การขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนต่อไทย: บทสำรวจแนวความคิด | ธีรติร์ บรรเทิง และพร้อมพรรณ แจ้งการดี

การขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนต่อไทย: บทสำรวจแนวความคิด | ธีรติร์ บรรเทิง และพร้อมพรรณ แจ้งการดี

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 Feb 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 Feb 2024

| 1,311 view
Header_Journal_(ไทย)

No. 4/2567 | กุมภาพันธ์ 2567

การขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนต่อไทย: บทสำรวจแนวความคิด*
ธีรติร์ บรรเทิง** และพร้อมพรรณ แจ้งการดี***

(Download .pdf below)

 

          นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศของจีนให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมมือกันในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม[1] ความร่วมมือดังกล่าวส่งอิทธิพลต่อทิศทางนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยให้สามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาภายในประเทศจีน

          ใน ค.ศ. 2003 ประเทศไทยและประเทศจีนได้ลงนามสัญญาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ “Sino-Thai Free Trade Agreement” ส่งผลให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย[2]

          การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ใน ค.ศ. 2007 สนใจการขยายอำนาจโน้มนำของประเทศจีนผ่านภาคประชาสังคม ทำให้รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในการสื่อสารกับภาคประชาชนควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อลดข้อพิพาททางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการแปลงวัฒนธรรมในภาคประชาสังคมให้กลายเป็นอำนาจโน้มนำทำให้เกิดผลกระทบทางบวก อาทิ การแปลงวัฒนธรรมให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจจากภายนอกประเทศและการลดความยากจนของประชาชนภายในประเทศ[3]

          บทความนี้ศึกษาการขยายอำนาจโน้มนำของจีนผ่านแนวคิดทางสังคมศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ แนวคิดด้านการขยายอำนาจโน้มนำ นโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนวคิดการสื่อสารระหว่างประเทศ และแนวคิดการทูตสาธารณะ

 

          1) แนวคิดการขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power)

          การศึกษาด้านสังคมศาสตร์สนใจด้านอำนาจ โดย Nye ให้ความหมายของอำนาจไว้ว่า ความสามารถในการกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการ ซึ่งแหล่งที่มาของอำนาจมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนดขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และบริบททางสังคม อย่างไรก็ตาม อำนาจสูงสุดมิได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่พึงประสงค์เสมอไป[4]

          ในขณะที่อำนาจโน้มนำ หมายถึง ความสามารถในการเป็นที่ชื่นชอบ โดยใช้แรงดึงดูดทางบวกและการโน้มน้าวใจ เพื่อกำหนดวาระและการตอบโต้ หรือการทำให้ผู้อื่นมีความต้องการได้รับผลลัพธ์ในแบบเดียวกันกับสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องการโดยไม่ใช้กำลัง อำนาจทางการทหาร หรือการบีบบังคับ ซึ่งแนวคิดอำนาจโน้มนำเป็นแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือรัฐและอำนาจที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการต่างประเทศ[5] นอกจากนี้ อำนาจโน้มนำยังมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ เสน่ห์ทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายการต่างประเทศที่ชอบธรรม[6] สอดคล้องกับการศึกษาองคาพยพของอำนาจโน้มนำโดย ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ และคณะ (2564)[7] ได้สรุปว่า อำนาจโน้มนำผลักดันด้วยวาระทางการเมือง (Agenda) ผู้ปฏิบัติ (Actor) การปฏิบัติตอบสนอง (Action) การตอบรับในกลุ่มเป้าหมาย (Acknowledgement) และ ผลลัพธ์ในกลุ่มเป้าหมาย (Consequence) โดยการต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานที่ชัดเจนผ่านการสนับสนุนด้านนโยบายของภาครัฐ อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ มนุษยธรรม การสนับสนุนทางการทูต การเรียนการสอนภาษาและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการทหาร ในกรณีของจีน สถาบันขงจื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในด้านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมของจีนในทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมจีน[8]

