การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย: โอกาสและความท้าทาย | อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย: โอกาสและความท้าทาย | อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 Feb 2024

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 Feb 2024

| 1,379 view
Header_Journal_(ไทย)

No. 6/2567 | กุมภาพันธ์ 2567

การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย: โอกาสและความท้าทาย*
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน**

(Download .pdf below)

 

          ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ มุมหนึ่งในฐานะเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทยทางตอนใต้ มีการติดต่อสัมพันธ์กันทั้งในเชิงของการค้าและการเดินทางของผู้คน ตลอดจนการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล อีกมุมหนึ่งในฐานะการมีวัฒนธรรมร่วมและคล้ายคลึงกันในสังคมชายแดนภาคใต้ ทั้งวัฒนธรรมมลายูมุสลิม และวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเล

          มาเลเซียถือได้ว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ในทางเดียวกัน ไทยเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของมาเลเซียเช่นเดียวกัน ข้อมูลการค้าชายแดนของทั้งสองประเทศใน ค.ศ. 2020-2022 ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกของไทยไปยังมาเลเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกปี กล่าวคือ จาก 1.24 แสนล้านบาทใน ค.ศ. 2020 มาเป็น 1.82 และ 1.83 แสนล้านบาท ใน ค.ศ. 2021 และ 2022 ตามลำดับ ซึ่งยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์  แผงวงจรไฟฟ้า และยางยานพาหนะ เป็นสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของประเทศไทย ในขณะที่การนำเข้า ประเทศไทยมีการนำเข้าจากมาเลเซียมูลค่ารวม 1.25 แสนล้านบาทใน ค.ศ. 2020 และใน ค.ศ. 2021 และ 2022 มีมูลค่า 1.53 แสนล้านบาท และ 1.52 แสนล้านบาทตามลำดับ

 

ตารางที่ 1   มูลค่าการส่งออกชายแดนไทย-มาเลเซีย (ล้านบาท)

ลำดับที่

รายการสินค้าส่งออก

2020

2021

2022

 

 
   

1

ยางพารา

20,347.41

25,412.03

22,527.81

   

2

เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ

17,968.35

30,314.79

22,258.09

   

3

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

7,116.36

10,504.18

14,633.05

   

4

แผงวงจรไฟฟ้า

4,667.87

5,876.29

7,915.63

   

5

ยางยานพาหนะ

2,537.31

3,856.20

5,510.05

   

6

เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่

2,158.81

2,823.43

4,741.44

   

7

ไก่

1,535.29

2,059.22

4,343.99

   

8

สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ

3,330.01

3,033.17

3,965.01

   

9

สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

2,011.23

3,500.41

3,219.46

   

10

ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ

1,724.50

1,910.72

2,919.48

   

 

รวม 10 อันดับ

63,397.15

89,290.44

92,034.02

   

 

อื่น ๆ

60,796.17

93,110.38

91,488.85

   

 

มูลค่ารวม

124,193.32

182,400.82

183,522.87

   

ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ

 

ตารางที่ 2   มูลค่าการนำเข้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ล้านบาท)

ลำดับที่

รายการสินค้านำเข้า

2020

2021

2022

 

 
   

1

เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็ก

25,226.86

31,909.58

25,894.04

   

2

อุปกรณ์ไฟ้ฟ้าสำหรับตัดต่อ

2,499.49

4,640.17

8,348.89

   

3

เม็ดพลาสติก

4,161.42

7,171.40

8,070.90

   

4

ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์

10,218.96

10,612.03

7,806.03

   

5

เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมฯ

5,180.67

7,741.52

7,066.94

   

6

เครื่องจักรไฟฟ้าอื่น ๆ และส่วนประกอบ

5,328.55

7,296.39

5,590.31

   

7

เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์

4,264.17

4,184.06

5,209.19

   

8

อื่น ๆ (โครงสร้าง ค.ศ. 2022)

0.00

0.00

4,755.06

   

9

เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์

1,528.62

2,531.08

4,408.77

   

10

ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำจากพลาสติก

3,312.05

3,910.77

4,248.63

   

 

รวม 10 อันดับ

61,720.78

79,997.01

81,398.76

   

 

อื่น ๆ

63,542.62

73,541.73

71,196.78

   

 

มูลค่ารวม

125,263.40

153,538.73

152,595.54

   

ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ

 

          นอกจากนี้ ชาวมาเลเซียยังถือได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศไทย ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระบุว่า ใน ค.ศ. 2022  มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากถึง 1.9 ล้านคน ซึ่งจุดหมายของการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวและเมืองท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะหาดใหญ่ เบตง สะเดา และภูเก็ต

          ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนากรอบความร่วมมือทั้งในระดับรัฐและพื้นที่ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการของทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนของไทย บนพื้นฐานของความเป็นพหุวัฒนธรรมและการให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้คนในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมอย่างแนบแน่นกับประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาและยกระดับโอกาสของความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร การพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีจุดร่วมเชิงอัตลักษณ์ของทั้งสองประเทศ และการสร้างความเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ทั้งไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม

 

          1) กรอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย

          ความสัมพันธ์ในทุกระดับและการเยือนระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมานำไปสู่การพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับทวิภาคีและไตรภาคีจำนวนหนึ่งที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ในประเด็นเฉพาะระดับพื้นที่ของไทยและมาเลเซีย        

