สถาบันขงจื่อ: การทูตสาธารณะเพื่อขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนในไทย | ธีรติร์ บรรเทิง และพร้อมพรรณ แจ้งการดี

สถาบันขงจื่อ: การทูตสาธารณะเพื่อขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนในไทย | ธีรติร์ บรรเทิง และพร้อมพรรณ แจ้งการดี

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 Feb 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 Feb 2024

| 1,290 view
Header_Journal_(ไทย)

No. 5/2567 | กุมภาพันธ์ 2567

สถาบันขงจื่อ: การทูตสาธารณะเพื่อขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ของจีนในไทย*
ธีรติร์ บรรเทิง** และพร้อมพรรณ แจ้งการดี***

(Download .pdf below)

 

          สถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานสภาภาษาจีนนานาชาติ (Office of Chinese Language Council International หรือ Center for Language Education and Cooperation: CLEC) กระทรวงศึกษาธิการจีน ถือเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่ทำให้เกิดการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด Belt and Road Initiative (BRI)[1] ในรูปแบบสถาบันการศึกษาแบบไม่แสวงหาผลกำไร มีจำนวน 548 แห่งทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุนด้านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมของจีนในต่างประเทศ “ขงจื่อ” เป็นปรัชญาที่แฝงนัยเรื่องคุณธรรม ความเที่ยงตรง ความซื่อสัตย์ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ช่วงส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันให้มีความงดงามในสายตาของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในต่างประเทศ[2] และรัฐบาลจีนคาดหวังว่าสถาบันขงจื่อจะสามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อประเทศจีน[3] อย่างไรก็ตาม สถาบันขงจื่อเป็นหน่วยงานที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศต่าง ๆ เฝ้าสังเกตการณ์ เนื่องจากความกังวลต่อการขยายอิทธิพลด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม[4] รวมถึงความเสี่ยงและผลกระทบจากการจัดตั้งสถาบันขงจื่อในประเทศต่าง ๆ ทำให้มีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ รู้เท่าทัน และสามารถวางแผนรับมือการขยายอำนาจโน้มนำของประเทศจีนผ่านสถาบันขงจื่อ

          บทความนี้ศึกษาวิเคราะห์เอกสารเผยแพร่และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเชิงลึกจำนวน 6 คน โดยผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ ผู้มีประสบการณ์และบุคลากรชาวไทยที่ทำงานกับสถาบันขงจื่อในประเทศไทย และนักวิชาการจีนศึกษา เพื่อใช้ในการอธิบายบทบาท รูปแบบการสื่อสาร และกลยุทธ์ของสถาบันขงจื่อต่อระบบการศึกษาและชุดความคิดด้านการศึกษาของประเทศไทย

 

          1) การขยายอำนาจโน้มนำของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทย

          สถาบันขงจื่อ คือ องค์กรไม่แสวงหากำไร มีจำนวน 16 แห่งทั่วประเทศไทย และมีลักษณะคล้ายหน่วยงานสอนภาษต่างประเทศของประเทศอื่น ๆ อาทิ สถาบันไทย-ญี่ปุ่น British Council และ AUA โดยสถาบันขงจื่อในประเทศไทยจัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ เน้นให้บริการด้านการเรียนการสอนภาษาและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ การจัดอบรมครูสอนภาษาจีนในประเทศไทย กิจกรรมสัมผัสวัฒนธรรมจีน เช่น การเขียนพู่กันจีน ศิลปะการตัดกระดาษ การชงชา รวมถึงการแพทย์แผนจีน

 

