr  Lukashenko แห่งเบลารุสในช่วงที่มีการประท้วงขนาดใหญ่ในปี ค.ศ. 2020-2021 จนสามารถประคองให้ Lukashenko อยู่ในอำนาจต่อไปได้ ในขณะที่การประท้วงในจัตุรัส Maidan ในยูเครน ในปี ค.ศ. 2013-2014 อันสืบเนื่องจากชาวยูเครนไม่พอใจที่ประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย ตัดสินใจกลับลำไม่ยอมลงนามความตกลง EU-Ukraine Association Agreement ส่งผลให้ Yanukovych ต้องหนีออกนอกประเทศ และรัสเซียได้ตัดสินใจแทรกแซงในยูเครนโดยผนวกแหลมไครเมีย (Crimea) และส่งกำลังพลไปสร้างความปั่นป่วนในแคว้น Donbas ทางตะวันออกของยูเครน จนต่อมารัสเซียได้บุกรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ค.ศ. 2022 และเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้

          ขอสรุปด้วยการกล่าวถึงความสำคัญลำดับต้นของภูมิรัฐศาสตร์ในแนวความคิดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย หรือที่เรียกว่า Primacy of Geopolitics โดยรัสเซียมักจะมองโลกผ่านเลนส์ของภูมิรัฐศาสตร์ โดยเน้นถึงความสำคัญของผลกระทบทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตน ดังเห็นได้จากปัจจัยหรือคุณลักษณะทั้ง 3 ที่กล่าวถึงมา ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ทั้งในยุโรปและเอเชีย ที่ตั้งที่ติดกับประเทศที่เป็นภัยคุกคามจากทุกทิศในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการมีภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ราบที่ทำให้ง่ายสำหรับการที่ศัตรูจะบุกรุกราน และในทางกลับกันง่ายที่รัสเซียจะรุกรานประเทศรอบข้างเช่นกัน ตลอดจนการที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศจนรัสเซียสามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดต่อไป ไม่ว่ารัสเซียจะเผชิญภัยคุกคามมากแค่ไหน หรือถูกโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรมากเพียงใด รัสเซียก็จะยังดำรงอยู่ต่อไป และอาจผงาดกลับมาเป็นมหาอำนาจที่สำคัญอีกครั้งในอนาคต ตามที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์รัสเซีย

 

[*] บทความนี้ดัดแปลงจากการบรรยายที่สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 และเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

[**] ดร. ภราดร รังสิมาภรณ์ ดำรงตำแหน่งนักการทูตชำนาญการพิเศษ กองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัสเซียและยุโรปตะวันออกศึกษา และระดับปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย Oxford

Documents

5-2566_Dec2023_ไขกุญแจการต่างประเทศรัสเซีย_ภราดร.pdf