การซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างไทยกับสิงคโปร์: โอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน (?) | ระพีพัฒน์ สุขนาน

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างไทยกับสิงคโปร์: โอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน (?) | ระพีพัฒน์ สุขนาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 Jan 2025

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 Jan 2025

| 496 view

Header_วิเทศวารสาร

No. 2/2568 | มกราคม 2568

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างไทยกับสิงคโปร์: โอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน (?)
ระพีพัฒน์ สุขนาน*

(Download .pdf below)

 

          สืบเนื่องจากการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อค้นหาโอกาสความร่วมมือด้านธุรกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2024 ทำให้เห็นว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญต่อธุรกิจตลาดคาร์บอน (carbon market) และได้พัฒนาเรื่องการเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นระบบ โดยได้สนับสนุนการจัดตั้ง start up ที่มีหน้าที่ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยตลาดคาร์บอนเครดิตถือเป็นกลไกทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสากลหลังจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 2005[1]

 

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

          คาร์บอนเครดิต (carbon credit) คือ สิทธิในปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการลด กักเก็บ หรือดูดกลับสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งการวัดปริมาณก๊าซดังกล่าวจะมีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)” ที่ได้จากการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะทำการซื้อขายภายในตลาดคาร์บอน (carbon market) ด้วยการนำเอาเครดิตที่มีการซื้อขายไปหักจากบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศผู้ซื้อ และหักจากบัญชีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศผู้ขาย ปัจจุบันตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่มีการซื้อ - ขาย ที่มีการรับรองโดยกฎหมายที่ได้ลงนามในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งจะมีข้อบังคับทางกฎหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายกำหนด
  2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ก่อตั้งขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ เกิดจากความร่วมมือขององค์กรหรือภาคเอกชนเพื่อช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความสมัครใจ แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non - Legally Binding Target)

 

สิงคโปร์กับความพยายามในการเป็นศูนย์กลางตลาดคาร์บอนเครดิตในระดับภูมิภาค

          จากสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาและได้ผลักดันให้เกิดมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และสิงคโปร์ก็เช่นกัน รัฐบาลได้มีการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาสิงค์โปร์สีเขียว (Singapore Green Plan: SGP) 2030 ที่เป็นแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะเวลา 10 ปี (2021 - 2030) ภายใต้ 5 เสาหลัก ดังนี้

 

  1. เมืองแห่งธรรมชาติ (City in Nature) เพื่อขยายพื้นที่สีเขียวในเมืองและผสานธรรมชาติเข้ากับพื้นที่ในเมือง
  2. การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Living) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร การลดขยะ และการขนส่งที่ยั่งยืน
  3. การปรับเปลี่ยนพลังงาน (Energy Reset) สนับสนุนแหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  4. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) พัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการค้าคาร์บอนและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
  5. อนาคตที่มั่นคง (Resilient Future) มุ่งเน้นมาตรการปรับตัวและความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น การป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งและความมั่นคงด้านอาหาร

        

          จากแผนพัฒนาดังกล่าวพบว่าสิงคโปร์มุ่งเน้นการสนับสนุนนวัตกรรมในเทคโนโลยีสีเขียว มุ่งพัฒนาทักษะด้านสิ่งแวดล้อมในแรงงานเพื่อรองรับบทบาทใหม่ในภาคส่วนต่างๆ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการเน้นมาตรการความมั่นคงด้านอาหาร การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหาร การป้องกันน้ำท่วม การลดความร้อนในเมือง และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงได้ก่อตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ   

          มาตรา 6 ของความตกลงปารีส ได้กำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐภาคีในการนำกลไกตลาดระหว่างประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานตามกลไกการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs)[2] เพื่อช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือและการบรรลุเป้าหมายในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก สิงคโปร์จึงได้มีกลไกในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศได้ และดำเนินนโยบายภาษีคาร์บอนด้วยการอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5% ด้วยเครดิตระหว่างประเทศ ผ่านกรอบการซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงและสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งคาดว่ากลไกนี้จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนด

          อย่างไรก็ตาม นโยบายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศได้ก่อให้เกิดข้อท้าทายภายในตลาดคาร์บอนของสิงคโปร์ ทั้งความชัดเจนทางด้านกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังแยกส่วนกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอน กลุ่มพันธมิตรวิสาหกิจและภาคเอกชนของสิคโปร์จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง Climate Impact X (CIX) เพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดแลกเปลี่ยน ซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิตที่มาตรฐานระดับโลก  โดยมีผู้ร่วมกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เช่น ธนาคาร DBS บริษัท GenZero บริษัท Temasek ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ธนาคาร Standard Chartered และ บริษัท Mizuho Financial Group[3]  ซึ่งสังเกตได้ว่าสิงคโปร์ไม่ได้มองว่า CIX จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนซื้อ - ขาย คาร์บอนเครดิตสำหรับตลาดภายในประเทศหรือภูมิภาคแต่ต้องการให้ CIX พัฒนาต่อเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อ – ขาย คาร์บอนเครดิตระดับโลกในอนาคตได้อีกด้วย เพราะด้วยขนาดของประเทศหรืออุตสาหกรรมของสิงคโปร์เอง รวมถึงปัจจัยความแตกต่างด้านนโยบายของแต่ละประเทศอาจทำให้การซื้อขายคาร์บอนมีระดับที่ไม่มากนัก สิงคโปร์จึงคาดหวังว่าตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างเช่น CIX นี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าคาร์บอนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำมาตรฐานสัญญาและกำหนดราคาเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด

          นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางทางด้านตลาดคาร์บอน สิงคโปร์ได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิตโดยเริ่มจากความร่วมมือแบบทวิภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส ในมาตรา 6 สำหรับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างเหล่าประเทศผู้รับการลงทุน (host countries) กับสิงคโปร์ ซึ่งจะครอบคลุมกระบวนการต่าง ๆ เช่น การอนุญาตโครงการและข้อกำหนดการรายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความตรงไปตรงมาในการดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และรับประกันว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับประเทศต่อไปนี้

 

ตารางแสดงประเทศที่ร่วมลงนาม MOU สำหรับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศร่วมกับสิงคโปร์[4]

ลาตินอเมริกา

เอเชีย

แอฟริกา

ชิลี

ภูฏาน

เคนยา

โคลอมเบีย

กัมพูชา

โมร็อกโก

คอสตาริกา

ฟิจิ

รวันดา

โดมินิกัน

ลาว

เซเนกัล

เปรู

มองโกเลีย

 
 

ศรีลังกา

 

 

เวียดนาม

 

 

บรูไน

 

 

อินโดนีเซีย

 

ที่มา: Singapore’s Article 6 Cooperation, “Memorandum of Understanding (MOU)”.

 

โอกาสด้านความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับไทยในตลาดคาร์บอนเครดิต

          สิงคโปร์ ถือว่าไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรโดยพิจารณาได้จากความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านการค้าและการลงทุน ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับไทย โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันสิงคโปร์และไทยอยู่ระหว่างหารือการดำเนินงานร่วมกันภายใต้แนวทางและกลไกบริหารการจัดการคาร์บอนเครดิตและการหารือรายละเอียดของร่างความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิต เพื่อให้คาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER สามารถซื้อ - ขายในตลาดภาคสมัครใจของสิงคโปร์ รวมถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงตลาดซื้อ - ขาย FTIX[5] ของไทยกับระบบ Climate Impact X (CIX) ของสิงคโปร์[6]    

 

T-VER ของไทยและการบูรณาการตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ

          สำหรับการดูแลการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การบริหารการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse Gas Management Organization: TGO) โดยมีการก่อตั้งโครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกแบบภาคสมัครใจและการนำคาร์บอนเครดิตที่อยู่ภายใต้โครงการนำไปขายในตลาดภาคสมัครใจในประเทศได้[7] ทั้งนี้ TGO ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลด / ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ปัจจุบัน TGO ได้มีการพัฒนาโครงการ T-VER ขึ้นมาอีกระดับเป็น Premium T-VER ที่ได้มีการเสนอเครดิตคุณภาพสูงที่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่ม SMEs ที่มีความต้องการเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตจาก TGO