ภาพที่ 1   กระบวนการจัดตั้งสถาบันขงจื่อในประเทศไทย

ขงจื่อ1
ที่มา
: ผู้เขียน

          กระบวนการจัดตั้งสถาบันในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการสร้างข้อตกลงระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาของจีนกับไทย เช่น การตกลงร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งเกิดเป็นสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาฯ เมื่อทั้งสองสถาบันตกลงทำสัญญาความร่วมมือกันแล้วประสานงานไปที่ CLEC เพื่อขออนุมัติการจัดตั้งแล้วจะเกิดการลงนามกันระหว่างสถาบันเพื่อจัดตั้งสถาบันขงจื่อ[5] ดังที่แสดงในภาพที่ 1 นอกจากสถาบันขงจื่อแล้ว ยังมีหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อป (Luban Workshop)

          ห้องเรียนขงจื่อมีรูปแบบและวัตถุประสงค์เดียวกับสถาบันขงจื่อแต่เป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในการจัดตั้งห้องเรียนขงจื่ออยู่ภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการจีน (CLEC) และมหาวิทยาลัยของประเทศจีน[6]

          ลูปันเวิร์กช็อปเป็นโครงการร่วมมือด้านการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาที่เริ่มมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[7] โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสด้านการฝึกอบรมทักษะ ฝึกงานและได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานเพื่อนำไปเป็นทุนต่อยอดด้านการศึกษาของผู้เรียนในอนาคต รวมถึงการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์[8] โดยลูปันเวิร์กช็อปแห่งแรกจัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครเทียนจินเพื่อทอดพระเนตรระบบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของจีน[9]

 

          2) บทวิเคราะห์การขยายอำนาจโน้มนำของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทย

          สถาบันขงจื่อถือเป็นอาศัยความแนบเนียนในการขยายอำนาจโน้มนำผ่านนโยบายการทูตสาธารณะด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปถือเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการเรียนการสอนภาษาจีน ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสให้เกิดการเข้าถึง และได้รับประสบการณ์ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน[10] โดยรัฐบาลมีบทบาทด้านการสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านการสร้างเครือข่ายการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมในรูปแบบการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ[11]

          การศึกษาของ ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี[12] พบว่านักเรียนที่เรียนภาษาและวัฒนธรรมจากสถาบันขงจื่อมีทัศนคติเชิงบวกต่อประเทศจีนมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจากสถาบันขงจื่อ สอดคล้องกับการศึกษาของ ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์[13] ที่สรุปไว้ว่า วัฒนธรรมสามารถช่วงส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก ทำให้เกิดการจดจำในแง่มุมที่ดี และช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ที่ไม่พึงประสงค์ สถาบันขงจื่อจึงถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และส่งเสริมการขยายอำนาจโน้มนำของประเทศจีน

          ประเทศไทยมีรูปแบบนโยบายต่างประเทศเพื่อรับมือกับการขยายอำนาจโน้มนำของประเทศจีน โดยยึดหลักการการปฏิบัติโดยเท่าเทียม และความยืดหยุ่นทางการทูต เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้าจากการทำงานร่วมกันในสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อป คือ ค่านิยม วัฒนธรรม และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการแสดงออกของผู้ประสานงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีลักษณะการเจรจาโดยปล่อยให้ผู้แทนจากประเทศจีนเป็นผู้นำในการเสนอโครงการ

          นอกจากนี้ ไทยควรรู้เท่าทันสถานการณ์ทางการทูตระหว่างประเทศในเวทีโลก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดจากการทูตจนตกเป็นพื้นที่แข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองระหว่างประเทศจากประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การเข้าขยายอิทธิพลอำนาจโน้มนำของประเทศจีนในประเทศไทยยังไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากจีนพยายามแสดงจุดยืนด้านการเมืองอย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาคมโลกเห็นว่า จีนไม่เข้าแทรกแซงการเมืองการปกครองภายในของประเทศคู่มิตร โดยตั้งเป็นข้อปฏิบัติ ห้ามผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูอาสา บุคลากรด้านวิชาการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง[14] ไทยควรสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ประเทศจีนรู้จักผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อป ซึ่งประชาชนชาวจีนตอบรับวัฒนธรรมของประเทศไทยในทิศทางบวก อาทิ การซื้อลิขสิทธิ์เพลงของไทยไปแปลเป็นเนื้อเพลงภาษาจีน การแต่งตัวด้วยชุดไทยสไบเฉียง การบริโภคสินค้าท้องถิ่นของประเทศไทย

