วันที่นำเข้าข้อมูล 22 Jan 2025
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 Jan 2025
No. 1/2568 | มกราคม 2568
Trump 2.0: ทิศทางระเบียบเศรษฐกิจโลกและความถดถอยของฉันทมติแห่งวอชิงตัน?
นภควัฒน์ วันชัย*
(Download .pdf below)
1. บทนำ
นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีผลกระทบต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในด้าน การแข่งขันระหว่างประเทศ และการดำเนินการตามกฎระเบียบการค้าโลก ทั้งนี้ การที่ประเทศต่าง ๆ เข้ามามาเป็นส่วนหนึ่งของฉันทมติวอชิงตัน (Washington Consensus) จึงได้ทั้งผลประโยชน์และมีแนวทางร่วมกันในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผ่านกลไกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารโลก (World Bank: WB) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ยกตัวอย่างเช่น การลดบทบาทของภาครัฐ การลดอุปสรรคด้านภาษี (Tariff Barriers) และการส่งเสริมนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)[1]
การเข้ามาเป็นสมาชิกของแต่ละประเทศทำให้นโยบายเศรษฐกิจต้องสอดคล้องกับ Washington Consensus เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ผ่านการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจกลับเป็นตัวแปรที่ทำให้ Washington Consensus สั่นสะเทือน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ค.ศ. 1997 (1997 Asian Financial Crisis) และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Crisis 2008) ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากระเบียบเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนด นำมาสู่ข้อสังเกตว่า ประเทศที่รับหลักการของ Washington Consensus มีแนวโน้มที่ลดการพึ่งพาหลักการข้างต้นลง
แนวโน้มลดการพึ่งพา Washington Consensus ทำให้บรรดาประเทศต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น กลุ่มประเทศประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) อาจปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ผ่านการพึ่งพาประเทศใกล้เคียงในระดับภูมิภาคเพื่อลดผลกระทบในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การคุ้มครองทางสังคมภายในประเทศผ่านสวัสดิการทางสังคม และการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อให้เกิดตลาดการจ้างงานและการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้สหรัฐอเมริกาละทิ้งหลักการ Washington Consensus เนื่องจากความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนภายหลังวิกฤตการเงิน และการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนทางนโยบายของตนเสียใหม่เพื่อให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำของระเบียบโลกและให้ประเทศที่เคยสูญเสียความเชื่อมั่นกลับมายอมรับหลักระเบียบโลกที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำต่อไป และสร้างหลักการใหม่ของฉันทมติแห่งวอชิงตัน[2]
การดำเนินงานของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden: 2021-2024) เป็นภาพสะท้อนถึงความพยายามในการสร้างหลักการฉันทมติวอชิงตันใหม่ (New Washington Consensus) มีสองสาระสำคัญที่คาดการณ์ถึงผลกระทบกับระเบียบเศรษฐกิจโลก ตามข้อเสนอของ Simon Schropp[3] โดยมีองค์ประกอบดังนี้
มาตรการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการค้าของประธานาธิบดีไบเดน แม้จะมาจากต่างพรรคการเมือง แต่กลับมีความต่อเนื่องกับสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สมัยที่หนึ่ง โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายเพื่อความมั่นคงของประเทศมากกว่าเป้าหมายในเชิงเศรษฐกิจ กระบวนการเหล่านี้เปรียบเสมือนการปฏิเสธกฎระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาเคยมีบทบาทนำในช่วงสงครามเย็นซึ่ง New Washington Consensus ไม่ได้ยึดแนวทางตามกฎระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การ “เลือก” ความร่วมมือกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ในกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตชิป สหรัฐอเมริกา-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน (Chip 4 Alliance) สนธิสัญญา AUKUS (ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่าง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ) และกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก (Quadrilateral Security Dialogue: Quad) (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) โดยการดำเนินนโยบายเหล่านี้จึงเป็นลักษณะ Zero-Sum Game มากกว่า Win-Win ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงมีแนวโน้มไปสู่ความสำคัญของการแข่งขันทางยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในสมัยที่สอง
การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงการละทิ้งแนวทาง Washington Consensus ที่เคยยึดถือกันมาในระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ถึงแม้ประธานาธิบดีไบเดนจะยังคงรักษากฎระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีน แต่การละเลยหลักการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อาจนับว่าเป็นความ “เสื่อมถอย” ของ Washington Consensus ในการดำรงกฎระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวโน้มและทิศทางของการทำสงครามการค้า 3.0 ยกตัวอย่างเช่น (1) การขึ้นภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้าจากจีน (2) การยกเลิกจีนจากสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation: MFN) (3) ห้ามบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากจีนจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และ (4) การดำเนินมาตรการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสำหรับประเทศที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกับประเทศที่บริษัทสัญชาติจีนย้ายฐานการผลิตในประเทศที่สามารถที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา[4]
ดังนั้น บทความนี้เสนอว่า หลักการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สองมีแนวโน้มเป็นภาพสะท้อนความถดถอยของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้ New Washington Consensus ถึงแม้ว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในแง่ของการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าโลกยังดำรงอยู่เพื่อให้แต่ละประเทศมีหลักการดำเนินการค้าที่เป็นธรรมก็ตามที
2. เหตุใด Trump 2.0 จึงเป็นภาพสะท้อนความถดถอยของฉันทมติแห่งวอชิงตัน?
มีการคาดการณ์ว่า การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สองจะส่งผลสะเทือนต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนต่อการลงทุนและการค้าโลก ในทำนองเดียวกันกับนโยบาย American First ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมไปถึงส่งผลสะเทือนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO)[5] ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ตำหนิองค์กรระหว่างประเทศอย่างตรงไปตรงมา และมีแนวโน้มลดการสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ โดยเป็นการลดความสำคัญของหลักการพหุภาคี ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ถอนตัวจากจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) และ NATO โดยกล่าวว่าจะไม่ช่วยเหลือและปกป้องหากประเทศสมาชิกถูกรัสเซียโจมตี แม้ NATO จะมีข้อกำหนดการป้องกันร่วมกันหากประเทศสมาชิกถูกโจมตี[6] ในกรณีของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity: IPEF) มีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ สมัยที่สองจะลดความสำคัญของ IPEF[7] ซึ่งเป็นความริเริ่มของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน สำหรับพัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยสะท้อนให้เห็นถึงหลักการแนวคิดของพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือเชิงพันธมิตร ลดความเสี่ยงการลงทุนในจีน และส่งเสริมให้บริษัทย้ายฐานการลงทุนมายังในหมู่ประเทศพันธมิตร (Friendshoring)[8] ในทางตรงกันข้ามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เน้นการเจรจาที่ฝ่ายตนมีอำนาจเหนือกว่าและยึดผลประโยชน์ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ตามที่กล่าวมาความถดถอยของ Washington Consensus ทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศย่อมเป็นภาพสะท้อนของ WTO และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) มีข้อจำกัดมากขึ้นจากการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าร่วมกัน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การลดผลประโยชน์ของแต่ละประเทศที่พึงจะได้รับผ่านการตัดงบประมาณความร่วมมือ และมุ่งเน้นไปสู่ผลประโยชน์แห่งชาติที่เป็นความมั่นคงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น[9]
สิ่งเหล่านี้นำมาสู่คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ เพราะการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในเรื่องภาษีย่อมส่งผลกระทบต่อกรอบความร่วมมือ ข้อตกลง และกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้างขึ้น เนื่องจากมาตรการทางภาษีควรเป็นหลักการในการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ[10] เมื่อการใช้อำนาจขัดกับหลักการบรรทัดฐานการค้าระหว่างประเทศนำมาสู่ความไม่แน่นอนของระเบียบเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งครึ่งหนึ่งใช้นโยบายที่มีความสอดคล้องกับหลักการ Washington Consensus ในช่วงสงครามเย็นและในปัจจุบันทำให้ประเทศไทยต้องหันมาทบทวนระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่
3. Trump 2.0: ผลกระทบจากการถดถอยของฉันทมติแห่งวอชิงตันกับระเบียบเศรษฐกิจโลก
ความถดถอยของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้หลักการของ Washington Consensus ทำให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่อนและยากที่จะคาดการณ์ถึงพลวัตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไม่ว่าทิศทางนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์จะดำเนินไปในทิศทางใดแต่สามารถกล่าวได้ว่านโยบายกีดกันทางการค้าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งตัวแปรสามประการที่อาจส่งผลให้ระเบียบเศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอย[11] ได้แก่