          1.1 กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

          มีความร่วมมือในรูปแบบและระดับต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่

  1. องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority: MTJA) ที่จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1979 มีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ที่เรียกว่า “พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA)”
  2. โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1993 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นความร่วมมือด้านการผลิต การส่งเสริม การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของพื้นที่ IMT-GT ผ่านกลไกการดำเนินงานที่สำคัญได้แก่ การประชุมสุดยอดผู้นำ (Leaders’ Summit) การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministers’ Meeting: MM) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting: SOM) การประชุมคณะทำงาน (Working Groups) เพื่อจัดเตรียมแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ภายใต้ Roadmap ศูนย์ติดตามผลและประสานงาน (Coordinating and Monitoring Center: CMC) ที่เป็นศูนย์กลางในการติดตามและประสานงานกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย สำนักงานเลขาธิการแห่งชาติ (National Secretariat) ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมดำเนินงานในระดับชาติกับศูนย์ติดตามผลและประสานงาน และสภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council: JBC)
  3. คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-มาเลเซีย ที่เกิดขึ้นจากความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี ลงนามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ที่มีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมการค้าชายแดนและมาตรการต่าง ๆ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย
  4. กรอบความร่วมมือว่าด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ไทยและมาเลเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas: JDS) เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2004 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกลไกพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และ นราธิวาส กับ 4 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ ปะลิส เกดะห์ กลันตัน และเประ (เฉพาะอำเภอเปิงกาลันฮูลู) โดยกำหนดกรอบความร่วมมือในหลายสาขา เช่น การท่องเที่ยว การเงิน และการคลัง

          นอกจากนี้ ในการประชุม “Business Meeting” ของหอการค้ามาเลเซีย-ไทย (The Malaysian-Thai Chamber of Commerce: MTCC) ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 มีรายงานว่าในที่ประชุมได้มีการเสนอให้มีการขับเคลื่อนและจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Special Economic Corridor: TM-SEC)[1] ที่จะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และพื้นที่รัฐฝั่งเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพและสร้างโอกาสในการเชื่อมสู่ตลาดการค้าและการลงทุนสู่ภูมิภาคอื่นของเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงจะเป็นการเสริมศักยภาพของเขตเศรษฐกิจ IMT-GT

 

          1.2 กรอบความร่วมมือระดับพื้นที่

          นอกจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความร่วมมือระดับพื้นที่ระหว่างไทยกับมาเลเซียหรือกรอบการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้จากหน่วยงานหรือองค์กรในระดับพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งในมิติของการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ความร่วมมือและกรอบการพัฒนาที่สำคัญจากหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่

  1. ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานจากการประชุมปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการ ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่ข้อเสนอเชิงหลักการที่สำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การผลักดันความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ 2) การขยายช่องทางการตลาดสินค้าฮาลาล 3) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ พื้นที่ชายแดน 4) การเร่งเปิดตลาดการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซียในพื้นที่ด่านชายแดน ณ จังหวัดสตูล และ 5) การเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ[2]
  2. ความร่วมมือระหว่างสมาคมการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างของไทย อันได้แก่ สมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนในการนำชาวมาเลเซียมาเที่ยว 5 จังหวัดภาคใต้ขณะที่ผู้ประกอบการไทยจะนำคนไทยไปท่องเที่ยวประเทศมาเลเซีย[3]
  3. ความร่วมมือทางการศึกษาและการแลกเปลี่ยนความรู้/การสัมมนาทางวิชาการระหว่างนักวิชาการไทย-มาเลเซีย ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างสถาบันอาหรับและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์กับคณะอิสลามศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย และมหาวิทยาลัยอิสลามจากประเทศอินโดนีเซีย ในการประชุมวิชาการทางอิสลามศึกษาระดับนานาชาติ
  4. แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนฉบับทบทวน (พ.ศ. 2566-2570) ที่จัดทำโดยสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีการระบุเป้าหมายการพัฒนาคือ “ศูนย์กลางการเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการค้าชายแดน บนสังคมพหุวัฒนธรรมเข้มแข็งอย่างยั่งยืน"” มีประเด็นการพัฒนาจำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) พัฒนาคุณภาพการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร 2) พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืนบนฐานอัตลักษณ์พหุวัฒนธรรม 3) พัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าชายแดน 4) ยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ การศึกษา สมรรถนะแรงงาน และสาธารณสุข เพื่อวิถีชีวิตยั่งยืนและสันติสุข ซึ่งทั้งเป้าหมายการพัฒนาและประเด็นการพัฒนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียในพื้นที่ชายแดน[4]

          นอกจากความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างไทยกับมาเลเซียในระดับพื้นที่ของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่สะท้อนให้เห็นรูปธรรมของการดำเนินการดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งสมาคมธุรกิจ หอการค้า หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ยังได้มีการหารือเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการสะท้อนให้เห็นทุนในการพัฒนาความร่วมมือที่สำคัญในอนาคต

 

          2) โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย

          ไทยและมาเลเซียเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายทศวรรษทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการผ่านข้อตกลงแบบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการหารือของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนในทุกระดับ และในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ผ่านความสัมพันธ์ของผู้คน ความเป็นเครือญาติ และการเดินทางไปมาหาสู่ของผู้คนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยที่มีวัฒนธรรมร่วมและผสมผสานในลักษณะของพหุวัฒนธรรม

          ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของทั้งสองประเทศ ตลอดจนลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดังกล่าวนี้ เป็นทุนอันสำคัญต่อโอกาสในการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทั้งภาคการค้า ภาคการลงทุน และภาคบริการ อย่างไรก็ดี โจทย์สำคัญของการพัฒนาความร่วมมือและความเชื่อมโยงดังกล่าวดูจะอยู่ที่การพัฒนาและยกระดับลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจสู่การสร้างประโยชน์ร่วม (common interest) และประโยชน์ส่วนรวม (common benefit) ของภาคส่วนต่าง ๆ ในทั้งสองประเทศ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันจากความเชื่อมโยงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จนนำไปสู่การอยู่ดีมีสุขของประชาชนในทั้งสองประเทศ

          การประเมินทุนในมิติต่าง ๆ และความเชื่อมโยงหรือความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในทุกระดับ สะท้อนให้เห็นโอกาสและความร่วมมือในการความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 2) โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรม และ 3) โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยว

 

          2.1 โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

          ไทยและมาเลเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเชื่อมโยงกันมาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางพาราและน้ำมันปาล์ม ที่มีความเชื่อมโยงกันในฐานะห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และคู่ค้าที่สำคัญ ในปัจจุบัน การดำเนินการของหน่วยงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนให้เห็นโอกาสในการพัฒนาความเชื่อมโยงของทั้งสองประเทศใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมฮาลาล และการพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมยางพาราและการแปรรูป ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

          การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมฮาลาล

          อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียต่างให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ทั้งในฐานะโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและการสร้างความมั่นคงทางอาหารของทั้งสองประเทศ

          ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 รัฐบาลมาเลเซียเปิดตัว “Halal Industry Master Plan 2030 (HIMP 2030)” ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์หลักตามแผนอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1) กระตุ้นการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมของอุตสาหกรรมฮาลาลของมาเลเซีย 2) พัฒนาระบบนิเวศที่มีพลวัตอุตสาหกรรมฮาลาลสำหรับรองรับสินค้าและบริการฮาลาลที่มากขึ้น 3) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมาเลเซีย ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวนี้ มีความครอบคลุม 7 สาขายุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาล ได้แก่ 1) ส่งเสริมนโยบายและกฎหมายที่เป็นมิตรต่อกลุ่มสินค้าและบริการฮาลาล 2) สร้างตลาดใหม่และขยายตลาดให้สินค้าและบริการฮาลาลของมาเลเซีย 3) ขยายฐานผู้เชี่ยวชาญด้านฮาลาลเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก 4) ส่งเสริมคุณภาพและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ 5) เสริมสร้างการเป็นผู้นําทางความคิด 6) ผลิต home-grown halal champions มากขึ้น และ 7) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มภูมิบุตรที่มีความสามารถ ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมฮาลาล[5]

          ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) มีเป้าหมายสำคัญ ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใน ค.ศ. 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ 1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล 2) สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค 4) เพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ 5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ[6] ในทางเดียวกัน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้การผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจุดเน้นที่อุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร การส่งเสริมเกษตรฐานราก และการยกระดับฮาลาลคุณภาพสูง[7]

          นอกจากนี้ ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 รัฐบาลมาเลเซียเสนอให้ไทยและมาเลเซียจัดทำความร่วมมือในด้านการผลิตอาหารฮาลาล เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซียด้วยเช่นกัน

          จากบริบทของอุตสาหกรรมฮาลาลดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ทั้งไทยและมาเลเซียต่างให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ในฐานะโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญและการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ทั้งสองประเทศ ตลอดจนมีแผนหรือเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน กระนั้นก็ดี การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งไทยและมาเลเซียดูจะมีข้อท้าทายสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนของรัฐบาลทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในภาคเอกชนในการสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล

          ทั้งนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมฮาลาลในปัจจุบันและอนาคต จากทุนการขับเคลื่อนและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้ในประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

  1. การสร้างความร่วมมือในการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยและมาเลเซียสู่ตลาดฮาลาลคุณภาพสูงหรือผู้ผลิตฮาลาลคุณภาพสูงที่เป็นตลาดฮาลาลซึ่งยังมีโอกาสในการขยายตัวจากกำลังซื้อของประชาชนสู่โลกมุสลิมที่มีฐานะดีขึ้น และเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศจีนที่เน้นการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อตอบสนองตลาดแบบบริโภคจำนวนมาก หรืออาหารฮาลาลในแบบทั่วไปที่ไม่มีความเฉพาะทางอัตลักษณ์
  2. การพัฒนากลไกและเวทีจับคู่ระหว่างผู้ผลิตอาหารคุณภาพสูงที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านอาหารจากมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนไทยและมาเลเซีย อันสอดคล้องตามสาระสำคัญของการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
  3. การพัฒนาเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาลคุณภาพสูงร่วมของไทย-มาเลเซีย ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกับ Department of Islamic Development Malaysia (JAKIM) ของมาเลเซีย เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือในการผลิตฮาลาลของผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศในทุกระดับ และขยายตลาดฮาลาลของผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ รวมถึงในอนาคตสามารถผลักดันให้เกิดการยอมรับมาตรฐานดังกล่าวในสังคมมุสลิมโลก
  4. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมของมาเลเซียและชายแดนภายใต้ของไทย และหน่วยงานด้านการพาณิชย์ของไทยและมาเลเซีย ในการผลักดันและเปิดตลาดฮาลาลคุณภาพสูงในประเทศที่สาม เพื่อขยายตลาดฮาลาลคุณภาพสูงและสร้างประสบการณ์หรือภาพจำของผู้บริโภค