          จากการศึกษาการขยายอำนาจโน้มนำของจีนผ่านสถาบันขงจื่อทำให้เห็นว่า จีนวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว สร้างความรู้สึกรัก ผูกพัน ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน และเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นจีนผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา เมื่อผู้ศึกษาได้รับประสบการณ์ทางบวกจะกลายเป็นผู้สนับสนุนวัฒนธรรมและค่านิยมของจีนผ่านการแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น และการเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้าของประเทศจีนซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้การขยายอำนาจโน้มนำผ่านสถาบันขงจื่อเป็นต้นแบบได้ ดังนี้

  1. ไทยควรสร้างความรู้สึกคุ้นเคยด้านภาษาและวัฒนธรรมของไทยผ่านสื่อบันเทิงโดยผสมผสานเอกลักษณ์ของประเทศในมิติต่าง ๆ อาทิ อาหาร แฟชั่น เทศกาล และกีฬา โดยนำเสนอด้วยภาษาดนตรี หรือรหัสภาพที่เป็นสากล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ดึงดูดความสนใจ และสังคมของผู้ติดตาม (Communities)[15]
  2. ไทยสามารถขยายอำนาจโน้มนำผ่านสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เช่น วัดไทยในต่างประเทศ โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสาร จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญ เทศกาลของไทย นอกจากนี้ ยังสามารถขยายอำนาจโน้มนำผ่านธุรกิจไทยในต่างประเทศโดยเพิ่มเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสินค้าและงานบริการ
  3. การนำเสนอวัฒนธรรมผ่านการทูตกีฬา (Sports Diplomacy) ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมกีฬา การแสดง การฝึกสอน และการแข่งขัน โดยนำเสนอให้เห็นถึงความเชื่อเบื้องหลัง ที่มาและความสำคัญจนกลายเป็นวัฒนธรรมของไทย

          อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การขยายอำนาจโน้มนำของประเทศไทยต้องอาศัยความยืดหยุ่นโดยเริ่มจากการวางวัตถุประสงค์ เป้าหมาย เพื่อออกแบบเนื้อหา กระบวนการให้มีความเหมาะสม และที่ขาดไม่ได้คือ การวัดประเมินผล เพื่อพัฒนากลยุทธ์การขยายอำนาจให้มีประสิทธิผลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

          3) บทบาท รูปแบบการสื่อสาร และกลยุทธ์ของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทยต่อระบบการศึกษาของไทย

          จากการทบทวนวรรณกรรมและสัมภาษณ์เชิงลึก ทำให้ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์บทบาท รูปแบบการสื่อสาร และกลยุทธ์ของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทยต่อระบบการศึกษาของไทยได้ ดังนี้

          สถาบันขงจื่อมีหน้าที่หลักด้านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนในประเทศไทย การจัดการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษา The Hanyu Shuiping Kaoshi (HSK) รวมถึงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศจีน เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมจีน นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ[16] ซึ่งการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปช่วยส่งเสริม สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนผ่านการสนับสนุนบุคลากรผู้สอนภาษาจีนให้เพียงพอต่อการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทย นอกจากนี้ บุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับห้องเรียนขงจื่อยังมีบทบาทด้านการวางแผนหลักสูตร การเรียนการสอน และการกระจายสื่อการเรียนการสอนให้โรงเรียนในเครือข่าย[17] นอกจากบทบาทด้านการเรียนการสอนและเผยแพร่วัฒนธรรมแล้ว สถาบันขงจื่อยังถือเป็นตัวแทนด้านการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายอำนาจละมุนของประเทศจีน[18]