สามตัวแปรดังกล่าวเป็นหลักการที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับหลักการ Washington Consensus ในแง่ของการลดอุปสรรคทางการค้าและการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศทำให้ลักษณะนโยบายของ ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินไปทิศทางที่อาจเกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) หรือดำเนินไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในการกำหนดการแข่งขันกับจีนผ่านระบบพันธมิตรภายใต้อำนาจการต่อรองที่สหรัฐอเมริกาคงความเหนือกว่าไว้
วิธีคิดเบื้องหลังการกระทำในการกำหนดนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์มาจากฐานแนวคิด America First โดยมองว่าการขาดดุลการค้าถือเป็นสัญลักษณ์ความเปราะบางและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ หากจะแก้ไขความอ่อนแอเหล่านั้นจำเป็นต้องสร้างสมดุลทางการค้าใหม่เห็นได้จากการใช้นโยบายภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการกดดันคู่ค้าในระดับทวิภาคี ในทำนองเดียวกัน มีความประสงค์ฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมยานยนต์ และอาจใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่แยกห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกับจีนกับภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Sectors) เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมยา ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ[12]
แนวทางสู่การบรรลุความสำเร็จของประธานาธิบดีทรัมป์ในการดำเนินนโยบายจึงต้องแต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนและเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่นการแต่งตั้ง โฮเวิร์ด ลุทนิค (Howard Lutnick) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธาน และ CEO ของบริษัท Cantor Fitzgerald และ BGC Group บริษัทด้านการเงิน ซึ่งลุทนิคมีบทบาทที่สำคัญ คือ การดำเนินการจัดเก็บภาษีศุลกากรและการค้าของสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ที่สนับสนุนอุดมคติ America First ของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างชัดเจนผ่านการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again)[13] จึงกล่าวได้ว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทรัมป์ ได้สั่นคลอนหลักการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่บูรณาการเศรษฐกิจโลก ตลาด และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อกำหนดหลักการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับโลกกำลังถูกจัดระเบียบใหม่
ทั้งนี้ ตัวอย่างอุดมการณ์ (Ideology) ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สั่นคลอน Washington Consensus เห็นได้จากการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 72 (72nd Session of the UN General Assembly (UNGA 72: UNGA72) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2019 โดยกล่าวว่า
“...ผู้นำที่มีปัญญาย่อมคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ… อนาคตไม่ได้เป็นของผู้ที่ยึดมั่นในโลกาภิวัตน์ แต่อนาคตเป็นของผู้ที่รักชาติ เป็นของประเทศที่มีอธิปไตยและความเป็นอิสระ ซึ่งปกป้องประชาชนของตน เคารพเพื่อนบ้าน และให้คุณค่าแก่ความแตกต่างที่ทำให้แต่ละประเทศมีเอกลักษณ์และความพิเศษในตัวเองอย่างแท้จริง...”[14]
4. Trump 2.0: ผลกระทบจากการถดถอยของฉันทมติแห่งวอชิงตันกับประเทศไทย
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามหลักการของ Washington Consensus ของประเทศไทยจากการเป็นสมาชิก IMF WTO และ WB ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกเป็นผลให้ประเทศไทยตอบสนองกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุน
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) กับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) เป็นภาพสะท้อนที่บ่งบอกว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จาก Washington Consensus อย่างมากจากการค้าโลกโดยที่ประเทศไทยได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์แต่กลับเผชิญกับข้อจำกัดความสามารถทางอุตสาหกรรม เนื่องจากภายหลังเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์หลัง ค.