          Premium T-VER หรือ โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง มีการดำเนินการที่เพิ่มเติมจากโครงการแบบปกติคือเริ่มตั้งแต่กระบวนการคำนวณ โดยตัว Premium T-VER จะคิดปริมาณเทียบกับเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุด ดังนั้นเครดิตที่ได้รับจะน้อยกว่าแบบปกติแต่จะมีคุณภาพที่สูงกว่า แต่เนื่องด้วย Premium T-VER เป็นโครงการใหม่จึงทำให้เปิดรับแต่โครงการที่ยังไม่เริ่มดำเนินการเพราะมีหลักการที่เพิ่มจากการดำเนินงานแบบปกติคือต้องไม่มีการนับซ้ำ (Preventing double counting)[8] รวมถึง SMEs ที่จะทำการยื่นโครงการกับทาง TGO จะต้องมีการจัดรับฟังความเห็นจากสังคมรอบข้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทางโครงการและแสดงแนวทางการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดทำเป็นเอกสารและข้อเสนอให้ทาง TGO ได้พิจารณาประกอบการเข้าร่วมโครงการ

          นอกจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยแล้ว TGO ยังได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่นสำหรับการดำเนินความร่วมมือว่าด้วยกลไกเครดิตร่วม หรือ JCM (Joint Crediting Mechanism) ซึ่งเป็นกลไกแบบทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น และความร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ ในโครงการ EV bus ของ Energy Absolute (EA) ที่ได้มีการขายเครดิตให้กับทางสวิตเซอร์แลนด์ โดยการขายเครดิตระหว่างประเทศเช่นนี้ผู้ขายจะต้องได้รับหนังสืออนุญาตการใช้คาร์บอนเครดิตจากประเทศต้นทางด้วย สำหรับอาเซียน ไทยกำลังพัฒนาความร่วมมือในตลาดคาร์บอนแบบรวมตัวในอาเซียน โดยมุ่งส่งเสริมกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศสมาชิก ร่วมแบ่งปันความรู้และกรอบความร่วมมือ โดยเฉพาะการศึกษาแนวทางของสิงคโปร์ในเรื่องนโยบายภาษีคาร์บอนและความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคที่จะเป็นแบบอย่างของการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ไทยกับความท้าทายในตลาดคาร์บอนเครดิต

          ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยยังนับว่าเป็นตลาดที่ใหม่อยู่มากถึงแม้จะมีขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2016 และมีการเติบโตของตลาดในทุกปี แต่ยังคงต้องปรับและพัฒนาการดำเนินงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดนี้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เราอาจจะมองว่าสาเหตุที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยยังเติบโตไม่มากพอ เพราะเป็นเพียงตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจึงมีเพียงส่วนน้อย แต่หากพิจารณาให้ในรายละเอียดแล้วไม่ว่าไทยจะเลือกที่จะเป็นตลาดภาคบังคับหรือสมัครใจก็ตามไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ดังนี้

 

  1. ความรู้พื้นฐาน

          ความรู้พื้นฐานของคนไทยที่มีต่อเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตไม่แพร่หลายมากนัก ความเข้าใจที่มีอยู่มีเพียงแค่ผิวเผินและเป็นเพียงความรู้เฉพาะกลุ่ม แต่ความเป็นจริงแล้วมีประเด็นมากมายที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่หากได้ทำการศึกษาเข้าไปอย่างลึกซึ้งแล้วก็ดูเหมือนว่าประเด็นเพื่อการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงแค่ปลายทางที่ดูแสนจะไกลมากในเรื่องนี้เท่านั้น แต่รายละเอียดระหว่างทางกลับมีมากมายและใกล้ตัวเกินเสียกว่าที่จะคาดถึง ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรัฐบาล TGO กลุ่มสถาบันทางการเงิน และภาคเอกชนต่างๆ จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไทยเรากำลังเข้าสู่การใช้นโยบายภาษีคาร์บอนที่จะมีการบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ 2568 และพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากเราไม่เร่งสร้างความรู้พื้นฐานเหล่านี้ประชาชนอาจจะมองว่าเป็นการผลักภาระแก่ประชาชนในรูปแบบภาษีที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้พื้นฐานภายในประเทศ หากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหาก พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้แล้วจะมีการบังคับใช้กลไกการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emission Trading Scheme: ETS)[9] เพื่อให้เป็นไปตามบริบทการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตภายในประเทศ

  1. ระยะเวลาและความคุ้มค่า

          การเข้าร่วมในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคเอกชนและภาคท้องถิ่นหรือชุมชนจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน โดยความยั่งยืนที่กล่าวถึงไม่ได้เรื่องของแนวทางการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนแต่เป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่สามารถที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในบริเวณชุมชนหรือสังคมที่อยู่ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมนับตั้งแต่การริเริ่มจนถึงอนาคต การใช้ระยะเวลาที่มากเช่นนี้อาจเป็นข้อจำกัดให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ
เหล่าผู้ประกอบการ SMEs หากเปรียบเทียบระยะเวลากว่าจะพัฒนาโครงการให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดจนไปสู่การซื้อ - ขายในตลาดนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะปริมาณคาร์บอนเครดิตในธุรกิจ SMEs มีปริมาณการซื้อ - ขายไม่เพียงพอต่อการลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จะไม่นำคาร์บอนเครดิตออกขายในตลาดมากนักเพราะต้องการนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ดังนั้นระยะเวลาและความคุ้มค่าจึงเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่ให้ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วนัก

  1. ผู้สนับสนุนและแหล่งเงินทุน

          การที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะเติบโตได้อย่างมั่นคงสิ่งที่สำคัญอีกประการคือ สภาพคล่องภายในตลาด เพราะหากมีการกล่าวว่าตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่อาศัยหลักการการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) ที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้นการเข้าร่วมตลาดในการซื้อ– ขาย ก็ย่อมมีต้นทุนสำหรับการร่วมดำเนินโครงการเช่นกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรเงินทุนแก่ผู้ที่ร่วมโครงการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นภายในตลาดในการที่จะขยายหรือเปิดโอกาสแก่ผู้ลงทุนหน้าใหม่โดยเฉพาะเหล่า SMEs โดยหน่วยงานรัฐอาจจะต้องทำการสนับสนุนในเรื่องของมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือกองทุนซึ่งอาจดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินหรือกลุ่มนักลงทุนภายในประเทศเพื่อสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการ

          ไทยมีความพยายามสร้างมาตรฐานให้เกิดเครดิตระดับสูงเพื่อรองรับการซื้อ - ขายเครดิตระหว่างประเทศและหากอนาคตมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลาดคาร์บอนในไทยจะมีความโปร่งใสมากขึ้นเพราะอย่างน้อยผู้ประกอบการต้องมีการรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎข้อบังคับ ETS ของสหภาพยุโรป และมีการตรวจสอบมาตรฐานจากทาง TGO รวมถึงมีกลไกราคาคาร์บอนที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำการซื้อ - ขาย เครดิตระหว่างประเทศสามารถที่จะลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่ประเทศที่บังคับใช้ได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเท่าทันกับตลาดคาร์บอนเครดิตโลก

 

Carbon credit: กลไกการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero Emission?

          นับตั้งแต่ ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา รัฐบาลได้สนับสนุนแนวคิดการจัดการป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตด้วยการเพิ่มพื้นทีป่าโดยมีจุดมุ่งหมายคือการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ของไทยใน ค.ศ. 2065 โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ผ่านการเพิ่มพื้นที่ป่าสาธารณะที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือป่าชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางกรมป่าไม้ โดยรัฐจะเป็นเจ้าของพื้นที่ กลุ่มเอกชนจะเป็นผู้สนับสนุนในการลงทุน และชุมชนจะเป็นผู้ดูแลในฐานะผู้อยู่ในพื้นที่ เมื่อมองในภาพรวมแล้วโครงการเหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายที่ดีสำหรับการเริ่มต้นในการสร้างความยั่งยืนในกับสภาพแวดล้อมภายในประเทศแต่ในทางกลับกันโครงการเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิด การฟอกเขียวที่แฝงตัวมาในรูปแบบการฉกฉวยโอกาสผ่านการดำเนินโครงการเหล่านี้ ดังนั้นเหล่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้และความเข้าใจถึงเป้าหมายของโครงการ อย่างน้อยต้องตระหนักได้ว่าเราปลูกป่าเพื่ออะไร เราใช้ป่าสาธารณะหรือป่าชุมชนเพื่ออะไร ที่สำคัญต้องไม่มองว่าเราจำเป็นต้องเร่งปลูกป่าเพื่อเอาที่จะนำไปซื้อ – ขายในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในธุรกิจของตนด้วยการนำเอาพันธุ์ไม้ที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศในพื้นที่เข้ามาปลูกจนทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน แต่ต้องมองความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญด้วยการปลูกป่าด้วยพืชพันธุ์ที่สร้างความสมดุลภายในธรรมชาติอย่างแท้จริง ฟังเสียงชุมชนและคนในพื้นที่ว่าธรรมชาติตรงนั้นเคยสมบูรณ์ด้วยอะไรและต้องการอะไร