          รูปแบบการสื่อสารของสถาบันขงจื่อในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. รูปแบบการสื่อสารระหว่างสถาบันขงจื่อกับชุมชน มีรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ให้บริการ โดยสถาบันขงจื่อที่เปิดให้บริการในพื้นที่ของชาวจีนโพ้นทะเลจะได้รับการต้อนรับจากชุมชนเป็นอย่างดี เมื่อมีกิจกรรม งานเทศกาลสำคัญ ประชาชนในชุมชนมักจะเชิญตัวแทนจากสถาบันขงจื่อเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เกิดความรัก ผูกพัน รวมถึงการแลกเปลี่ยน ผสมผสานทางวัฒนธรรมในพื้นที่
  2. รูปแบบการสื่อสารระหว่างสถาบันขงจื่อแต่ละสาขา มักเป็นรูปแบบการสร้างเครือข่ายของผู้ที่ทำงานในสถาบันขงจื่อ และห้องเรียนขงจื่อในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการนัดหมายการประชุมที่มีผู้บริหารจากหน่วยงานของประเทศไทยและจีนเข้าร่วม โดยใช้แอปพลิเคชัน Wechat และอีเมล์เป็นช่องทางหลัก
  3. รูปแบบการสื่อสารระหว่างสถาบันขงจื่อกับหน่วยงานของรัฐ เป็นรูปแบบที่มีความแตกต่างจากสองรูปแบบข้างต้น เนื่องจากนโยบายการสื่อสารของประเทศจีนจะให้ความเคารพระบบราชการของประเทศคู่มิตร ตัวแทนผู้สื่อสารของประเทศจีนจะไม่เข้าแทรกแซงกระบวนการติดต่อทางราชการ ดังนั้น หน่วยงานของไทยจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นโครงการและมอบหมายให้ผู้ประสานงานของจีนดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม นโยบายการดำเนินงานของห้องเรียนขงจื่อในประเทศไทยมักดำเนินการตามแนวทางของประเทศจีน ทำให้หน่วยงานจากประเทศจีนดูมีบทบาทนำ ส่งผลต่อความเท่าเทียมในการเจรจา[19]

          รูปแบบการสื่อสารของสถาบันขงจื่อในไทยสะท้อนให้เห็นว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกระดับความสัมพันธ์ทั้งในระดับหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคม รูปแบบที่มีความแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่ส่งผลต่อกลยุทธ์การสร้างตัวตนของสถาบันขงจื่อ ซึ่งสถาบันขงจื่อมักใช้กลยุทธ์การสร้างตัวตนเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก เช่น การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาภาษาจีนที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการเรียนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ระบบการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น กิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่หลายหลาย โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นอยู่กับความถนัดของสถาบันการศึกษาที่สถาบันขงจื่อสังกัดอยู่ เช่น สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเน้นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ สถาบันขงจื่อในสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ อาทิ กิจกรรมประกวดภาพถ่าย One Belt One Road

          นอกจากนี้ สถาบันขงจื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียนภาษาจีนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาจีน ผ่านการให้ทุนสนับสนุนการไปศึกษา ดูงาน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ขอรับทุนจะต้องสอบผ่าน HSK ให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สถาบันขงจื่อยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

          ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบการดำเนินงานระหว่างสถาบันขงจื่อกับหน่วยงานการทูตตด้านการศึกษาในต่างประเทศ ทำให้เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานการทูตด้านการศึกษามีรูปแบบการดำเนินงานที่คล้ายคลึงกัน แต่สถาบันขงจื่อของประเทศจีนมีจำนวนสาขาและการกระจายตัวมากที่สุด มีจำนวนถึง 16 แห่งทั่วประเทศไทย รองลงมาคือ สถาบันภาษาเกาหลี King Sejong Institute จำนวน 5 แห่ง ในขณะที่หน่วยงานการทูตด้านการศึกษาจากประเทศทางฝั่งตะวันตกมีจำนวนสาขาที่น้อยกว่า สามารถวิเคราะห์ได้ว่า สถาบันขงจื่อมีลักษณะการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมเชิงรุก

          นอกจากความแตกต่างด้านจำนวนการจัดตั้งสถาบันเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมแล้ว เกณฑ์การจัดเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนของแต่ละหน่วยงานก็มีความแตกต่างกัน โดยหน่วยงานที่มาจากประเทศฝั่งตะวันออกจะใช้เกณฑ์ด้านความสามารถในการใช้ภาษา ในขณะที่หน่วยงานจากตะวันตกจะใช้เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอายุและระดับการศึกษา

          ปัจจัยด้านเกณฑ์การจัดการเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอน และความหนาแน่นของการจัดตั้งสถาบัน ส่งผลให้ต่อความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งสถาบันขงจื่อของประเทศจีนพยายามอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการด้านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน

 

ตารางที่ 1   เปรียบเทียบวิธีการดำเนินงานของสถาบันขงจื่อกับหน่วยงานการทูตด้านการศึกษาอื่นในต่างประเทศ

 

สถาบันขงจื่อ (Confucius Institute)

สาธารณรัฐประชาชนจีน

King Sejong Institute

สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

Goethe-Institut

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

British Council
สหราชอาณาจักร

รูปแบบและวิธีการสื่อสารในต่างประเทศ

● สื่อสารผ่านสถาบันการศึกษาผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน งานบริการด้านการฝึกอบรมภาษาจีน การสอบวัดระดับภาษาจีน และการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

● สื่อสารผ่านสถาบันการศึกษา สื่อบุคคล วัฒนธรรม และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และนิทรรศการ

● ในช่วงแรก สถาบันเกอเธ่สื่อสารผ่านช่องทางบุคคล และได้มีการร่วมมือผ่านสถานศึกษา จากนั้นได้มีการจัดตั้งสำนักงาน และจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เช่น คอนเสิร์ต งานเลี้ยงน้ำชา การนำสินค้าจากประเทศเยอรมนี การให้ทุนการศึกษา และการจัดกิจกรรมด้านภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ และอาหาร เป็นต้น

● การสื่อสารผ่านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษ และโครงการอบรมต่าง ๆ เช่น การอบรมครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ

● การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม เช่น ศูนย์
ศิลปาชีพระหว่างประเทศ

● การรวมตัวกันเป็น Creative Hub

รูปแบบกิจกรรม

● การจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา

● การจัดการอบรม สัมมนาให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมจีน

●สนับสนุนสื่อการเรียนการสอนด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน

● การจัดหาครูอาสาให้แก่โรงเรียนที่เช้าร่วม

● การจัดการเรียนการสอนทั้งในสถานที่ (Onsite) และรูปแบบออนไลน์

● จัดอบรมครูสอนภาษาเกาหลี

● การนำเสนอประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมเกาหลีผ่านการเรียนการสอน และกิจกรรม นิทรรศการ

● การนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อสังคมออนไลน์

● การสอนภาษาอย่างมืออาชีพ

● ให้บริการห้องสมุด ยืมหนังสือออนไลน์

● จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ผ่านคอนเสิร์ต นิทรรศการ และภาพยนตร์ เป็นต้น

● การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศเยอรมนี

● การให้ข้อมูล แนวทางปรับตัว การใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนีและการขอ
วีซ่า