ศ. 2017 (อาทิ ความขัดแย้งที่สะสมระหว่างจีนกับไต้หวัน ความตึงเครียดระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ กรณีข้อพิพาท THAAD ระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ และสงครามการค้า 1.0) เป็นผลให้ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง FDI มีขนาดและขอบเขตที่ใหญ่ขึ้นจากการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตในระดับภูมิภาค แต่การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมักเป็นการลงทุนการผลิตปลายน้ำ (downstream) ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในอนาคตจากการที่มีความน่าดึงดูดการลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่นเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียมีปัจจัยเอื้อการลงทุนมากกว่า (อัตราประชากร นโยบายสนับสนุนของภาครัฐ และวัตถุดิบที่เอื้อกับนิเวศทางเศรษฐกิจ) ซึ่งประเทศดังกล่าวได้ประโยชน์อย่างมากจากกรณีการเบี่ยงเบนการลงทุน (Investment Diversion) ของบรรษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านการลงทุนสะท้อนให้เห็นถึงสาขา FDI ที่เข้าไปลงทุนของภาคอุตสาหกรรมกรณีความได้เปรียบ FDI ของประเทศไทยมาจากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (FDI จากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา) และอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ยาง (ความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ)
ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยได้ออกมาตรการเพื่อรับความเสี่ยงและภาคอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาของโครงสร้างการผลิตที่ยังยึดโยงอยู่กับสินค้าที่เป็นที่ต้องการในโลกเก่าเมื่อเผชิญกับภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโลก[15] เห็นได้จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) ค.ศ. 2024 มีแนวโน้มไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์[16] มีรายละเอียด ดังนี้
จึงกล่าวได้ว่าผลจากความถดถอยของ Washington Consensus ในมิติด้านเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบได้สามช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องทางการค้าการที่ประเทศไทยส่งออกไปยังจีนน้อยลง และส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น รวมไปถึงสินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น (China flooding) (2) ช่องทางการลงทุนอาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาไทยหรืออาเซียน อย่างไรก็ตาม อาจเกิดการชะลอตัวของการลงทุนอันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และ (3) ช่องทางความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน โดยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากสงครามการค้าทำให้มีกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ในทางกลับกัน มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้การทะลักของสินค้าจีนมายังไทยมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังฟื้นตัวช้าเป็นทุนเดิม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ตรงกันข้ามกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกลับฟื้นตัวมากขึ้น[17]
ความถดถอยของ Washington Consensus แสดงให้เห็นว่า “กระบวนการ” ความถดถอยดังกล่าวเป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยว่าควรกำหนดทิศทางนโยบายไปในด้านใดเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของระเบียบเศรษฐกิจโลกได้
5. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สอง เป็นภาพสะท้อนของการละเลยบรรทัดฐานการค้าระหว่างประเทศ ระเบียบเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ นานาทำให้การกำหนดนโยบายการต่างประเทศเผชิญกับสภาวะความซับซ้อนและยากที่จะคาดการณ์ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจซึ่งต้องคำนึงถึงภาคส่วนทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบ
ด้วยเหตุนี้ การหันมาให้ความสำคัญในระดับ “ภูมิภาค” จึงเป็น “ทางเลือก” หนึ่งที่สามารถนำมาเป็นหลักการร่วมกันในการกำหนดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเพื่อรับมือกับระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงและเพื่อรับมือความถดถอยของหลักการ Washington Consensus
ข้อเสนอแนะในบทความชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ให้ความสำคัญ “ระดับภูมิภาค” โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างหลักประกันในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยอาจสามารถแบ่งออกเป็นสามมิติ ดังนี้
ทั้งสามมิติที่ผู้เขียนได้กล่าวมาเป็นข้อเสนอแนะเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภายใต้ความถดถอยของ Washington Consensus และการกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สอง เนื่องจากปัจจัยข้างต้นเป็นผลให้ความผันผวนของระเบียบเศรษฐกิจโลกเผชิญกับการคาดการณ์ที่ยากลำบากสำหรับการกำหนดนโยบายการต่างประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น การหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาคในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นสำหรับการกำหนดกรอบกติการ่วมกันเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการยกระดับบรรทัดฐานในเชิงกลไกมากขึ้น
[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉันทมติแห่งวอชิงตัน ใน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. (2540). สังคมเศรษฐกิจโลก : โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: สื่อเสรี.