 

          การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมยางพาราและการแปรรูป

          มาเลเซียเป็นคู่ค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารามาอย่างต่อเนื่อง ยางพาราและยางยานพาหนะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ในทางเดียวกัน ผู้ประกอบการและผู้ค้ายางพาราของไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย และมีการทำธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

          ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยางพาราในปัจจุบัน อาจสามารถจำแนกได้ใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายยางพารา อุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการค้าไม้ยางพารา

          แม้ไทยและมาเลเซียจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราและการแปรรูป แต่ในอีกมุมหนึ่งทั้งสองประเทศมีลักษณะการเป็นผู้แข่งขันในการผลิตยางพาราและสินค้าจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเช่นกัน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศได้เห็นความสำคัญและมีความพยายามที่จะเน้นการสร้างความร่วมมือและการลดการแข่งขันมาโดยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่าน ซึ่งในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 ตามกรอบความร่วมมือของโครงการความร่วมมือ IMT-GT ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Ministry of Industry Republic of Indonesia: MOI) หน่วยงานระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Corridor Implementation Authority: NCIA) ประเทศมาเลเซีย และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการที่จะร่วมมือขับเคลื่อนการเชื่อมโยงของเมืองยางพารา (Rubber Cities) ของ 3 ประเทศสมาชิก เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยางพารา ร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง พร้อมทั้งความร่วมมือด้านงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ยาง ความร่วมมือด้านมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ยาง การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรในวงการยางพารา ตลอดจนความร่วมมือด้านธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศ ตลอดจนการลดการแข่งขันกันเองระหว่างเมืองยางพาราแต่ละแห่ง[8]

ทั้งนี้ จากทุนทางเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางการลงทุนและการค้ายางพาราและอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราของไทยและมาเลเซีย การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมยางพาราและการแปรรูปที่สำคัญในอนาคตได้ดังต่อไปนี้

  1. อุตสาหกรรมผลิตยางพาราและการแปรรูปยางพารา จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเวทีความร่วมมือทั้งในระดับผู้ประกอบการ และรัฐบาลในระดับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซียและภาคใต้ของไทยที่เป็นพื้นที่ผลิตน้ำยางคุณภาพสูงและมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ตลอดจนการร่วมทำตลาดและเสริมการลงทุนร่วมของผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศทั้งในเมืองยางพาราและเขตเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการเสริมความเข็มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
  2. อุตสาหกรรมการแปรรูปและการค้าไม้ยางพาราที่กำลังประสบข้อจำกัดที่ผู้บริโภคและคู่ค้าในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ปลูกไม้อย่างถูกต้องตามหลักการ ถูกกฎหมาย ไม่กระทบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิเสธผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งแม้จะมีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของแต่ละประเทศแล้ว ทั้งจาก Malaysian Timber Certification Council ในกรณีของมาเลเซียและสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) ในกรณีของไทย หากแต่ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ยังต้องประสบปัญหาจากการถูกกีดกันที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการให้ใช้มาตรฐานในประเทศของผู้นำเข้า และต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงในการขอใบรับรองจากประเทศผู้นำเข้า

          ดังนั้น เพื่อให้เกิดการยกระดับและขยายตลาดของอุตสาหกรรมการแปรรูปและการค้าไม้ยางพารา ไทยและมาเลเซียจึงควรมีการสร้างความร่วมมือในการผลักดันกลไกการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้ระดับชาติ ซึ่งได้รับการรับรองโดยมาตรฐานสากลร่วมกัน และการต่อรองให้เกิดการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า

 

          2.2 โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรม

          พื้นที่ชายแดนของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมอันสะท้อนอัตลักษณ์ที่มีความเฉพาะของพื้นที่ซึ่งเป็นผลจากการผสานทางวัฒนธรรมระหว่างความเป็นท้องถิ่นกับอิทธิพลทางศาสนาตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งความเฉพาะของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดร่วมทางวัฒนธรรม กิจกรรมทางวัฒนธรรม และสินค้าทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศได้ โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือในการยกระดับแฟชั่นมลายู และงานฝีมือทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับนกเขาชวาซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของทั้งสองประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

          การยกระดับเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู

          เครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีตลาดและความต้องการในวงกว้าง ทั้งจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ และภาคใต้ตอนล่างของไทย รวมถึงประชากรมุสลิมในหลายประเทศทั่วโลกและกลุ่มคนทั่วไปที่มีความนิยมในเสื้อผ้าและแฟชั่นมลายู

          เครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายูส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยจะมีการผลิตและตัดเย็บจากประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก และมีการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู ภายใต้การสร้างอัตลักษณ์ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย และพื้นที่ทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศไทย

          ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลาได้มีการริเริ่มและจัดกิจกรรม “Pakaian Melayu Yala Fashion Week” ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานของไทย และการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียและอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา เป็นกิจกรรมในการเปิดพื้นที่ให้แก่ house brand หรือเครือข่ายและผู้ประกอบการด้านเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายูทั้งในจังหวัดยะลาและประเทศมาเลเซียได้พัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้กลายเป็นลายผ้าที่มีความเฉพาะ พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ได้มาตรฐานและมีความร่วมสมัย เพื่อต่อยอดและสร้างการรับรู้สู่ตลาดภายนอก[9]

          การริเริ่มและกิจกรรม “Pakaian Melayu Yala Fashion Week” ดังกล่าวนี้สามารถที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียได้ ผ่านการสร้างความร่วมมือในการจัดกิจกรรมการประกวด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างอัตลักษณ์ร่วมของลายผ้าและการตัดเย็บ และการสร้างแบรนด์ระดับภูมิภาค  (regional brand) หรือมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและแฟชั่นของทั้งสองประเทศ  ตลอดจนการพัฒนาตลาดเครื่องแต่งกายและแฟชั่นร่วมกันของผู้ประกอบการไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินการที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. การจัดกิจกรรมและเวทีการประกวดเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย และมาเลเซีย รวมถึงในพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคเกิดความสนใจและความตระหนักในการออกแบบและคุณค่าของเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายูที่มาจากผู้ประกอบการในพื้นที่
  2. การจัดเวทีความร่วมมือและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู เพื่อให้เกิดการยกระดับด้านการออกแบบและการดึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเข้าสู่การออกแบบลายผ้าและการตัดเย็บ ตลอดจนการสร้างความร่วมสมัยให้การออกแบบและการตัดเย็บเพื่อตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนในพื้นที่อื่น ๆ
  3. การสร้างแบรนด์ระดับภูมิภาค หรือมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและแฟชั่นของทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาตลาดเครื่องแต่งกายมลายูให้เป็นที่ยอมรับและรับรู้ในประเทศทั้งสองและประเทศอื่น ๆ

 

          การพัฒนาความร่วมมือของงานฝีมือทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับนกเขาชวา

          การเลี้ยงและแข่งขันนกเขาชวา เป็นที่นิยมของประชาชนในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อการแข่งขันหรือเพื่อการประชันเสียง การพัฒนาสายพันธุ์นกเขาชวาถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย มาเลเซีย (โดยเฉพาะรัฐตรังกานู กลันตัน กัวลาลัมเปอร์) และอินโดนีเซีย โดยมีตลาดสำคัญจากทั้งสามประเทศและสิงคโปร์ ซึ่งฐานลูกค้าดังกล่าวเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงและส่วนใหญ่จะนำนกเขาชวาเข้าสู่การแข่งขันประชันเสียง ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปีทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติของทั้งประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

          ทั้งนี้ ห่วงโซ่อุปทานหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลี้ยงนกเขาชวามีตั้งแต่ผู้ประกอบการที่เลี้ยงหนอนนกมาขายเป็นอาหารนก เกษตรกรที่ผลิตข้าวนก ผู้ประกอบการที่เพาะพันธุ์นก ผู้ซื้อขายนก และผู้ประกอบการด้านการจัดขนส่งนกข้ามประเทศ รวมถึงผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกรงนกที่เป็นงานหัตถกรรมอันสำคัญ[10]

          ความนิยมและการแลกเปลี่ยนนกเขาชวาที่มีลักษณะของการค้าและการขนส่งข้ามแดน และการแข่งขันนกเขาชวาระหว่างประเทศที่สัมพันธ์กับห่วงโซ่อุปทานของการเลี้ยงนกเขาชวาดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นความสำคัญและโอกาสทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาสายพันธุ์ การเลี้ยง การค้านกเขาชวา และจากการเดินทางของผู้แข่งขันและผู้ชมการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ

          การผลิตและจัดจำหน่ายกรงนกในฐานะงานหัตถกรรมสำคัญยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความนิยมในกรงนกที่มีความประณีตและละเอียดอ่อนในการออกแบบและผลิต รวมถึงการสร้างความเฉพาะของกรงนกแต่ละกรง ซึ่งดูจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนและยกระดับของผู้ประกอบการท้องถิ่นระหว่างสองประเทศ

          จากที่กล่าวมา การพัฒนาความร่วมมือของงานฝีมือทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับนกเขาชวาจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดเวทีแข่งขันนกเขาชวาในระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดความนิยมและการเดินทางของผู้นำนกเขาชวาเข้ามาแข่งขันและผู้ชมการแข่งขันทั้งจากไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และการเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวของทั้งไทยและมาเลเซีย เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
  2. การสร้างความร่วมมือให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะและมีมูลค่าสูงที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ร่วมของทั้งชายแดนใต้ของไทยและมาเลเซีย รวมถึงการจัดประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์กรงนกเขาชวาเพื่อสร้างการรับรู้ต่อผู้ประกอบการควบคู่กับเวทีแข่งขันนกเขาชวา

 

          2.3 โอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยว

          การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียถือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจที่มีทุนเดิมเป็นพื้นฐาน ในปัจจุบัน ทั้งนักท่องเที่ยวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวไทย มีความนิยมเดินทางผ่านแดนเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่แต่ละประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาว และวันหยุดทางศาสนา ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งไทยและมาเลเซีย มีโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น “วงแหวนการท่องเที่ยว” ที่เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

          ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (spiritual tourism)

          การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างนิยมในนักท่องเที่ยวของไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีความนิยมและศรัทธาในพระสงฆ์ไทยหลายรูปและศาสนสถานของไทยหลายแห่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่น วัดช้างไห้ อ. โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี รูปสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมเขาคอหงส์ อ. หาดใหญ่ และพระอาจารย์ภัตร วัดนาทวี จ. สงขลา เป็นต้น ในทางเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยที่นอกจากจะมีความศรัทธาและนิยมในศาสนสถานที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีความนิยมในการเดินทางไปยังศาสนสถานของมาเลเซียหลายแห่งที่มีระยะทางไม่ห่างไกลจากชายแดนมากนัก เช่น วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) ที่ปีนัง มาเลเซีย และศาลเจ้าที่สำคัญหลายแห่งของมาเลเซีย

          จากที่กล่าวมา หากสามารถออกแบบและส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวในลักษณะของ “วงแหวนการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ” ในพื้นที่ของทั้งสองประเทศได้ จะมีส่วนอย่างสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวและโอกาสทางเศรษฐกิจให้พื้นที่ในเส้นทางการท่องเที่ยว รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่นของทั้งไทยและมาเลเซีย

          ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่สำคัญ จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความชัดเจนและการส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม การสร้างความร่วมมือกับสมาคมและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ และการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียในการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของนักท่องเที่ยว

 

          ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (cultural tourism)

          สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและอาหารการกินถือได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทยและมาเลเซีย เมืองสงขลา เมืองหาดใหญ่ เมืองปัตตานี ของประเทศไทย และเมืองปีนัง และเมืองอีโปห์ ของประเทศมาเลเซีย เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นความเป็นพหุวัฒนธรรมและการผสานความหลากหลายของวัฒนธรรมบนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมและการเดินทางไปมาหาสู่ของผู้คนทั้งสองประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          ทั้งไทยและมาเลเซียมีนโยบายและแผนที่จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่วัฒนธรรมในเมืองแถบพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ย่านเมืองเก่าปีนังหรือจอร์จทาวน์ ที่ได้รับการพัฒนาพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ ค.ศ. 2008 ในขณะที่เมืองเก่าสงขลาของประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงการขับเคลื่อนจากหลายหน่วยงานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นต้น

          ในทางเดียวกัน เมืองในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ ก็ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนอกเหนือจากสถานที่ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงต้น ค.ศ. 2023 เมืองหาดใหญ่ โดยการนำของเทศบาลนครหาดใหญ่ได้มีการจัดงาน Hatyai Food Festival 2023 และเมืองปีนังได้มีการจัดงาน Penang International Food Festival (PIFF) Taste of Penang (TOP) 2023 ในทางเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency: CEA) และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในพื้นที่ ก็ได้มีการจัดงาน เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2023 และงานเทศกาล “Made in Songkhla” เมื่อปลายปี 2022 เพื่อกระตุ้นการสร้างพื้นที่และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสงขลาและภาคใต้ตอนล่าง

          อย่างไรก็ดี แม้ทั้งสองประเทศจะมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ หากแต่ข้อจำกัดและความท้าทายในการพัฒนาความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมดูจะอยู่ที่การจัดวาง “ความเชื่อมโยง” และการสร้าง “ความร่วมมือ” ระหว่างสองประเทศ ให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเชิงของเส้นทาง เรื่องราว และช่วงเวลา ให้เกิดเป็น “วงแหวนการท่องเที่ยว” เพื่อดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศ ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามด้วย

 

          ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism)

          พื้นที่ของรัฐในมาเลเซียทางเหนือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความเฉพาะจำนวนมาก ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของทั้งสองประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติ Royal Belum (Royal Belum State Park) ของมาเลเซียที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนไทยในแถบอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO อุทยานแห่งชาติแห่งนี้เป็นที่นิยมของนักเดินป่าและนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศของมาเลเซียและชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นป่าฝนเขตร้อนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ในทางเดียวกัน ผืนป่าฮาลาบาลาของไทยที่มีพื้นที่ติดกันก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศไทยที่มีเส้นทางเดินสำรวจพื้นที่ธรรมชาติหลายเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ของไทย นอกจากนี้ ที่สูงแคเมอรอน (Cameron Highlands) ในรัฐปะหัง ที่เป็นสถานที่ท่องเทียวทางธรรมชาติยอดนิยมตั้งแต่สมัยอาณานิคมของมาเลเซีย และอุทยานธรณีโลกสตูลที่ทาง UNESCO ประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแหล่งที่ 5 ของอาเซียน และแห่งแรกของประเทศไทย ยังเป็นอีกพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญเช่นกัน

          อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ของมาเลเซียตอนเหนือและไทยตอนใต้ดูจะยังขาดการสร้างความเชื่อมโยง การประชาสัมพันธ์และการสร้างเรื่องราวที่ร้อยเรียงพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการพัฒนาแบบต่างฝ่ายต่างดำเนินการ หรืออยู่ภายใต้การดำเนินการในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น อันเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ของทั้งสองประเทศสู่การเป็นที่รับรู้ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันจะมีการจัดกิจกรรมที่สร้างความรู้จักแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น เช่น Amazean Jungle Thailand by UTMB 2023 หากแต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการสร้างความเชื่อมโยงหรือหลอมรวมพื้นที่เชิงนิเวศของทั้งสองประเทศให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเดียวกัน

 