●จัดสอบ GOETHE-ZERTIFIKAT

● การจัดคอร์สเรียนภาษา

● การดำเนินการสอบวัดระดับภาษาในสถานศึกษาที่เป็นพันธมิตร

● การจัดสอบ IELTS, IGCSE และ AS&A Level

● ให้ข้อมูลด้านการเรียนต่อในประเทศอังกฤษ

● จัดกิจกรรมด้านศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

หลักสูตรการเรียน

● หลักสูตรภาษาจีนสำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย

แบ่งการเรียนออกเป็น 6 ระดับ

● ระดับ 1-2 Beginner

● ระดับ 3-4 Intermediate

● ระดับ 5-6 Advanced

มีการเรียนการสอนทั้งรูปแบบ Onsite และ Online

● คอร์สเรียนภาษาทั่วไป

● การเรียนภาษาเยอรมันออนไลน์และหลักสูตรผสมผสานการเรียนออนไลน์

● คอร์สเรียนรายบุคคล และ
คอร์สเรียนกลุ่มเล็ก คอร์สเรียนสำหรับองค์กร คอร์สเรียนการสะกดคำ
คอร์สเรียนเพื่อเตรียมสอบ และคอร์สนักเรียนมัธยม เป็นต้น

● คอร์สภาษาอังกฤษสำหรับเด็กนักเรียน

● คอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่

● คอร์สฝึกอบรมสำหรับองค์กรและการประเมินผล

หน่วยงานผู้รับผิดชอบ

●Center for Language Education and Cooperation (CLEC) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการจีน

●King Sejong Institute Foundation ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สาธารณรัฐเกาหลี

● กระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

● ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของ
สหราชอาณาจักร

สาขาและการดำเนินกิจกรรมในไทย

สถาบันขงจื่อ 16 แห่ง ห้องเรียนขงจื่อ 21 แห่ง และลูปันเวิร์กช็อป 1 แห่ง

5 สาขา

1 สาขา

3 สาขา

ที่มา: ผู้เขียน

 

          4) ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อป

          การจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปสร้างประโยชน์แก่ชาวไทยด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของจีน โดยสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการจัดหาครูอาสาชาวจีนมาช่วยเหลือในกิจกรรมการเรียนการสอน การจัดหาอุปกรณ์และสื่อการสอน การให้ทุนการศึกษาและอำนวยความสะดวกให้นักเรียน นักศึกษา ซึ่งสนับสนุนด้านการศึกษาให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้จากครูเจ้าของภาษาส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรม เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน และซึมซับวัฒนธรรมระหว่างสองฝ่าย อีกทั้งยังทำให้เกิดโอกาสด้านการสร้างเครือข่ายของสถาบัน นอกจากนี้ การเรียนรู้ภาษาละวัฒนธรรมจีนยังช่วยให้ผู้ศึกษาได้รับโอกาสด้านการศึกษาและประกอบอาชีพ รวมถึงยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการทำธุรกิจระหว่างประเทศ การลงทุน และการท่องเที่ยว การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมยังเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาสามารถรับข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์ และตัดสินใจ[20]

          ในขณะเดียวกัน ประโยชน์ที่ประเทศจีนได้รับจากการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อป คือ โอกาสในการเผยแพร่ภาษา วัฒนธรรม อุดมการณ์และความเป็นจีนผ่านกิจกรรมการเรียน การสอน และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเปิดโอกาสด้านการศึกษาทำให้นักเรียนที่ได้รับโอกาสจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีนเกิดความรัก ผูกพัน และมีทัศนคติต่อประเทศจีนในเชิงบวก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของประเทศจากการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานของชาวต่างชาติ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การจัดหาบุคลากรจีนให้เข้ามาสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยยังเปิดโอกาสให้ชาวจีนสามารถเข้ามาศึกษาวิถีชีวิต พฤติกรรม และสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้อย่างแยบยล[21]

 

          5) ความท้าทายของสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปันเวิร์กช็อปในประเทศไทย

          การจัดตั้งสถาบันขงจื่อในประเทศไทยเป็นไปตามหลักการทั่วไปของการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาบทบาท รูปแบบการสื่อสาร และกลยุทธ์ของสถาบันขงจื่อ พบว่าสถาบันขงจื่อยังมีอุปสรรคด้านการดำเนินงานในประเทศไทย ดังนี้