          นอกจากนี้ ประเทศจีนยังสามารถปรับกลยุทธ์ให้มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารเพื่อขยายอำนาจโน้มนำผ่านการสร้างวัฒนธรรมประชานิยมเฉกเช่นเดียวกันกับประเทศแถบตะวันตก การจัดตั้งสถานีวิทยุนานาชาติ การรับนักศึกษาจากต่างประเทศ รวมถึงการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศจีน

 

          2) แนวคิดนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน (China’s Foreign Policy and Thailand-China Relations)

          การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของประเทศที่ต้องอาศัยการพึ่งพาด้านเศรษฐกิจจากประเทศจีน[9]

          นโยบายต่างประเทศของประเทศไทยให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่นเพื่อรักษาดุลยภาพทางการทูตจนได้รับขนานนามว่ามีรูปแบบทางการทูตไม้ไผ่ (Bamboo Diplomacy) โดยมีแนวทางหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1) การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจ และ 2) การรักษาความมั่นคงของอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ[10] ที่อธิบายขอบเขตความมั่นคงไว้กว้างกว่าความมั่นคงทางการทหารและความขัดแย้งบริเวณชายแดน แต่รวมไปถึงภาวะที่ปราศจากภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ และความสามารถในการคงรูปแบบทางการเมืองและสังคม[11] ทำให้เห็นว่านโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นและละเอียดอ่อนเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการรักษาดุลยภาพด้านความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดด้านอำนาจในเวทีโลก ทำให้นโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยต้องคำนึงถึงสถานการณ์ ความปลอดภัย และความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ[12]

          ในด้านความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ไทยสนับสนุนความร่วมมือในนโยบาย One Belt One Road (OBOR) หรือต่อมาคือ Belt and Road Initiative (BRI) ของประเทศจีน เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย BRI[13] นอกจากนี้ ไทยกับจีนยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2569 เพื่อพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง[14] ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและการท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติในหลายจังหวัดที่เป็นฐานการผลิต และจุดขนส่ง กระจายสินค้าไปสู่พื้นที่ประเทศอื่น ๆ[15]

          ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างศไทยกับจีนอาจมีพื้นฐานจากการมีเชื้อชาติร่วมกัน ส่งผลต่อการลงทุนระหว่างเครือญาติสามารถเห็นได้จากกรณีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกันในระดับรัฐจากความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเอกอัครราชทูตของความสัมพันธ์ไทย-จีน และพระองค์ได้เสร็จพระราชดำเนินเยือนจีนหลายครั้ง[16]

          ไทยกับจีนมีความร่วมมือกันด้านการฝึกปฏิบัติภารกิจแบบสะเทินน้ำสะเทินบก การต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึการฝึกซ้อมบรรเทาสาธารณภัย โดยรัฐมนตรีว่าการกลาโหมของจีนประกาศว่า จีนจะให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในด้านการป้องกันประเทศ และให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ[17] อย่างไรก็ตาม จีนมีนโยบายไม่แทรกแซงระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย แต่สามารถสนับสนุน ความช่วยเหลือด้านการเมืองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในทุกระดับ[18]

 

          3) แนวคิดการสื่อสารระหว่างประเทศ (International Communication)

          การสื่อสารระหว่างประเทศ หมายถึง กระบวนการสื่อสารระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับเอกชน ซึ่งมักเป็นการสื่อสารในมิติด้านการเมือง การปกครองซึ่งมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ องค์การระหว่างประเทศ (Intergovernmental organizations: IGOs) องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (International non-governmental organization: INGOs) บริษัทข้ามชาติ (Transnational business corporations: BINGOs) และภาคีสาธารณะ (International public service organizations: PINGOs) โดยใช้หลักของรัฐชาติเป็นกรอบในการศึกษา[19] อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ การสื่อสารระหว่างประเทศศเริ่มไม่ยึดโยงกับความเป็นรัฐ[20] และเกิดองค์การที่มีบทบาทระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) มีหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก

          ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการกระจายอำนาจจากภาครัฐสู่บริษัทข้ามชาติ โดยบริษัทข้ามชาติกลายเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลมากกว่ารัฐบางรัฐและสามารถสร้างศูนย์กลางอำนาจได้หลายแห่งทั่วโลก เกิดเป็นสภาวะการพึ่งพากัอย่างซับซ้อน (Complex Interdependence) ส่งผลให้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อกำกับ ดูแลระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเปิดเสรีทางการค้า การเงิน และการลงทุน[21]

          กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศจีนต้องปรับนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อขยายการส่งออกและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ประเทศจีนได้เผชิญหน้ากับอุปสรรคทางเศรษฐกิจ อาทิ การมีสภาพคล่องที่สูงเกินไป การผลิตปริมาณมากจนเกินไป ราคาต้นทุนการผลิต ค่าแรงงาน ที่ดิน ทรัพยากรพุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการค้าระหว่างประเทศทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกให้กลายเป็นการบริโภคภายในประเทศ[22]

          ใน ค.ศ. 2001 จีนเข้าร่วม WTO และมีนโยบายเปิดประเทศสู่ประชาคมโลกภายใต้กรอบของ WTO อาทิ การรักษาอิทธิพลของประเทศเพื่อใช้ต่อรอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา G77 และ G20 เพื่อเจราจากับ WTO โดยการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศจีนมีนัยทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศที่แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ประเทศจีนได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ และการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนขยายตัวขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 และประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 2 ของโลกใน ค.ศ. 2009 ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศจีนส่งผลต่อสถานะของประเทศในระดับนานาชาติ[23]

          ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศนโยบาย BRI ใน ค.ศ. 2013 ถือเป็นนโยบายการต่างประเทศที่มีส่วนช่วยพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในต่างประเทศ โดยประเทศจีนมุ่งเป้าหมายไปที่ภูมิภาคยูเรเชียเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการทูตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการตอบโต้กลยุทธ์ทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลักการของนโยบาย BRI มี 5 ประการ ได้แก่

  1. การเคารพในอำนาจอธิปไตย ไม่ล่วงละเมิด แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เสมอภาค และเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
  2. การมีกรอบที่เปิดกว้าง
  3. การสร้างความสัมพันธ์ผ่านความร่วมมือซึ่งกันและกัน
  4. การสร้างกลไกการตลาด
  5. การสร้างความสัมพันธ์แบบได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

          หลักการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนต้องการพัฒนาตลาดใหม่ โดยวางกลยุทธ์ที่สามารถกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และยังต้องการขยายโอกาสด้านการค้าขาย แลกเปลี่ยนและลงทุนในต่างประเทศ การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในภูมิภาค และยังสามารถส่งเสริมด้านการทูตที่มีลักษณะเฉพาะในแบบของประเทศจีน[24]

          กระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อมิติด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานส่งผลให้เกิดการขยายอาณาเขตทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิดและประเทศที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูต การผูกขาดทางอำนาจ รวมถึงการสนับสนุนทางการทหารที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างนโยบายภายในกับภายนอกประเทศเริ่มเจือจางลง รัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และวางบทบาททางด้านการเมืองการปกครองของประเทศ[25]

 

          4) แนวคิดเกี่ยวกับการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy)

          การทูตสาธารณะ หมายถึง การสื่อสารและการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับชาวต่างชาติ[26] ถือเป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนชาวต่างชาติผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อ การใช้งบอุดหนุนด้านการส่งออกวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนค่านิยม โดยการนำเสนอจะต้องมีรูปแบบที่น่าสนใจ สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้านวัฒนธรรม แนวคิด อุดมการณ์ รวมถึงเป้าหมายและนโยบาย[27] เพื่อทำให้เกิดอำนาจโน้มนำซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์การสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง และสามารถวัดประสิทธิผลของการสื่อสาร[28]

การทูตสาธารณะเป็นกระบวนการสื่อสารโดยผสมผสานการให้ข้อมูลเชิงบวก และยังเป็นการถ่ายทอดภาพลักษณ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐ[29]  สามารถแบ่งออกได้ 3 รูปแบบ[30] ได้แก่