          3) สรุปภาพรวมโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย

          จากโอกาสการพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งพิจารณาบนพื้นฐานของทุนที่มีอยู่เดิมและโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือและการเชื่อมโยง โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยงของมาเลเซียกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย สามารถสรุปภาพรวมทั้งในด้านของโอกาส ความท้าทาย และแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงได้ดังต่อไปนี้

 

ประเด็น

แนวทางการ/
การดำเนินการ

โอกาส/ทุน

ความท้าทาย

หน่วยงานสำคัญ

 

การพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมฮาลาล

·    การสร้างความร่วมมือในการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยและมาเลเซีย สู่ตลาดฮาลาลคุณภาพสูงหรือผู้ผลิตฮาลาลคุณภาพสูง

·    การพัฒนากลไกและเวทีจับคู่ระหว่างผู้ผลิตอาหารคุณภาพสูงที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านอาหารจากมาเลเซีย

·    การพัฒนาเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาลคุณภาพสูงร่วมของไทย-มาเลเซีย

·    การผลักดันและเปิดตลาดฮาลาลคุณภาพสูงจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมของมาเลเซียและชายแดนภายใต้ของไทย และหน่วยงานด้านการพาณิชย์

·    Halal Industry Master Plan 2030 ของมาเลเซีย

·    วิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย

·    บันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้

·    ข้อหารือในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2023

· การสร้างการยอมรับมาตรฐานฮาลาลร่วมกันของทั้งสองประเทศ

· การปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการและภาครัฐของทั้งสองประเทศ จากผู้แข่งขัน สู่ความร่วมมือ

· บทบาทของผู้ประกอบการจากประเทศจีนในส่วนแบ่งตลาดฮาลาล

ไทย

·       คณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”

·       กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       Malaysian Halal Development Council – MHDC

·       Ministry of Economic Affairs    

 

การพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมยางพาราและการแปรรูป

·    การสร้างเวทีความร่วมมือทั้งในระดับผู้ประกอบการ และรัฐบาลในระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศ

·    การเสริมความเข็มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

·    การสร้างความร่วมมือในการผลักดันกลไกการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้ระดับชาติ ซึ่งได้รับการรับรองโดยมาตรฐานสากลร่วมกัน และการต่อรองให้เกิดการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า

·    ผู้ประกอบการและผู้ค้ายางพาราของไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย และมีการทำงานธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนาน

·    ความร่วมมือทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการของหน่วยงานภาครัฐทั้งสองประเทศ

·    โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจ สามฝ่าย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)

·    การลงนามความร่วมมือในการที่จะร่วมมือขับเคลื่อนการเชื่อมโยงของเมืองยางพารา (Rubber Cities) ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

· ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศมีการผลิตสินค้าในลักษณะที่ใกล้เคียงกันส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันโดยธรรมชาติ

· อุปสรรคจากการปฏิเสธผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ไทย

·       การยางแห่งประเทศไทย

·       สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC)

·       กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       Malaysian Rubber Board

·       Malaysian Rubber Council (MRC)

·       Malaysian Timber Certification Council

 

การพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรม

การยกระดับเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู

·    การจัดกิจกรรมและเวทีการประกวดเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจและความตระหนัก ต่อการออกแบบและคุณค่าของเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายูจากผู้ประกอบการท้องถิ่น

·    การจัดเวทีความร่วมมือและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและผู้ออกแบบเพื่อยกระดับยกระดับด้านการออกแบบและการดึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเข้าสู่การออกแบบลายผ้าและการตัดเย็บ รวมถึงสร้างความร่วมสมัย

·    การสร้างแบรนด์ระดับภูมิภาค หรือมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและแฟชั่นของทั้งสองประเทศ

·       เครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีตลาดและความต้องการในวงกว้าง

·       การริเริ่มและจัดกิจกรรม “Pakaian Melayu Yala Fashion Week” ของเทศบาลนครยะลา เป็นจุดริเริ่มที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ

·    การขาดหน่วยงานเจ้าภาพที่มีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

·    การสร้างแรงดึงดูดและกระตุ้นนักออกแบบและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู

ไทย

·       กรมการพัฒนาชุมชน

·       สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

·       เทศบาลนครยะลา

 

มาเลเซีย

·       Ministry of Information, Communication and Culture

·       Ministry of Economic Affairs

·       รัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย    

 

 

การพัฒนาความร่วมมือของงานฝีมือทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับนกเขาชวา

·    การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดเวทีแข่งขันนกเขาชวาในระดับภูมิภาค

·    การสร้างความร่วมมือให้เกิดการพัฒนากรงนกเขาชวาผลิตภัณฑ์ในฐานะผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะและมีมูลค่าสูง

·       ความนิยมในการเลี้ยงและแข่งขันนกเขาชวาเสียงในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

·       การจัดแข่งขันนกเขาชวาเสียงในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ

·       เครือข่ายผู้ประกอบการนกเขาชวาในประเทศไทยและมาเลเซีย

 

·    การขาดหน่วยงานเจ้าภาพที่มีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การสร้างแรงดึงดูดและกระตุ้นนักออกแบบและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมลายู

ไทย

·       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

·       กระทรวงวัฒนธรรม

·       สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       รัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย

 

การพัฒนาความเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยว

ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (spiritual tourism)