  1. ประเทศไทยมีวัฒนธรรมด้านการเรียนและการทำงานแตกต่างจากประเทศจีน ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการทำงานร่วมกันของผู้ปฏิบัติงาน
  2. นโยบายของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต้นสังกัดในประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านการทำงานหรือการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ของอาจารย์ชาวจีน
  3. จำนวนการเข้าถึงสถาบันขงจื่อของผู้ใช้บริการชาวไทยยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ทำให้เสียโอกาสด้านการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมได้

          อย่างไรก็ตาม นโยบายการทูตสาธารณะของจีนให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่น สามารถปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ชุมชนที่เข้าไปจัดตั้งสถาบันขงจื่อได้ อีกทั้งประเทศจีนยังต้องการให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเสมอภาคเท่าเทียมโดยไม่แทรกแซงระบบการทำงานของประเทศไทย ทำให้กิจกรรมของสถาบันขงจื่อกลายเป็นสื่อกลางในด้านการแลกเปลี่ยน ผสมผสานวัฒนธรรม และเกิดการสื่อสารแบบสองทางและได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

 

          6) แนวทางการรับมือของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อการมีสถาบันขงจื่อ ห้องเรียนขงจื่อ และลูปัน
เวิร์กช็อปรวมถึงแนวทางในการรับมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทย

          ไทยควรใช้สถาบันขงจื่อเป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนผสมผสานวัฒนธรรมของไทยให้จีนรู้จัก เนื่องจากประชาชนจีนก็มีความสนใจความเป็นไทยที่ปรากฏให้เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ การแต่งกายด้วยชุดสไบเฉียง การแต่งชุดนักเรียน การซื้อลิขสิทธิ์เพลงไทยเพื่อนำไปแปลงเนื้อร้องเป็นภาษาจีน

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรรู้เท่าทันวาระที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางการทูตตระหว่างประเทศจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ประเทศไทยตกเป็นพื้นที่การแข่งขันด้านอำนาจของประเทศมหาอำนาจ นำไปสู่การถูกแทรกแซงทางการเมือง ดังนั้น หน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรมีความเข้าใจบริบทและสถานการณ์ของประเทศคู่มิตรแต่ละประเทศเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

          7) ข้อเสนอแนะด้านชุดความคิดทางการศึกษาของประเทศไทย

  1. นโยบายด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญต่อการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาจีน ควรบรรจุเป็นวิชาบังคับหรือวิชาบังคับเลือก เนื่องจากจีนมีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  2. ความสามารถด้านการเจรจา เพื่อขอคัดเลือกอาสาสมัครชาวจีนที่เข้ามาแบ่งปันความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย ควรมีเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความรู้ในระดับสูง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการศึกษาที่สูงที่สุด
  3. การจัดกิจกรรมด้านภาษาและวัฒนธรรมที่สามารถสร้างเป็นทักษะส่วนบุคคลได้ควรมีการกระจายไปทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ และแสดงความสามารถ
  4. มาตรฐานด้านการสอบวัดระดับทางภาษาในประเทศไทยควรมีความเข้มงวด ได้มาตรฐานด้านการจัดสอบเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
  5. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยสร้างอารมณ์ ความรู้สึกทางบวกเพื่อให้เกิดความสนใจ จดจำ และสามารถสร้างเป้าหมายหรือแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้ศึกษา

          จากการศึกษาบทบาท รูปแบบการสื่อสาร และกลยุทธ์ของสถาบันขงจื่อในประเทศไทย ทำให้เห็นได้ว่าสถาบันขงจื่อสามารถออกแบบรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะสมตามความต้องการ ความถนัด แนะนโยบายของสถาบันการศึกษาต้นสังกัด โดยให้ความสำคัญต่อความสะดวกในการเข้าถึงทั้งในด้านพื้นที่และค่าใช้จ่ายทำให้เกิดโอกาสด้านการศึกษาภายในชุมชน

 

[1] Yu Tao, and Jiayi Wang, “Confucius Institutes,” Oxford Bibliographies (New York: Oxford University Press, 2018).