[2] Birdsall, Nancy, and Fukuyama, Francis. (2011). The Post-Washington Consensus: Development After the Crisis. Foreign Affairs, 90(2), pp. 45–53.
[3] Schropp, Simon. (2024, June 19). International Trade Policy under Biden: The “New” Washington Consensus and Its Discontents. Mercatus Center. https://www.mercatus.org/research/policy-briefs/international-trade-policy-under-biden-new-washington-consensus-and-its.
[4] ปิติ ศรีแสงนาม. (26 พฤศจิกายน 2024). Trump 2.0 ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน ไทยก็เหนื่อย. The101.World. https://www.the101.world/trump-2-scenarios-for-thailand/.
[5] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (4 ธันวาคม 2567). ทิศทางเศรษฐกิจไทยและโลก ภายใต้นโยบาย Trump 2025. https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/download-Press-Q4-2567-04-12-2024.aspx
[6] Kestler-D'Amours, Jillian. (2024, November 6). What does Trump 2.0 mean for US foreign policy?. Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/news/2024/11/6/what-does-trump-2-0-mean-for-us-foreign-policy
[7] Schleich, Anne-Marie. (2024, December 30). Commentary: Trump 2.0 and the Pacific Island countries – what to expect?. CHA. https://www.channelnewsasia.com/commentary/trump-us-china-pacific-islands-climate-change-security-4828076.
[8] จุฬามณี ชาติสุวรรณ. (2567). IPEF Explained: แนวคิด ทิศทาง และประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC). https://isc.mfa.go.th/en/content/ipef-explained-แนวคิด-ทิศทาง-และประโยชน์
[9] Klingebiel, Stephan & Baumannn, Max-Otto. (2024). The 2024 US election: Trump 2.0 and the global order. German Institute of Development and Sustainability (IDOS). https://www.idos-research.de/en/the-current-column/article/trump-20-and-the-global-order/.
[10] นภัทรธมณฑ์ ไก่แก้ว. (29 ธันวาคม 2024). Donald Trump Tax? เมื่อภาษีกลายเป็นอาวุธ และการท้าทายข้อตกลงระหว่างประเทศ. The Momentum. https://themomentum.co/ruleoflaw-donaldtrump-tax/.
[11] Poonyawat Sreesing. (2024, November 15). Trump 2.0: Impact on the Global and Thai Economy. SCB EIC. https://www.scbeic.com/en/detail/product/trade-151124.
[12] Chahar, P. (2025, January 2). Trump Card (2.0): The Tariff Games and Global Economic (Dis)Order. The Wire. https://thewire.in/world/trump-card-2-0-the-tariff-games-and-global-economic-disorder.
[13] Rushe, D. (2024, November 19). Trump picks Howard Lutnick as commerce secretary. The Guardian. https://www.theguardian.com/us-news/2024/nov/19/howard-lutnick-commerce-secretary-trump.
[14] Peters, M. A. (2020). Trump’s nationalism, ‘the end of globalism’, and ‘the age of patriotism’: ‘the future does not belong to globalists. The future belongs to patriots.’ Educational Philosophy and Theory, 52(13), 1341–1346.
[15] รัฐศาสตร์ หนูดำ พิสชา คำบุยา และวริษฐา ประจงการ. (6 November 2024). Geopolitical tension: ผลต่อ FDI landscape โลก และ FDI ของไทย. Economic Pulse: Issue 6. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/research/economic-pulse/economic-pulse-202410.html
[16] สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. (2567). ส่งท้ายปี 2024 ปีนี้ บีโอไอทำถึง!. https://www.boi.go.th/upload/content/eNews_DEC_67.pdf
[17] การเงินธนาคาร. (6 มกราคม 2568). ธปท. คาดนโยบายทรัมป์ กระทบ เศรษฐกิจไทย 3 ด้าน. https://moneyandbanking.co.th/2025/148729/
[*] เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการระยะสั้น (ISC Intern)