·    การจัดเวทีเพื่อสร้างความร่วมมือกับสมาคมและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวของทั้งไทยและมาเลเซีย

·    การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียในการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของนักท่องเที่ยว

·       การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณค่อนข้างนิยมในนักท่องเที่ยวของไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีความนิยมและศรัทธาในพระสงฆ์ไทยหลายรูปและศาสนสถานของไทยหลายแห่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

·       แหล่งท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่มีอยู่จำนวนมากของไทยและมาเลเซียสามารถมาพัฒนาเป็น Travel route ได้

·    การส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองประเทศ

·    การอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของนักท่องเที่ยว

ไทย

·       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

·       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

·       องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       Malaysia Tourism Promotion Board (MTPB)

·       รัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย

 

ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural tourism)

·    การสร้างความร่วมมือเพื่อจัดวาง “ความเชื่อมโยง” ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยและมาเลเซีย ให้เกิดการเชื่อมโยง ทั้งในเชิงของเส้นทาง เรื่องราว และจังหวะเวลาการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมประจำเมือง

·    การสร้าง “วงแหวนการท่องเที่ยว” เพื่อดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากนักท่องเที่ยวไทยและมาเลเซีย รวมถึงจากประเทศที่สาม

·       พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของชายแดนภาคใต้และมาเลเซีย

·       การจัดงาน Penang International Food Festival (PIFF), Taste of Penang (TOP) 2023 ของมาเลเซีย

·       เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2023 และงานเทศกาล “Made in Songkhla” ของประเทศไทย

·       Hatyai Food Festival 2023 ของเทศบาลนครหาดใหญ่

·    การส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองประเทศ

·    การอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของนักท่องเที่ยว

ไทย

·       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

·       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

·       องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       Malaysia Tourism Promotion Board (MTPB)

·       รัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย

 

ความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecotourism)

·    การพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมโยงหรือหลอมรวมพื้นที่เชิงนิเวศของทั้งสองประเทศให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเดียวกัน

·       แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีความเฉพาะ และมีชื่อเสียงในพื้นที่ของรัฐในมาเลเซียทางเหนือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

·       การจัดงาน Amazean Jungle Thailand by UTMB

·       การพัฒนาแบบต่างฝ่ายต่างดำเนินการ หรืออยู่ภายใต้การดำเนินการในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น

ไทย

·       กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

·       กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

·       กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

·       การกีฬาแห่งประเทศไทย

·       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

·       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

·       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

มาเลเซีย

·       Malaysia Tourism Promotion Board (MTPB)

·       Department of Wildlife and National Parks of Peninsular Malaysia (PERHILITAN)

·       Ministry of Natural Resource and the Environment

·       รัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย

 

 

[1] “ไทย – มาเลเซีย เล็งสร้างเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ เร่งความร่วมมือ 3 อุตฯ ฟาสต์แทร็ก,” กรุงเทพธุรกิจ, 13 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1052794.  

[2] “ศอ.บต. ชูโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่าน “เมืองคู่แฝดการพัฒนา”,” เดลินิวส์, 13 มิถุนายน 2566, https://www.dailynews.co.th/news/2430022/.

[3] “24 บริษัททัวร์ไทย MOU 12 บริษัทมาเลย์ เชื่อมเส้นทาง 5 จังหวัดใต้,” ประชาชาติธุรกิจ, 23 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.prachachat.net/local-economy/news-1209526.

[4] กลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน, แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนฉบับทบทวน (พ.ศ. 2566-2570), https://www.osmsouth-border.go.th/files/com_news_develop/2023-07_69bcf213d67ed07.pdf (วันที่ค้นข้อมูล 26 พฤษภาคม 2566).

[5] Halal Development Corporation, Halal Industry Master Plan 2030: Executive Summary, https://www.hdcglobal.com/wp-content/uploads/2020/02/Halal-Industri-Master-Plan-2030.pdf (accessed May 26, 2023).

[6] “เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลก เห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า “1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง”,” กรมประชาสัมพันธ์, 21 เมษายน 2564, https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/37/iid/15445ใ

[7] “ศอ.บต. จับมือภาคีเครือข่าย 10 องค์กร ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร สร้างพื้นที่ “ครัวฮาลาลโลก” หวังตอบโจทย์และความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค,” ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 4 สิงหาคม 2565, https://www.sbpac.go.th/?p=93085.

[8] “ไทย-อินโด-มาเลย์ จับมือขับเคลื่อนเมืองยางพารา สร้างมูลค่าส่งออก ดันราคาเพิ่ม,” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 19 กันยายน 2565, http://rubber.oie.go.th/Article.aspx?id=64409.

[9] ““ปากายัน มลายู” ดันยะลาศูนย์กลางแฟชั่นเครื่องแต่งกาย-สร้างแบรนด์สู่สากล,” สำนักข่าวอิศรา, 31 กรกฎาคม 2565, https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/110839-pagayanmelayu.html.

[10] คอลัฟ ต่วนบูละ และคณะ, การเลี้ยงนกเขาชวากับการส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมระหว่าง ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มประชาคมอาเซียน (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2561).

 

[*] บทความวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกชิ้นนี้ จัดทำขึ้นตามโครงการศึกษาวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมเอเชียตะวันออก

[**] นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Documents

6-2567_Feb2024_การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย_อนรรฆ.pdf