          ท้ายที่สุดแล้ว คาร์บอนเครดิตเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งที่พยายามช่วยแก้ปัญหา แต่ปัญหานั้นจะยังคงอยู่ ไม่หายไปและไม่ถูกแก้ไข เพราะคำว่า “คาร์บอนเครดิต” ในทุกวันนี้เราให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากเสียกว่าด้านสิ่งแวดล้อม การซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิตแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่กลไกที่ช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีของเหล่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านการได้รับสิทธิหรือเครดิตและนำไปลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันจะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับในสังคม ชุมชน หรือเวทีระหว่างประเทศว่าได้มีส่วนช่วยสร้างสังคมที่ดีสู่สิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงสิทธิหรือเครดิตเหล่านั้นน้อยมากจนไม่มากพอที่จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสามารถลดลงได้ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเวทีระหว่างประเทศ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงตัวเราเองต้องรู้เท่าทันว่ากลไกที่มีอยู่นี้ไม่สามารถที่จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางอย่าง Net Zero” ได้ เราจำเป็นต้องร่วมกันหาวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยจะพาเราไปสู่ “ความเป็นศูนย์ที่แท้จริง” และเป็นวิธีการที่สามารถทำก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศลดลงได้ “อย่างสม่ำเสมอ” ก่อนที่เราจะพบว่าที่ผ่านมาเราเสียเวลาไปอย่างมากมายโดยที่ไม่ได้ประโยชน์ใดกลับมาเลย

 

 

[1] สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์. “ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 24 - 28 พฤษภาคม 2564: สิงคโปร์ตั้งสำนักงานใหญ่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลก”, https://www.ditp.go.th/contents_attach/732967/732967.pdf

[2] United Nation Climate Change, “Nationally Determined Contributions: The Paris Agreement and NDCs”, https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/nationally-determined-contributions-ndcs

[3] Climate Impact X, “Who We Are A global carbon market solutions provider”, https://www.climateimpactx.com/about

[4] Singapore’s Article 6 Cooperation, “Memorandum of Understanding (MOU)”, https://www.carbonmarkets-cooperation.gov.sg/our-article-6-cooperation/sgs-article-6-cooperations/mous/

[5] FTI: CC/RE/REC X Platform (FTIX) ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคาร์บอนเครดิตของ TGO ได้

[6] ฐานข้อมูลกองการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม, “ความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง ไทย – สิงคโปร์”, https://fad.mnre.go.th/th/ci/content/273

[7] กลไกลดก๊าซเรือนกระจก, “T-VER คืออะไร?”, https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/t-ver.html

[8] กลไกลดก๊าซเรือนกระจก, “Double counting and double use”, https://ghgreduction.tgo.or.th/en/about-premium-t-ver/double-counting-and-double-use.html

[9] การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emission Trading Scheme: ETS) เป็นกลไกที่อยู่ภายใต้หลักการ “cap and trade”ของสหภาพยุโรปที่กำหนดเพดานปริมาณโดยรวมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วจัดสรรสิทธิในรูปแบบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ (Emission Allowance) European Commission, “What is the EU ETS”, https://climate.ec.europa.eu/eu-action/eu-emissions-trading-system-eu-ets/what-eu-ets_en

 

[*] นักวิจัย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC)

Documents

2-2568_Jan2025_การซื้อขายคาร์บอน_1.pdf