[2] Thanayod Lohpattananont, “The role of the Confucius Institutes in contemporary Thai society,” paper presented at the Tenth Chinese - Thai Strategic Research Seminar in Xiamen, China, November 9-10, 2021.

[3] Danping Wang and Bob Adamson, “War and peace: perceptions of Confucius Institutes in China and USA,” The Asia-Pacific Education Researcher 24, 1 (2015): 225–234.

[4] สาธิต มนัสสุรกุล, “‘สถาบันขงจื่อ’ ซุ่มเงียบแผ่อิทธิพลจีน?,” The Momentum, 17 สิงหาคม 2563, https://themomentum.co/confucius-institutes/.

[5] “ประวัติความเป็นมาของสถาบันขงจื่อในประเทศไทย,” สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล, https://www.dpu.ac.th/msrci/about.php (วันที่ค้นข้อมูล 17 กรกฎาคม 2566).

[6] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนไทย, 7 กรกฎาคม 2566.

[7] “Thailand Luban Workshop yields fruits,” Luban Workshop, updated October 20, 2021, http://tianjin.chinadaily.com.cn/lubanws/2021-10/20/c_669497.htm (accessed July 17, 2023).

[8] นงลักษณ์ อัจนปัญญา (แปลและเรียบเรียง), “บุกเบิกเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ‘จีน’ ปั้น Luban Workshop เพิ่มทักษะบุคลากรร่วมกันใน 19 ประเทศ,” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 28 สิงหาคม 2565, https://www.eef.or.th/news-luban-workshop/; มยุรี ศรีระบุคร, หลี จื้อตง, และหลี่ เยี่ยน, “ลูปันเวิร์คช็อปประเทศไทยกับการเรียนการสอนแบบ EPIP ของอาชีวศึกษา,” วารสารวิชาการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 7, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2565): 12-18.

[9] “Options for a Shared Future: Luban Workshop inspires young innovators in Thailand,” CGTN, February 7, 2023, https://news.cgtn.com/news/2022-11-17/VHJhbnNjcmlwdDY5NTE5/index.html (accessed July 17, 2023).

[10] อ้างแล้ว.

[11] Teerati Banterng, “China’s education diplomacy: An examination of collaborative public diplomacy through Confucius Institutes in Thailand,” paper presented at IAMCR 2018 conference in Eugene, Oregon, USA, June 20-24, 2018.

[12] Siripetch Trisanawadee, “Chinese Cultural Diplomacy towards ASEAN Countries: Case Studies of Confucius Institutes in Thailand,” Manutsayasat Wichakan 27, 2 (July-December 2020): 416-450.

[13] อ้างแล้ว.

[14] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยไทย, 4 กรกฎาคม 2566

[15] กนกวรรณ เกิดผลานันท์, “‘ธฤต จรุงวัฒน์’ เลขาฯ มูลนิธิไทย ภารกิจสร้างแฟนคลับเพื่อชาติ,” กรุงเทพธุรกิจ, 15 มิถุนายน 2566, https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1073522.

[16] Siripetch Trisanawadee, “Chinese Cultural Diplomacy towards ASEAN Countries.”

[17] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนไทย, 7 กรกฎาคม 2566

[18] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยไทย, 28 มิถุนายน 2566

[19] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนไทย, 7 กรกฎาคม 2566

[20] สัมภาษณ์นักวิชาการจีนศึกษา, 7 กรกฎาคม 2566; สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนไทย, 10 กรกฎาคม 2566.

[21] สัมภาษณ์ตัวแทนผู้ที่ทำงานในห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนไทย, 7 กรกฎาคม 2566

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นการขยายอำนาจโน้มนำ (Soft Power) เป็นผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายด้านต่างประเทศของไทยที่ส่งผลต่อความร่วมมือและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ

[**] ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) E-mail: [email protected]

[***] นักวิจัย คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) E-mail: [email protected]

Documents

5-2567_Feb2024_สถาบันขงจื่อ_ธีรติร์_พร้อมพรรณ.pdf