  1. การสื่อสารทั่วไป เป็นการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายบริบทและการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศ โดยจะเน้นการสื่อสารภายในประเทศเมื่อต้องการสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ส่วนการสื่อสารภายนอกประเทศจะเป็นการสื่อสารเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงการวางแผนรับมือวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ
  2. กลยุทธ์การสื่อสาร พัฒนารูปแบบการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการวางแผนกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างประเด็นสำคัญในการสื่อสารแผนงานหรือโครงการในอนาคต
  3. การพัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวผ่านบุคคล โดยการสนับสนุนด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านทุนการศึกษา โครงการแลกเปลี่ยน การจัดประชุม อบรม สัมมนา หรือการเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางกิจกรรมอื่น ๆ

          รูปแบบของการทูตสาธารณะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันทั้งในด้านค่านิยม อุดมการณ์ รวมถึงเป้าหมายและนโยบายของประเทศ[31] ซึ่งการทูตสาธารณะที่มีประสิทธิภาพควรเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (two-way communication) เพื่อสร้างความเข้าใจระบบวัฒนธรรม เกิดการรับรู้คุณค่าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าการให้ข้อมูล ข่าวสาร ผ่านการแพร่ภาพ ออกอากาศผ่านสื่อสารมวลชน โดยการทูตสาธารณะของประเทศจีนมีวัตถุประสงค์[32] ดังนี้

  1. สร้างความเข้าใจระบบและนโยบายทางการเมือง สร้างภาพลักษณ์ของสังคมที่มีความกลมกลืน มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า จีนมีความต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน
  2. สร้างความร่วมมือทางการค้าอย่างมีเสถียรภาพ และรับผิดชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างมีสันติภาพ
  3. แสดงจุดยืนของประเทศให้เห็นว่า จีนสามารถเป็นสมาชิกที่น่าไว้วางใจและมีความรับผิดชอบต่อระบบการเมืองโลก
  4. เป็นที่ยอมรับและได้รับการให้ความเคารพอารยธรรม วัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่า

          การทูตสาธารณะของประเทศจีนมีลักษณะที่สามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือและได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมถึงการลดภาพลักษณ์ด้านลบของประเทศจีน[33] โดยสถาบันขงจื่อถือเป็นช่องทางการสื่อสารการทูตสาธารณะของประเทศจีน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านมิติการศึกษาและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านการดึงดูดนักศึกษาชาวต่างชาติให้เข้ามาศึกษาภาษา วัฒนธรรม และวิทยาการต่าง ๆ ของประเทศจีน[34]

 

[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กัญจิรา วิจิตรวัชรารักษ์, “นโยบายต่างประเทศของจีนกับความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,” วารสารวิชาการแสงอีสาน 15, 2 (2565): 196-214.

[2] “China: Trade Statistic,” Global EDGE, https://globaledge.msu.edu/countries/china/tradestats (accessed August 28, 2023); Kevin Hewison, “Thailand: an old relationship renewed,” The Pacific Review 31, 1 (2018): 116-130. DOI: 10.1080/09512748.2017.1357653; Mark S. Cogan, “Is Thailand accommodating China?,” Southeast Asian Social Science Review 4, 2 (December 2019): 24-47; Pongphisoot, Busbarat, ““Bamboo swirling in the wind”: Thailand’s foreign policy imbalance between China and the United States,” Contemporary Southeast Asia 38, 2 (August 2016): 233-257.

[3] Joseph Nye, “Soft power: The origins and political progress of a concept,” Palgrave Communication 3, 1 (2017): 1-3; .Joseph S. Nye, “Soft power: The evolution of concept,” Journal of Political Power 14, 1 (2021): 196-208. DOI: 10.1080/2158379X.2021.1879572.

[4] Ibid.

[5] Bakalov (2019), 134 อ้างถึงใน Nye, “Soft power: The evolution,” 200; Jian Wang (ed.), Soft power in China: Public diplomacy through communication (New York: Palgrave Macmillan, 2011); Joseph S. Nye Jr., “Public diplomacy and soft power,” The ANNALS of the American Academy of Political and Social Science 616, 1 (March 2008): 94-109.

[6] ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์, วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์, ศักดิ์สิทธิ์ ทวีกุล, และสุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์, “ภาพยนตร์กับยุทธศาสตร์ Soft Power,” วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ 15 (1) (มกราคม-มิถุนายน 2564): 188-221. https://so01.tcithaijo.org/index.php/dpuca/
article/view/245897/167162
.

[7] อ้างแล้ว.

[8] Joseph S. Nye, “China and soft power,” South African Journal of International Affairs 19, 2 (2012): 151-155. https://doi.org/10.1080/10220461.2012.706889; Joseph S. Nye, “The Rise of China’s Soft Power,” Wall Street Journal, December 19, 2005 (accessed July 17, 2023), https://www.wsj.com/articles/SB113580867242333272.

[9] Ibid.

[10] Kislenko 2002 อ้างถึงใน Cogan, “Is Thailand accommodating China?.”

[11] Fakhreddin Soltani, and Mohammad Agus Yusoff, “Concept of security in the theoretical approaches,” Research Journal of International Studies 24, 1 (2012): 7-17.

[12] Pongphisoot 2016 อ้างถึงใน Cogan, “Is Thailand accommodating China?.”

[13] Ibid.

[14] “โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย),” การรถไฟแห่งประเทศไทย, https://www.hsrkorat-nongkhai.com/เกี่ยวกับโครงการ/ความเป็นมาของโครงการ (วันที่ค้นข้อมูล 17 กรกฎาคม 2566).

[15] Piratorn Punyaratabandhu and Jiranuwat Swaspitchayaskun, “The Political Economy of China–Thailand Development Under the One Belt One Road Initiative: Challenges and Opportunities,” The Chinese Economy 51, 4 (2018): 333-341.

[16] Ibid.

[17] Nanuam & Jikkham 2015 อ้างถึงใน Cogan, “Is Thailand accommodating China?.”

[18] Lefevre 2015 อ้างถึงใน Cogan, “Is Thailand accommodating China?.”

[19] Cees J. Hamelink, Global Communication (Los Angeles: SAGE, 2015); Daya K. Thussu, International Communication: A Reader (London: Routledge, 2010).

[20] Karim H. Karim, “Re-viewing the ‘national’ in ‘international communication’: Through the lens of diaspora,” Journal of International Communication 10, 2 (2004): 90-109.

[21] อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว, สื่อศาสตร์: หลักการ แนวคิด นวัตกรรม (ปทุมธานี: นาคร, 2561).

[22] Hideo Ohashi, “The Belt and Road Initiative (BRI) in the context of China’s opening-up policy,” Journal of Contemporary East Asia Studies 7, 2 (2018): 85-103.

[23] Ibid.

[24] Ibid.

[25] Ibid.

[26] Ibid.

[27] Emily T. Metzger, “Institutions of higher education as public diplomacy tools: China-based university programs for the 21st century,” Journal of Studies in International Education 20, 3 (2016): 223-241.

[28] Ingrid d’Hooghe, “The Expansion of China’s Public Diplomacy System,” in Soft power in China: Public diplomacy through communication, ed. Jian Wang, (United State: Palgrave Macmillan, 2011), 19-35.

[29] Murrow 1963 อ้างถึงใน Thussu, International Communication.

[30] Leonard 2002 อ้างถึงใน Thussu, International Communication.

[31] Ibid.

[32] d’Hooghe, “The Expansion of China’s Public Diplomacy.”

[33] Ibid.

[34] Ibid.

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นการขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) เป็นผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายด้านต่างประเทศของไทยที่ส่งผลต่อความร่วมมือและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ

[**] ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) E-mail: [email protected]

[***] นักวิจัย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) E-mail: [email protected]

Documents

4-2567_Feb2024_soft_power_จีน_ธีรติร์_พร้อมพรรณ.pdf